Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
Publications: Articles - Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University
'บรรษัทบริบาล' หมัดเด็ดรุกตลาดพม่า - โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559
'บรรษัทบริบาล' หมัดเด็ดรุกตลาดพม่า - โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559
โดย ณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์, สมาน เหล่าดำรงชัย

'บรรษัทบริบาล' หมัดเด็ดรุกตลาดพม่า - โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559
แนะธุรกิจชูCSRลุยพม่า

โพสต์ทูเดย์ - ณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า แนวคิดการ รับผิดชอบต่อสังคม หรือบรรษัทบริบาล (ซีเอสอาร์) จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของธุรกิจต่างชาติและธุรกิจท้องถิ่นใน เมียนมา ระยะถัดไป ซึ่งธุรกิจที่ต้องการลงทุนในเมียนมาต้องให้ความสำคัญกับซีเอสอาร์มากขึ้น โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม

การที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ชนะการเลือกตั้งเมียนมาอย่างถล่มทลายเมื่อปลายปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ความนิยมในตัวพรรครวมถึงตัว "อองซานซูจี" เลขาธิการพรรค มีอยู่อย่างท่วมท้น

การบริหารประเทศโดยรัฐบาลพลเรือนชุดแรกในรอบกว่า 50 ปี กระตุ้นความสนใจและสามารถดึงดูดบรรดานักลงทุนต่างชาติได้อย่างล้นหลาม ส่งผลให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ปีงบประมาณ 2015/2016 ขยายตัวเป็นประวัติการณ์ที่ 9,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.3 แสนล้านบาท)

สิ่งหนึ่งที่บรรดานักลงทุนต่างชาติต้องคำนึงถึงก่อนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในเมียนมา คือ การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือบรรษัทบริบาล (ซีเอสอาร์) โดยรัฐธรรมนูญของเมียนมาบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า การลงทุนต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจรากฐานของประเทศ และต้องได้รับการยอมรับจากชุมชน ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวแตกต่างจากประเทศอื่นอย่างสิ้นเชิง

ณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวระหว่างงานสัมมนาวิชาการในหัวข้อ "ใครกุมอำนาจเมียนมา? อองซานซูจี หรือกองทัพ" ว่า ธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเมียนมา และธุรกิจท้องถิ่น ต้องมีการปรับตัวที่มากกว่าเดิม โดยเฉพาะซีเอสอาร์ด้านสังคม การศึกษา ศาสนา และกีฬา เนื่องจากภาคประชาสังคมในเมียนมาขยายตัวขึ้นอย่างมาก

ณัฐพล ระบุด้วยว่า แนวคิดบรรษัทบริบาล หรือซีเอสอาร์ จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการลงทุนในเมียนมาระยะถัดไปอย่างแน่นอน โดยซีเอสอาร์ไม่เพียงสะท้อนความต้องการของประชาชนเท่านั้น แต่ยังสะท้อนการทำงานและดำเนินนโยบายของรัฐบาลด้วย

"สิ่งนี้เป็นลักษณะพื้นฐานที่มีความพิเศษไม่เหมือนประเทศอื่น เนื่องจากเมียนมามีฐานความหวาดระแวงต่างชาติเป็นทุนเดิม ซึ่งเป็นผลจากยุคล่าอาณานิคมที่ถูกกดขี่ ขูดรีด และเอาเปรียบ ดังนั้นรัฐบาลเมียนมาจึงมีท่าทีต่อการเข้ามาลงทุนของต่างประเทศในทำนองนี้" ณัฐพล กล่าว

ณัฐพล ยังคาดการณ์อนาคตเศรษฐกิจของเมียนมาว่า รัฐบาลจะเปิดพื้นที่ทางการเมืองและเศรษฐกิจให้กับเอกชนและภาคประชาสังคมมากขึ้น และกระแสบรรษัทบริบาลเป็นทิศทางสำคัญควบคู่กับการลงทุนที่ขยายตัว

"การปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการเป็นระบอบประชาธิปไตย" ณัฐพล กล่าวย้า

สอดคล้องกับ สมาน เหล่าดำรงชัย นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ ยกตัวอย่างการเข้ามาลงทุนในเมียนมาของรัฐบาลและเอกชนจีน โดยเฉพาะเขื่อนมี้ตโสน (Myitsone) ที่ได้รับการคัดค้านจากภาคประชาสังคมในเมียนมาอย่างหนักจนต้องระงับโครงการดังกล่าว

