Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
Publications: Articles - Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University
"วรศักดิ์ มหัทธโนบล" กว่าจะรู้เท่าทันจีน - กรุงเทพธุรกิจ
"วรศักดิ์ มหัทธโนบล" กว่าจะรู้เท่าทันจีน - กรุงเทพธุรกิจ
โดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล

"วรศักดิ์ มหัทธโนบล" กว่าจะรู้เท่าทันจีน - กรุงเทพธุรกิจ

จีน ยิ่งใหญ่เพียงใด ชาวโลกต่างรู้ดี จีนไม่ได้เป็นนักล่าอาณานิคม แต่มีกุศโลบายลึกซึ้งกว่านั้น 

ในประเทศนี้ มีนักวิชาการน้อยคนที่จะรู้ลึก รู้จริง เรื่องของจีน และหนึ่งในนั้น คือ ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ

แม้อาจารย์จะถ่อมตัวว่า “ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่เก่งกาจเรื่องจีน” แต่เป็นคนหนึ่งที่สนใจเรื่องจีนและศึกษาอย่างต่อเนื่อง จนมีผลงานวิชาการและหนังสือออกมากว่า 10 เล่ม แต่ละเล่มคุณภาพคับแก้ว โดยเฉพาะหนังสือ เศรษฐกิจการเมืองจีน, ครองแผ่นดินจีน และล่าสุด จีนแผ่นดินที่ 5 ฯลฯ

ตามประสานักวิชาการที่รับผิดชอบต่อสังคม อ.วรศักดิ์จะสนใจประเด็นที่มีประโยชน์ต่อสังคม ไม่ว่าจะเรื่องอนาคตของจีน และเรื่องราวที่มีผลกระทบต่อสังคมไทยและสังคมโลก ซึ่งไม่อาจเปรียบเปรยกับหนังสือฮาวทูที่เขียนเกี่ยวกับจีนได้เลย

และในช่วงนี้ เศรษฐกิจของจีนย่ำแย่ เรื่องนี้จีนจะหาทางออกอย่างไร และมีต่อสังคมไทยอย่างไร รวมถึงการเป็นมหาอำนาจแบบนี้ ผู้นำคิดยังไง และเรื่องไม่เล็กไม่ใหญ่ วัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปของคนจีนยุคใหม่ ที่อาจารย์วรศักดิ์เรียกว่า วัฒนธรรมพันทาง

นี่คือเรื่องเล่าแบบจีนๆ กับคนที่ศึกษาเรื่องจีนมาค่อนชีวิต...

 

ทำไมอาจารย์สนใจศึกษาเรื่องจีนมานานกว่าสามสิบปี

  ผมพอมีพื้นภาษาจีน ผมไม่ได้ศึกษาแบบนักเขียนฮาวทูเรื่องจีนทั่วไป ผมศึกษาทุกมิติ เป็นงานที่ทำด้วยใจ ส่วนเรื่องสาธารณชนรู้จักผมมากขึ้น เป็นสิ่งที่ตามมาภายหลัง ถ้าถามผมว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญไหม ผมไม่กล้าพูดอย่างนั้น แต่ถ้าบอกว่าเป็นนักวิชาการจีนศึกษา เป็นเรื่องที่ปรากฎอยู่ ทำไปทำมาแล้วสนุกมีหลายอย่างที่ทำให้เราฉุกคิด

เพราะการเป็นนักจีนศึกษา ผมไม่ได้ศึกษาด้านใดด้านหนึ่ง แต่ศึกษาทุกอย่างเชื่อมร้อยกันหมด ทำให้เห็นภาพ จีนเป็นมหาอำนาจ ถ้าจะอธิบายก็ไม่ใช่แค่บทบาทในปัจจุบัน เราไม่อาจตัดขาดอดีตที่ปรากฎเมื่อสองสามพันปี ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าศึกษามาก

 

มิติในอดีต ย้อนไปสองสามพันปี บอกอะไรได้บ้าง

  ง่ายๆ เลย จีนปัจจุบันบอกว่า พวกเขาไม่เคยล่าอาณานิคม และบอกว่าไม่มีนโยบายตั้งฐานทัพเหมือนอเมริกา ถ้าฟังแล้วเหมือนสร้างสรรค์ แต่ถ้ามองย้อนไปในอดีต จีนที่เป็นปึกแผ่นตั้งแต่สมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ และก่อนจิ๋นซีฮ่องเต้ 300-500 ปี จีนมีความคิดที่จะรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่น หมายถึงจี นต้องทำสงครามแย่งดินแดนกับชนชาติพันธุ์นับร้อย อย่างนี้จะเรียกว่า ล่าอาณานิคมหรือเปล่า

