Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
Publications: Articles - Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University
กัมพูชากับมหาอำนาจจีน: ยุค สี จิ้นผิง (ตอนที่ 1)
กัมพูชากับมหาอำนาจจีน: ยุค สี จิ้นผิง (ตอนที่ 1)
โดย วัชรินทร์ ยงศิริ

กัมพูชากับมหาอำนาจจีน: ยุค สี จิ้นผิง (ตอนที่ 1)


วัชรินทร์ ยงศิริ
สถาบันเอเชียศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


คำนำ

ในปี 2013 เป็นวาระครบรอบ 55 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัมพูชากับจีน เมื่อเดือนกรกฎาคม รัฐบาลของสองประเทศได้จัดพิธีลงนามในความร่วมมือ เพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์การเคารพนับถือและการสนับสนุนซึ่งกันและกัน  ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ผู้นำคนใหม่ของจีน ได้มีสาส์นกราบทูลกษัตริย์นโรดม สีหมุนี ด้วยคำสรรเสริญความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างจีนกับกัมพูชาซึ่งนับ เป็นประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใกล้ชิดว่า “เราทั้งสองฝ่ายยังคงไว้วางใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างสูงทางการเมือง ดำเนินการปฏิบัติให้เกิดผลในความร่วมมือในด้านต่าง ๆ และช่วยส่งเสริมอีกฝ่ายในปัญหาการเมืองระหว่างประเทศและปัญหาการเมืองใน ภูมิภาค” (Al Jazeera, 26 July 2013: 1)

ตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการ ทูตระหว่างกัมพูชากับจีน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 1958 มาจนถึงปี 2013 กล่าวได้ว่า กัมพูชามีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับจีนมาอย่างยาวนาน และสามารถศึกษาความสัมพันธ์ของสองประเทศได้ว่ามี 2 ระดับ คือ ระดับสถาบันกษัตริย์ของกัมพูชากับผู้นำของจีน และระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล จึงเป็นการปูพื้นฐานความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งและยืนยาวอย่างมั่นคง หากมองย้อนกลับไปยุคผู้นำจีนรุ่นที่ 1 ถึงรุ่นที่ 4 กล่าวได้ว่า ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับกัมพูชามาอย่างต่อเนื่อง

ในยุคของประธานเหมา เจ๋อตง ผู้นำรุ่นที่ 1 ช่วงทศวรรษ 1950-1960 มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ซึ่งทรงเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐ (Head of State) และหัวหน้าคณะรัฐบาลที่ปกครองกัมพูชาในขณะนั้น นอกจากนี้ ผู้นำจีนคนอื่น ๆ อาทิ นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล (Zhou Enlai) และประธานาธิบดีหลิว เชาฉี (Liu Shaoqi) ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีการแลกเปลี่ยนการเดินทางเยือนซึ่งกันและกันหลายครั้ง ต่อมาในปี 1970 เมื่อสมเด็จพระสีหนุ ถูกพลเอกลอน นอล ก่อการรัฐประหารหมดสิ้นอำนาจแล้วได้ทรงลี้ภัยไปประทับอยู่ที่จีน และผู้นำจีนได้ให้ความช่วยเหลือโดยใช้ประเทศจีนเป็นฐานในการต่อสู้ของ ประชาชนชาวกัมพูชาเพื่อต่อต้านการรุกรานของต่างชาติ (ในที่นี้หมายถึง สหรัฐอเมริกาซึ่งให้การสนับสนุนพลเอกลอน นอล ทำการรัฐประหารเปลี่ยนการปกครองประเทศจากราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นสาธารณรัฐ กัมพูชา โดยมีพลเอกลอน นอล ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร) และเพื่ออิสรภาพและอธิปไตยของกัมพูชา โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มเปี่ยมจากรัฐบาลจีนและประชาชนชาวจีน

อย่างไรก็ตาม ระหว่างปี 1975-1979 ยุคเขมรแดงปกครองกัมพูชาและปิดประเทศ ความสัมพันธ์กัมพูชากับจีน ไม่ได้ตัดขาดหายไปไหน พอล พต ผู้นำเขมรแดงได้นำการปฏิวัติมาตุภูมิตามแนวทางของเหมา เจ๋อตง มาใช้ จีนมีอิทธิพลต่อเขมรแดงมากให้ความช่วยเหลือทั้งด้านเศรษฐกิจ และด้านเทคนิคแบบให้เปล่า รวมทั้งผู้นำเขมรแดงนำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดครั้งใหญ่ (The Great Leap Forward) ของจีนมาใช้

