ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ( พ.ศ. 2328 ) เกิดสงครามระหว่างสยามกับปาตานี ผลของสงครามครั้งนี้สยามเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ทำให้มีการกวาดต้อนประชาชนและกลุ่มบุคคลฝ่ายต่าง ๆ ของปาตานีที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามกว่า 4,000 คน เพื่อเป็นเชลยศึก โดยให้ขึ้นไปอยู่ที่กรุงเทพฯ และให้ไปตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่อาศัยในบริเวณฝั่งธนบุรี (สี่แยกบ้านแขกในปัจจุบัน) หนองจอก มีนบุรี ปทุมธานี และปากลัดพระประแดง เป็นต้น ผลของประวัติศาสตร์ข้างต้นส่งผลให้เกิดประเด็นสำคัญที่ตามมา คือ มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์บางส่วนที่เขียนระบุว่าการกวาดต้อนกลุ่มประชาชนและบุคคลฝ่ายต่าง ๆ ของปาตานีที่เป็นเชลยศึกให้ขึ้นไปที่กรุงเทพ ฯ ตามกล่าวนั้น ได้ใช้วิธีร้อยหวายที่เอ็นเหนือส้นเท้าแล้วผูกพ่วงต่อกันหลาย ๆ คน เพื่อป้องกันไม่ให้คนเหล่านั้นกระโดดจากเรือลงทะเลหลบหนี สิ่งเหล่านี้ได้ถูกนำมาผลิตซ้ำและเผยแพร่ในวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งมีการบิดเบือนและนำไปขยายผลในทางที่ไม่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดทัศนคติในเชิงลบ กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นความอ่อนไหวซึ่งนับวันจะสั่นคลอนความมั่นคงมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม ในสังกัดของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงตระหนักถึงความสำคัญในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการตั้งรกรากถิ่นฐานของชนชาวปาตานีในกรุงเทพ ฯ สมัยรัชกาลที่ 1 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับการกวาดต้อนเป็นเชลยศึกด้วยการใช้วิธีร้อยหวายที่เอ็นเหนือส้นเท้าเพื่อป้องกันการหลบหนี และได้ดำเนินการโครงการวิจัยเรื่อง “ประวัติศาสตร์ สยาม – ปาตานี : ศึกษากรณี เอ็นร้อยหวาย” ขึ้น ทั้งนี้เพื่อศึกษาต้นตอและวิเคราะห์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ การขึ้นไปตั้งรกรากถิ่นฐานของชนชาวปาตานีในกรุงเทพ ฯ สมัยรัชกาลที่ 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับการกวาดต้อนเป็นเชลยศึกด้วยการใช้วิธีร้อยหวายที่เอ็นเหนือส้นเท้าเพื่อป้องกันการหลบหนี โดยใช้บริบททางประวัติศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รวมทั้งบริบททางการแพทย์เพื่อทำความจริงให้เป็นที่ปรากฏ สร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน โดยดำเนินการวิเคราะห์อธิบายและตีความอย่างเป็นหลักวิชาบนพื้นฐานของสหสาขาโดยคณะวิจัยซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลายแขนง ได้แก่ นักประวัติศาสตร์ นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เฉพาะทาง นักยุทธศาสตร์ และนักวิชาการท้องถิ่น
