Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
Publications: Articles - Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University
กุ้ยโจว: ฟันเฟืองใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน - ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย Thai World Affairs Center
กุ้ยโจว: ฟันเฟืองใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน - ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย Thai World Affairs Center
โดย วรรณรัตน์ ท่าห้อง

กุ้ยโจว: ฟันเฟืองใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน


วรรณรัตน์ ท่าห้อง
นักวิจัยผู้ช่วยศูนย์จีนศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


กุ้ยโจว มณฑลในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน  เป็นมณฑลที่น้อยคนนักจะรู้จัก คำบอกเล่าโดยมัคคุเทศก์ที่ว่า “แม้แต่คนจีนเอง ยังสับสนเรียกชื่อมณฑลกุ้ยโจวกับนครเอกกุ้ยหยาง สลับกันอยู่บ่อยครั้ง” ยืนยันความไม่เป็นที่รู้จักของมณฑลนี้ได้เป็นอย่างดี

กุ้ยโจวมีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ทั้งสิ้น 49 ชนเผ่า มากที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศรองจากมณฑลยูนนาน  ผลิตใบยาสูบมากเป็นอันดับสอง  มีพื้นที่ปลูกชามากเป็นอันดับสอง  เป็นแหล่งสมุนไพรจีนที่มากเป็นอันดับสองของประเทศ  กระนั้นก็ตาม คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้เลยว่า สุราที่มีชื่อเสียงระดับโลกยี่ห้อ “เหมาไถ” มีแหล่งกำเนิดหรือถูกผลิตขึ้นในกุ้ยโจวแห่งนี้

เนื่องจากไม่ใช่มณฑลที่มีความสำคัญทาง เศรษฐกิจของประเทศ อันที่จริงแล้ว เรียกว่าอยู่รั้งท้ายในบรรดามณฑลทั้งหมดของประเทศด้วยซ้ำ ความรับรู้ของคนจีนด้วยกันเองต่อกุ้ยโจวจึงเป็นไปในทำนองว่า เป็นพื้นที่ยากจนที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจ  ในรายงานที่เปิดเผยเมื่อต้นปี 2012 ที่ผ่านมาพบว่า ประชากรกว่าครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 15 ล้านคนในมณฑลนี้ ยังคงมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเส้นความยากจนแห่งชาติ  ซึ่งล่าสุดในปี 2011 อยู่ที่ 2,300 หยวนต่อคนต่อปี โดยเส้นความยากจนแห่งชาติถูกกำหนดขึ้นจากรายได้สุทธิต่อคนต่อปีของประชากร และหากพิจารณาถึงตัวเลข  GDP แล้ว ก็ปรากฏว่า GDP ต่อคนของกุ้ยโจวเท่ากับ 1 ใน 6 ของเซี่ยงไฮ้เท่านั้น1 ด้วยดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจดังกล่าว กุ้ยโจวจึงยังคงได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในมณฑลยากจนที่สุดของจีน

สำนักข่าวบีบีซีทำรายงานพิเศษโดยลงพื้นที่ สัมภาษณ์ความเห็นของชาวกุ้ยโจว ต่อประเด็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยและคนจนที่นับวัน จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น และได้รับเสียงสะท้อนจากชาวบ้านแตกต่างกันออกไป ทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือยกระดับการพัฒนาและแก้ปัญหา ความยากจนโดยการลดภาษีในพื้นที่ชนบท ขอทุนสนับสนุนทางเศรษฐกิจ บ้างก็เห็นว่ารัฐเห็นแก่ประโยชน์ของรัฐ และไม่คำนึงถึงผลกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน นโยบายลูกคนเดียวเป็นกรณีตัวอย่างที่ชาวบ้านผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวถึง โดยรัฐจะเรียกค่าปรับหากพบว่ามีครอบครัวใดมีลูกมากกว่าหนึ่งคน และถ้าไม่สามารถจ่ายเงินค่าปรับจ่ายได้ รัฐก็จะยึดเอาทรัพย์สินของเจ้าบ้านไป2
ปัญหาความเป็นอยู่ของชาวบ้านกุ้ยโจวก็ได้รับความสนใจจากผู้นำระดับสูงเช่น เดียวกัน ผู้ช่วยรัฐมนตรีของคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission, NDRC) ได้กล่าวในงานประชุมร่างแผนของศูนย์กลางเพื่อการพัฒนาส่วนภูมิภาคว่า “ความยากจนและความด้อยพัฒนาของกุ้ยโจว เป็นปัญหาใหญ่สองข้อที่ควรจะถูกตั้งเป็นคำถามต่อความสำเร็จของชาติ... (และ) หากกุ้ยโจวไม่อาจพัฒนาสังคมไปในทิศทางเดียวกันกับชาติแล้ว ก็ถือว่าจีนก็ล้มเหลวทั้งชาติเช่นเดียวกัน”

