Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
Publications: Articles - Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University
แนวความคิดการให้แหล่งพักพิงแก่ผู้ลี้ภัยในระหว่างและหลังยุคสงครามเย็นของประเทศอุตสาหกรรม - Thai World Affairs Center
แนวความคิดการให้แหล่งพักพิงแก่ผู้ลี้ภัยในระหว่างและหลังยุคสงครามเย็นของประเทศอุตสาหกรรม - Thai World Affairs Center
โดย อังคณา กมลเพ็ชร์

แนวความคิดการให้แหล่งพักพิงแก่ผู้ลี้ภัยในระหว่างและหลังยุคสงครามเย็นของประเทศอุตสาหกรรม


อังคณา กมลเพ็ชร์
นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา


แนวคิดในการให้ความช่วย เหลือแก่ผู้ลี้ภัย รวมทั้งการสนองตอบด้านนโยบายของนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมนับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษา เนื่องจากจะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในความยุ่งยากซับซ้อนในสถานการณ์ ปัจจุบัน เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายการให้แหล่งพักพิงแก่ผู้ลี้ภัย ที่เดินทางมาจากประเทศกำลังพัฒนา  นักวิชาการเห็นว่า (Keely, 2001) นโยบายการรับผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานอันเป็นการช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรมใน ระหว่างยุคสงครามเย็น ถูกนำมาใช้เป็นยุทธศาสตร์การดำเนินนโยบายต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของประเทศตะวันตก  โดยการรับผู้ลี้ภัยทางการเมืองหรือผู้ต่อต้านทางการเมืองเพื่อตั้งถิ่นฐาน เช่น การจัดตั้งหมู่บ้านจำนวน 440 แห่ง เพื่อรองรับผู้ที่หลงผิดไปเข้ากับลัทธิคอมมิวนิสต์เพื่อการตั้งถิ่นฐานใน มาลายา เมื่อเดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 1960  หรือโครงการการตั้งถิ่นฐานของผู้ที่อพยพมาทางเรือจากประเทศเวียดนาม รวมทั้งการตั้งถิ่นฐานให้กับผู้ที่ถูกกดขี่จากลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศหลัง ม่านเหล็กซึ่งมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำในการพยายามที่จะสร้างความเป็นมหา อำนาจในยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออก ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (Hammerstad, 2005)

Keely (2001) ได้อธิบายให้เห็นถึงสาเหตุการเปลี่ยนแปลงนโยบายการรับผู้ลี้ภัยของประเทศ ตะวันตก   นับแต่ที่ UNHCR ได้ก่อตั้งขึ้น และดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951  ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 ประเทศยุโรปและอเมริกาเหนือได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบาย รวมทั้งกฎหมายและวิธีดำเนินการ ในการรับผู้ลี้ภัยและการร้องขอการแสวงหาแหล่งพักพิง ซึ่งมีผลให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชน ออกมาโจมตีการสร้างกำแพง   กีดกันของยุโรป (Fortress Europe) ทั้งที่เป็นประเทศผู้นำด้านประชาธิปไตยและเสรีนิยม  อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและเสนอแนวคิดการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย การพยายามเปลี่ยนแปลงการตีความการยอมรับผู้แสวงหาแหล่งพักพิง ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายและหลักการด้านมนุษยธรรม ที่มีมานานถึง 70 ปีแล้ว 

นโยบายการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยระหว่าง ประเทศ ได้เริ่มมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยองค์การสหประชาชาติซึ่งดำเนินการภายใต้คณะกรรมการกาชาดสากล  (ICRC) ซึ่ง ICRC ได้ขอความร่วมมือจากสันนิบาตชาติ (League of Nations) ในการดำเนินการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวรัสเซียที่หายหนีการปฏิวัติบอลเชวิค  นโยบายที่ใช้ในปัจจุบันนั้นเป็นผลมาจากการเจรจาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่นำมาซึ่งอนุสัญญาว่าด้วยการกำหนดสถานภาพผู้ลี้ภัยปี ค.ศ. 1951 โดยรัฐต่างๆ จะร่วมมือกันให้การช่วยเหลือและการคุ้มครองผู้พลัดถิ่น ที่ต้องเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากการประหัตประหารจากรัฐบาลของตนเอง  หรือด้วยอำนาจทางการเมืองและสังคมที่มาจากการเข้ามาควบคุมของรัฐบาล  นโยบายในช่วงเริ่มแรกพัฒนามาเพื่อช่วยสถานการณ์ผู้พลัดถิ่นชาวยุโรป ที่สืบเนื่องมาจากสงครามโลกทั้งสองครั้ง  แต่นโยบายในช่วงแรกจะเน้นในเรื่องของสถานการณ์ในยุโรปมากกว่า โดยมียุโรปและอเมริกาเหนือเป็นผู้นำ และยังคงมีบทบาทสำคัญในทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อมา  ซึ่งนโยบายในช่วงระหว่างยุคสงครามเย็น ต้องการถอนรากถอนโคนประเทศที่เกี่ยวพันกันอยู่กับสหภาพโซเวียต มากกว่าที่จะช่วยเหลือในการควบคุมการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัย และการให้การคุ้มครอง จนกว่าประเทศของผู้ลี้ภัยจะมีความมั่นคงทางการเมืองเพียงพอ ที่พร้อมจะให้ผู้ลี้ภัยได้เดินทางกลับอย่างปลอดภัย  การที่ประเทศตะวันตกต้องทุ่มเทงบประมาณมหาศาลให้กับนโยบายการรับผู้ลี้ภัย ก็เป็นการแลกเปลี่ยนกับความล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์  ดังนั้น หลายฝ่ายจึงไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เข้มงวดในการให้แหล่งพัก พิงแก่ผู้ลี้ภัย ซึ่งเท่ากับเป็นการทุจริตกับระบบสถาปนาความมั่นคงให้เกิดขึ้น (Keely, 2001: 313)  ขณะเดียวกันนโยบายผู้ลี้ภัยในประเทศกำลังพัฒนา ก็ยังคงเผชิญกับข้อท้าทายในการให้ความคุ้มครองและความช่วยเหลือ   ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายของโลกตะวันตก แต่ยังมีสาเหตุจากพลวัตความขัดแย้งทางการเมือง ภายในภูมิภาคของประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งยังคงดำเนินอยู่

ในการรับรองการให้ความคุ้มครองตามหลักสากล ระหว่างประเทศแก่ผู้ลี้ภัยที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปตั้งถิ่นฐาน จะมองเห็นความสืบเนื่องกับนโยบายการแสวงหาแหล่งพักพิงและการรับไปตั้งถิ่น ฐาน สำหรับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (the North)  ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่า นโยบายดังกล่าวนำมาซึ่งความยุ่งยากเป็นอย่างมาก (Zolberg, Suhrke and Aguayo, 1989: 279-282) เนื่องจากในสมัยนั้นมีการจำกัดจำนวนการรับไปตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยจากอิน โดจีนไปยังประเทศที่สาม  ซึ่งเป็นขณะเดียวกับที่ UNHCR เรียกร้องให้นานาประเทศให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยจากประเทศอัฟริกา  อันทำให้จำนวนของผู้แสวงหาแหล่งพักพิงในยุโรปได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 140

ในระหว่างปี ค.ศ. 1983-1985   เยอรมนีตะวันตก ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป ในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในการรับไปตั้งถิ่นฐาน  เนื่องด้วยเหตุผลในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ต้องการปฏิเสธการแบ่ง แยกกรุงเบอร์ลิน  ดังนั้น จึงยอมรับให้มีการเดินทางเข้าประเทศโดยผ่านนครเบอร์ลิน  ช่องทางนี้จึงเป็นหนทางที่เปิดกว้างสำหรับผู้ลี้ภัยจากประเทศที่กำลังพัฒนา และผู้ลี้ภัยจากประเทศเยอรมนีตะวันออก ที่ต้องการแสวงหาแหล่งพักพิง  รวมทั้งนโยบายการเปิดเสรีในการรับผู้แสวงหาแหล่งพักพิง (Liberal asylum policy) อันทำให้ประเทศเยอรมนีตะวันตกกลายเป็นประเทศหลักของยุโรป ในการรับผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐาน  (Ibid.,: 280)

ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1980 นอกจากผู้สมัครขอตั้งถิ่นฐานจากประเทศยุโรปตะวันออก เช่น โรมาเนีย โปแลนด์ และฮังการี รวมทั้งผู้สมัครเพื่อขอตั้งถิ่นฐานจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่ยุโรป ซึ่งกำลังทวีจำนวนเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 1985 จำนวนผู้ลี้ภัยจากประเทศอิหร่าน และศรีลังกา มีเป็นจำนวนมาก  เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้สมัครขอตั้งถิ่นฐานทั่วทั้งยุโรปตะวันออก ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ประชากร  ผู้ลี้ภัยจะมีสัดส่วนของผู้สมัครขอตั้งถิ่นฐานจากยุโรปตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ โดยผู้ลงทะเบียนมีจำนวนถึง 700,000 คน  รองลงมาเป็นผู้ลี้ภัยอินโดจีนซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่มีการ จัดโควตาไว้ และกลุ่มที่สามเป็นผู้ลี้ภัยจากลาตินอเมริกา  นอกจากนี้ ยังมีผู้ลี้ภัยที่เดินทางเข้ามาเองเพื่อขอลี้ภัยโดยตรง (spontaneous refugees) จากประเทศตะวันออกกลาง เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และอัฟริกา  ซึ่งมีผู้ที่ได้การรับรองสถานภาพตามอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพียง จำนวนน้อย  บางคนก็ได้รับอนุญาตให้อยู่ในฐานะการได้รับความช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรม (B-status)   แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในฐานะที่ถูกกฎหมาย หรือเป็นผู้แสวงหาแหล่งพักพิงที่มีหลักประกัน (perpetual asylum seekers)   อย่างไรก็ตาม บางประเทศได้ดำเนินมาตรการเข้มงวดอันเป็นการป้องกันมิให้ผู้แสวงหาแหล่งพัก พิงเหล่านี้ได้รับสถานภาพได้โดยง่าย เช่น ในประเทศอังกฤษ มีการนำนโยบายที่ประกาศใช้ในสหราชอาณาจักร  หรือ Insular Policy ซึ่งเริ่มขึ้นในปีค.ศ. 1985 โดยกำหนดหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิในการขอแหล่งพักพิง จะต้องผ่านกระบวนการยื่นคำร้อง และต้องมีหลักฐานหนังสือเดินทางที่ชัดเจน  อันทำให้การแสวงหาแหล่งพักพิงมีความยุ่งยากมากขึ้นอีก  เยอรมนีตะวันตกก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่การใช้มาตรการเข้มงวดมากขึ้นมา ตั้งแต่ภายหลังปี ค.ศ. 1984 ในการอนุญาตให้แหล่งพักพิงแก่ผู้ลี้ภัย โดยการจำกัดจำนวนผู้สมัคร และลดจำนวนคนที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาสถานภาพลง รวมถึงมาตรการจำกัดการโยกย้าย  เนื่องจากเยอรมนีตะวันตกดำเนินนโยบายเปิดรับ หรือ Open door policy   ตามนโยบาย East-West relations ซึ่งทำให้ชายแดนมีลักษณะเปิดเสรี  (Ibid., Russell, S. S., C. B. Keely and B. Christian, 2000)

นโยบายของยุโรปจะแตกต่างจากนโยบายของสหรัฐ อเมริกา  ในช่วงก่อนปี ค.ศ. 1980 การเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาเพื่อการพักอาศัย หรือการหางานทำ มีความสะดวกมากกว่า โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ  ดังนั้น จะเห็นว่าบริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศเม็กซิโก  ได้กลายเป็นช่องทางหลักของการเดินทางเข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ  ดังนั้น ในปี ค.ศ. 1980  สหรัฐอเมริกาจึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติผู้ลี้ภัย (Refugee Act) ซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นในการคัดเลือกผู้ที่จะเดินทางเข้ามา  อย่างไรก็ตาม  การประกาศนโยบายนี้ก็เป็นเรื่องที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง  ในระหว่างยุคของประธานาธิบดีเรแกน ไม่มีผู้ลี้ภัยจากประเทศสวาดอร์เรียนได้รับสถานภาพผู้แสวงหาแหล่งพักพิง อย่างเป็นทางการแม้แต่รายเดียว  ส่วนผู้ลี้ภัยจากประเทศเฮติก็ยังคงถูกผลักดันให้เดินทางกลับ  ขณะที่ ผู้ลี้ภัยชาวสวาดอร์เรียนยังคงเดินทางเข้ามาไม่ขาดสาย  ทำให้สถิติผู้ลี้ภัยมีลักษณะ dualism ตัวเลขที่เป็นทางการของผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศลาตินอเมริกา มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 ในขณะที่ตัวเลขของผู้ลี้ภัยชาวสวาดอร์เรียนที่เดินทางออกจากประเทศเพื่อหนี สงครามกลางเมือง  และอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาอย่างผิดกฎหมาย มีจำนวนถึง 600,000 - 700,000 คน   แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับสถานภาพว่าเป็นผู้ลี้ภัยแต่อย่างใด  เนื่องจากผู้ลี้ภัยเหล่านี้หนีออกจากประเทศด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ (Ibid.,)

