Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
Publications: Articles - Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University
ระบบพันธมิตรท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออก
ระบบพันธมิตรท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออก
โดย อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ระบบพันธมิตรท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออก

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

มีการเปลี่ยนแปลงมากมายในเอเชียตะวันออก (East Asia) ทั้งความมั่นคงทางทหาร ข้อพิพาททางประวัติศาสตร์อันนำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในภูมิภาค และแม้แต่ข้อโต้แย้งทางการเมืองทั้งในรัฐสภาและตามท้องถนน ข้อพิพาทในอธิปไตยและดินแดนอันเป็นผลพวงของอดีตอันเจ็บปวด แต่สิ่งนี้กลับเพิ่มความเสี่ยงทางการเมืองเมื่อทางการเกาหลีเหนือดุดันและท้าทายด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่จีนมีความเคลื่อนไหวอย่างสำคัญและกำลังให้ความสำคัญกับ มหาอำนาจทางทะเล หรือ Maritime power ทั้งในมหาสมุทรในเอเชียตะวันออก และทะเลจีนใต้

รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินการตลอดเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 อันเกี่ยวกับกองกำลังป้องกันตัวเอง เมื่อไม่นานมานี้เอง รัฐบาลญี่ปุ่นปัจจุบันเพิ่งอนุญาตให้มีการส่งออกอาวุธได้เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา บ้างก็ว่า นี่เป็นการผ่อนคลายมาตรการทางการทหารและความมั่นคงมากกว่าผลประโยชน์ทางด้านการค้า

ในเวลาเดียวกัน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภาวะผู้นำประธานาธิบดีหญิงคนแรก และเป็นลูกสาวของอดีตผู้นำเผด็จการเกาหลีใต้ เสียงวิจารณ์นี้มาจากทั้งนักสังเกตการณ์ทางการเมือง สื่อมวลชน และชาวบ้าน เพราะประมุขฝ่ายบริหารของเกาหลีใต้ได้แต่แสดงความจริงใจ สุภาพ แต่ไม่เคยทันเกมส์การเปิดเสรีทางการค้าหรือที่เรียกว่า Trans-Pacific Partnership-TPP ของสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่การรุกทางทหารของเกาหลีเหนือ

ท่ามกลางของเปลี่ยนแปลงอย่างมากและรวดเร็วในเอเชียตะวันออกนี้ สิ่งหนึ่งที่พูดกันมากด้วยความ ระบบพันธมิตร สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่กำลังถูกท้าทายโดยสภาวะการเปลี่ยนแปลง และบทบาททั้งทางการเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจจากจีน

สหรัฐและบททดสอบ

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ระบบพันธมิตรในเอเชียตะวันออกที่ออกแบบและเป็นผู้นำหลักโดยสหรัฐฯกำลังถูกทดสอบ ทั้งนี้เพราะดุลอำนาจของมหาอำนาจโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป การที่สหรัฐฯเข้าไปยุ่งเกี่ยวทั้งทางการเมืองและการทหารในอัฟกานิสถาน ในอิรัก และผลเสียหายที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้มองไปแล้ว มหาอำนาจทางทหารหนึ่งเดียวอย่างสหรัฐฯกำลังลดบทบาทลง แต่ก็ยังมีบางกลุ่มมองว่า บทบาทของสหรัฐฯในฐานะแกนนำของระบบพันธมิตรไม่ได้ลดลงไปแม้แต่น้อย พวกเขาตั้งข้อสังเกตจากการทำงานอย่างหนักของคณะทำงานด้านการต่างประเทศและการทูตของทั้งสหรัฐฯและญี่ปุ่นที่พยายามผลักดันให้ พันธมิตรสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวและใช้เพื่อสร้าง สมดุลในเอเชีย ต่อไป

มีข้อมูลเสริมว่า ความสัมพันธ์สหรัฐ-ญี่ปุ่นในประเด็นข้ามประเทศและข้ามประเด็นของทั้งสองฝ่ายมีแนวโน้มในทางบวก รวมถึง ความร่วมมือทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติการภัยพิบัติแผ่นดินไหว เช่น Operation Tomodachi หลังเหตุการณ์ภัยพิบัติ 3 ครั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นย่อมแสดงให้เห็นระบบพันธมิตรสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นยังคงเดินหน้าต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ท้าทายระบบพันธมิตรนี้อย่างมากและหลายด้านคือ จีน

