


คณะนิติศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักพิมพ์ Bookscape จัดงานเสวนาทางวิชาการ ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ โดยมี ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้เขียนหนังสือ China ๕.๐ สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่และแผนการใหญ่ AI พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล คุณมาณพ เสงี่ยมบุตร และ คุณอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ เข้าร่วมการเสวนาที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการเปิดตัวหนังสือเล่มดังกล่าว เมื่อวันพุธที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๓๐ – ๑๔.๐๐น. ณ ห้องศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ชั้น ๕ อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาระสำคัญของการบรรยายสรุปได้ ดังนี้
การนำเสนอโดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
หนังสือ China ๕.๐ ฯ รวบรวมบทความเกี่ยวกับจีนในหลายมิติเชื่อมโยงกัน นำไปสู่ประเด็นในการเสวนาครั้งนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงหน้าตาของจีนยุคใหม่และผลกระทบต่อโลกและประเทศไทย โดยคำจำกัดความของ “China ๕.๐” คือ
การเมืองจีนที่อยู่ภายใต้ผู้นำรุ่นที่ ๕ ซึ่งก็คือสีจิ้นผิง : สีจิ้นผิงเลือกกลับไปสู่การรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจยุคใหม่
เศรษฐกิจจีนยุคใหม่ภายใต้ผู้นำรุ่นที่ ๕ : สีจิ้นผิงกล่าวว่า จีนกำลังเผชิญความขัดแย้งใหม่ คือ ประชาชนต้องการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ กับการพัฒนาที่ยังไม่สมดุลและยังไม่คงที่ ส่วนความขัดแย้งเดิมคือความต้องการบริโภคสินค้าของประชาชน กับกำลังการผลิตที่ด้อย จีนจึงหันมาเน้นการบริโภคในประเทศและนวัตกรรม
จีนกำลังก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี ๕.๐ คือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ตอบโจทย์ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ จะเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศจีนไปอย่างมาก
การแก้ไขรัฐธรรมนูญของสีจิ้นผิงในมิติกฎหมาย
สีจิ้นผิงให้ความสำคัญกับกฎหมายในฐานะเป็นกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่างๆ จะเห็นได้จากการใช้วลี “ปกครองโดยกฎหมาย” “ขับเคลื่อนด้วยกฎหมาย” หลายครั้ง เพียงแต่ “กฎหมาย” ดังกล่าวมีความหมายแตกต่างจาก “กฎหมาย” ในความเข้าใจของตะวันตก การปกครองโดยกฎหมายในแบบตะวันตกคือ “Rule of law” มีคำสำคัญคือ “of” หมายถึง “การปกครองที่ถูกจำกัดโดยกรอบของกฎหมาย” ส่วนในแบบจีนคือ “Rule by law” หมายถึง “การปกครองด้วยกลไกกฎหมาย” เมื่อรัฐบาลจีนประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจจึงเป็นที่จับตามองของผู้เชี่ยวชาญจากทุกวงการ เนื่องจากกฎหมายต่างๆที่ตามมาหลังจากนี้จะมาตอบสนองยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าสีจิ้นผิงให้ความสำคัญกับกฎหมายมาก จึงเลือกแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีนัยยะสำคัญแค่เพื่อให้สีจิ้นผิงเป็นผู้นำไปตลอด แต่ผู้นำต่อจากสีจิ้นผิงก็ใช้รัฐธรรมนูญนี้เช่นกัน
เนื่องจากสีจิ้นผิงต้องการความชัดเจน และให้กลไกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน(พคจ.)เป็นตัวเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ จึงให้พคจ.กลับมามีบทบาทนำอีกครั้งโดยเขียนไว้ในมาตราแรกของรัฐธรรมนูญว่า “ประเทศจีนนำโดยพคจ.” ซึ่งเมื่อก่อนเขียนไว้ในอารัมภบท ไม่ได้อยู่ในมาตราแบบทางการ