รัฐบาลเมียนมาระบุว่า โครงการเขื่อนมี้ตโสนส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัยของประชาชน เนื่องจากเขื่อนมีขนาดใหญ่เทียบเท่าเกาะแมนฮัตตันของสหรัฐ มูลค่ากว่า 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.26 แสนล้านบาท) กำลังผลิต 6,000 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ การก่อสร้างเขื่อนมี้ตโสนจะก่อให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ท่วมแหล่งโบราณคดีที่เชื่อว่าเป็นจุดกำเนิดอารยธรรมเมียนมา และผลักดันให้ชาวบ้านกว่า 1 หมื่นคน ต้องอพยพออกจากพื้นที่ อีกทั้งการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำอิรวดีกับลำน้ำสาขาจะส่งผลกระทบต่อการเกษตรปลายน้ำด้วย

เช่นเดียวกับ เหมืองทองแดง Latpadantaung ในเมืองโมนีวา ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่างเอกชนจีนรายหนึ่งและ เมียนมา อีโคโนมิกส์ โฮลดิ้งส์ (เอ็มอีเอชแอล) รัฐวิสาหกิจของกองทัพเมียนมา ที่ได้รับการคัดค้านจากประชาชนอย่างหนัก เนื่องจากการดำเนินการโครงการดังกล่าวนำไปสู่การอพยพ 4 หมู่บ้าน จำนวน 442 หลังคาเรือน และยังส่งผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสารทองแดงที่มีความเป็นไปได้ที่จะปนเปื้อนในแม่น้ำใกล้เคียง

ด้าน นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า บริบทความขัดแย้งในเมียนมาเปลี่ยนจากความขัดแย้งแบบสงคราม เป็นการพัฒนาและการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนภายใต้กฎหมาย สิ่งแวดล้อมที่ยังไม่ชัดเจน และความเข้าใจผิดว่าพื้นที่ของผู้ลี้ภัยเป็นพื้นที่รกร้าง อาจกลายเป็นพื้นที่สัมปทานในการลงทุน

สำหรับบทบาทด้านการต่างประเทศของ เมียนมาภายใต้รัฐบาลชุดใหม่นั้น เซาต์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ (เอสซีเอ็มพี) หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในฮ่องกง รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา อองซานซูจี ย้ำจุดยืนต่อนักการทูตจากสถานทูตกว่า 60 ประเทศ ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และประเทศอื่นทั่วโลก จะเป็นไปในรูปแบบความสัมพันธ์แห่งมิตรและผลประโยชน์ร่วมกัน

"เราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศอื่นหากเราต้องการเป็นส่วนหนึ่งของโลก นี่คือนโยบายที่สำคัญที่สุดของเมียนมา เราต้องการเป็นส่วนหนึ่ง เราต้องการสร้างสัมพันธ์กับทั้งโลก ดังนั้นเราต้องการเรียนรู้จากทุกประเทศเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน" อองซานซูจี ระบุ พร้อมย้าว่า ความขัดแย้งใดๆ แก้ไขได้ด้วยการเจรจาที่เคารพและเข้าใจ

สอดคล้องกับที่ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตรอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารเป็นรัฐบาลพลเรือน ส่งผลให้ไทยต้องหาตัวเชื่อมใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการเมือง เศรษฐกิจ และข่าวกรอง เนื่องจากที่ผ่านมากองทัพเมียนมามีความสัมพันธ์และเครือข่ายกับรัฐบาลไทยอย่างดีมาโดยตลอด

ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ย้ำชัดมาตลอด คือ การสร้างรัฐบาลที่ใสสะอาด เน้นการปราบปราม ทุจริตคอร์รัปชั่น โดยสำนักข่าวซินหัวเปิดเผยว่า รัฐบาลเมียนมาประกาศห้ามคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเครือญาติ ได้แก่ คู่สมรส ลูก ลูกเขย ลูกสะใภ้ และหลาน เป็นผู้ช่วยส่วนตัว ซึ่งมีเพียงข้าราชการเท่านั้นที่สามารถรับตำแหน่งดังกล่าวได้

top
คอลัมน์ พลวัตปี2016: วาระสุดท้ายนาจิบ ราซัค - ข่าวหุ้น ฉบับวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559
แล้วในที่สุด ความพยายามของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัค ที่ต้องการปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ รวมทั้งเอาใบบัวมาปิดช้างตาย ก็ล่มสลาย รอวันที่จะถูกเชือดจนเละเทะ หลังจากที่กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ 1MDB หรือ 1Malaysia Development Bhd. เบี้ยวดอกเบี้ยจ่ายจากหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนดชำระครั้งที่สอง และ IPIC - Abu Dhabi’s International Petroleum Investment Co. ผู้ร่วมค้ำประกันเงินกู้จากอาบูดาบีก็ร่วมเบี้ยวไปด้วย

มูลค่าของดอกเบี้ยค้างชำระอาจจะแค่ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หากคิดจากยอดวงเงินตราสารหนี้ 1.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่เป็นเงินต้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยปีละ 5.75% ย่อมไม่ใช่ตัวเลขธรรมดา เพราะยังมีการเปิดโปงก่อนหน้านี้ว่ามีเงินที่สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยของ 1MDB อีก 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะต้องสะสางต่อไปอีกยาวนาน

