


เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2562 เวลา 13.00 - 15.00 น ณ ห้องประชุม 111 อ.มหาจุฬาลงกรณ์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน “โครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) อพท. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วม
ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของจุฬาฯ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพท้องถิ่นและชุมชน โดยใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก
นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในพิธีร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ว่า ความร่วมมือของจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มีความสอดคล้องกับแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ20ปี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยจำเป็นต้องมีนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้ได้กำหนดแนวทางหนึ่งในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ คือการพัฒนา การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายการกระจายรายได้สู่พื้นที่เมืองรอง โดยเฉพาะการส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน
ด้านนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวด้วยว่า หน่วยงานมีหน้าที่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน เพื่อเพิ่มรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น ภายใต้วิสัยทัศน์ เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุข พร้อมระบุว่า การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ อพท.ได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2554 โดยมุ่งเน้นการดำเนินการโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ และการนำความคิดสร้างสรรค์มาร่วมกับการท่องเที่ยว ยิ่งทำให้การดำเนินงานดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม สามารถลงมาสัมผัสกับชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และจะทำให้การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ต่อยอด และเรียนรู้ ดังนั้นการท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน