


ไทย-พม่าในอีกมิติหนึ่ง
อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
หนังสือพิมพ์ อิระวดีที่ตีพิมพ์ในเรื่องราวต่างๆในพม่ารายงานว่า ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไทย เช่นอดีตนายกรัฐมนตรี นักการเมืองใหญ่ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่บางคนเข้าไปพม่าเพื่อทำบุญและมีการทำบุญเพื่อสะเดาะห์เคราะห์ ความจริงแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร มีผู้ใหญ่และผู้นำไทยหลายคนเข้าไปพม่าเพื่อทำบุญบ้าง ทำการติดต่อเรื่องการลงทุนบ้างเป็นของธรรมดา แต่สิ่งใหม่คือ การเข้าไปของผู้ใหญ่ไทยจำนวนไม่น้อยเป็นการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่า บางเรื่องเป็นการชิงชัยทางการเมืองของผู้นำ ซึ่งส่วนใหญ่หลังกลับมาจากพม่า ผู้นำกลุ่มนั้นพ่ายแพ้ต่อการเมืองทุกครั้งไป ไม่ช้าก็เร็ว
โฉมหน้าใหม่
ความใกล้เคียงทางด้านพื้นที่ระหว่างไทยกับพม่าเป็นสิ่งอำนวยให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำไทยกับผู้นำพม่าใกล้ชิดกัน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายนี้เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไข เวลาและยุคสมัยมาตลอด
พม่าในยุครัฐบาลทหาร
หลังทศวรรษ คศ. 1960 พม่าเปลี่ยนประเทศเป็นประเทศสังคมนิยมและปกครองโดยทหาร ระบบสังคมนิยมวิถีพม่า (Burmese way to Socialism) สังคมนิยมวิถีพม่า เป็นทั้งแนวทางในการพัฒนาประเทศและเกราะคุ้มกันให้กับผู้ปกครองซึ่งเป็นทหาร ผู้นำทหารมีความชอบธรรมทั้งการปกครองประเทศด้านความมั่นคง และยังเป็นผู้ดำเนินงานทางด้านเศรษฐกิจด้วยการที่ผู้นำทหารเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจสำคัญๆของรัฐ เช่น ธนาคาร กิจการค้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ให้สัมปทานการสำรวจและทำกิจการเหมืองแร่ อัญมณี รัฐวิสาหกิจในการค้าข้าว เป็นต้น
ช่วงเวลาดังกล่าว ผู้นำไทยติดต่อและปฏิสัมพันธ์กับพม่าโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจผ่านทั้งผู้นำชนกลุ่มน้อย และผู้นำทหารพม่าทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง นักธุรกิจภูมิภาคของไทยตามแนวชายแดนเป็นตัวกลางสำคัญในการติดต่อทั้งผู้นำชนกลุ่มน้อยและผู้นำทหารพม่า ด้วยเหตุนี้สัมปทานประมง สัมปทานเหมืองแร่ สัมปทานป่าไม้ รวมทั้งการนำเข้าและส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคที่นักธุรกิจไทยได้ ได้ผ่านกลุ่มพ่อค้าท้องถิ่นของไทยในระบบนี้ทั้งสิ้น
ยุคหลังรัฐบาลชาติชายและยุคโลกาภิวัตน์
นโยบายแปรสนามรบเป็นตลาดการค้า (turn battle field to market place) ตั้งแต่ยุครัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหวัณไม่ได้มีผลต่อระบบความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong sub region-GMS) อันได้แก่ ลาว กัมพูชาและเวียดนามเท่านั้น ระบบความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย
พม่ายังคงปกครองโดยผู้นำทหาร แต่บทบาทของชนกลุ่มน้อยในการแยกตัวเป็นอิสระจากพม่าเริ่มลดน้อยลง ทั้งเนื่องจากการเจรจาสงบศึกระหว่างรัฐบาลพม่าและผู้นำชนกลุ่มน้อย ความสนับสนุนจากชาติมหาอำนาจตะวันตกที่มีต่อชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆในพม่า รวมทั้ง การปรับนโยบายของทางการไทยที่เป็นมิตรและเปิดกว้างต่อผู้นำพม่าทั้งในระดับบุคคลและระดับหน่วยงาน
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มธุรกิจหน้าใหม่จากส่วนกลางของไทยทั้งในนามบรรษัทข้ามชาติและในนามกลุ่มธุรกิจกิจระดับชาติจึงทยอยกันเข้าไปสู่พม่าในฐานะทั้งตลาดใหม่และแหล่งลงทุนใหม่ กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ กลุ่มธุรกิจก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ กลุ่มธุรกิจพืชไร่และอาหารสัตว์ ฯ จึงเข้าตลาดพม่ากันอย่างต่อเนื่องและคึกคัก
ในเวลาเดียวกัน พม่าก็ยังเป็นฐานความเชื่อทางจิตใจของผู้นำและชนชั้นนำไทยจำนวนไม่น้อย
ผู้ใหญ่ในแวดวงความมั่นคง นักการเมืองและนักธุรกิจเข้าไปทำบุญ สะเดาะห์เคราะห์และหาฤกษ์ยามในทางการเมืองและการค้าไม่น้อย การทำรัฐประหารครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ก็ถือฤกษ์ยามและพิธีจากพม่า ถึงแม้ว่า การรัฐประหารครั้งนั้นเกิดขึ้นจริง แต่ในปีพศ. 2535 ผู้นำไทยชุดนั้นก็ถูกกวาดจนเกือบจะหมดเกลี้ยง พร้อมด้วยความพ่ายแพ้อย่างราบคาบ
หนังสือพิมพ์อิรวดียังให้ข้อมูลด้วยว่า มีผู้นำไทยที่เข้าไปดูหมอดูพม่าก่อนการรัฐประหาร กันยายน 2549 แต่ท่านผู้นำไทยท่านนั้นก็ไปไม่รอด
ผลประโยชน์ใหม่กับความเชื่อเดิมๆ
ต้องยอมรับความจริงว่า ถึงแม้ความสัมพันธ์และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของผู้นำไทยในพม่าจะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและเงื่อนไขใหม่ๆ เช่น ผลประโยชน์จากการประสานเพื่อให้ได้มาซึ่งสัมปทานสำคัญๆจากรัฐบาลพม่า เช่นป่าไม้ เหมืองแร่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะยังคงมีอยู่ แต่เราควรยอมรับว่า ไม่มีครั้งไหนที่ผู้นำของไทยจะมีผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเท่ายุคนี้
-การได้เป็นเจ้าของที่ดินในเมืองสำคัญในพม่า นับเป็นเรื่องใหม่
-การได้สัมปทานการสำรวจแหล่งแร่ในเขตตะนาวศรีของพม่านับเป็นเรื่องใหม่
-การได้เข้าไปลงทุนในกิจการก่อสร้างขนาดใหญ่ของพม่านับเป็นเรื่องใหม่
เรื่องใหม่ที่ว่านี้มีความหมายหลายอย่างเช่น
เดิมธุรกิจที่คนไทยเคยทำคือ ธุรกิจนำเข้าส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าน้อย แต่มีต้นทุนสูง เปลี่ยนไปเป็นการลงทุนในกิจการระดับชาติหรือนานาชาติ อันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล
ผู้นำธุรกิจของไทยดังกล่าว มีความสามารถในการเปลี่ยนและสร้างความสัมพันธ์กับชนชั้นนำของพม่าหลายกลุ่มได้อย่างราบรื่น ดังนั้น จึงมีการเดินทางเข้าออกเพื่อติดต่อกับทางการพม่าได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด
ประเด็นก็คือว่า กลุ่มธุรกิจไทยเอาอะไรไปแลกเปลี่ยนกับผู้นำพม่า หากไม่ใช่ความเป็นตัวแทนของรัฐบาล แล้วพวกเขาเอาอะไรไปแลกให้กับทางการพม่า
อย่างไรก็ตาม ไม่รู้กี่ครั้งแล้วที่ผู้นำไทยต้องไปหาฤกษ์หาชัยจากฐานความเชื่อต่างๆในพม่า แต่สุดท้าย กลับมาพ่ายแพ้ทุกที
ลองดูคราวนี้ซิครับ
ปีที่ 34 ฉบับที่ 1749 [21-27 ก.พ. 2557]