ปัญหาความยากจนและด้อยพัฒนาของกุ้ยโจว เกิดจากลักษณะภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา  พื้นที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยโขดหิน (rocky areas)  กุ้ยโจวมีพื้นที่ซึ่งเป็นโขดหินและแห้งแล้งมากกว่า 30,000 ตารางกิโลเมตร จากพื้นที่ทั้งหมด 170,000 ตารางกิโลเมตร 3 เรียกได้ว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่ “ล้มละลาย” ซึ่งทางธรณีวิทยาระบุถึงสภาพภูมิประเทศเช่นนี้ว่าเป็นภูมิประเทศแบบคาสต์ (karst topography) ซึ่งอาจให้ทัศนียภาพที่แปลกตาและพัฒนาให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ แต่หากพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะภูมิประเทศเช่นนี้แล้ว ก็จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ไป

แม้กุ้ยโจวจะไม่ใช่มณฑลซึ่งเป็นที่รู้จักมาก เท่าไรนัก แต่ก็เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในฐานะแหล่งพลังงานน้ำ  ไฟฟ้า และถ่านหิน เป็นจุดยุทธศาสตร์ของการส่งกระแสไฟฟ้าจากตะวันตกสู่ตะวันออก เป็นแหล่งแร่ธาตุมากกว่า 110 ชนิด นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าสำคัญที่หลากหลาย อาทิเช่น การผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ ยาแผนปัจจุบัน ฟอสฟอรัส ถ่านหิน ทั้งยังมีอุตสาหกรรมที่นำแร่ธาตุสำคัญมาใช้อันได้แก่ อุตสาหกรรมการบิน และ อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้กับยานอวกาศเสินโจว เป็นต้น4  บทความนี้หยิบยกเพียงประเด็นลักษณะภูมิประเทศที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการดำรง ชีวิตของคนในพื้นที่ และความพยายามในการแก้ปัญหาอันเกิดจากสภาพแวดล้อมเท่านั้น

โจทย์ยากของกุ้ยโจว : ก้อนเนื้อร้ายของแผ่นดิน          

ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ลักษณะภูมิประเทศของกุ้ยโจวเป็นอุปสรรคในการพัฒนาอย่างยิ่ง และบางครั้งถึงกับถูกเปรียบเทียบว่าเป็นพื้นที่ซึ่งล้มละลายแล้ว พื้นที่ดังกล่าวจึงมีการเรียกขานกันในอีกชื่อหนึ่งว่าเป็น “ก้อนเนื้อร้าย” ที่สร้างความล้มเหลวในเชิงนิเวศหลายด้าน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ ในพื้นที่  เนื่องจากต้องใช้เงินทุนมากกว่าการลงทุนในพื้นที่ราบทั่วไป ผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะแม้ชาวบ้านจะมีที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานของคนในพื้นที่ชนบท เช่นเดียวกับคนในพื้นที่อื่น  แต่ก็ไม่อาจลงแรงหาเลี้ยงชีพได้เต็มที่เท่าใดนัก ท้ายที่สุดจึงกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาความยากจนข้นแค้นของคนใน พื้นที่

สาเหตุความล้มละลายของพื้นที่นี้เกิดจากการ ใช้ที่ดินมากเกินไปในช่วงทศวรรษปี 1950 จากงานวิจัยเรื่อง นิเวศวิทยาคาสต์ในที่ราบสูงกุ้ยโจว (Karst Ecology in Guizhou Plateau)5 ระบุว่า ก่อนปี 1958 นั้น ป่าคาสต์มีอยู่ทั่วไป แต่ภายหลังเนื่องจากการบุกรุกพื้นที่ป่าของประชากรที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นและ การใช้ที่ดินอย่างไม่คุ้มค่า ทำให้พื้นที่ป่าและทรัพยากรถูกทำลายลงไปมากโดยเฉพาะทางตะวันตกและตะวันตก เฉียงเหนือของกุ้ยโจว  สัดส่วนพื้นที่ซึ่งเป็นโขดหินและแห้งแล้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว   ปี 1980 พื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากปี 1975 ที่จำนวน 4,666 ตารางกิโลเมตร เป็น 13,466 ตารางกิโลเมตร หรือเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 933.2 ตารางกิโลเมตร ทำให้กระบวนการเปลี่ยนสภาพภูมิประเทศนี้เข้าใกล้ภาวะวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียน้ำและหน้าดิน ซึ่งนำไปสู่ภัยธรรมชาติที่นับวันยิ่งพบบ่อยมากขึ้น เมื่อชั้นดินไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยก็สร้างความเดือดร้อนในวงกว้างและนานกว่าที่เคยเป็น มา คุณภาพหน้าดินที่ถูกกัดเซาะชะล้างก็เสื่อมทรามลง จึงส่งผลต่ออาชีพเกษตรกรรมซึ่งเป็นช่องทางทำมาหาเลี้ยงชีพของคนในพื้นที่ แห่งนี้