การเบี้ยวหนี้ดังกล่าว ถูกคาดเดามาก่อนแล้ว หลังจากที่ 1MDB กับ IPIC เปิดศึกทางศาลว่า ใครควรจะเป็นผู้ที่ต้องชำระดอกเบี้ยเงินกู้ 2 งวดที่ครบกำหนดชำระมาแล้ว

การเบี้ยวหนี้ดังกล่าว มีเค้าฉาวโฉ่ครั้งใหม่ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา เมื่ออัยการสวิตเซอร์แลนด์ ร้องขอความร่วมมือไปยังรัฐบาลมาเลเซีย หลังตรวจสอบพบว่าเงินสดราว 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ถูกยักยอกออกไปจาก 1MDB อย่างเป็นปริศนา และเงินบางส่วน ถูกโอนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปยังบัญชีเงินฝากในสวิตเซอร์แลนด์ของเจ้าหน้าที่รัฐบาลมาเลเซียทั้งในอดีตและปัจจุบัน

กรณีดังกล่าวโยงใยเข้ากับประธานกรรมการบริหาร โกลด์แมน แซคส์ ของสหรัฐฯประจำภูมิภาคอาเซียน จนต้องเผ่นออกจากสิงคโปร์ไปกบดานในมุมมืด เพราะเป็นคนสำคัญที่ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ด้านการเงินและการธนาคาร และ นักการเมืองชั้นนำ เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ (M&A) ที่มีมูลค่าสูงถึง 18.8 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 ปี จนโกลด์แมน แซคส์ กลายเป็นธนาคารต่างชาติติดอันดับที่มีส่วนแบ่งทางตลาดสูงถึง 20.3% นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา

มีข้อมูลชัดเจนว่า โกลด์แมน แซคส์ อยู่เบื้องหลังจัดการขายตราสารหนี้ 3 ครั้งของ 1MDB มูลค่าสูงถึง 6.5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2012-2013 โดยที่ โกลด์แมน แซคส์ ได้รับเงินค่าธรรมเนียมและจัดการมากถึง 593 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าธรรมเนียมและจัดการตามปกติในมาเลเซีย

ข้อสันนิษฐานว่าค่าธรรมเนียมเกินจริง ถูกโอนเข้ากระเป๋าส่วนตัวใครบางคนรอบๆ ตัวนาจิบ ราซัค ถูกตั้งขึ้นมา และไม่มีคำตอบ

เรื่องฉาวนี้ เป็นประเด็นใหญ่มากนับตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคมปีที่แล้ว สื่อตะวันตกอย่าง The Wall Street Journal ของสหรัฐฯ ลงข่าวว่า 1MDB ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ได้ถูกคณะกรรมการเฉพาะกิจมาเลเซียซึ่งมีอัยการสูงสุดเป็นประธาน สั่งอายัดบัญชีธนาคารที่มีความเกี่ยวข้องจำนวน 6 บัญชี และ จาก 17 บัญชีของธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง

นอกจากนี้ ยังได้เปิดเผยเอกสาร 9 ชุด แสดงถึงเส้นทางโอนเงินที่สูญหายไประหว่างการทำธุรกรรมการเงินข้ามประเทศ จาก 1MDB เข้าบัญชีส่วนตัวของ นายนาจิบ ราซัค อย่างละเอียด โดยสำนักงานปราบปรามการทุจริตแห่งมาเลเซียระบุว่า เงินดังกล่าวเป็นเงินบริจาคที่มาจากตะวันออกกลาง แต่ก็ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อผู้บริจาค

ทันทีที่มีข่าว นายกรัฐมนตรี ราซัคและคนใกล้ชิด ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหา และขู่ว่าจะฟ้องร้อง แถมยังบอกว่า มี “เกลือเป็นหนอน” ทั้งจากคนในพรรค และจากฝ่ายค้านอย่าง อันวาร์ อิบราฮิม โดยหวังว่าจะทำให้เรื่องเงียบหายไป

ความพยายามปิดเรื่องให้เงียบ ถูกคนอย่างดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมารับลูกต่อจากสื่ออเมริกัน โดยเรียกร้องให้นายราซัครับผิดชอบต่อเรื่องที่อื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์การเมือง เรื่องจึงไม่อาจจบลงง่ายๆ

สื่อออนไลน์มาเลเซียได้ช่วยกันกระพือข้อมูล เริ่มต้นจากเว็บไซต์ชื่อ ซาราวัครีพอร์ต ที่ก่อตั้งในลอนดอน ได้ทำการแพร่รายละเอียดของความไม่ชอบมาพากลดังกล่าว แล้วสื่ออื่นๆ นำไปขยายความหรือต่อยอดไปทั่ว