ในระหว่างปี 1979-1989 เป็นช่วงที่กัมพูชาเกิดสงครามกลางเมืองสู้รบของกัมพูชาสี่ฝ่ายนั้น สมเด็จพระสีหนุ ได้เสด็จไปเยือนจีนถึง 6 ครั้ง และประทับอยู่ในจีนเป็นช่วงเวลานานถึง 2 ครั้ง จุดเริ่มต้นของสงคราม เมื่อเวียดนามส่งกองทัพบุกกัมพูชาเพื่อขับไล่เขมรแดงให้พ้นจากอำนาจ เมื่อเดือนมกราคม 1979 จีนไม่พอใจจึงส่งกำลังพลบุกโจมตีเวียดนามข้ามพรมแดนเข้าไปประมาณ 10 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1979 เรียกว่า “สงครามสั่งสอน” เป็นบทเรียนแก่เวียดนาม สงครามจึงจำกัดทั้งเวลาและพื้นที่ เมื่อบรรลุเป้าหมายแล้วจีนจึงถอนกำลังกลับทันที เหตุผลที่จีนทำการบุกเวียดนามครั้งนี้ เพื่อตอบโต้การยั่วยุของเวียดนามและป้องกันผลประโยชน์ของจีน

สงครามกลางเมืองในกัมพูชา เป็นการสู้รบทางอุดมการณ์ระหว่างค่ายโลกเสรีและค่ายโลกคอมมิวนิสต์โดยใช้ พื้นที่ประเทศกัมพูชา โลกเสรีซึ่งมีสหรัฐฯ อาเซียน และรวมถึงจีน ฝ่ายหนึ่งให้การสนับสนุนทางอาวุธและการฝึกกำลังพลแก่เขมรแดง เขมรเสรี และเขมรนิยมเจ้าสีหนุ กับอีกฝ่ายหนึ่งโลกคอมมิวนิสต์ซึ่งมีเวียดนาม และสหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนเขมรระบอบเฮง สัมริน ทางอาวุธเช่นเดียวกัน เรียกการสู้รบนี้ว่า “สงครามตัวแทน” (Proxy War)

ในปี 1988-1990 สหประชาชาติ อาเซียน และประเทศที่เกี่ยวข้องในสงคราม ได้แก่ เวียดนาม ลาว ต่างพยายามแก้ไขปัญหากัมพูชาโดยสันติวิธี โดยนำผู้นำกัมพูชาทั้งสี่ฝ่ายเข้าสู่เวทีประชุมเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยความขัด แย้งแทนการสนับสนุนด้วยอาวุธและกำลังทหาร จนกระทั่งบรรลุผลสำเร็จในการลงนามข้อตกลงสันติภาพที่กรุงปารีสของบรรดาผู้นำ กัมพูชาทั้งสี่ฝ่าย เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 1991 ทั้งนี้มีผู้แทน 18 ชาติ ซึ่งมีจีนด้วยในฐานะหนึ่งในสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ลงนามให้การรับรอง และนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชาในปี 1993 ซึ่งกัมพูชาได้กลับมาปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงกลับมาครองราชย์อีกวาระหนึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญ ภายหลังจากขึ้นครองราชย์แล้วกษัตริย์สีหนุได้เสด็จไปประทับที่จีนเป็นระยะ ๆ และเป็นเวลานาน ๆ เพื่อรักษาพระอาการประชวร ทรงได้รับการถวายความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีนจัดหาคณะแพทย์ทำการรักษาและดูแล เป็นอย่างดี เมื่อทรงสละราชย์ในปี 2004 แล้วดูเหมือนว่าอดีตกษัตริย์ทรงประทับอยู่ที่จีนยาวนานขึ้นกว่าประทับอยู่ใน กัมพูชา ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพทรงเสด็จสวรรคตที่จีนในปี 2012

สำหรับกษัตริย์นโรดม สีหมุนี พระประมุของค์ปัจจุบันทรงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนเช่นเดียวกับรัชสมัย ของพระวรราชบิดา ซึ่งเมื่อครั้งทรงได้รับการเลือกสรรจากสภาราชบัลลังก์ให้ขึ้นครองราชย์เมื่อ วันที่ 7 ตุลาคม 2004 แล้ว ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา (Hu Jintao) ของจีนเป็นบุคคลแรกที่ได้ทูลเกล้าถวายสาส์นแสดงความยินดีต่อพระองค์ ช่วงเวลาที่ผ่านมาภายหลังขึ้นครองราชย์ กษัตริย์สีหมุนี ได้เสด็จไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน

ส่วนความสัมพันธ์ในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล ระหว่างกัมพูชากับจีนตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกัน ผู้นำจีนรุ่นที่ 2 เติ้ง เสี่ยวผิง เป็นผู้ประกาศใช้นโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจเมื่อปี 1992 จีนเรียกนโยบายนี้เป็นภาษาทางการว่า “หนานสวิน” แปลว่า “มุ่งลงใต้” (http://www.oknation.net/blog/print.php?id=843363) จีนเปลี่ยนการบริหารเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ของพรรคมาเป็นเศรษฐกิจสังคมนิยมแนว ตลาด นั่นหมายถึง จีนต้องการขยายตลาดการค้าโดยมีเป้าหมายลงสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น กัมพูชาจึงตกเป็นเป้าของการขยายตลาดการค้าของจีนด้วย

