Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
Publications: Articles - Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University
“มันฝรั่ง” ในความมั่นคงทางอาหารของจีน
“มันฝรั่ง” ในความมั่นคงทางอาหารของจีน
โดย ไสว วิศวานันท์ และ วรรณรัตน์ ท่าห้อง นักวิจัยอาวุโสและนักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“มันฝรั่ง” ในความมั่นคงทางอาหารของจีน

ไสว วิศวานันท์ และ วรรณรัตน์ ท่าห้อง
นักวิจัยอาวุโสและนักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์จีนศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1432


จีนเป็นประเทศใหญ่ที่มีประชากรมากที่สุดอันดับหนึ่งของโลก ปริมาณการบริโภคของชาวจีนจึงส่งผลกระทบต่อตลาดโลกถึงขั้นที่ส่งผลกระทบต่อราคาตลาดของสินค้าหลายชนิด แต่จำนวนประชากรที่มากมายมหาศาลนี้ก็ส่งผลให้ประเด็นความพอเพียงของอาหารกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลจีนต้องหันมาให้ความสำคัญเช่นกัน  โดยล่าสุดในเดือนมกราคม 2015 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของกระทรวงการเกษตรของจีนได้ประกาศว่าจะผลักดันให้มันฝรั่งเป็น “ธัญญาหารหลัก” อีกชนิดหนึ่ง นอกเหนือไปจากธัญญาหารหลักสามชนิดที่มีอยู่เดิม คือ ข้าวเจ้า ข้าวสาลี และข้าวโพด  พร้อมตั้งเป้าคาดการณ์ว่า การบริโภคมันฝรั่งจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 ในอีกห้าปีข้างหน้า หรือใน ค.ศ. 2020 ที่จะมาถึงนี้  อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กระทรวงเกษตรมีข้อเสนอดังกล่าวก็ทำให้เกิดคำถามและความสงสัยหลายประการ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า แท้จริงแล้วสถานะความมั่นคงทางอาหารของจีนเป็นอย่างไรกันแน่

“ธัญญาหาร” (cereals) เป็นสินค้าเกษตรภายใต้การกสิกรรม (farming) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งในแขนงทั้งสี่ของภาคเกษตร ตามการนิยามของทางการจีนในเอกสารสถิติแห่งชาติปี 2010  อีกสามแขนงที่เหลือได้แก่ การทำป่าไม้ (forestry) การปศุสัตว์ (animal husbandry) และการประมง (fisheries)

จีนเริ่มต้นใช้คำว่า “ธัญญาหาร” ในรายงานสถิติธัญพืชของทางการเป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 1991 พืชธัญญาหารหลักสามประเภทอันได้แก่ ข้าวเจ้า(稻米)ข้าวสาลี(小麦)และข้าวโพด(玉米)ตั้งแต่จีนประกาศนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศในปีค.ศ. 1978 นั้น รัฐบาลได้มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเร่งลดระดับความยากจนและภาวะทุพโภชนาการในสังคม ในเวลานั้น รัฐบาลมีความกังวลในการผลิตอาหารให้เพียงพอแก่ความต้องการภายในประเทศ และการเก็บสำรองไว้ในยามวิกฤติขาดแคลน โดยเฉพาะธัญญาหารหลัก แต่เนื่องจากจีนมีนโยบายหลักที่จะพึ่งพาตนเองในการจัดหาธัญญาหาร ประกอบกับการนำเข้าธัญญาหารจากตลาดโลกในราคาสูงเป็นอุปสรรคสำหรับจีนในเวลานั้น การสร้างความมั่นคงทางอาหารสำหรับจีนจึงเป็นเรื่องอ่อนไหวในการจัดการของรัฐบาล 1

