Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
Publications: Articles - Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University
บทบาททหารฯที่อาหรับ และ กองทัพกับประชาธิปไตย
บทบาททหารฯที่อาหรับ และ กองทัพกับประชาธิปไตย
โดย อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

บทบาททหารฯที่อาหรับ และ กองทัพกับประชาธิปไตย โดย อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
.

บทบาททหารในการลุกฮือที่อาหรับ
โดย อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ คอลัมน์ โลกทรรศน์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1615 หน้า 19


การลุกฮือที่โลกอาหรับนี้ หลายคนใช้คำว่า Arab Spring แต่เนื่องจากผู้เขียนมีความรู้น้อยมากเรื่อง โลกอาหรับ จึงไม่รู้จะใช้คำไทยอย่างไร จึงใช้คำว่า การลุกฮือ

ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่มีใครกล่าวถึง ทหาร อันเป็นสถาบันหลักของโลกอาหรับในช่วงก่อนและหลังการลุกฮือมากนัก ท่าที ความคิดทางทหารเมืองและธรรมชาติของทหารในโลกอาหรับ นับเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในแง่มุมการวิเคราะห์การลุกฮือโค่นล้มระบอบการเมืองเก่าลง มีแต่การสรรเสริญแก่ โซเชียล เน็ตเวิร์ก กับพลังของคนหนุ่มสาว

ถึงแม้เราไม่เห็นด้วยกับบทบาทต่างๆ ของทหารอันเป็นสถาบันทางการเมืองหลักของโลกอาหรับ แต่เพราะความไม่รู้และการไม่เรียนรู้ถึงผู้นำเหล่าทัพ เราจึงไม่รู้และไม่รู้ต่อไปต่อคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่และน่าสนใจนี้

โชคดีที่ผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับโลกอาหรับ การเขียนเพื่อทำความเข้าใจนี้จึงง่ายและไม่ต้องเกร็งอะไรเกินควร


ท่าทีและธรรมชาติของทหารในโลกอาหรับ

อันที่จริง โลกอาหรับมีผู้นำทางการเมืองที่ยาวนานมาก มูอามาร์ กาดาฟี (Muammar al-Qaddafi) ปกครองลิเบียตั้งแตปี 1969

ครอบครัวอัสซัส (Assad) ปกครองซีเรียตั้งแต่ปี 1970

อาลี อับดุลเราะห์ ซาเร (Ali Abdullah Saleh) เป็นประธานาธิบดีเยเมนตั้งแต่ปี 1978

ฮอสนี่ มูบารัก (Hosni Mubarak) เป็นผู้นำอียิปต์ในปี 1981

Zine el-Abidine Ben Ali ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของตูนิเซียเมื่อ1987

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ปกครองโลกอาหรับมาอย่างยาวนานในจอร์แดนตั้งแต่ 1920 ครอบครัว al-Suad ปกครองซาอุดีอาระเบียที่เป็นปึกแผ่นเมื่อ 1932 ส่วนราชวงศ์ Alaouite ในโมร็อกโกก้าวสู่อำนาจครั้งแรกในศตวรรษที่ 17

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และครอบครัวเก่าดำรงเอาตัวรอดมาได้หลายทศวรรษ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยในภูมิภาคอื่นๆ เช่น เอเชียตะวันออก ยุโรปตะวันออก ละตินอเมริกา และซาฮาร่าย่อยแอฟริกา ทั้งหมดนี้ แนวคิดว่า ระบอบอำนาจนิยมเป็นระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพในโลกอาหรับ


แต่ ณ เวลานี้ แนวคิดนี้กลายเป็นภาพลวงตา คลื่นแห่งการลุกฮือในโลกอาหรับเป็นระลอกคลื่นที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ด้วยก้อนหินบ้าง หนังสติ๊กบ้าง ปืนอาหรับประดิษฐ์บ้าง อาวุธที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนี้ก่อประสิทธิภาพ เมื่อความอดอยากอาหาร การตกงานและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนปะทะประสานอย่างได้ผลกับ โซเชียล เน็ตเวิร์ก

ท่ามกลางความตกใจว่าเกิดอะไรขึ้นในโลกอาหรับที่ทรงเสถียรภาพ หลายฝ่ายขาดการวิเคราะห์ 2 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ วัฒนธรรมทางการเมือง (political culture) ของคนอาหรับ ความคิด และธรรมชาติของทหาร ตามลำดับ

มีบทวิเคราะห์ไม่มากนักกล่าวถึง วัฒนธรรมคนอาหรับยังคงภักดี และมีจารีตต่อการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตยอย่างไร เราจะเห็นได้ว่า แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยเป็นที่นิยมและก่อผลอย่างเป็นจริงเมื่อมีการเลือกตั้ง