ก่อนที่จิ๋นซีฮ่องเต้จะรวมดินแดนได้ขนาดนี้ เขาเคยมีอาณาจักรเล็กๆ ชื่อ รัฐฉิน ยังไม่มีอำนาจและอิทธิพล ตอนนั้นคนในรัฐอื่นก็ดูถูกรัฐฉิน มองว่าเป็นชนชาติพันธุ์ ไม่ใช่จีน ต่อมารัฐฉินแข็งแกร่งขึ้นก็ไปยึดดินแดนคนอื่น มีการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ ไม่ใช่จีนฮั่นแบบบริสุทธิ์ละ จีนอื่นๆ ที่ทรงอิทธิพลก่อนและหลังรัฐฉิน ก็คล้ายๆ กัน ผมมองว่า จีนก็คล้ายๆ ไทย ตอนนี้ใครกล้าพูดว่า มีเชื้อชาติไทยร้อยเปอร์เซ็นต์

สิ่งที่สืบทอดมาถึงทุกวันนี้ เวลาจีนมีปัญหากับทิเบต มองโกล หรืออุยกูร์ ชนชาติจีนมีสำนึกบางอย่างที่ยังรักษาอัตลักษณ์ของตัวเอง แม้จะมีการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ ก็ไม่เหมือนชาติพันธุ์อื่น พวกเขายังมีความเป็นจีน

 

การเข้าไปยึดดินแดนคนอื่น นั่นทำให้นานาประเทศมองจีนในแง่ลบ ?

  การถูกมองไม่ดีจากนานาประเทศ ตามเกณฑ์มาตรฐานปัจจุบัน มองว่า การทำแบบนี้ไม่ดี เหมือนการไม่เป็นประชาธิปไตย ก็จะถูกมองว่าไม่ดี บังเอิญฮิตเล่อร์แพ้สงคราม ถ้าฮิตเล่อร์ชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 คนก็จะบอกว่า เผด็จการต้องดีกว่าประชาธิปไตย

 

อยู่ที่ว่าเป็นเกณฑ์มาตรฐานของใคร

  ใช่ ถ้าจีนบอกว่า พวกเขาไม่ได้ล่าอาณานิคม หรือตั้งฐานทัพในประเทศอื่น ซึ่งทำให้เราตั้งคำถามว่า จริงหรือเปล่าที่จีนเข้มแข็งจนถึงทุกวันนี้ จีนไม่เคยมีนโยบายแบบนั้น นี่คือ คำถามที่ผมพบ แต่ก็ต้องหาคำตอบมาอธิบายให้สมบูรณ์ ซึ่งผมต้องหาข้อมูลมาพิสูจน์มากกว่านี้

 

สถานการณ์จีนตอนนี้ อาจารย์วิเคราะห์อย่างไร

ถ้ามองเฉพาะมิติเศรษฐกิจ จีนก็เหมือนหลายประเทศ ประเทศสังคมนิยมจะไม่ให้มีตลาดหุ้น แต่จีนยึดเศรษฐกิจเสรีนิยม ตลาดหุ้นจึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับจีน แม้จะเปิดมายี่สิบกว่าปี ซึ่งเศรษฐกิจจีนก็ดีวันดีคืน คนจีนก็อยากเป็นนักเล่นหุ้น มีจำนวนไม่น้อยที่ชอบเสี่ยงแบบนี้ เป็นการลงทุนวันต่อวัน หวังผลเลิศ จึงนำมาสู่ยุคฟองสบู่แตก ซึ่งแฝงอยู่ในตลาดจีนมาช้านาน แต่จีนมีรัฐบาลเผด็จการ เวลาออกคำสั่งเรื่องใดจะทำได้ทันที