ต้นศตวรรษที่ 21 หรือปี ค.ศ. 2001 ที่จีนเข้าร่วมองค์กรการค้าโลก นโยบายของภาคเกษตรและการค้าของจีนได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การพึ่งพาตลาดและการให้เงินอุดหนุนทางการเกษตร ทางการจีนมุ่งมั่นเป็นอย่างมากที่จะใช้นโยบายเพื่อผลักดันการพัฒนาด้านต่างๆ ในการยกระดับรายได้ของชนบทที่ล้าหลัง ผลักดันการผลิตธัญพืช ปรับปรุงความปลอดภัยทางอาหารให้ดีขึ้น ฯลฯ  จนเมื่อจีนสามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรภายในประเทศได้ระดับหนึ่งก็ทำให้ความต้องการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นตามฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชากร ตั้งแต่ครึ่งหลังของปีค.ศ. 2006 ซึ่งเกิดวิกฤตราคาของสินค้าเกษตรทั้งในตลาดในประเทศและระหว่างประเทศ ทำให้จีนเพิ่มการลงทุนในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นใน ค.ศ. 2007 และ 2008 ที่ร้อยละ 27 และ 38 ตามลำดับ ต่อมาในปี 2008 รัฐบาลจีนได้ใช้มาตรการเพิ่มภาษีสินค้าขาออกในสินค้าธัญญาหารหลักเพื่อที่จะลดการส่งออก เพิ่มราคาขั้นต่ำให้แก่ข้าวหลายชนิด และยังดูแลปัจจัยการผลิตในภาคเกษตรเพื่อสนับสนุนการผลิตในประเทศ มาตรการดังกล่าวได้ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวเจ้า ข้าวสาลี และข้าวโพด ในค.ศ. 2008 ลดลงจากค.ศ. 2007 ถึงร้อยละ 26.7  94.59  และ 94.86 ตามลำดับ  ในขณะที่การนำเข้าธัญญาหารของจีนยังคงมีอยู่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งถูกนำเข้ามาเป็นอาหารสัตว์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศ

การผลักดันให้มันฝรั่งเป็นธัญญาหารหลักอีกชนิดหนึ่งได้ผ่านการกลั่นกรองจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในจีน อาจเรียกได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นบนฐานความคิดในการพึ่งพาตนเองโดยปรับรับกันกับสภาพการณ์จริง อันเป็นผลจากการประชุมของศูนย์กลางจีนในเรื่องการเกษตรเมื่อปลายปี 2014  ที่ได้พิจารณาการดำเนินงานที่ผ่านมาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเกษตรของจีนในอนาคต โดยเฉพาะในเรื่องความมั่นคงทางอาหารว่าด้วยผลผลิตธัญญาหาร ต่อมา จึงได้นำประเด็นดังกล่าวผ่านกระบวนการพิจารณาในเชิงวิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะกลั่นกรองและกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ดังกล่าวขึ้น

สาเหตุที่มีการผลักดันยุทธศาสตร์ดังกล่าวก็เนื่องมาจากการเพาะมันฝรั่งนั้นใช้น้ำน้อย ไม่เปลืองพื้นที่ ประหยัดปุ๋ยและสารเคมี ไม่แย่งพื้นที่ธัญญาหารหลักอื่นๆ ปลูกได้ตั้งแต่ภาคใต้จรดเหนือ เพาะปลูกได้กับดินทุกสภาพ ในทุกฤดูกาล ทนต่อความหนาวเย็นและแห้งแล้งได้ดี  การเพาะมันฝรั่งสามารถทำได้ในช่วงเวลาพักดินระหว่างฤดูหนาวของผืนดินในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแหล่งผลิตข้าวเจ้า มันฝรั่งยังมีคุณค่าทางโภชนาการหลากหลาย อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ  เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ทำให้การย่อยเป็นไปอย่างช้าๆ จึงสามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในภาวะเสถียร ทำให้รู้สึกอิ่มได้นาน นอกจากนี้ พบว่าในแป้งมันฝรั่งให้พลังงานต่ำกว่าคือ ให้พลังงานเพียงสามในสี่ของธัญญาหารหลักสามชนิดด้วย