การประชุมที่กรุงปักกิ่งในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ 2012 ที่ผ่านมา ทางการมณฑลกุ้ยโจวกล่าวถึงการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่กุ้ยโจว โดยวางแผนว่าจะใช้งบประมาณ 18 พันล้านหยวน เพื่อย้ายประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ภูเขาจำนวน 1.5 ล้านคน เข้ามาในเมืองหรือพื้นที่เขตพัฒนาให้เสร็จสิ้นภายใน 9 ปี (ค.ศ.2020) โดยจะย้ายชาวบ้านจำนวนหนึ่งแสนคนแรกให้เสร็จสิ้นภายในปี 2012 นี้ ทั้งนี้  Zhao Kezhi เจ้าหน้าที่ของทางการเห็นว่า แม้ว่าจะสร้างถนน  จัดหาน้ำดื่ม หรือพยายามหาหนทางบรรเทาความยากจนตลอด 50 ปีที่ผ่านมาเพียงไรก็ตาม ก็ยังมิอาจทำให้ปัญหาความยากจนดีขึ้น  โครงการย้ายถิ่นชาวบ้านออกจากพื้นที่ต้องใช้งบประมาณและนโยบายส่งเสริมการ สร้างงานให้แก่ชาวบ้านวัยกลางคนในช่วงอายุ 40 ถึง 50 ปีและสวัสดิการอื่น รวมแล้วเป็นต้นทุนประมาณ 12,000-15,000 หยวนต่อหัว โดยคาดว่าจะเป็นตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมภาคบริการทั้งสิ้น 80,000 ตำแหน่ง สำหรับผู้สูงอายุที่อพยพออกมาพร้อมกับครอบครัว ทางการจะลดหย่อนเงินกองทุนประกันสังคมและค่ารักษาพยาบาลให้

การอพยพครั้งนี้เป็นหัวใจสำคัญของกุ้ยโจวใน การแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นโครงการใหญ่ซึ่งมียอดการอพยพมากกว่าการย้ายคนตามแนวแม่น้ำแยงซีเพื่อ สร้างเขื่อนสามโตรก (三峡) ซึ่งครั้งนั้นจำนวนคนที่ถูกย้ายมี 1.27 ล้านคน6

อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวทางการพัฒนาอีกแนวทางหนึ่งซึ่งเป็นกรณีศึกษาในเทศบาลชิงหลง เขตการปกครองตนเองชนชาติปู้อีและแม้วเฉียนซีหนานทางตะวันตกของกุ้ยโจว ตามสถิติของทางการ7 พื้นที่นี้มีลักษณะหน้าดินที่ตื้นเขินเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 68 ของพื้นที่  โดยมีหน้าดินลึกเพียง 5-20 เซนติเมตรเท่านั้น ขณะที่ปริมาณน้ำฝนต่อปีอยู่ที่ 1,500-1,700 มิลิเมตร  ด้วยลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต์ น้ำฝนที่ตกลงมาจะไหลลงและชะหน้าดินไปด้วยความแรงของกระแสน้ำ  Yi Hui Neng ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า พืชเพียงชนิดเดียวที่เคยปลูกได้ในพื้นที่นี้คือ ข้าวโพด ซึ่งในอดีตเคยเป็นผลิตผลเกษตรหลักของครอบครัว ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นอาชีพที่ตนคิดว่ามั่นคงและลงตัวในปัจจุบัน

แม้จะเป็นเช่นนั้น ข้าวโพดก็ไม่ได้ให้ผลผลิตที่น่าพึงพอใจเท่าใดนัก กล่าวกันในหมู่ชาวบ้านว่าการเพาะปลูกข้าวโพดนั้นเหมือนกับ “ลงแรงในไร่ทั้งไร่ แต่กลับได้ผลผลิตเพียงตะกร้าเดียว”  และแม้ว่าข้าวโพดจะสามารถปลูกขึ้นในชั้นดินที่ตื้นเขินและแห้งแล้งกันดารตาม ซอกหินในรอยแยกได้ แต่ก็ไม่สามารถรักษาหน้าดินในวันฝนตกหนักได้  ยิ่งชาวบ้านปลูกข้าวโพดมากเท่าใด ชั้นหน้าดินก็กลับยิ่งบางลงมากขึ้นเท่านั้น หากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป อีก 3-5 ปีข้างหน้า พื้นที่นี้คงแปรสภาพเป็นทะเลหินซึ่งกันดารแห้งแล้ง