ข้อมูลระบุว่า นายราซัคและพวก ยักยอกเงินผ่านแหล่งที่แตกต่างกัน 8 แห่ง รวม 2 ล้านริงกิต ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. ค.ศ. 2015 โยงใยเกี่ยวข้องกับ 1MDB เข้าสู่บัญชีธนาคารแอมแบงก์ สาขากัวลาลัมเปอร์ที่มีชื่อของนาจิบ ราซัค และภรรยา ผ่านท่อไปยังเจ้าชายเตอร์กีแห่งซาอุดีอาระเบีย เจ้าของบริษัทปิโตรซาอุฯ (PetroSaudi)

รัฐบาลและนายราซัค พยายามปิดปากสื่อในกรณี 1MDB ทุกทาง รวมทั้งสร้างสื่อเทียมขึ้นมาโต้ข้อกล่าวหา และให้กระทรวงมหาดไทยออกคำสั่งห้ามหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับในเครือ The Edge Media Group วางจำหน่ายเป็นเวลา 3 เดือน รวมทั้งปลดและโยกย้ายเจ้าหน้าที่สืบสวนขนานใหญ่

สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯหรือเอฟบีไอของสหรัฐฯ ยื่นมือเข้ามาสืบค้นข้อสงสัยเกี่ยวกับการฟอกเงินของ 1MDB หลังมีรายงานว่า อดีตสมาชิกพรรครัฐบาลมาเลเซียคนหนึ่ง ถูกจับกุมขณะกำลังจะเดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อยื่นเรื่องให้ดำเนินการตรวจสอบคดีดังกล่าว

ส่วนทางการสวิตเซอร์แลนด์ได้อายัดบัญชีของ 1MDB ในธนาคารสวิส และเจ้าหน้าที่ฮ่องกงเริ่มทำการตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกองทุนดังกล่าว ซึ่งสะเทือนถึงค่าเงินริงกิตรุนแรงในช่วงกลางปีที่ผ่านมา

อัยการสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า กระบวนการสอบสวนที่เริ่มขึ้นตั้งแต่สิงหาคมปีที่แล้ว ได้พบว่าอดีตเจ้าหน้าที่ 1MDB จำนวน 2 คน และ “กลุ่มบุคคลไม่ทราบชื่อ” ร่วมกันติดสินบนเจ้าหน้าที่ต่างชาติ ประพฤติมิชอบในหน้าที่ ฟอกเงิน และบริหารจัดการผิดพลาด

แรงประท้วงนายราซัคภายในประเทศมีท่าจะบานปลาย เมื่อมีการก่อตั้งกลุ่มคนใส่เสื้อเหลืองที่เขียนคำว่า เบอร์ซีห์ 4 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การประท้วงที่หน้าอกเสื้อ แต่ต้นปีนี้ แนวร่วมต่อต้านนายราซัคในประเทศถูกสยบลงไป หลังจากอัยการสูงสุดมาเลเซีย ที่เป็นประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจ ได้ออกมาสรุปผลว่า “ไม่มีการทำผิดอะไรในสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่สามารถพบความผิดปกติ” โดยไม่ยอมกล่าวถึงเงินจำนวน 61 ล้านดอลลาร์ที่ได้หายไป และไม่สามารถติดตามได้

เรื่องราวฉาวโฉ่อาจจะเงียบลงในมาเลเซีย แต่การสืบสวนความฉาวในระดับโลกไม่ยุติ โดยนับแต่ต้นปีนี้ หน่วยงานรัฐในฮ่องกง และในสหรัฐฯ เข้าร่วมมือตรวจสอบ 1MDB หลังจากมีหลักฐานถึงการกระทำผิดทางอาญา 4 กรณี ระหว่างปี 2009-2013 อย่างเป็นระบบ โดยอาศัยโครงสร้างทางการเงินที่ซับซ้อน

ล่าสุดทางการอังกฤษ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และลักเซมเบิร์ก ได้เข้าร่วมในการสืบค้นหลักฐานเพิ่มเติม

ปรากฏการณ์ “หนองฝีแตก” จากการเบี้ยวดอกเบี้ยค้างชำระ ที่ยังผลทำให้ค่าเงินริงกิตร่วงลงสู่จุดต่ำสุดนับแต่เดือนพฤศจิกายนอีกครั้งยามนี้ ยังไม่เลวร้ายเท่ากับชะตากรรมในอนาคตของนายนาจิบ ราซัค ที่โดยพฤตินัยแล้วถือว่ามาถึงกาลอวสานของเส้นทางอำนาจแล้ว

เหลือแต่ตำนานแห่งความอื้อฉาวประดับไว้กับการเมืองมาเลเซียอีกนานแสนนาน

ข้อมูลเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559