มันฝรั่งมีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ แต่การเพาะปลูกในจีนนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 400 ปีมาแล้ว ภาษาจีนเรียกมันฝรั่งว่า ถู่โต้ว (土豆) หรือภาษาทางการเรียกว่า หม่าหลิงสู่ (马铃薯)  หากแต่ความคุ้นเคยในการรับประทานแตกต่างไปจากชาวตะวันตก เพราะโดยส่วนใหญ่ชาวจีนนิยมนำมันฝรั่งมาประกอบอาหารทำกับข้าว ไม่นิยมรับประทานเป็นอาหารหลักเช่นชาวตะวันตก ชาวจีนรับประทานอาหารหลักอยู่สองประเภทคือ ข้าวและอาหารที่ทำจากแป้งเช่น หมั่นโถว (馒头) เส้นหมี่ (面条) ซึ่งต้องใช้ข้าวสาลีที่มีส่วนประกอบของกลูเต็นโปรตีน (Gluten Protein) เพื่อทำให้ตัวแป้งสามารถรักษารูปทรง จับตัว พองตัว และไม่ขาดง่ายได้
เพื่อที่จะผลักดันให้มันฝรั่งกลายเป็นธัญญาหารหลักอีกประเภทหนึ่งโดยไม่ขัดต่อความรู้สึกคุ้นเคยในการบริโภคอาหารของประชาชนจีนที่มีมานานนับพันปี โดยเฉพาะชาวจีนซึ่งเป็นชนชาติที่ให้ความสำคัญกับการกินอย่างยิ่งจนมีคำกล่าวไว้ว่า หมินอี่สือเหวยเทียน (民以食为天)2  ปัจจุบันสภาวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งชาติจีนได้ค้นคว้าทดลองการทำหมั่นโถวที่ใช้ส่วนผสมจากแป้งมันฝรั่งสำเร็จรูป 40%  และการทำเส้นหมี่จากแป้งมันฝรั่ง 35% ได้สำเร็จ โดยยังสามารถดำเนินการผลิตตามแบบกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม การค้นคว้าทดลองผลิตแป้งมันฝรั่ง และการแปรรูปมันฝรั่งเป็นแป้งสำเร็จรูปเพื่อนำไปผลิตเป็นเส้นหมี่โดยเฉพาะ ซึ่งคนทั่วไปสามารถนำไปผลิตอาหารหลักในครัวเรือนทั่วไปได้เองด้วย หากเป็นจีนในอดีตที่เคยอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร ไม่มีทางเลือกมากนัก การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็ว แต่ในเวลานี้ จีนอยู่ในช่วงข้ามผ่านจากช่วงเวลากินอิ่มนอนอุ่นพอมีพอกิน(温饱)สู่ช่วงเวลาของความเป็นอยู่ค่อนข้างดี(小康)การส่งเสริมและผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป

หลังจากที่ประชุมอภิปราย ยุทธศาสตร์การทำมันฝรั่งให้เป็นธัญญาหารหลัก เมื่อเดือนมกราคม 2015 ได้ข้อสรุปแล้วว่า มันฝรั่งเป็นทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้ อีกทั้ง ได้มีการประมวลคุณค่าของมันฝรั่งในมิติต่างๆ ข้างต้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์เปลี่ยนมันฝรั่งเป็นธัญญาหารหลักชนิดที่สี่ โดยตั้งเป้าหมายสำคัญไว้สองประการนั่นคือ การขยายพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งหนึ่งเท่าตัว จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 80 ล้านกว่าหมู่ 3 เป็น 150 ล้านหมู่ และการเพิ่มความถี่ในการบริโภคมันฝรั่งโดยตั้งเป้าว่า มันฝรั่งจะต้องถูกนับเป็นอาหารหลักในมื้ออาหารประจำวันของชาวจีน