อีกอย่างผู้นำจีนในยุคปัจจุบันมีมาตรการดูแลเรื่องนี้อย่างเหมาะสม แม้ฟองสบู่จะแตกแรงมาก ผู้นำก็ไม่อนุญาติให้นักลงทุนจีนขายหุ้นทิ้ง ให้คงไว้หกเดือนหรือปีหนึ่ง เมื่อเงินอยู่ในตลาด ฟองสบู่ก็ยากที่จะแตก ตอนที่ฟองสบู่แตกในไทย มาเลเซียเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียที่ใช้แนวทางนี้ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในหนึ่งปี เพราะนักเล่นหุ้นไม่ได้กอบโกยอย่างเดียว และผู้นำจีนจะไม่เห็นแก่พวกพ้องที่ตลาดหุ้น แต่ถ้าเป็นประเทศประชาธิปไตย นักการเมืองที่รู้จักนักลงทุนในตลาดหุ้น จะทำการณ์ใดก็กลัวว่า เพื่อนจะเจ๋ง แต่ผู้นำในประเทศเผด็จการจะไม่ให้มีคอรัปชัน

ตลาดหุ้นก่อนหน้านี้ หุ้นจีนแกว่งตัวนิดหน่อย แต่ไม่ถึงกับสะเทือน แต่ช่วงนี้หนักและฟองสบู่ที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องอสังหาริมทรัพย์ของจีน เคยสังเกตไหมทุกประเทศ โดยเฉพาะอเมริกา ปัญหาหลักมาจากอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ของจีนก็เกินจริง เมื่อ 2 ปีที่แล้วในเซี่ยงไฮ้ คอนโดแพงมาก เศรษฐีเท่านั้นจะซื้อได้ อย่างซื้อไว้ 10 ล้านหยวน แล้วขายไม่ได้ เมื่อขายไม่ได้ ก็ลดราคา ซึ่งรัฐบาลจีนก็ต้องควบคุมให้ราคาสอดคล้องกับความเป็นจริง

 

นั่นแสดงว่าเศรษฐกิจของจีนจะกระเตื้องขึ้น ?

  ต้องดูจากหลายภาคส่วน แม้จีนจะมีปัญหาฟองสบู่ในเรื่องอสังหาริมทรัพย์ แต่ธุรกิจส่วนอื่นยังดี เป็นไปตามครรลอง ซึ่งในสภาพความเป็นจริงยังใช้ได้ ไม่ได้เอาเงินมาเก็งกำไรอย่างเดียว คนที่ติดตามเรื่องจีน เขามองว่า เอาอยู่

อีกประเด็นหนึ่งคือ จีนมีเงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศสูงที่สุดในโลก ถ้าเศรษฐกิจจีนย่ำแย่ จะเกิดวิฤติเศรษฐกิจกว่าค่อนโลก ถ้าจีนต้องเอาเงินสำรองมาพยุงเศรษฐกิจของจีนเอง ก็จะยิ่งกว่าเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง หรือ แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส

แต่เงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีนยังปกติ จีนยังเป็นประเทศที่ร่ำรวย มีการคืนสู่กำไรสู่สังคมโลก โดยการให้ทุนการศึกษาผลิตบุคลากร จีนจะให้ความสำคัญกับการศึกษา ตอนที่จีนยังไม่ร่ำรวย ผู้นำของเขาทำเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ ตอนนี้จีนทำได้

ขณะที่ประเทศแถบตะวันตกร่ำรวย เพราะล่าอาณานิคม เอาทรัพยากรประเทศโลกที่สามมาใช้ เมื่อร่ำรวยก็ผลิตบุคลากรด้วยการให้ทุนการศึกษา แต่บุคคลที่พวกเขาผลิต ก็อยู่ในกรอบความคิดพวกเขา โดยพวกเขาสร้างนโยบายให้สอดคล้องกับสิ่งที่เขาต้องการ กรณีของจีนก็ไม่ต่างจากมหาอำนาจที่ผ่านมา

 