โดยสรุปจะเห็นได้ว่า  นโยบายการให้แหล่งพักพิงมีข้อด้อยอยู่หลายประการ  ในสหรัฐอเมริกา  การใช้นโยบายที่อิงอยู่กับเหตุผลทางการเมือง ในการพิจารณาตัดสินให้แหล่งพักพิง  ทำให้นโยบายผู้ลี้ภัยบิดเบือนไปจากความเป็นจริง และขัดแย้งกับข้อกฎหมายที่ใช้อยู่  ผลก็คือ มีการรวมตัวกันขนานใหญ่เพื่อคัดค้านการให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัย ที่อาศัยอยู่ในฐานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมายนับแสนคน   ส่วนในอังกฤษการใช้นโยบาย insular approach ทำให้ผู้แสวงหาแหล่งพักพิงต้องพบกับกระบวนการที่ยุ่งยากมากขึ้น เมื่อมาถึงขั้นตอนการพิจารณาการให้สถานภาพ  นโยบายได้รับการวิจารณ์ว่าเลือกปฏิบัติในการรับฟังความคิดเห็น ในการขอสถานภาพการแสวงหาแหล่งพักพิงของผู้ลี้ภัย   (Zolberg, A., A. Suhrke and S. Aguayo, 1988)

ดังนั้น การผสมผสานระหว่างนโยบายการเปิดประตูรับอย่างเสรี (open door policy) และการเลือกปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นในการขอสถานภาพการแสวงหาแหล่งพักพิง ของผู้ลี้ภัย (open door – discriminating hearing process) เป็นแนวทางที่นำมาใช้พัฒนากฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยของประเทศในยุโรปตะวันตก มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987  (Hatton and Williamson, 2004)

ผู้แสวงหาแหล่งพักพิงที่เดินทางเข้ามาด้วยตนเอง (spontaneous asylum seekers) ในประเทศที่มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอาจจะลดจำนวนลงได้โดยการเพิ่มจำนวน โควตาในระบบของ UNHCR โดยผ่านกระบวนการรับไปตั้งถิ่นฐานสำหรับผู้ลี้ภัยที่ไม่ประสงค์จะเดิน ทางกลับมาตุภูมิ  ในมุมมองของผู้แสวงหาแหล่งพักพิง (asylum seeker) การใช้ระบบโควตาทำให้เกิดความไม่แน่ใจกับอนาคต  แต่ในมุมมองของประเทศที่รับไปตั้งถิ่นฐานจะคำนึงถึงเรื่องของการควบคุมใน กระบวนการคัดเลือกเป็นสำคัญ  ส่วนประเทศแรกรับผู้ลี้ภัย   นโยบายการให้แหล่งพักพิงยังคงดำเนินต่อไปได้  ตราบเท่าที่องค์กรนานาชาติหรือประเทศอื่น ยังคงเข้ามาแบกรับภาระร่วมกัน  ในภาพรวมแล้วระบบโควตาถือว่าเป็นวิธีการจัดการควบคุมการหลั่งไหลเคลื่อนย้าย ของผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศในลักษณะที่เป็นธรรมและคำนึงถึงความเป็นมนุษย์

ในอดีตผู้ลี้ภัยจากประเทศกำลังพัฒนา เช่น ผู้ลี้ภัยจากประเทศอินโดจีน และชิลี  จะเดินทางเข้ามาผ่านระบบโควตา  เนื่องจากมีผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ที่ให้การสนับสนุนการรับไปตั้งถิ่นฐาน  หากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้อุปถัมภ์  UNHCR ก็ไม่สามารถดำเนินการในลักษณะโควตาขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถรองรับผู้ลี้ภัยได้เป็นจำนวนมาก  อย่างไรก็ตาม  ในการพัฒนารูปแบบที่ต้องการจัดสรรการแบ่งเบาภาระการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ เท่าเทียมกัน  นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงความจริงที่ว่าผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศกำลัง พัฒนา  ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่พัฒนาแล้ว  แม้ว่าสถิติของผู้แสวงหาแหล่งพักพิงในประเทศที่สามในยุโรปและอเมริกาตอน เหนือดูเหมือนจะมีจำนวนสูง  แต่ก็เป็นเพียงตัวแทนเพียงส่วนน้อยของประชากรผู้ลี้ภัยทั้งโลก  ในความเป็นจริง มีเพียงผู้ลี้ภัยส่วนน้อยที่อยากจะแสวงหาแหล่งพักพิง หรือตั้งถิ่นฐานนอกภูมิภาคของประเทศต้นทาง  ยกเว้นการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยจากอเมริกากลางที่เข้าไปยังอเมริกาเหนือที่ ไม่เข้าข่ายความหมายนี้  ในขณะที่ผู้ลี้ภัยจากอัฟริกาและเอเชียยังคงต้องการอพยพอยู่ภายในภูมิภาค  ด้วยเหตุผลความคุ้นเคยทางสังคมวัฒนธรรม การต้องการความเคลื่อนไหวทางการเมือง  และความหวังที่จะได้กลับคืนไปยังมาตุภูมิของตน   ในการอพยพเพื่อไปตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีนนอกภูมิภาค UNHCR พบว่าโครงการรับไปตั้งถิ่นฐานไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ผู้ลี้ภัยต้องการ  (Zolberg, Suhrke and Aguayo, 1989: 282)  ซึ่งต่างจากช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองระหว่างปีค.ศ. 1945-1985 ที่นโยบายการรับไปตั้งถิ่นฐานได้รับการปฏิบัติมากที่สุดในการแก้ไขปัญหา อย่างถาวร (Chimni, 2004)