แม้ทางการจีนอธิบายว่า ยุทธศาสตร์การผลักดันให้มันฝรั่งกลายเป็นธัญญาหารหลักชนิดที่สี่เป็นยุทธศาสตร์เพื่อปรับตัวให้เข้าสภาวการณ์ และเป็นการเสริมเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้แก่ผลิตภัณฑ์เกษตรจำพวกธัญญาหารให้มีเพียงพอต่อความต้องการในอนาคต มิได้เป็นเพราะสถานการณ์ธัญญาหารของจีนกำลังตกอยู่ในภาวะขาดแคลนดังที่ผู้สังเกตการณ์บางส่วนสงสัยและวิเคราะห์ ทั้งนี้ นักวิชาการจีนบางส่วนได้ตั้งข้อสงสัยว่า จีนน่าจะกำลังประสบปัญหาในการจัดการด้านอาหารอันเนื่องจากความจำกัดทางทรัพยากรน้ำและที่ดินซึ่งถูกบ่อนทำลายจากการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา  เช่นเดียวกับข้อมูลความพอเพียงของอาหารของทางการจีนที่ถูกตั้งข้อสงสัยถึงความโปร่งใสและถูกต้องของข้อมูลเช่นกัน

จีนเป็นประเทศที่มีสัดส่วนจำนวนประชากรในโลกสูงถึงร้อยละ 22 และแม้จะเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่ผืนดินที่สามารถทำการเพาะปลูกมีอยู่เพียงร้อยละ 7 ของทั้งหมดเท่านั้น นั่นคือจำนวนประชากรมากแต่ผืนดินทำกินน้อย  ความมั่นคงทางอาหารของจีนจึงเกี่ยวข้องกับภาคเกษตรและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งในที่ประชุมคณะทำงานภาคเกษตรของศูนย์กลางพรรคฯ ที่สิ้นสุดไปเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2015 ได้ตระหนักถึงปัญหาสำคัญทั้งสองประการ โดยได้เน้นย้ำให้มีการปฏิรูปและสร้างนวัตกรรม(改革创新)พร้อมผลักดันการเกิดเกษตรทันสมัย(农业现代化)อันสอดรับกับหลักการ “มาตรฐานใหม่” หรือ New Normal ที่สีจิ้นผิงกล่าวถึงไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2014 ซึ่งมีใจความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจของจีนว่า เศรษฐกิจจีนนับแต่นี้ไปไม่จำเป็นต้องมีอัตราการเติบโตก้าวกระโดดดังในอดีตอีกแล้ว แต่จีนจะพัฒนาเศรษฐกิจบนโครงสร้างใหม่ที่อยู่ฐานอุตสาหกรรมประเภทที่สามหรือภาคบริการ (tertiary industry) ความต้องการบริโภค และนวัตกรรม  ที่ผ่านมา ทุกเฮกตาร์ของผืนดินในจีนมีการใช้ปุ๋ยเคมีสูงมากกว่า 4 เท่าของอัตราเฉลี่ยโลก ทำให้เกิดมลภาวะทางดินและน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ทุกปี ปริมาณการใช้ยาปราบศัตรูพืชอยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านตัน แต่สัดส่วนผลตอบแทนในการใช้ประโยชน์(利用率)กลับอยู่ที่อัตราร้อยละ 30 เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ การผลักดันให้มันฝรั่งเป็นอาหารหลักอีกประเภทหนึ่งอาจสามารถสร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้นได้ว่าชาวจีนจะมีอาหารมากเพียงพอต่อความต้องการบริโภค แต่หากจีนสามารถปรับปรุงผืนดินในประเทศให้กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในระยะยาวควบคู่กันไปได้แล้ว ก็น่าจะเป็นมาตรฐานใหม่ของความมั่นคงทางอาหารที่ดีเพียงพอต่อการใช้ชีวิตของชาวจีนในการก้าวเข้าสู่ยุค “เสี่ยวคัง” นี้ และนั่นย่อมมีความหมายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก 