เมื่อ ๕ ปีก่อน การปราบปรามการทุจริตทำด้วยกลไกพรรค คือองค์การกำกับดูแลและตรวจสอบวินัยแห่งชาติจีน แต่ปัจจุบันมีความพยายามทำให้อยู่ในระบบทางการ คือให้องค์การกำกับดูแลและตรวจสอบวินัยแห่งชาติจีนเข้ามาเป็นอีกองค์กรหนึ่งในรัฐธรรมนูญ คือ องค์กรปราบปรามการทุจริต ให้มีฐานะเทียบเท่าคณะรัฐมนตรี ศาล อัยการ นอกจากนี้ จีนมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและศาลให้มีกระบวนการพิจารณาเร็วขึ้น พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีมาช่วย ทางหนึ่งเป็นการปิดกั้นเสรีภาพ แต่อีกทางหนึ่งก็ทำให้กระบวนการยุติธรรมและเรื่องที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจก้าวหน้า
การที่จีนเติบโตเร็วมีผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากพอสมควร จีนพยายามสร้างระเบียบโลกใหม่ขึ้น โดยการสร้างองค์กรต่างๆ เช่น ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (AIIB) และยังผลักดันให้สัญญาที่ทำกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road) ต่างๆขึ้นกับ “ศาลตามแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road court)”
การนำเสนอโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล
เหตุใดจีนจึงเลือกรวบอำนาจและแก้รัฐธรรมนูญให้ผู้นำครองอำนาจยาวนานได้โดยไม่จำกัดวาระ การรวบอำนาจของสีจิ้นผิงเปลี่ยนแปลงสมดุลการเมืองจีนอย่างไร?
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบลได้สันนิษฐานไว้ ๔ ข้อ ได้แก่ ๑) ขาดผู้นำทางการเมือง ๒) กิเลสทางการเมืองของสีจิ้นผิง ๓) เกิดความขัดแย้งทางการเมืองภายใน ๔) แรงเสียดทานทางการเมืองระหว่างพคจ.และกองทัพ โดยเฉพาะในช่วงการปกครองโดยหูจิ่นเทา ปี ๒๕๕๑ แต่ข้อที่ ๓ และ ๔ มีความเป็นไปได้มากกว่ามาก ทำให้สีจิ้นผิงต้องอยู่ในอำนาจต่อเพื่อสร้างสมดุลอำนาจระหว่างพคจ.และกองทัพ
แต่หากสีจิ้นผิงต้องการปฏิรูปกองทัพและดำรงตำแหน่งต่อด้วยเหตุผลอื่นนอกเหนือจากข้อ ๔) ความเป็นไปได้ก็คือ ทั้งพรรคและกองทัพเป็นเอกภาพเพื่อความเข้มแข็งและความต่อเนื่องในการจัดการปัญหาเรื่องการมีอำนาจอธิปไตยที่สมบูรณ์ เพื่อบรรลุ “ความฝันของจีน” และหากสีจิ้นผิงทำตามหลักการปกครองโดยกฎหมายจะทำให้การครองอำนาจโดยไม่จำกัดวาระนี้ไม่เกิดปัญหา “ผู้นำเป็นจักรพรรดิ” เช่นในยุคการครองอำนาจระยะยาวของเหมาเจ๋อตุงและเติ้งเสี่ยวผิง
นอกจากนี้หากรัฐบาลของสีจิ้นผิงสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้ก็จะไม่มีปัญหาการเรียกร้องประชาธิปไตยจากประชาชน
การนำเสนอโดย คุณมาณพ เสงี่ยมบุตร
จีนในมิติเศรษฐกิจ: ทุกวันนี้เศรษฐกิจจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มีอะไรที่สังคมไทยควรจับตามอง และจีนยุคใหม่แตกต่างจากจีนที่เคยรู้จักอย่างไร
คุณมาณพเริ่มต้นด้วยการย้ำว่าการเข้าใจจีนสำคัญต่อการทำธุรกิจกับจีนอย่างมาก เพราะปัจจุบันระบบเศรษฐกิจจีนแตกต่างจากในอดีตโดยสิ้นเชิง ถึงแม้การที่จีนมาทำธุรกิจที่ไทยสร้างทั้งโอกาสและความท้าทาย แต่หากจีนไม่มาทำธุรกิจที่ไทยจะน่าเป็นกังวลกว่ามาก
ก่อนที่สีจิ้นผิงจะขึ้นมาปกครองจีน จีนให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาก แต่ในปัจจุบันอัตราการเติบโตของการลงทุนด้านดังกล่าวน้อยกว่าสมัยก่อน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจึงเน้นด้านการบริโภคและการบริการมากกว่า สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศไทยมากขึ้น