ถ้ามองในมิติการเมือง ผู้นำจีน บริหารจัดการเป็นอย่างไรบ้าง

  ในขณะนี้เอาอยู่ ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ แต่ปัญหาที่แรงมากคือ คอรัปชัน ซึ่งผู้นำชุดนี้เอาจริงกับปัญหานี้ เข้มงวดมาก ทำให้ขั้นตอนการบริหารของจีนล่าช้ามาก อาศัยว่าพื้นฐานเงินสำรองระหว่างประเทศดีมาก แม้พื้นฐานเศรษฐกิจจะไม่ดีนัก ที่จีนร่ำรวยจนถึงทุกวันนี้ เพราะจีนมีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมน้อยมาก จีนยึดแนวคิดเสรีนิยม ความสำเร็จของเศรษฐกิจจะดูจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จึงต้องสร้างตัวเลขจีดีพีให้ดูสูง รัฐบาลกลางจะชี้นำรัฐบาลท้องถิ่นให้ทำตัวเลขสูงไว้ก่อน ถามว่า อุตสาหกรรมอะไรที่ทำตัวเลขสูงได้ง่าย ก็ต้องผลิตพวกเหล็กกล้า เคมี กระดาษ ที่สามารถทำกำไร จีนก็ขายได้ แต่โรงงานพวกนี้ไม่มีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ปล่อยทั้งมลพิษลงแม่น้ำ ขยะพิษ สารเคมี และมลพิษทางอากาศ ซึ่งเรื่องนี้มูลค่ายากเกินกว่าจะประเมิน

 

ทำให้จีนมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมหาศาล ?

ถ้าเราพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม มลพิษ เราใช้อะไรเป็นหลักหมาย พิธีสารเกียวโต ซึ่งระบุเลยว่า ถ้าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จะปล่อยมลพิษในบรรยากาศได้จำนวนจำกัด ถ้าปล่อยเกินจะเสียเครดิต แต่จีนถูกประเมินให้เป็นประเทศกำลังพัฒนา ปล่อยมลพิษได้ไม่อั้น

 

ถือว่า จีนก็ทำตามกติกา ?

แม้จะไม่ถูกต้อง แต่เป็นไปตามกติกา ผมไม่อยากเรียกว่า ความบกพร่องของกติกา เพราะอเมริกาก็ไม่ได้ลงนามในพิธีสารเกียวโต อเมริกาเป็นประเทศที่ปล่อยมลพิษเยอะ ยอมเสียเครดิต จีนไม่ได้ถูกจำกัด แม้จีนจะมีเศรษฐกิจดีขึ้น แล้วคุ้มค่ากับสิ่งแวดล้อมของประเทศที่พังทลายหรือเปล่า

 

เพราะจีนให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมน้อยมาก ?

แม่น้ำหลายสายของจีนเป็นพิษ และฟื้นฟูยากมาก เนื่องจากจีนมีโรงงานเยอะ เพราะจีนเร่งปฎิรูป และอุตสาหกรรมของเขาสืบทอดมาจากยุคสงครามเย็น ยุคนั้นไม่ว่าโลกสังคมนิยมหรือทุนนิยมไม่มีใครพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่อมีกระแสสิ่งแวดล้อม จีนก็ไม่ได้แก้ปัญหา ในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ปกคลุมด้วยหมอกควัน คุ้มไหม อันนี้ที่เราต้องตั้งคำถาม ไม่ใช่มองว่า จีนเป็นมหาอำนาจอย่างเดียว

 

เรื่องไหนที่อาจารย์คิดว่า คนไทยไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับจีน

คนไทยอาจไม่ค่อยรู้เรื่องกลไกการบริหารจัดการของจีน พรรคคอมมิวนิสต์ยังมีอิทธิพลต่อองค์กรธุรกิจ บทบาทของพรรคยังเป็นเจ้าของกิจการสำคัญ มีหุ้นส่วนกับเอกชน และมีอิทธิพลสูงมาก ดังนั้นคนต่างชาติหรือคนไทยที่ไปร่วมลงทุนกับจีน บางคนก็ไม่รู้ว่า กิจการนั้นเป็นของเอกชนหรือรัฐ

อีกเรื่องคือ คนไทยไม่เข้าใจวัฒนธรรมของคนจีนในปัจจุบัน จากปรากฎการณ์นักท่องเที่ยวจีน เรื่องนี้ต้องมองไปที่อดีต ช่วงที่จีนเป็นคอมมิวนิสต์ พวกเขาปฎิเสธลัทธิขงจื้อ ปฎิเสธศาสนา คนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังยุคนั้น ก็กลายเป็นคนไม่มีศาสนา เรื่องใดที่ศาสนิกชนปฎิบัติกัน หรือเรื่องกิริยามารยาท คนจีนรุ่นใหม่จะห่างไกล