------------------------------------

เชิงอรรถ

1 ยกเว้นถั่วเหลืองเพียงอย่างเดียวที่จีนนำเข้าในปริมาณมากมานานแล้วและเป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกเพราะความจำกัดทางทรัพยากรที่ดิน สำหรับจีน แล้วการนำเข้าถั่วเหลืองมีประสิทธิภาพทางต้นทุนมากกว่าและมีความอ่อนไหวน้อยกว่าการนำเข้าธัญญาหารเพื่อบริโภค
2 แปลความหมายตามตัวแปลว่า คนถืออาหารว่า (สำคัญ) เทียมฟ้า
3 คือ ไร่ ของจีน, 1 หมู่มีขนาดเท่ากับ 0.0667 เฮกตาร์

------------------------------------

รายการอ้างอิง

จิงหัวสือเป้า 京华时报. มันฝรั่งจะเป็นธัญญาหารหลักชนิดที่สี่ของจีนได้อย่างไร马铃薯将成我国第四大主粮 马铃薯如何主粮化. [ออนไลน์]. 2015. แหล่งที่มา:http://www.moa.gov.cn/zwllm/zwdt/201501/t20150107_4324333.htm

ไฉซินหว่าง 财新网. การใช้มันฝรั่งทำหมั่นโถวยังไม่อาจเปลี่ยนแปลงคำนิยามธัญญาหารหลักได้ 土豆蒸馒头改写主粮定义 暂无新补贴. [ออนไลน์]. 2015. แหล่งที่มา: http://china.caixin.com/2015-01-19/100776080.html

เฝิงหัว 冯华. ผู้เชื่ยวชาญไขกระจ่างใจความสำคัญจากการประชุมคณะทำงานชนบทของศูนย์กลางพรรคฯ :สอดรับมาตรฐานใหม่  เร่งฝีก้าวเกษตรทันสมัย专家解读中央农村工作会议精神:适应新常态 加快农业现代化. [Online]. 2014. Available from: http://theory.people.com.cn/n/2014/1224/c40531-26265104.html

ฟู่เฉิงคุน 付承堃 . จีนจะเริ่มใช้ยุทธศาสตร์ผลักดันมันฝรั่งเป็นธัญญาหารหลัก มันฝรั่งจะกลายเป็นธัญญาหารหลักชนิดที่สี่中国将启动土豆主粮化战略 土豆或成第四主粮. [ออนไลน์]. 2015. แหล่งที่มา: http://gb.cri.cn/42071/2015/01/06/6351s4831384.htm

China Daily. More assistance for grain-producing regions. [Online]. 2015. Available from: http://english.agri.gov.cn/news/dqnf/201503/t20150309_25141.htm

Colin A. Carter, Funing Zhong, and Jing Zhu. Advances in Chinese Agriculture and its Global Implications. [Online]. 2011. Available from: http://aepp.oxfordjournals.org/content/34/1/1.full.pdf

Huang McBeath. Environmental Change and Food Security in China. [Online]. 2011. Available from: http://www.springer.com/gp/book/9781402091797#

IFPRI. Food Security Portal. [Online]. 2012. Available from: http://www.foodsecurityportal.org/china

USDA Economic Research Service. China Policy. [Online]. 2012. Available from: http://www.ers.usda.gov/topics/international-markets-trade/countries-regions/china/policy.aspx

World Policy. China's Food Security Dilemma. [Online]. 2014. Available from: http://www.worldpolicy.org/blog/2014/06/04/chinas-food-security-dilemma

Xinhuanet. Xi's "new normal" theory. [Online]. 2014. Available from: http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-11/09/c_133776839.htm

Keywords : มันผรั่ง ธัญญาหารหลัก ความมั่นคงทางอาหารของจีน การปฏิรูปและสร้างนวัตกรรม มาตรฐานใหม่ ไสว วิศวานันท์ วรรณรัตน์ ท่าห้อง

ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558