ความสัมพันธ์ไทย – จีนในด้านการลงทุน ดูจาก Overseas Direct Investment (ODI) ปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐ สัดส่วนของการลงทุนของจีนในไทยน้อยกว่าด้านการค้ากว่าครึ่ง ดังนั้น ยังถือว่ามีช่องว่างในการพัฒนาด้านการลงทุนอีกมาก
ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา GDP ของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา จีนส่งออกเป็นส่วนใหญ่ แต่หลังจากนั้น GDP ของจีนตกลงค่อนข้างมาก จีนจึงได้ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สนับสนุนเงินลงทุนมากถึง ๔๐๐ ล้านหยวน ทำให้ GDP ยังคงอยู่ในระดับที่ดี ถึงแม้ตัวเลขการส่งออกจะติดลบ ตั้งแต่นั้นมาเศรษฐกิจจีนจึงขับเคลื่อนด้วยการลงทุน จนถึงช่วง ๒๕๕๕ – ๒๕๕๖ ก่อนสมัยสีจิ้นผิง แต่ในช่วง ๕ – ๗ ปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องการบริโภค จะเห็นได้ว่าประเทศจีนมีการปรับโครงสร้างที่ชัดเจนและประสบความสำเร็จ คุณมาณพมองว่า GDP ของจีนจะค่อยๆลดลงแต่ไม่ตกลงอย่างรุนแรง จึงไม่น่าเป็นห่วงเรื่องวิกฤตการเงินของจีน
จีนมีความต้องการพัฒนาและความมุ่งมั่นในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆสูง เน้นการพัฒนาด้วยตัวเองมากกว่าการนำเข้า และ การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีเอกภาพจากพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศจีนพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีล้ำหน้า แต่ยังคงมีปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วที่ยังต้องแก้ไข ได้แก่ ปัญหาด้านมลภาวะ การบริการและสาธารณสุขซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ ความปลอดภัยด้านอาหารและยา ซึ่งอาจเป็นโอกาสของธุรกิจด้านการบริโภคและบริการของไทยที่จะเข้าไปเจาะตลาดจีนเพื่อแก้ปัญหาต่างๆได้
เหตุผลที่จีนอยากมาลงทุนด้านธุรกิจที่ไทย
หลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปบางส่วน
เห็นศักยภาพของเศรษฐกิจไทยและอาเซียน โดยใช้ไทยเป็นฐานและเป็นจุดยุทธศาสตร์
มิตรภาพของคนไทย เป็นจุดตัดสินใจในการลงทุน กล่าวคือไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่กีดกันชนชาติจีน
ความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่น่าสนใจ
พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจ การมีปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศและการเปิดเสรีทางการศึกษาและความคิดมากขึ้น ทำให้ต้องการการอุปโภคบริโภคที่คุณภาพดีขึ้น
เมื่อก่อนการบริโภคกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกของจีน แต่ในปัจจุบันได้กระจายตัวไปทางภาคตะวันตก และจากเมืองใหญ่ไปเมืองเล็กมากขึ้น การพัฒนาสังคมเมืองจึงขยายตัวมากขึ้น เป็นการเสริมกำลังการบริโภคของจีน
ธุรกิจของคนไทยต้องมีกลยุทธ์ของประเทศจีน
ต้องชัดเจนว่าจะเจาะตลาดใดของจีน เพราะเมืองใหญ่ เมืองเล็กมีกลุ่มเป้าหมายและกำลังการบริโภคต่างกัน กลยุทธ์ที่ใช้จึงต่างกัน
ศึกษาประเภทสินค้าออนไลน์ที่จะไปลงทุนในตลาดจีน
การนำเสนอโดย คุณอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์
ผู้บริหารบริษัทประกันภัยผิงอัน กล่าวว่า ตลาดออนไลน์ในจีนเริ่มอิ่มตัวแล้ว ดังนั้นจีนต้องขยายไปต่างประเทศ และเห็นว่าแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมาะที่สุด ปัจจุบันช่องทาง E-commerce รายใหญ่ ได้แก่ Lazada Shopee และ JD ได้เข้ามาบุกตลาดไทยเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัท Alibaba Tencent และ JD ตามลำดับ
บริษัทเทคโนโลยีจีนพัฒนามาได้อย่างไร?