ผู้นำจีนรุ่นที่ 3 เจียง เจ๋อหมิน (Jiang Zemin) ซึ่งได้สานต่อนโยบายมุ่งลงใต้ (Southward policy) จีนมีนโยบายขยายอิทธิพลให้ก้าวขึ้นสู่มหาอำนาจหลังยุคสงครามอุดมการณ์ สิ่งที่ประเทศต่าง ๆ กลัวจีนคือภัยคุกคามทางทหาร ซึ่งจีนจะไม่ใช้แต่จะเปลี่ยนไปใช้เศรษฐกิจแทน จึงมีแผนการขยายตลาดเศรษฐกิจไปทั่วโลกรวมทั้งการขยายตลาดเศรษฐกิจเข้ามาใน อนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ประกอบกับนโยบายเศรษฐกิจภายในประเทศ จีนต้องการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยการพึ่งฐานการส่งออกเป็น สำคัญ ด้วยเหตุนี้การขยายตลาดเศรษฐกิจของจีนจึงทำให้กัมพูชาแม้เป็นประเทศเล็ก ๆ มีอำนาจการซื้อน้อยด้วยจำนวนประชากรเพียง 14.7 ล้านคน (World Bank; Nation Bank of Cambodia – NBC) ไม่อาจพ้นจากการตกเป็นเป้าของจีนในการขยายตลาดการค้าด้วยเช่นกัน

ผู้นำจีนรุ่นที่ 4 หู จิ่นเทา (Hu Jintao) เป็นช่วงเวลาเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 จีนดำเนินการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียและระดับโลก ด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ คือ “การพัฒนาสันติภาพ” (peaceful development) เพื่อต้องการเปลี่ยนแนวความคิดของประเทศต่าง ๆ ให้เห็นว่าความก้าวหน้าและความทันสมัยของจีนไม่ใช่ภัยคุกคามต่อสันติภาพใน ประเทศใด ๆ ที่ร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับจีน หากแต่เป็นการสร้างความไว้วางใจต่อประเทศเหล่านี้ โดยจีนเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของตนมาร่วมมือช่วยเหลือพัฒนา และสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ทั้งจีนและประเทศคู่ปฏิสัมพันธ์ หรือเรียกว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์แบบ “ชนะ-ชนะ” (win-win relations) (Goh and Simon, (eds) 2008: 3)

ยุทธวิธีที่จีนใช้ เรียกว่าการใช้พระคุณ (soft power) แทนการใช้กำลังทหาร หรือพระเดช (hard power) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุดท้ายทางการเมือง (Burgos and Ear, 2010: 627) เครื่องมือที่ใช้ดำเนินนโยบายคือ การค้า การลงทุน และการให้ความช่วยเหลือ (Kurlantzick, 2006: 1-2) ซึ่งจีนใช้ยุทธวิธีแบบพระคุณต่อกัมพูชาด้วย

มาถึงผู้นำจีนรุ่นใหม่รุ่นที่ 5 จากการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (Nation People’s Congress) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2013 สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ได้รับเลือกให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดีและประธานคณะกรรมาธิการทหารกลาง และหลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จีนและกัมพูชาจะดำเนินความสัมพันธ์ไปอย่างไร ในบทความนี้ผู้เขียนจะได้รวบรวมข้อมูลมาศึกษาโดยลำดับไป

นโยบายต่างประเทศของกัมพูชาต่อจีน

กัมพูชานับตั้งแต่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือก ตั้งในระบอบประชาธิปไตยปกครองเมื่อปี 1993 มาจนถึงปี 2013 เป็นเวลา 20 ปี ที่การดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อจีนแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง หากจะกล่าวเฉพาะตัวผู้นำอย่าง นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศอย่างเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวจากการชนะในการเลือก ตั้งปี 1998 จนถึงปี 2013 ทำให้สามารถกำหนดนโยบายความสัมพันธ์กับจีนได้อย่างแนบแน่นในทุก ๆ ด้าน ได้แก่ การค้า การลงทุน การรับความช่วยเหลือ และด้านความมั่นคง

ช่วงที่กัมพูชาฟื้นฟูบูรณะประเทศจากภัยและ ความเสียหายของสงครามกลางเมือง เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่ากัมพูชาต้องขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ สภาพเศรษฐกิจโดยรวมต้องพึ่งพาความช่วยเหลือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของ GDP (Bangkok Post (Business), 6 October 1998: 4) แหล่งที่ให้ความช่วยเหลือที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ (Consultative Group – CG) ประกอบด้วย 16 ประเทศ และสถาบันระหว่างประเทศอีก 5 แห่ง ซึ่งมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือโดยยื่นเงื่อนไขให้กัมพูชาปรับ ปรุงแก้ไขเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน กฎหมายที่ใช้ปกครอง และระบบภาษี อีกแหล่งที่สำคัญคือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งมีโครงการให้เงินกู้กับกัมพูชาโดยแลกเปลี่ยนกับโครงการปฏิรูปของรัฐบาล กัมพูชา และความเป็นไปได้ของโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานใหม่ (a new enhanced structural adjustment facility – ESAF) โดยเฉพาะให้ครอบคลุมเรื่องการจัดการไม้ซุง เพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้ และการปฏิรูประบบภาษี

