Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
Publications: Articles - Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University
นครพนม: Gateway สู่เวียดนามและจีนตอนใต้
นครพนม: Gateway สู่เวียดนามและจีนตอนใต้
โดย ดร.ธัญญาทิพย์ ศรีพนา ผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนามศึกษา และแม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นครพนม: Gateway สู่เวียดนามและจีนตอนใต้

ดร.ธัญญาทิพย์ ศรีพนา
ผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนามศึกษา และแม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ จากคณะกฎหมายและรัฐศาสตร์
Universite de Provence (มหาวิทยาลัย Aix-Marseille III) ประเทศฝรั่งเศส
sthanyat@yahoo.com; 081 689 5447

ก่อนหน้านี้ เมื่อพูดถึงนครพนม เราจะรู้สึกว่าอยู่ไกล เพราะห่างจากกรุงเทพฯ ถึง 740 กิโลเมตร ความห่างไกลทำให้ชาวนครพนมหลายคนเรียกนครพนมว่า บ้านสุดซอย เพราะไปสุดเขตแดนไทยที่แม่น้ำโขง ไปต่อที่ไหนไม่ได้อีก ในอดีตนั้น นครพนมยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำโขง จะข้ามไปลาวก็ไปได้โดยทางเรือเท่านั้น การค้าก็มีแต่ค้าขายกับลาว ถนนที่ทะลุไปถึงเวียดนามก็ยังไปไม่ได้ หรือไม่สะดวก เป็นทางเกวียนขรุขระเสียมากกว่า เมื่อเส้นทางจากนครพนมผ่านลาวไปยังภาคกลางตอนเหนือของเวียดนามได้รับการบุกเบิกพัฒนาในช่วงทศวรรษที่ 2000 การเดินทางผ่านลาวไปยังเวียดนามก็เริ่มเป็นไปได้ นครพนมเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสะพานข้ามโขงแห่งที่ 3 ได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นและเปิดใช้ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2011 (11/11/11) ความเป็นประตูสู่เวียดนามและจีนตอนใต้ ก็เห็นเด่นชัดและมีความสมบูรณ์มากขึ้น นครพนมจึงไม่ได้เป็นบ้านสุดซอยอีกต่อไป


สะพานข้ามโขงแห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน
https://www.google.co.th/search?q=%E0%B8%AA% 
เส้นทางที่พัฒนาขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีทั้งเส้นทางหมายเลข 8 และเส้นทางหมายเลข 12 อีกทั้ง สะพานข้ามโขงที่เปิดใช้ในปลายปี 2011 ทำให้มูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเพิ่มมากขึ้น การส่ง ออกผลไม้ไทยก็ใช้เส้นทางเหล่านี้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางหมายเลข 12 ซึ่งเป็นเส้นทางที่ราบกว่าเส้นทางหมายเลข 8 ผลไม้และสินค้าหลายอย่างมิได้ส่งไปเพียงเวียดนามเท่านั้น แต่ส่งต่อไปยังจีนตอนใต้ด้วยเส้นทางหมายเลข 1 A ในเวียดนาม

เส้นทางหมายเลข 8 และเส้นทางหมายเลข 12 มีความสำคัญในการเชื่อมต่อและเชื่อมโยงของอาเซียนไม่น้อย แม้ว่าชื่อเสียงจะไม่โด่งดังเท่าเส้นทางหมายเลข 9 ซึ่งเป็นเส้นทางที่อยู่บนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) แต่ยิ่งนับวัน การใช้เส้นทางสองเส้นทางนี้ (8 และ12) ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางหมายเลข 12

ความสำคัญของนครพนมยังมีอีก ทั้งในด้านการท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม นครพนมเป็นเมืองริมฝั่งโขง แต่ที่มีความพิเศษไปจากจังหวัดอื่น ก็คือ นครพนมเป็นเมืองเงียบสงบ ทิวทัศน์ริมฝั่งโขงมีความสวยงาม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากยืนอยู่ที่จุดบ้านหนองแสงและมองไปยังประเทศลาว ก็จะเห็นทิวทัศน์ที่งดงามของภูหลวง หรือที่เวียดนามเรียกว่า เทือกเขาเจื่องเซิน (Truong Son) ที่มีความสูงตระหง่าน และมีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยการกู้ชาติของเวียดนามจากฝรั่งเศส

นครพนมยังเป็นที่พำนักของท่านโฮจิมินห์ในช่วงเวลาบางช่วง ระหว่างปี 1928 และ 1929 การเคลื่อนไหวของท่านโฮจิมินห์ อีกทั้งการมีฐานของชาวเวียดนามกู้ชาติบนแผ่นดินไทย ซึ่งนครพนมเป็นแห่งหนึ่ง ที่เป็นปัจจัยหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่นำไปสู่การได้มาซึ่งเอกราชของเวียดนามในช่วงเวลาต่อมา บ้านลุงโฮที่บ้านนาจอก นครพนม สามารถให้คำอรรถาธิบายได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่แห่งหนึ่งในนครพนมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวชาวเวียดนาม

การเชื่อมโยงในอาเซียน (Asean Connectivity) ทั้งด้วยเส้นทางและการเคลื่อนย้ายของผู้คนจึงมิใช่ของใหม่ และมิได้เพิ่งเริ่มมีขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เท่านั้น การเชื่อมต่อด้วยเส้นทางในพื้นที่บนอนุภูมิภาคแถบนี้ มีมานานแล้วนับร้อยปี โดยขบวนการกู้ชาติเวียดนามที่เดินทางไปมาระหว่างเวียดนามภาคกลางตอนบนกับอีสานของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งนครพนมโดยผ่านลาว

และด้วยการพัฒนาเส้นทางที่ผ่านมา ทำให้ทั้งสามประเทศ ไทย ลาว เวียดนามสามารถไปมาหาสู่กันและเกิดเป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรมระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน อันทำให้ปัจจุบันความเชื่อมโยงอาซียนมีความเป็นจริงขึ้นมาได้

นครพนมยังมีสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง ทั้งเมืองเก่า ที่ยังมิได้รับการปฏิสังขรณ์ วัดสำคัญหลายวัดริมฝั่งโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระธาตุสำคัญอีกสามพระธาตุ คือ พระธาตุพนม พระธาตุเรณู และพระธาตุอุเทน ที่ทั้งชาวไทยและชาวลาวปรารถนาที่จะไปสักการะบูชา และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังจังหวัดข้างเคียงได้ง่าย เช่น จังหวัดมุกดาหาร

ความเชื่อมโยงในทุกด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การไปมาหาสู่ของคนในอนุภูมิภาค โดย เฉพาะอย่างยิ่งระหว่างไทย ลาว เวียดนาม มีความเด่นชัดมากขึ้น และนครพนมจะพัฒนาและเติบโตมากขึ้นไปอีก หากเขตเศรษฐกิจพิเศษของนครพนมจะสามารถก่อตั้งและพัฒนาขึ้นในอนาคต

นครพนมนี้มีความเหมาะสม (หากพิจารณาจากทรัพยากร การเกษตร การปลูกข้าว ที่ตั้งของจังหวัด ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ มรดกหรือสินทางวัฒนธรรม) ที่จะได้รับการสนับสนุนในด้านอุตสาหกรรมการเกษตร การท่องเที่ยว ระบบ logistic ความเป็นเมืองสีเขียว เงียบสงบ เมืองแห่งสุขภาพ

เนื่องจากความเงียบสงบของเมือง นครพนมน่าจะได้รับการสนับสนุนและพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองแห่งสุขภาพ เมืองศูนย์การแพทย์ริมน้ำโขง ในปัจจุบัน โรงพยาบาลนครพนมมีความทันสมัย ได้รับการพัฒนา ให้มีมาตรฐาน พร้อมให้บริการแก่ประชาชนทั้งในนครพนมและจังหวัดข้างเคียง  เพื่อนบ้านชาวลาวก็ได้มารับการรักษาไม่น้อยด้วยหลักมนุษยธรรมที่ทางโรงพยาบาลนครพนมมิได้คิดมูลค่าชาวลาวที่ยากจนแต่อย่างใด และด้วยการมาใช้บริการของชาวลาวที่เสียค่าใช้จ่ายตามปกติ

ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ นครพนมมีที่ตั้งไม่ไกลจากเวียดนามมากนัก นอกเหนือจากเส้นทางทางบกแล้ว นครพนมสามารถเชื่อมต่อกับกรุงฮานอยได้สะดวก และเชื่อว่า น่าจะมีผู้คนไม่น้อยจากจังหวัดข้างเคียง เช่น มุกดาหาร สกลนคร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ บึงกาฬ และหนองคาย ที่จะใช้การเดินทางด้วยเส้นทางอากาศไปยังฮานอย อาจถึงเวลาแล้วที่เราอาจจะคิดทบทวนดูว่า เราจะยกระดับสนามบินนครพนมเป็นสนามบินนานาชาติหรือยัง ทั้งนี้ สนามบินมีความพร้อม และเคยเป็นสนามบินที่เคยรองรับเครื่องบิน บี 52 ในระหว่างสงครามเวียดนาม

นครพนมมิได้เป็นบ้านสุดซอยอีกต่อไป แต่กลับเป็น Gateway สู่ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ที่มีศักยภาพที่ใครๆ ไม่ควรมองข้าม และจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยเสริมความสมบูรณ์ของการเชื่อมโยงทั้งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และการเชื่อมโยงในอาเซียนโดยรวม (Asean Connectivity) ได้


Keywords : นครพนม การเชื่อมโยงในอาเซียน (Asean Connectivity) เวียดนาม จีน ลาว ธัญญาทิพย์ ศรีพนา

ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558