ทางออกที่ถูกค้นพบและนำมาใช้ในพื้นที่นี้ใน เวลาต่อมาก็คือ การปลูกหญ้าแทนข้าวโพด และทำการปศุสัตว์ในพื้นที่ ความคิดดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ยินรายงานข่าวว่า หญ้าที่ปลูกในกุ้ยโจวถูกขายไปเลี้ยงสัตว์ในยูนนานซึ่งเป็นมณฑลใกล้เคียง หญ้าสามารถเติบโตได้ดีแม้ในชั้นดินที่ตื้นเขินและไม่ต้องลงแรงดูแลเท่ากับ ข้าวโพด ช่วยเพิ่มสารอินทรีย์ในดิน และยังชะลอการสูญเสียหน้าดินได้อีกด้วย  ชาวบ้านยังมีรายได้จากการทำปศุสัตว์ โดยส่วนใหญ่ส่งไปขายยังฮ่องกง และบางส่วนบริโภคเองภายในท้องถิ่น ยิ่งไปกว่านั้นชาวบ้านยังเกิดความเชื่อมั่นในความยั่งยืนของทุ่งหญ้าและการ ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือ การใช้สมุนไพรท้องถิ่นในการป้องกันและรักษาโรค แทนการใช้ยาปฏิชีวนะโรงงานอุตสาหกรรม

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวให้ประโยชน์แก่ชาว บ้านจำนวน 50,000 คน จากครัวเรือนจำนวน 12,800 ครัวเรือน  โดยมีแผนที่จะขยายอุตสาหกรรมดังกล่าวให้ครอบคลุม 20,000 ครัวเรือน ความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ดีขึ้นส่วนหนึ่ง ถูกสะท้อนให้เห็นได้จากรายรับที่เพิ่มขึ้นต่อคนต่อปี ชาวบ้านได้รับเงินสดเพิ่มขึ้นคนละ 5,800 หยวน  ภายในช่วงปลายปี 2011   มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ไม่ต้องย้ายเข้าไปเป็นแรงงานอพยพในพื้นที่อื่น

ล่าสุดรายงานข่าวกล่าวถึงภูมิภาคตะวันตกและ ภาคกลาง ที่ถูกนับว่าเป็นเมืองชั้นรองของจีน (กุ้ยโจวอยู่ในภูมิภาคตะวันตก) ว่า กำลังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ แม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจอาจไม่ได้สูงมากเท่ากับเมืองชั้นเอก แต่ในยามที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซบเซาอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ เมืองชั้นรองซึ่งเป็นตลาดการค้าภายในประเทศ ก็กลายเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แทนที่เครื่องจักรตัวเก่าในภูมิภาคตะวันออก ซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ

รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นกุ้ยโจวทุ่มเทงบ ประมาณ และวางโครงการหลายโครงการ เพื่อพลิกฟื้นพื้นที่แห่งนี้ ความพยายามในการพัฒนาในที่สุดแล้วจะสามารถเปลี่ยนโฉมหน้ากุ้ยโจว ให้กลายเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้หรือไม่นั้นก็ น่าสนใจ แต่คำถามที่ว่า กุ้ยโจวจะถูกพัฒนาในรูปแบบใด น่าจะเป็นคำถามที่ห่วงใยถึงการก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า

เอกสารอ้างอิง

1 Yamei Wang.  China to speed up development of poor province[Online]. 2012. Available from: http://news.xinhuanet.com/english/china/2012-02/13/c_131407511.htm[30 July 2012]
2 BBC.  In pictures: China's Wealth Gap[Online]. Available from:http://news.bbc.co.uk/2/shared/spl/hi/picture_gallery/04/asia_pac_china0s_wealth_gap/html/1.stm[17 July 2012]
3 Wang Huazhong and Yang Jun.  Guizhou to relocate 1.5 million poor [Online]. 2012. Available from: http://www.chinadaily.com.cn/usa/epaper/2012-02/14/content_14606174.htm[30July 2012]
4 ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน.  ข้อมูลพื้นฐานรายมณฑล.  กรุงเทมหานคร: ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน, 2555. (อัดสำเนา)
5 Jiang Zhong Cheng and others.  Karst Ecology in Guizhou Plateau[Online]. Available from:http://www.karst.edu.cn/guidebook/guizhou.htm [30 July 2012]
6 เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์.  กุ้ยโจวย้ายคน 2 ล้าน หวังแก้ปัญหาความยากจน[ออนไลน์]. 2555. เข้าถึงได้จาก: http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9550000102753[20 สิงหาคม 2555]
7 Lin Qi.  From rocks to flocks[Online]. 2012. Available from: http://www.chinadaily.com.cn/life/2012-06/25/content_15520466.htm[20 August 2012]

Keywords : กุ้ยโจว จีน ภูมิประเทศแบบคาสต์ ก้อนเนื้อร้าย วรรณรัตน์  ท่าห้อง

ข้อมูลเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555