การให้ความช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขเช่นนี้ทำ ให้นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ต้องการหาแหล่งความช่วยเหลือใหม่ จึงมองไปที่จีนว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเอเชียและในอนาคตเป็นมหาอำนาจ โลกเพื่อหวังรับความช่วยเหลือ ได้เริ่มจากการปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนให้กลับคืนสู่ขั้นปกติ หลังจากไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันมานานในยุคสงครามอุดมการณ์ เริ่มต้นจากนายกฯ ฮุน เซน เดินทางไปเยือนจีนในระหว่างวันที่ 18-22 กรกฎาคม 1996 (วัชรินทร์ ยงศิริ, 2548: 175) ทั้งนี้ ผู้นำกัมพูชาได้เอาเศรษฐกิจมาเป็นปัจจัยนำในการปรับความสัมพันธ์ระหว่าง กัมพูชากับจีน เพื่อหวังผลการรับความช่วยเหลือและการพัฒนาเศรษฐกิจจากจีน และยังหวังความร่วมมือทางด้านความมั่นคงด้วย สิ่งสำคัญที่กัมพูชามุ่งไปที่จีนเพื่อขอความช่วยเหลือ คือ จีนไม่มีเงื่อนไขใด ๆ แลกเปลี่ยนสำหรับการให้ความช่วยเหลือ

สำหรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองและความมั่น คง กัมพูชาเต็มใจที่จะตอบแทนความช่วยเหลือจากจีนด้วยการดำเนิน “นโยบายจีนเดียว” หมายความว่า กัมพูชายอมรับว่ามีเพียงจีนเดียวบนแผ่นดินใหญ่และตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน

ในทศวรรษ 1990-2010 จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในเอเชีย และมุ่งดำเนินนโยบายแผ่ขยายอิทธิพลในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง เนื่องจากหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 แล้วดูเหมือนว่าสหรัฐฯ กลับมามีบทบาทเป็นผู้นำในการต่อต้านขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ ด้วยการแสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรเก่าในยุคสงครามเย็นในภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสหรัฐฯ ลงนามร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนในปฏิญญาร่วมมือปราบปรามการก่อการร้าย ระหว่างประเทศ ในปี 2002 ซึ่งการกระทำนี้ได้สร้างความเคลือบแคลงต่อจีนว่า นี่เป็นการเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ล้อมกรอบจีนใหม่หรือไม่ สำหรับกัมพูชาในฐานะสมาชิกอาเซียนต้องปฏิบัติตามปฏิญญาร่วมฯ สหรัฐฯ-อาเซียน แต่ยังคงความสัมพันธ์กัมพูชา-จีนเอาไว้

ด้วยจุดประสงค์ในนโยบายของจีนที่เร่งขยาย อิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคแม่น้ำ โขง ดังนั้นเมื่อประเทศเล็ก ๆ อย่างกัมพูชาร้องขอความช่วยเหลือจากจีนด้านความมั่นคง จีนจึงพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างไม่มีเงื่อนไข เรื่องนี้นายกฯ ฮุน เซน เองมีดุลพินิจอยู่แล้วว่าจีนเป็นประเทศมหาอำนาจในเอเชียและต่อไปในอนาคตจีน กำลังจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจโลก การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนไว้ย่อมส่งผลดีให้กัมพูชาในฐานะที่เป็นมิตร กับจีนได้รับความยำเกรงจากประเทศต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค (วัชรินทร์ ยงศิริ, 2548: 174) ไม่กล้ากระทำการข่มเหงด้วยกองกำลังที่เหนือกว่า เมื่อผลประโยชน์ของกัมพูชาและจีนมาสอดคล้องกัน โดยฝ่ายกัมพูชาได้รับความมั่นใจต่อเสถียรภาพภายในประเทศและในอนุภูมิภาค ขณะที่ฝ่ายจีนต้องการให้ประเทศเล็ก ๆ มาอยู่ภายใต้อิทธิพลและเป็นฝ่ายสนับสนุนตนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศเช่น นี้ จึงเกิดความร่วมมือช่วยเหลือจากจีนซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจกับประเทศเล็ก ๆ อย่างกัมพูชา

นโยบายต่างประเทศของจีนต่อกัมพูชา

เหตุใดจีนในฐานะประเทศมหาอำนาจทั้งทาง เศรษฐกิจและการทหาร จึงได้ให้ทั้งความสนใจและความสำคัญต่อกัมพูชา ศึกษาวิเคราะห์ผลประโยชน์ของจีนในกัมพูชาได้เป็น 4 ประเด็น ดังนี้ (Heng Pheakdey, 2012: 72-75)