นั่นคือ คนอาหรับต่างออกมาลงคะแนนเสียงอย่างถล่มทลาย นั่นช่วยให้เราเข้าใจด้วยว่า คนอาหรับไม่ได้ยอมรับต่อการปกครองระบอบอำนาจนิยม

หากตั้งต้นจากอัลจีเรียจนถึงซาอุดีอาระเบีย ชนชั้นผู้ปกครองรักษาอำนาจไว้ได้นานกว่า 40 ปี เพียงด้วยการกดขี่อย่างป่าเถื่อนและโหดร้าย ยามเมื่อประชาชนลุกฮือด้วยไม่ว่าข้อเรียกร้องทางการเมืองหรือต่อความอดอยากหิวโหย พวกเขามีพลังการประท้วงมาตลอด

เพียงแต่ว่า ก่อนปี 2011 ผู้ปกครองเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์และกักขังพวกเขาเอาไว้

 

การทำความเข้าใจในพลังขับเคลื่อนว่า ทหารในโลกอาหรับแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อการต่อต้านของประชาชน อย่างแรกคือ องค์ประกอบทางสังคมของทั้งระบอบปกครองและทหาร และสองคือ ระดับความเป็นสถาบัน (institutionalization) และความเป็นอาชีพ (professionalism) ของกองทัพเอง

หลายประเทศที่ทหารมีความเป็นสถาบัน ทหารจะเข้าข้างประชาชนผู้ประท้วงรัฐบาล อียิปต์และตูนิเซียเป็นสองประเทศที่เป็นสังคมที่มีความใกล้เคียงกันสูงในโลกอาหรับ ทั้งสองประเทศเป็น สุหนี่ ทั้งอียิปต์และตูนิเซีย ทหารมีแนวโน้มเป็นทหารอาชีพ ทั้งยังไม่ได้เป็นเครื่องมือส่วนตัวของผู้ปกครอง

ผู้นำกองทัพบกของทั้งสองประเทศ ยอมรับว่าสถาบันทหารสามารถแสดงบทบาทสำคัญภายใต้ระบบการปกครองใหม่ และดังนั้น พวกผู้นำทหารบกประสงค์จะเสี่ยงภัยต่อการขับไล่ผู้นำเก่า


ประเทศอาหรับอื่นๆ ที่กองทัพมีความเป็นสถาบันน้อย ซึ่งการทำงานด้านความมั่นคงของกองทัพ ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้ปกครองและครอบครัวของพวกเขา ปฏิกิริยาของกองทัพในประเทศเหล่านี้แตกแยกหรือไม่ก็ล่มสลายเมื่อเผชิญหน้ากับการประท้วงของประชาชน

ทั้งในลิเบียและเยเมน หน่วยทหารนำโดยครอบครัวของผู้ปกครองต่างสนับสนุนรัฐบาลของตัว ในขณะที่กองทหารหน่วยอื่นๆ ยอมแพ้กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล บางหน่วยเฝ้ามองอยู่ห่างๆ หรือกลับกรมกองไปเลยก็มี

ส่วนในสังคมที่มีการแบ่งแยกทางสังคมหลายๆ อย่าง สังคมแบบนี้ รัฐบาลเป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อย เช่น ชาติพันธุ์ นิกายหรือแม้แต่ท้องถิ่น และสร้างกองทัพที่ครอบงำโดยชนกลุ่มน้อย

ดังนั้น กองทัพของสังคมประเภทนี้ สนับสนุนรัฐบาลของตนอย่างมาก กองกำลังของสุหนี่ในบาร์เรนจะต่อต้านกลุ่มผู้ประท้วงเพื่อปกป้องระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สุหนี่

กองทัพบกจอร์แดนจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ แม้ว่าเกิดการต่อต้านในประเทศที่มีคนปาเลสไตน์เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

กองกำลังป้องกันชาติ (National Guard) ของซาอุดีอาระเบียนำเอาชนเผ่าจากอาหรับกลางและตะวันตกเพื่อพิทักษ์ราชวงศ์ อัล ซูด (al-Suad)

ตรรกะของกองทัพในประเทศพวกนี้คือ ถ้ารัฐบาลล่มสลายและประเทศถูกยึดครองโดยประชาชนคนกลุ่มใหญ่ ความเป็นผู้นำของกองทัพบกจะถูกแทนที่ไปด้วย


เราควรค้นหาสิ่งที่เราไม่รู้อีกมากคือ ความคิดและธรรมชาติของทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงบ้านเรา เพราะคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงกำลังพัดผ่านภูมิภาคนี้ด้วย

จากฤดูใบไม้ผลิในอาหรับสู่ฤดูร้อน ฤดูร้อนเป็นบ้าของสุวรรณภูมิ

ข้อมูลเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2554