เนื่องจากภาคธุรกิจถูกควบคุมด้วยระบบการเมืองจีน โดยเฉพาะการเซนเซอร์ข้อมูล ทำให้บริษัทเทคโนโลยีของตะวันตกเติบโตในจีนไม่ได้ รวมทั้งตลาดขนาดใหญ่ในประเทศ จึงเปิดโอกาสให้บริษัทจีนเติบโต แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลจีนก็สามารถควบคุมประชาชนได้มากขึ้นโดยการเก็บข้อมูลและการคุมเข้ม (Surveillance) ผ่านเทคโนโลยี AI เช่นการเก็บข้อมูลด้วยลายนิ้วมือหรือกล้องต่างๆ
ทรัพย์สินทางปัญญา บริษัทจีนศึกษาการพัฒนาด้านเทคโนโลยีจากต่างชาติ
สภาวะ “Reverse brain drain” คนจีนในต่างประเทศกลับมาทำงานและพัฒนาประเทศจีน เนื่องจากตลาดออนไลน์จีนมีขนาดใหญ่กว่า เมื่อจีนมีความรู้จากฝั่งตะวันตกและตลาดมีลักษณะเฉพาะ จึงเกิดนวัตกรรม ทำให้พัฒนาได้ดีกว่า
ในหนังสือ “China 5.0” ดร.อาร์มได้พูดถึงพลังสามส่วนของ AI ได้แก่ พลังประมวลผลของคอมพิวเตอร์ (Computational Power) พลังข้อมูลมหาศาล (Big Data) และพลังการวิเคราะห์คำนวณ (Algorithm) คุณอิสริยะได้กล่าวเพิ่มเติมว่า AI จะทำงานได้ดีเมื่อมีข้อมูลจำนวนมาก และบริษัทรายใหญ่ที่มีข้อมูลจำนวนมาก ได้แก่ Baidu Alibaba Tencent ซึ่งครอบครองหรือถือหุ้นธุรกิจต่างๆมากมาย ทำให้เป็นการผูกขาดกลายๆ บริษัทอื่นๆไม่สามารถหลีกเลี่ยงอิทธิพลของทั้งสามบริษัทนี้ได้ และในหลายครั้งมี “สงครามตัวแทน” เกิดขึ้นจากการเลือกข้างสนับสนุนกันและแข่งกันของทั้งสามบริษัท
บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสามมีสายสัมพันธ์แนบแน่น และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลจีนดี แต่ก็เป็นไปได้ยากที่เทคโนโลยี “๕.๐” นี้จะเปลี่ยนแปลงการเมืองจีน เพราะรัฐบาลจะไม่ยอมให้เอกชนมีอำนาจเหนือตนเอง
เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของจีนมีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมผู้บริโภคในด้านต่างๆ เช่น ดนดังในโลกออนไลน์จีน ทำให้วัยรุ่นจีนออกมาท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้นและกรุ๊ปทัวร์จีนมีจำนวนลดลง