(1) ผลประโยชน์ด้านการเมือง กัมพูชาเป็นพันธมิตรของจีนโดยเฉพาะตัวนายกฯ ฮุน เซน ได้กลายเป็นผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศหนึ่งที่เป็นพรรคพวกจีนที่ยึด มั่นต่อ “นโยบายจีนเดียว” อย่างเคร่งครัด ดังกรณีที่กัมพูชาช่วยเป็นเสียงสนับสนุนต่อกฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกดินแดน ของจีนปี 2005 โดยนายกฯ ฮุน เซน อธิบายว่า “กฎหมายนี้เสมือนเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเหตุผลในการรวมชาติอีกครั้ง ของจีน” (Heng Pheakdey, 2012: 72) ทั้งนี้หมายถึงการรวมไต้หวันเข้ากับจีน

นอกจากนี้ กัมพูชายังร่วมมือกับจีนด้านการเมืองภายในทำการปราบปรามกลุ่มต่อต้านทางการ เมืองของจีน ดังกรณีชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ ซึ่งอาศัยอยู่ในมณฑลซินเจียง ที่ลักลอบเดินทางเข้ามาในกัมพูชาเมื่อปลายปี 2009 และได้ใช้สำนักงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติเป็นที่พำนัก สาเหตุการลักลอบเข้ามา เนื่องมาจากการต่อสู้ระหว่างชาวอุยกูร์กับชาวจีนฮั่น (Han Chinese) ซึ่งเป็นชนชั้นผู้ปกครองในจีน รัฐบาลจีนได้ร้องขอให้ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศ รัฐบาลกัมพูชาจึงตัดสินใจส่งกลับจำนวน 20 คน เมื่อเดือนธันวาคม 2009 การส่งกลับชาวอุยกูร์นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติและองค์การระหว่าง ประเทศ โดยเฉพาะสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ออกมาตำหนิกัมพูชาว่า กัมพูชาได้ลงนามในสนธิสัญญาผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติปี 1951 ดังนั้น ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศกัมพูชาไม่มีอำนาจส่งกลับชาวอุยกูร์ เพราะเชื่อว่าชาวอุยกูร์เหล่านี้จะต้องกลับไปเผชิญกับการถูกข่มเหง ดังกรณีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2009 รัฐบาลจีนได้ประหารชีวิตชาวอุยกูร์ไป 9 คน โทษฐานก่อการจลาจล (The Economist Intelligence Unit, January 2010: 10)

ส่วนสหรัฐฯ ได้ขอให้รัฐบาลกัมพูชายับยั้งการส่งกลับชาวอุยกูร์ โดยเสนอข้อแลกเปลี่ยนว่าถ้าหากกัมพูชาปฏิบัติตามคำร้องขอ สหรัฐฯ จะให้รถยนต์บรรทุกทหารที่ใช้แล้ว (ซ่อมบำรุงใหม่) จำนวน 65 คัน แต่เมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่ร้องขอ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ มีคำสั่งให้ระงับการส่งมอบรถยนต์บรรทุกทหารให้กัมพูชา จีนจึงถือโอกาสนี้ตอบแทนกัมพูชาด้วยการส่งรถยนต์บรรทุกทหารใหม่ให้จำนวน 250 คัน

สำหรับเวทีการเมืองระหว่างประเทศ กัมพูชาได้แสดงท่าทีสนับสนุนจีนอย่างโจ่งแจ้ง ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 3-4 เมษายน 2012 ซึ่งกัมพูชาได้กลับมาเป็นประธานอาเซียนอีกครั้งตามรอบหมุนเวียน ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม กับจีนนั้น กัมพูชาได้พยายามขัดขวางไม่ให้มีการหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในที่ประชุม

ต่อมาปัญหาสำคัญได้เกิดวิวาทะครั้งใหญ่ใน กลุ่มสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับปัญหาทะเลจีนใต้ และบทบาทของกัมพูชาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำหน้าที่ประธานอาเซียนไม่สม ศักดิ์ศรี ในวาระการประชุมประจำรัฐมนตรีการต่างประเทศอาเซียน (ASEAN Ministerial Meeting – AMM) ครั้งที่ 45 และการประชุมความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) ระหว่างวันที่ 9-13 กรกฎาคม 2012 ประเด็นสำคัญที่หยิบยกมาพูดในที่ประชุม คือ ระเบียบปฏิบัติทางทะเล (Code of Conduct – COC) ฟิลิปปินส์เป็นผู้นำผลักดันนำร่าง COC เข้าเจรจากับจีนในการประชุมกับชาติคู่เจรจา ในลักษณะพหุภาคีสมาชิกอาเซียนกับจีน แต่ฝ่ายจีนไม่เห็นด้วยต้องการให้ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้เจรจาแก้ไข แบบทวิภาคีระหว่างจีนกับประเทศคู่กรณีเป็นราย ๆ ไป