เมื่อพวกเขาต้องปฎิสัมพันธ์กับคนต่างชาติ ก็กลายเป็นปัญหาที่ไม่เข้าใจ ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนรู้ ถ้าคนไทยเข้าใจตรงนี้ ไม่ว่าภาคธุรกิจหรือท่องเที่ยว ก็จะเกิดการปรับตัวเข้าหากัน เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผมอยู่ที่สนามบินปักกิ่ง หัวหน้าทัวร์จีนที่จะพาลูกทัวร์มาเมืองไทย พยายามให้ข้อมูลพวกเขา โดยบอกว่า เมื่อมาเมืองไทยเรื่องไหนควรทำ ไม่ควรทำ พวกเขาก็พยายามปรับเปลี่ยน

 

คนส่วนใหญ่มองจีนแบบเหมารวม อาจารย์คิดเห็นอย่างไร

  การปกครองในแต่ละรัฐของจีนสามารถออกกฎหมายและนโยบายของท้องถิ่นได้ ซึ่งนักธุรกิจไทยที่ไปรัฐนั้นๆ จะมาสรุปรวมว่า เป็นจีนทั้งประเทศไม่ได้ ส่วนนักการเมืองก็มีตัวอย่างให้เห็น พูดไม่จริง บอกว่า ไทยกับจีนตกลงกันว่า จะยกเลิกวีซ่า รัฐบาลจีนก็ออกมาแถลง ซึ่งนักการเมืองก็ออกมาพูดอีก หรือการขุดคอคอดกระ ข้อมูลก็ไม่ถูก นักการเมืองเหล่านี้ไม่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเลย

 

ปัญหาเศรษฐกิจจีนตอนนี้จะมีผลกระทบต่อไทยอย่างไร

  ผมมองในสองสามมิติ ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของอาเซียน ข้อ 1 ในแง่ทวิภาคี ไทยกับจีนมีการค้าเสรีร่วมกันนับสิบปี การค้าเสรีระหว่างจีนกับอาเซียน ไทยต้องคิดแล้วว่า จะปรับตัวหรือตั้งรับอย่างไร ข้อ 2 ตอนนี้จีนกำลังพูดเรื่อง ธนาคารเพื่อการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย หมายความว่า ในอนาคตการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นแต่ละประเทศจะบอกว่าไม่มีเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็ไม่ได้ เพราะจีนจะตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงการนี้ แล้วไทยกับประเทศอาเซียนจะใช้ประโยชน์ยังไง

ข้อ 3 ช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา จีนประกาศชัดเจนว่า ถ้าเป็นเรื่องการเงิน จีนไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศเพื่อนบ้าน แต่สิ่งที่จีนทำในแต่ละช่วงที่ผ่านมาคือ การขอความร่วมมือจากอาเซียนเรื่องเศรษฐกิจ เส้นทางสายไหมทางทะเล ไทยต้องรู้เท่าทันว่า อะไรคือประโยชน์ของไทย หรือประเทศอาเซียน ถ้าทำตามความต้องการของจีนเรื่องขุดคอคอดกระ ตรงนี้ไม่ไหว ปัญหาเส้นทางการค้าในทะลจีนใต้ ถือว่าไทยโชคดีที่ไม่ได้เป็นคู่กรณี ไ แล้วไทยจะใช้ประโยชน์จากความโชคดีได้อย่างไร เรื่องนี้เป็นคำถามที่ท้าทาย และข้อ 4 ไทยจำเป็นต้องคิดเรื่องแรงงานเคลื่อนย้ายจากจีน เพราะปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ

 