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกประเด็นหนึ่งก็คือ โดยทั่วไปแล้วประเทศที่กำลังพัฒนาไม่เต็มใจที่จะยอมรับการที่ต้องแบกรับภาระ การเป็นประเทศหลักในการให้แหล่งพักพิง   มีการประท้วงเกิดขึ้นในสองกรณี  ภายหลังครึ่งหลังทศวรรษของปีค.ศ. 1970  เม็กซิโกและอเมริกากลางต้องการให้สหรัฐอเมริกายอมรับการแบกรับภาระผู้ลี้ภัย สงครามกลางเมืองจากเอลซาวาดอร์ กัวเตมาลา และนิคารากัว มากกว่าประเทศอื่นๆ   เนื่องจากสหรัฐฯร่ำรวย มีอาณาเขตติดต่อกัน  จึงควรต้องแสดงความรับผิดชอบความขัดแย้งที่ทำให้เกิดปัญหาผู้ลี้ภัย  การแบ่งเบาภาระร่วมกันมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ  เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  ยุโรปตะวันตกที่พ่ายแพ้สงคราม ต้องการให้อเมริกาเหนือซึ่งมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ช่วยแบกรับภาระทางการเงินเพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ลี้ภัย    ขณะที่ยุโรปตะวันตกจะเสนอให้แหล่งพักพิง  40 ปีต่อมา ยุโรป อเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น และประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ อีกไม่กี่ประเทศ มีกติการ่วมกันที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ ไม่เฉพาะแต่การปฏิบัติตามหลักทางด้านมนุษยธรรมเท่านั้น  แต่จะต้องวางนโยบายที่เป็นการช่วยลดความขัดแย้งทางสังคม ในประเทศที่ตนเองมีส่วนในการก่อให้เกิดปัญหาผู้ลี้ภัย  รวมถึงการต้องตระหนักถึงชุมชนที่ผู้ลี้ภัยเคยร่วมกระบวนการต่อต้านทางการ เมือง  และนโยบายที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยอย่างเช่นในประวัติ ศาสตร์ที่ผ่านมาด้วย 

บรรณานุกรม

Chimni, S.B. 2004. From Resettlement to Involuntary Repatriation: Towards a Critical History of Durable Solutions to Refugee Problems. In Refugee Survey Quarterly. 23 (3): 55-73.

Hammerstad, Anne. 2005. The Making or Breaking the Conflict Cycle: The Relationship Between Underdevelopment, Conflict and Forced Migration. In Developing DFID’s Policy Approach for Refugees and Internally Displaced Persons. Volume II: Commission Papers. A Research Consultancy by the Refugee Studies Center for the Conflict and Humanitarian Affairs Department, Department for International Development.

Hatton, J. Timothy and Williamson, G. Jeffrey. 2004. Refugees, Asylum Seekers and Policy in Europe. Discussion Paper No. 1230. Germany: Institute for the Study of Labour (IZA).     

Keely, B. Charles. 2001. The International Refugee Regime(s): The End of the Cold War Matters. In International Migration Review. 35(1): 303-314. 16 November 2012.

Russell, S. S., C. B. Keely and B.I, Christian. 2000“Multilateral Diplomacy to Harmonize Asylum Policy in Europe: 1984-1993”.Institute for the Study of International Migration (ISIM) Working Paper, Walsh School of Foreign Service, Washington: Georgetown University.

Zolberg, R. Aristide; Suhrke, Astri and Aguayo, Sergio. 1989. Escape From Violence: Conflict and the Refugee Crisis in the Developing World. New York: Oxford University Press.

Keywords : แหล่งพักพิงแก่ผู้ลี้ภัย, สิทธิมนุษยชน,  องค์การสหประชาชาติ,  นโยบายผู้ลี้ภัย,  UNHCR, อังคณา กมลเพ็ชร์

ข้อมูลเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2556