อีกประการหนึ่ง หลังการประชุม AMM ต้องมีการออกแถลงการณ์ร่วม แต่การประชุมครั้งนี้ปิดฉากลงโดยไม่มีแถลงการณ์ร่วม เนื่องจากฟิลิปปินส์และเวียดนามต้องการให้ในร่างแถลงการณ์ร่วมอ้างอิง เหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างเรือรบของจีนกับของฟิลิปปินส์และเรือรบของจีนกับ เรือประมงเวียดนามในบริเวณแนวหินโสโครกสการ์โบโรจ์ (The Scarborough Shoal) ที่จีนเรียกว่าเกาะหวงหยาน (Huangyan Island) แต่ถูกกัมพูชาคัดค้านโดยอ้างว่าไม่เหมาะสมที่จะระบุ จึงกลายเป็นข้อโต้เถียงที่รุนแรงระหว่าง 3 ชาติสมาชิก คือ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม นายอัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ รัฐมนตรีการต่างประเทศฟิลิปปินส์ วิจารณ์กัมพูชาว่าปกป้องผลประโยชน์ของจีนอย่างเห็นได้ชัด (The Economist Intelligence Unit, August 2012: 17)

การประชุม AMM จบลงด้วยความไม่ลงรอยกันของบรรดาสมาชิกอาเซียน ที่ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนจีน คือ กัมพูชา กับอีกฝ่ายที่ขัดแย้งกับจีน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ทำให้เกรงกันว่าจะเป็นต้นเหตุทำลายความไว้วางใจกันของสมาชิกอาเซียน และอาจส่งผลกระทบต่อการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2015
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า การเป็นสมาชิกอาเซียนของกัมพูชาเป็นประโยชน์ต่อจีน โดยจีนสามารถผูกมัดกัมพูชาให้เป็นตัวแสดงในภูมิภาคที่บังคับให้คอยรับใช้ผล ประโยชน์ของจีนได้ (Heng Pheakdey, 2012: 72) มีหลักฐานในการวิเคราะห์เช่นนี้ กัมพูชาได้รับการตอบแทน เมื่อประธานาธิบดี

หู จิ่นเทา ให้สัญญาที่จะให้เงินช่วยเหลือทั้งในรูปเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าและในรูป เงินกู้รวมเป็นจำนวน 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อคราวเดินทางมาเยือนกัมพูชาระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 2 เมษายน 2012 ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน

(2) ผลประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์กัมพูชา มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ศูนย์กลางแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ซึ่งสำคัญต่อจีนที่จะสร้างความเข้มแข็งให้เสถียรภาพของจีนใน ยุทธศาสตร์ “สร้อยไข่มุก” (string-of-pearls) (Heng Pheakdey, 2012: 73-74) ยุทธศาสตร์นี้เป็นเรื่องเกี่ยวพันกันระหว่างการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจคู่ไป กับการตั้งฐานกองลาดตระเวนทางทหารเพื่อคุ้มกันความปลอดภัยตลอดเส้นทางการค้า

จีนรุกทางเศรษฐกิจด้วยการขยายตลาดการค้าส่ง สินค้าออกไปขายทั่วโลก ในขณะเดียวกันจำเป็นต้องนำเข้าทั้งพลังงานและวัตถุดิบจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยเส้นทางการค้าทางทะเลเป็นสำคัญ ซึ่งเส้นทางที่สำคัญของจีนคือ ช่องแคบมะละกา ซึ่งมีระยะทางเดินเรือยาวเกือบ 500 ไมล์ จึงกล่าวได้ว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางห่วงโซ่ด้านการค้าทางทะเล โดยจีนส่งสินค้าที่ผลิตออกมาไปขายยังตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา ปากีสถาน กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง และในแอฟริกา โดยผ่านทะเลจีนใต้มาทางช่องแคบมะละกาสู่มหาสมุทรอินเดีย ไปตะวันออกกลาง และไปแอฟริกา ในทางกลับกันนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางซึ่งจีนพึ่งพิงเป็นปริมาณสูงถึง ร้อยละ 60 และในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70 และนำเข้าวัตถุดิบจากทั้งแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านช่องแคบมะละกากลับจีน
ในเส้นทางทะเลมีปัญหาการปล้นสะดมจากโจรสลัด จีนจึงต้องส่งกองเรือมาคุ้มกันเรือบรรทุกสินค้าของตน แต่ประเทศริมทะเลช่องแคบมะละกา (หมายถึง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์) ไม่ต้องการให้ประเทศมหาอำนาจนอกภูมิภาค (ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย) ในที่นี้หมายถึงจีนส่งกองเรือเข้ามาพิทักษ์ทรัพย์สินของคนในชาติของตน กลุ่มประเทศริมทะเลช่องแคบจะต่อต้านเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในช่องแคบ เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ทำให้จีนไม่มั่นใจในเส้นทางห่วงโซ่ด้านการค้าทาง ทะเลและการขนส่งเสบียงทางทะเลโดยเฉพาะพลังงานและวัตถุดิบของตน จีนจึงต้องวางแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติทางทะเลเสียใหม่เพื่อปกป้องเส้นทางการ ค้าและการขนส่งทางทะเล โดยมองหาที่ตั้งฐานทัพเรือที่อยู่ใกล้ช่องแคบมะละกา เพื่อที่จะให้กองเรือลาดตระเวนจากกองทัพเรือจีนสามารถเข้าไปปฏิบัติการใน เวลาฉุกเฉินได้ทันท่วงที