รถไฟความเร็วสูง เป็นก้าวใหม่ของการพัฒนาจีนมากน้อยเพียงใด

  เป็นความฝันของเติ้งเสี่ยวผิง ตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ เคยไปเยือนญี่ปุ่น เขาก็คิดว่า สักวันหนึ่งจีนต้องมีรถไฟความเร็วสูง เรื่องนี้อยู่ในวิสัยทัศน์ของผู้นำจีน และผู้นำคนแรกที่พูดเรื่องนี้คือ ดร.ซุนยัดเซ็น เขาเคยบอกว่า ถ้าเขาเป็นผู้นำ เขาจะสร้างเส้นทางรถไฟแบบนี้ให้ได้หนึ่งแสนกิโลเมตรทั่วประเทศ ทุกวันนี้จีนยังสร้างได้ไม่ถึง ผมคิดว่า ผู้นำจีนคิดถูก เพราะถ้ายังใช้ระบบรางแบบเดิม จีนจะอยู่ยาก เขาได้คำนวณระหว่างเครื่องบินและรถไฟความเร็วสูง และมองแล้วว่า การมีรถไฟความเร็วสูงคุ้มค่ากว่า

 

ในเรื่องเทคโนโลยี จีนไปไกลแค่ไหน

ตอนนี้จีนคิดเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่ารถไฟความเร็วสูง สิ่งที่ผมห่วงคือ แสนยานุภาพทางการทหาร หลายประเทศที่เป็นมหาอำนาจไม่เปิดเผย จนกว่าจะนำมาใช้ อย่างกรณีจีน มีเครื่องบินล่องหน ซึ่งเขาก็เคยนำมาโชว์ไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

เรื่องใดที่คนไทยควรเอาแบบอย่างจีน และไม่ควรเอาแบบอย่าง

ที่ควรเอาแบบอย่าง คือ คนจีนเวลาจะทำเรื่องใด จะทำจริงจัง ถ้าไม่ทำ ก็ไม่ทำเลย เรื่องความขยันเป็นคุณสมบัติของคนจีน เรื่องนี้คนไทยน่าศึกษา อย่างผมไปซื้อของร้านโชห่วย ของที่ซื้อราคาไม่กี่บาท ใช้เวลาหานานมาก เขาก็หาให้ ทุกครั้งที่ผมไปจีนก็เป็นแบบนี้

อีกเรื่องที่ผมชื่นชมคือ คนจีนรักการอ่าน หกสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามรณรงค์ให้ประชาชนรู้หนังสือมากที่สุด ก่อนที่จะเป็นคอมมิวนิสต์ จีนมีประชากร 450 ล้านคน คนไม่รู้หนังสือมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้เปลี่ยนไป ห้องสมุด ร้านหนังสือในจีน จะไม่มีที่เดินเลย

ส่วนเรื่องที่ไม่ควรเอาอย่างจีน ซึ่งเพิ่งปรากฎ ผมเรียกว่า วัฒนธรรมพันทาง นานาประเทศจะไม่คุ้นชิน เห็นได้จากนักท่องเที่ยว หรือเวลาไปเมืองจีนจะเห็นเยอะ คือ ความไม่น้ำใจ ไม่มีมรรยาท จะรู้สึกว่าเกินไป คนจีนบางกลุ่มเวลาจะคบหากับใคร ต้องมีเรื่องผลประโยชน์ ถ้าไม่มีประโยชน์ก็ไม่คบ แต่ไม่ใช่บทสรุปนะ สังคมที่แข่งขันทำให้เกิดวัฒนธรรมพันทาง ยกตัวอย่างจะไม่ชอบเข้าคิว

 

สินค้าจากจีนมีราคาถูก และสร้างผลกระทบมากมาย อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

อย่างหูหมูปลอม คนจีนทำเหมือนมาก ทั้งกลิ่น รสชาติ ผมขำมากเลย เขาบอกว่าให้สังเกตตอนตัดหู เนื้อกระดูกขาวๆ อ่อนๆ จะมีเส้นเลือดฝอยเล็กๆ นี่คือของจริง แล้วใครจะสังเกต แต่ร้ายมากๆ คือ ยาปลอม เลือดปลอม ซึ่งผมคิดว่าไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง คนที่ผลิตยาปลอม เพราะคนที่ทำงานคณะกรรมการอาหารและยา คอรัปชั่น ปล่อยยาตัวนี้ออกมา ศาลตัดสินประหารชีวิต เพราะคนใช้ตายไปห้าราย ผมไม่เข้าใจวิธีคิดแบบนี้ นี่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพันทาง ไม่ใช่บทสรุปทั้งประเทศ แต่ส่งผลต่อประเทศเขา

 

ความเหลื่อมล้ำในสังคมจีนก็สูงมาก ?

