


เมื่อจีนแผ่นดินใหญ่กดดันไต้หวัน
ผู้เขียน สมาน เหล่าดำรงชัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา มติชนรายวัน
เผยแพร่ 21 มี.ค. 59
เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ได้ออกมาประกาศอย่างแข็งกร้าวในประเด็นจีนเดียว (One China Policy) หากรัฐบาลใหม่ของไต้หวันมีท่าทีจะแยกตัวเป็นเอกราช รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ก็จะใช้มาตรการต่างๆ เพื่อโต้ตอบรัฐบาลไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลใหม่ของไต้หวันภายใต้การนำของนางไช่ อิงเหวิน ประธานพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือดีพีพี ซึ่งมีนโยบายหลักที่ต้องการอธิปไตยของไต้หวันคืน และรัฐบาลใหม่นี้จะขึ้นสถาปนาในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้
นั่นหมายความว่า การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่อาจจะเกิดการพลิกผันจากความใกล้ชิดในหลายๆ ด้าน แต่จะกลับเป็นห่างเหินในหลายๆ ด้านเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการเจรจารวมเป็นหนึ่งกับจีนในอนาคตที่รัฐบาลหม่า อิงจิ่ว เคยเจรจาไว้กับนายสี จิ้นผิง เมื่อปลายปี พ.ศ.2558 ที่ประเทศสิงคโปร์
แต่อย่างไรก็ตามการเจรจาครั้งนั้นก็ยังไม่ใช่การเจรจาที่ลงตัว เพียงเป็นการเจรจานอกรอบที่ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ก็ยังสงวนท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ในเรื่องนี้
ประเด็นการรวมไต้หวันกับจีนเป็นหนึ่งเดียวไม่เพียงเป็นนโยบายของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น ยังเป็นการตัดตอนไต้หวันไม่สามารถเข้าร่วมองค์กร หรือภาคีใดๆ ในเวทีโลกได้ เพราะติดที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่แสดงท่าทีให้เวทีโลกเห็นว่า รัฐบาลไต้หวันยังเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมและสถาปนารัฐบาลขึ้นเองหลังจากพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่และอพยพไปไต้หวันในปี พ.ศ.2492 และพรรคกว๋อหมินตั่งโดยนายพลเจี่ยง เจี้ยสือ เป็นผู้นำก่อตั้งรัฐบาลในไต้หวันขึ้นเพื่อคาดหวังที่จะบุกยึดจีนแผ่นดินใหญ่กลับมาให้ได้ ดังนั้นไต้หวันยังไม่สามารถสถาปนาตนเองขึ้นเป็นประเทศได้
หากไต้หวันจะทำเช่นนั้นจริง คงจะสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่อย่างแน่นอน และก่อให้เกิดผลกระทบตามมาหลายประการ เช่น ความร่วมมือทางการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวและการลงทุนต่างๆ ที่เคยทำร่วมกันจะหยุดชะงักทั้งหมด และจะสร้างความวิตกกังวลด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียถดถอยมากยิ่งขึ้น ถึงแม้จะไม่กระทบในส่วนการค้าระหว่างประเทศ แต่การบอยคอตสินค้าจากไต้หวันของจีนแผ่นดินใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ดังนั้นความวิตกกังวลในประเด็นที่รัฐบาลพรรคดีพีพีที่จะขึ้นมาบริหารไต้หวันในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ จึงทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า รัฐบาลใหม่ของไต้หวันจะยังคงเน้นนโยบายอธิปไตยของไต้หวันอยู่ หรือจะใช้นโยบายประนีประนอมกับจีน เพื่อยืดเวลาของการรวมจีนเดียวเหมือนดังเช่นช่วงเวลาที่ผ่านมา แรงกดดันจากจีนแผ่นดินใหญ่น้อยลงมากในสมัยที่ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว บริหารไต้หวัน
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหม่า อิงจิ่ว ก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ดีขึ้นตามลำดับ รวมถึงสันติภาพความมั่นคงระหว่างช่องแคบไต้หวันดีขึ้นด้วย
ประเด็นช่วงเวลาที่พรรคฝ่ายค้านกลับขึ้นมาเป็นรัฐบาล หรือสมัยที่นายหลี่ เติงฮุย บริหารไต้หวันเช่นกัน หากมีประเด็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของรัฐบาลไต้หวันในเวทีการเมืองระหว่างประเทศหรือการเยือนประเทศที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เห็นว่าไต้หวันจะสร้างความสัมพันธ์มากกว่าที่เป็นอยู่ รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ก็จะออกมาโจมตีและคัดค้านทันที เพื่อแสดงท่าทีว่ารัฐบาลไต้หวันไม่ใช่รัฐบาลที่ยอมรับได้ แต่อยู่ภายใต้รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เพราะถือว่าไต้หวันยังเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ ในอดีตรัฐบาลไต้หวันที่ใช้นโยบายแยกตัวเป็นเอกราช มักจะมีมาตรการและแผนในการรองรับการตอบโต้จากจีนแผ่นดินใหญ่อยู่หลายประการ เช่น นโยบาย Go South หมายถึงนโยบายที่มุ่งไปทางใต้
นั่นคือการส่งเสริมให้นักลงทุนไต้หวันหันไปลงทุนในประเทศทางใต้ ซึ่งคือกลุ่มประเทศอาเซียน
ในความเป็นจริงนักลงทุนไต้หวันจำนวนหนึ่งมาลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่านโยบายนี้อาจนำกลับมาใช้อีกครั้งหากความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่สั่นคลอน