จีนมองไปยังฐานทัพเรือเรียม (Ream) และท่าเรือสีหนุวิลล์ ในจังหวัดพระสีหนุของกัมพูชาว่า เป็นเม็ดไข่มุก (หรือจุดสำคัญ) ที่มีค่าในยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุกของจีน เพราะตั้งอยู่ไม่ไกลจากช่องแคบมะละกา  ทั้งนี้ จีนพร้อมที่จะให้เงินทุนเพื่อปรับปรุงท่าเทียบเรือให้มีความสะดวกทั้งที่ฐาน ทัพเรือเรียมและที่ท่าเรือสีหนุวิลล์

การที่จีนเข้ามาใช้ท่าเทียบเรือทั้งสองแห่ง ของกัมพูชาเท่ากับเป็นการจัดเตรียมฐานที่ยอดเยี่ยมสำหรับโครงการขยายอำนาจ ทางทะเลเข้าไปยังบริเวณอ่าวไทยและช่องแคบมะละกา  ดังนั้น กัมพูชาจึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของจีนในความพยายามขยายอิทธิพลใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อหวังเข้ามาคานดุลอำนาจกับสหรัฐฯ

นอกจากนี้ จีนยังต้องการปรับปรุงฐานทัพอากาศของกัมพูชาไว้ใช้สำหรับเป็นจุดเติมเชื้อ เพลิงให้กับเครื่องบินรบของจีนที่บินลาดตระเวนเหนือทะเลบริเวณนี้  ดังนั้น แต่ละฐานทัพจะไม่เป็นเพียงการปกป้องผลประโยชน์ของจีนเท่านั้น หากจะกลายเป็นจุดผลักดันให้จีนเข้ามาแทรกตัวอยู่ทั้งภายในอาเซียน และแทรกระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ

ฝ่ายกัมพูชาซึ่งต้องการพัฒนากองทัพเรือของ ตนให้ก้าวหน้าและทันสมัย จึงมาสอดคล้องกับจีนที่หาที่ตั้งกองเรือให้ใกล้ช่องแคบมะละกา จึงเต็มใจเสนอให้จีนเข้ามาใช้ฐานทัพเรือเรียมและท่าเรือ

สีหนุวิลล์ ผลตอบแทนที่ได้รับจากจีน คือ หมู่เรือลาดตระเวนชายฝั่งจำนวน 6 ลำ ได้รับมอบเมื่อปี 2005 และต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2007 ได้ซื้อหมู่เรือลาดตระเวนชายฝั่งเพิ่มอีก 9 ลำ มูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งแหล่งเงินจัดซื้อนั้นจีนเป็นผู้จัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ และกัมพูชายังสั่งต่อเรือลาดตระเวนอีกจำนวน 12 ลำจากจีนด้วยราคามิตรภาพ

(3) ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การให้ความช่วยเหลือของจีนต่อกัมพูชาย่อมหวังผลประโยชน์ตอบแทน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจจีนมุ่งขยายตลาดการค้าและขยายการลงทุนด้านต่าง ๆ เข้ามาในกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้ให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนโดยตรง จากต่างประเทศของจีน (Foreign Direct Investment – FDI)

การลงทุนจากจีนด้านอสังหาริมทรัพย์ได้รับ การอนุมัติเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนเพียง 105 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 1998 เป็นจำนวน 4.375 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2008 จนมาถึงปี 2012 บริษัทจากจีนได้รับสัมปทานทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่จากรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งมาจากนโยบายการให้สัมปทานที่ดินเศรษฐกิจใหม่ (new economic land concessions – ELCs) บริษัทดังกล่าวชื่อ บริษัท การลงทุนหงจวินเออร์ดอส (Erdos Hongjun Investment Corporation) (http://www.chinadialogue.net/article/show/single/en/4629-A-shadow-over-Boeung-Kak-lake-1-) โดยเข้าหุ้นร่วมทุนกับบริษัท Shukaku ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของชาวกัมพูชา เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 เพื่อก่อสร้างที่พักอาศัยและศูนย์การค้าชั้นเลิศ พื้นที่ที่ได้รับสัมปทานคือที่ดินบริเวณบึงกก (Boeung Kak) ในกรุงพนมเปญบนพื้นที่กว่า 133 เฮกตาร์ เป็นเวลา 99 ปี ด้วยเงินจำนวน 79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยลงนามทำสัญญากับเทศบาลนครกรุงพนมเปญ (The Economist Intelligence Unit, October 2012: 17) การที่รัฐบาลกัมพูชาให้สัมปทานโครงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นี้ได้ส่งผล กระทบให้เกิดการไล่ที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาก่อนให้ออกจาก พื้นที่ จึงเกิดการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงระหว่างประชาชนกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์และ เจ้าหน้าที่ของรัฐ