  เรื่องนี้เป็นผลจากแผนพัฒนาของจีน ตอนนั้นผู้นำบอกว่า พื้นที่ที่จะพัฒนาได้เร็วที่สุด คือ ชายฝั่งตะวันออกติดทะเล คนตะวันตกสมัยล่าอาณานิคมเคยวางรากฐานเอาไว้ดีมาก รัฐก็เลยใช้นโยบายให้คนพื้นที่นั้นรวยก่อน คนจึงมาอยู่กันหนาแน่น เมื่อคนงานย้ายมาอยู่ฝั่งตะวันออก ลูกของพวกเขาไม่มีสิทธิเข้าโรงเรียน เพราะจีนมีกฎหมายห้ามย้ายสำมะโนครัว ทำให้เกิดช่องว่างทางชนชั้นที่แย่มาก เมื่อรู้ปัญหา ผู้นำจีนพยายามย้ายคนเข้าไปในมณฑลชั้นใน แต่สภาพภูมิศาสตร์ค่อนข้างกันดาร ประชากรมหาศาล ถ้าไม่เข้าเมือง คนเหล่านั้นก็ยากจนดักดาน ช่องว่างทางสังคมและชนชั้นจึงห่างไปเรื่อยๆ

 

ถ้าจะเข้าใจจีน ต้องย้อนไปดูประวัติศาสตร์ช่วงไหน

  ถ้าจะแก้ปัญหานักท่องเที่ยวจีน ต้องเข้าใจรากฐานของพวกเขาก่อน ผมย้อนไปศึกษาประวัติศาสตร์จีนเมื่อสองพันปีที่แล้ว ยกตัวอย่างการใช้ส้วมของคนจีน อย่าด่วนสรุปว่า คนจีนเป็นแบบนี้หมด คนที่เราเห็นเป็นคนที่มาจากชนบท พวกเขาใช้ส้วมแบบนั่งยองๆ นี่เป็นวัฒนธรรมของเขาเลย บางคนไม่เคยรู้จักส้วมชักโครก ก็เลยปฎิบัติไม่ถูก สมัยที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจใหม่ๆ ลูกชาวนาที่เป็นทหารในกองทัพปลดแอก ต้องยกพลเข้าเมือง มีเรื่องเล่าว่า ทหารบางคนหิวน้ำ ก็ไปขอดกินจากส้วมชักโครก เพราะไม่รู้ว่านี่คือส้วม

ส่วนเรื่องไม่ทำความสะอาด ก็มีที่มาจากภัยธรรมชาติ เมื่อ 50 ปีก่อน คนจีนตายไปสิบกว่าล้านคน แต่ผมคิดว่ายี่สิบล้านคน ตอนนั้นมีนโยบายให้ประหยัดน้ำ เมื่ออุจจาระแล้ว จะไม่ล้าง เนื่องจากใม่มีน้ำ เรื่องนี้กลายเป็นความเคยชิน แม้จะเป็นผู้หญิงใช้ส้วม ก็ไม่ปิดประตู

 

แบบนี้เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมหรือวัฒนธรรมพันทาง

เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ทำตามความเคยชิน

 

เรื่องใดเกี่ยวกับจีน ที่น่าจับตามองมากที่สุดในตอนนี้

  การเป็นจักรวรรดิใหม่ของจีนในอนาคต ซึ่งไม่เหมือนอเมริกาที่ใช้ฐานทัพ แสนยานุภาพทางทหาร แทรกแซงการเมืองภายในประเทศ มีบทบาทเข้าไปตัดสินปัญหาสำคัญๆ หรือผลักดันปัญหาในประเทศนั้นๆ ให้เป็นไปตามมิติของเขา ยังไม่รวมอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การเงินการธนาคาร ที่แสดงผ่านธนาคารโลก

แต่บทบาทการเป็นจักรวรรดิของจีน จีนมักจะชูเรื่องสันติภาพผ่านความร่วมมือเรื่องเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน แล้วบอกว่าจีนไม่นิยมทำสงคราม แต่เราก็พบว่า จีนแข็งกร้าวมากเวลามีปัญหาในทะเลจีนใต้หรือทะเลจีนตะวันออก จีนไม่มีฐานทัพ แต่เราก็พบว่า จีนส่งแรงงานเคลื่อนย้ายไปยังทวีปต่างๆ จำนวนมหาศาล และก่อปัญหากับคนในพื้นที่ ในบางแง่มุม จึงถูกตั้งคำถามว่า คุณมาครอบงำหรือเปล่า ซึ่งในอดีตจักรวรรดิไม่เคยทำอย่างนี้

แต่ถ้าจีนทำแบบนี้ แล้วสำเร็จ ชาวโลกจะมีปฎิกิริยาต่อจีนอย่างไร เพราะจีนไม่ได้ใช้อาวุธ จากหลักฐานเชิงประจักษ์ในประเทศเพื่อนบ้าน เกิดความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่กับคนจีน ความไม่ชอบและความเกลียดชัง คนในพื้นที่ไม่ชอบวัฒนธรรมพันทางของจีน เมื่อเข้าไปในพื้นที่ พวกเขาทำตัวเป็นเจ้าของพื้นที่ มองไม่เห็นหัวคนพื้นเมือง ไม่ต่างจากลัทธิล่าอาณานิคม

 

เป็นการล่าอาณานิคมยุคใหม่ ?

เป็นรูปแบบใหม่ ถ้าทำสำเร็จ ผมว่าเนียนมาก แรงงานจีนที่เคลื่อนย้ายมาเมืองไทยมีเยอะ แล้วรัฐบาลจะทำยังไง มีการบริหารจัดการกับแรงงานจีนไหม เพราะแรงงานจีนเมื่อเทียบกับแรงงานพม่า ลาว กัมพูชา เป็นแรงงานที่มีทักษะมากกว่า จะไม่รับก็ไม่ได้ เพราะแรงงานไทยที่มีทักษะไปอยู่เมืองนอกหมด

 

ถ้ามองว่า เป็นความชาญฉลาดของจีนได้ไหม

  ผมไม่เคยเห็นจีนประกาศนโยบายส่งคนออกนอกประเทศเลย แต่ผมเห็นการกระทำ ไม่พูดแต่ทำ ผมมองด้วยความไม่สบายใจ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าไทยไม่ทำอะไรสักอย่าง ไม่ได้หรอก อย่างเรื่องอุยกูร์ รัฐบาลไทยพยายามทำดีที่สุดแล้ว ไม่มีใครอยากได้รับผลแบบนี้ บังเอิญโชคร้ายโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง จีนก็ไม่พอใจ อเมริกาก็ไม่พอใจ

 

ชนชาติจีนก็มีดี ไม่ต่างจากชาติอื่น ?

  ดูจากอารยธรรมของพวกเขา มีบุคคากรที่ฉลาดหลักแหลมเยอะ เป็นคนช่างคิด ลุ่มลึก คิดตามความเป็นจริง ตรงนี้ผมชื่นชม เหมือนที่ผมเห็นความลุ่มลึกของพระพุทธเจ้า นักปรัชญาตะวันตก จีนเป็นประเทศแรกที่ประดิษฐ์สิ่งของชิ้นแรกๆ ของโลก แต่มีคำถามว่า ทำไมการประดิษฐ์ของจีนจึงขาดช่วง ผมคิดว่า ถ้าเขาคิดต่อมากกว่านี้ เขาคิดว่า นั่นคือการทำลายธรรมชาติ นี่คือความคิดผมนะ

 

ถ้าพูดถึงปราชญ์ของจีน อาจารย์นับถือแนวทางใคร

ผมว่าขงจื้อ ปรัชญาในการดำเนินชีวิตคือ อิงหลักจริยธรรมและหน้าที่ โดยคิดจากพื้นฐานความเป็นจริง ไม่ใช่อุดมคติหรือเพ้อฝัน เพราะขงจื้อใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัด ทุรกันดาร อยู่ท่ามกลางชนเผ่า ต่อสู้แข่งขัน การคิดเพื่อให้ตัวเองเอาตัวรอดไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนที่ขงจื้อมีชีวิตอยู่ ไม่มีใครเชื่อเขาสักคน ในขณะที่แนวทางพระพุทธเจ้า คือเอาตัวเองออกจากทางโลก แต่ขงจื้ออยู่กับความเป็นจริง โดยใช้หลักจริยธรรมและหน้าที่

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/657550

 

ข้อมูลเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558
เนื้อหาบทความ