นอกจากนั้นยังมีประเด็นที่ทำให้ไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่รวมชาติกันยากขึ้น นั่นคือเรื่องของความเป็นอัตลักษณ์ความเป็นชาวจีนไต้หวันมากกว่าชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ปัจจุบันคนรุ่นหนุ่มสาวหรือวัยกลางคนที่เกิดและเติบโตในไต้หวันจะไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวจีนในแผ่นดินใหญ่ ไม่เหมือนกับคนรุ่นปู่ย่าตายายที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่พยายามโต้ตอบหรือข่มขู่ไต้หวัน
คนกลุ่มนี้จะออกมาประท้วงและตอบโต้รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มต่อต้านที่มีชื่อว่า “กลุ่มดอกทานตะวัน” กลุ่มเหล่านี้จะออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงเพื่อไม่ให้รัฐบาลไต้หวันอ่อนน้อมหรือร่วมมือกับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่มากเกินไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวไต้หวันพยายามสร้างอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมาภายใต้ระบอบการปกครองและค่านิยมที่เป็นเสรีประชาธิปไตย
ไต้หวันถือเป็นเกียรติภูมิสูงสุดของตนเอง และจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในขณะที่ในจีนแผ่นดินใหญ่ระบอบการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ยังคงดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่นและไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญยิ่งในการรวมเป็นหนึ่ง
อีกประเด็นที่รัฐบาลใหม่ไต้หวันมีความเชื่อมั่นในการใช้นโยบายแยกตัวเป็นเอกราช คือ การมีพันธมิตรที่คอยช่วยเหลือไต้หวันตลอดมานั่นคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับสหรัฐก็ไม่ได้ขาดตอน แม้ในช่วงที่ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ก็ตาม เนื่องจากไต้หวันกับสหรัฐมีข้อผูกพันกันในเรื่องของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไต้หวันกับสหรัฐที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 และรัฐสภาสหรัฐได้ออกกฎหมายความร่วมมือขึ้นที่เรียกว่า กฎหมายรัฐบัญญัติความสัมพันธ์กับไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ซึ่งกำหนดให้สหรัฐมีพันธะที่จะต้องติดอาวุธให้แก่ไต้หวันและปกป้องไต้หวันยามที่ถูกประเทศอื่นรุกราน ทำให้ความร่วมมือนี้เป็นประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการรวมเป็นหนึ่งกับจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่สหรัฐขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องบินรบ ก็จะถูกรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ประท้วงอย่างรุนแรงและกล่าวหาสหรัฐว่าแทรกแซงกิจการภายในของจีน
ดังนั้นโอกาสที่ 2 มหาอำนาจยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลกจะปะทะกันทางทหารเพราะไต้หวันจึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในอนาคต
แต่ทั้งนี้หากมองในแง่บวก รัฐบาลใหม่ของไต้หวันอาจไม่นำนโยบายแยกตัวเป็นเอกราชมาใช้โดยตรงทันที ฉะนั้นคาดว่ารัฐบาลไต้หวันคงจะใช้วิธีประนีประนอมในเรื่องของสถานภาพของไต้หวันและความร่วมมือต่างๆ ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว บริหารไต้หวันอยู่ และที่สำคัญสภาพเศรษฐกิจและความสงบระหว่างช่องแคบไต้หวันนับว่าดีขึ้นมาก หากเกิดวิกฤตความขัดแย้งขึ้นอาจไม่เป็นผลดีต่อไต้หวันโดยรวมไม่ว่าในเรื่องของเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
ถึงแม้จะมีหลายฝ่ายมองว่าประเด็นการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่มีชาวจีนเดินทางเข้าไปในไต้หวันปีละจำนวนมาก แต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียชาวไต้หวันในธุรกิจเหล่านั้นมีเพียงบางส่วนเท่านั้น จึงคิดว่าผลกระทบด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวอาจมีไม่มาก แต่มองว่าคนจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อเข้าไปไต้หวันแล้วจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่า ซึ่งหลายประเทศที่มีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเดินทางเข้าไปมักประสบปัญหานี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามเป็นการยากที่รัฐบาลใหม่ไต้หวันจะอ่อนน้อมกับจีนเหมือนเช่นรัฐบาลที่กำลังจะหมดวาระในเดือนพฤษภาคมนี้ และรัฐบาลใหม่ได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้นก็เนื่องจากนโยบายแยกตัวเป็นเอกราช ทำให้ประเด็นที่น่าคิดว่า รัฐบาลนางไช่ อิงเหวิน จะหาวิธีบริหารจัดการอย่างไรกับความสัมพันธ์กับจีนที่เริ่มจะดีขึ้น และหากรัฐบาลไต้หวันยอมอ่อนข้อกับจีนอีก แน่นอนว่ารัฐบาลนางไช่ อิงเหวิน จะถูกประท้วงจากชาวไต้หวันและคะแนนนิยมที่เคยรุ่งเรืองอาจถดถอยลงได้เช่นกัน
นี่แสดงให้เห็นถึงพลังประชาชนชาวไต้หวันที่ลุกสู้เพื่อประชาธิปไตย หากรัฐบาลไม่ได้ทำตามที่สัญญาไว้