ส่วนด้านการอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า บริษัทจากจีนที่เข้ามาลงทุนในกัมพูชาได้ใช้สถานะสิทธิพิเศษของกัมพูชาในการ ส่งออกสินค้าเสื้อผ้า เช่น สถานภาพชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nation – MFN) สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preference – GSP) และข้อตกลงแลกเปลี่ยนสินค้าทุกชนิดยกเว้นอาวุธ (Anything But Arms) ที่สหภาพยุโรปให้แก่กัมพูชา โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของจีนสามารถส่งสินค้าออกโดยใช้สิทธิพิเศษเหล่านี้ ผ่านโควตาและกำแพงภาษีเข้าถึงตลาดในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และตลาดโลกแห่งอื่น ๆ

การลงทุนอีกด้านหนึ่งที่จีนสนใจคือการสำรวจ และขุดหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุในกัมพูชา แม้ว่ากัมพูชามีทรัพยากรธรรมชาติน้อยกว่าประเทศในแอฟริกาและเอเชียกลาง แต่จากการสำรวจพบว่ากัมพูชาเป็นเจ้าของแหล่งน้ำมันดิบจำนวนมากประมาณ 400 ล้านบาร์เรล และ 30,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตของก๊าซธรรมชาติ (Heng Pheakdey, 2012: 73) ซึ่งกัมพูชานับเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งของโลกที่ยังไม่มีการสำเรวจ เช่นเดียวกันรัฐบาลกัมพูชาให้สัมปทานแก่บริษัทจีนในการสำรวจและขุดหาแร่ธาตุ เพื่อหวังการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ข้อเท็จจริง บริษัทจากจีนได้รับสัมปทานที่ดินและใบอนุญาตลงทุนด้านเหมืองแร่ เขื่อน และอุตสาหกรรมการเกษตรในกัมพูชาเป็นจำนวนมาก ตามรายงานของศูนย์สิทธิมนุษยชนกัมพูชา (The Cambodian Centre for Human Rights – CCHR) ระบุว่าร้อยละ 50 ของที่ดินที่ให้สัมปทานตั้งแต่ปี 1994 มีถึง 4.6 ล้านเฮกตาร์ อยู่ในครอบครองของบริษัทจีนถึง 107 บริษัท โดยแบ่งเป็นบริษัทลงทุนสำรวจทรัพยากรแร่ธาตุ 23 บริษัท บริษัทก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า 5 บริษัท บริษัทลงทุนด้านอุตสาหกรรมเกษตร 66 บริษัท และยังไม่แน่ชัดว่ามีกี่บริษัทจากจีนที่ลงทุนอุตสาหกรรมน้ำมัน แต่ที่แน่ชัดเมื่อปี 2007 บรรษัทน้ำมันนอกชายฝั่งแห่งชาติจีน (The China National Offshore Oil Corporation – CNOOC) เข้ามาลงทุนในกัมพูชาจากรายงานระบุว่าได้รับสัมปทานในการสำรวจและขุดเจาะนอก ชายฝั่งกัมพูชาในเขตบล็อค F ครอบคลุมพื้นที่ 7,026.7 ตารางกิโลเมตร

นอกจากนี้จีนยังมองกัมพูชาว่าเป็นพื้นที่ เหมาะแก่การเพาะปลูกการเกษตร เนื่องจากจีนกำลังมองหาแหล่งอาหารและแหล่งผลิตวัตถุดิบภายนอกประเทศ เพื่อหลักประกันความมั่นคงทางอาหารของประเทศ เนื่องด้วยกัมพูชามีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะแก่การเพาะปลูกและยังมีผืนดินที่ อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำจากแม่น้ำและทะเลสาบ รัฐบาลกัมพูชาได้ให้สัมปทานแก่บริษัทจีนลงทุนด้านเกษตรกรรม ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจว่าจีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภาคการเกษตร จากปี 2000 ถึงปี 2010 มีสัญญาณบ่งบอกว่าจีนให้ความสนใจต่อผลผลิตการเกษตรของกัมพูชา ดังกรณี เมื่อเดือนสิงหาคม 2011 บริษัท The China National Food Industry Group ลงนามในข้อตกลงกับบริษัท The Cambodian agricultural ซื้อมันสำปะหลังปริมาณ 1 ล้านตัน และในเดือนเดียวกัน The Guangzhou สาขาของ The China Grain Reserves Corporation (Sinograin) ได้ลงนามซื้อข้าวสารจากกัมพูชาเพิ่มเป็น 200,000 ตัน/ปี นอกจากนี้ยังมีบริษัทจากจีนเข้ามาขอสัมปทานพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อปลูกยางพารา ในจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา ได้แก่ สตึงเตร็ง กระแจ๊ะ รัตนคีรี และมณฑลคีรี

สรุปการลงทุนในภาคเกษตรกรรมนี้ช่วยให้จีนมี ความมั่นคงในทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญเพื่อการ

ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557