เราจะเห็นได้ว่า ลำดับสำคัญของนโยบายต่างประเทศจีนคือ การสถาปนารูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจกับสหรัฐในเอเชียตะวันออก หากการดำเนินการเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง แบรนใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างชาติมหาอำนาจจะเป็นแบบวิน-วินทั้งคู่ สิ่งนี้เองช่วยสร้างเสถียรภาพและความรุ่งเรืองแก่ภูมิภาคได้ แต่ก็มีข้อสังเกตว่า จีนให้ความชื่นชอบแนวทางการทูตแบบที่ให้ทั้งสหรัฐฯและจีนเคารพต่อ ผลประโยชน์หลัก (core interest) ของแต่ละฝ่าย

ในประเด็นนี้เอง จากมุมมองของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นกังวลว่าสหรัฐฯร่วมมือดีเกินไปกับจีน โดยไม่นิยามให้ชัดเจนก่อนว่า การเคารพต่อ ผลประโยชน์หลัก ที่จะประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติเป็นอย่างไร นี่คือความเสี่ยงอย่างหนึ่งในมุมมองของญี่ปุ่นต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน

ในขณะที่ ผลประโยชน์หลัก ของจีนโดยพื้นฐานแล้วหมายถึง ไต้หวัน ธิเบต และซินเกียง ส่วนอาณาบริเวณอื่นๆ รวมถึงดินแดนต่างๆในทะเลจีนใต้และหมู่เกาะเซนกากุด้วย ดังนั้น จึงเป็นที่กังวลมากสำหรับญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้เอง การยืนยันอีกครั้งหนึ่งโดยสหรัฐฯ ในการยึดมั่นต่อความตกลงด้านความมั่นคง จะเป็นหนทางทำให้ญี่ปุ่นกลับมามั่นใจอีกครั้ง โดยเฉพาะการมี ‘แถลงการณ์’ ที่ชัดเจนเกี่ยวกับหมู่เกาะเซนกากุ

ในเวลาเดียวกัน แนวทางความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นที่มีต่อจีน อาจจะดูเผชิญหน้ามากเกินไป ทั้งประเด็นหมู่เกาะเซนกากุ ประเด็นประวัติศาสตร์และการเดินทางไปยังศาลเจ้ายุชูคูนิ กลายเป็นความตึงเครียดใหญ่ในความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีน และมีผลต่อสหรัฐฯด้วย

ล่าสุด แถลงการณ์ต่างๆของนายกรัฐมนตรีอาเบของญี่ปุ่นและรัฐบาลของเขาจะช่วยการเปิดรับต่อความร่วมมือต่างๆในอนาคต มองไปข้างหน้า การยืนยันอย่างหนักแน่นของพันธมิตรต้องดำเนินการร่วมกันอย่างเท่าเทียมกัน สหรัฐฯและญี่ปุ่นจะร่วมกันผลักดันวิถีทางการทูตอย่างจริงจังร่วมกัน

ในตอนท้ายมีพัฒนาการใหม่เกิดขึ้น สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและจีนตกลงก่อตั้งฟอรั่มเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อกัน สิ่งนี้เป็นการแหวกแนวด้วยการดึงจีนให้มาอยู่ในฐานะเป็นบวก คือ ดึงจีนให้มาเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่รับผิดชอบระดับภูมิภาคด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด และยังป้องกันการปรับเปลี่ยนฝ่ายเดียว

แนวโน้ม

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงการหยิบยกระบบพันธมิตรสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ทั้งในแง่การยืนยันจากสหรัฐฯและสิ่งท้าทายที่ก่อตัวขึ้นทั้งจากเรื่องของประวัติศาสตร์บาดแผลที่มักถูกหยิบยกมาใช้ในคราวที่ต้องการใช้เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองและการทูตของจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โดยขาดสหรัฐฯไม่ได้เลย

แต่เราควรดูแนวโน้มใหม่ๆโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางทหารและความมั่นคงทางทหาร จีนเองรัฐสภาได้ผ่านและเพิ่มงบประมาณทางทหารมากขึ้นทุกๆปี รัฐบาลชุดปัจจุบันของญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอาเบคือ รัฐบาลกำลังนำญี่ปุ่นเคลื่อนไปสู่ ‘การตีความใหม่’ มาตรา 9 ในรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น การใช้ collective self-defence สามารถทำได้ใน สถานการณ์เฉพาะ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯก็ให้การสนับสนุนอย่างเห็นได้ชัดด้วย

ยังไม่มีใครรู้ว่า ความตึงเครียดและการเปลี่ยนสถานะทางทหารและความมั่นคงของจีนและญี่ปุ่นจะไปจบลงที่ไหนกันแน่ แต่การเปลี่ยนสถานะทางทหารทั้งแนวความคิด หรือซอร์ฟแวร์ และกำลังอาวุธ หรือฮาร์ดแวร์ ย่อมทำให้เอเชียตะวันออกและโลกกำลังเปลี่ยนแปลงแน่นอน

ข้อมูลเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557
เนื้อหาบทความ