


การประชุมคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานประมงทะเลที่สหกรณ์ประมงแม่กลอง
มีการให้ข่าวต่อสื่อเกี่ยวกับเรื่องการคุ้มครองแรงงานต่างชาติในกิจการประมงทะเลที่ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชียสถาบันเอเชียศึกษา
เลือกชาวประมงสมุทรสงคราม โมเดลนำร่อง การจัดตั้ง “คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานประมงทะเล สมุทรสงคราม”
ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ มาตรา96 นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และในฐานะ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานประมงทะเล สมุทรสงคราม
เปิดเผยกรณีที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานประมงทะเล สมุทรสงคราม ว่า
เนื่องจากศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเซียสถาบันเอเซียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้หารือเพื่อให้มีการร่วมมือกับองค์กรภาคประมง โดยเฉพาะสมาคมประมงสมุทรสงคราม สมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม สหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด เพื่อให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานประมงทะเลสมุทรสงคราม นำร่องในพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน โดยเชิญนายจ้างสถานประกอบการประมง ลูกจ้างแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าว ร่วมกับองค์กรภาคประมงในจังหวัดสมุทรสงครามในการดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการคุ้มครองแรงงาน ตามกฎหมายทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าว เช่น หากกรณีลูกเรือประมงสูญหาย ขณะออกทำการประมงและได้แจ้งการสูญหายต่อทางการ เพื่อให้ครอบครัวของแรงงานได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดที่พึงได้รับตามกฎหมาย รวมทั้งเรื่องภาวะสุขภาพ สุขอนามัยบนเรือประมงรวมทั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยในขณะอยู่บนเรือประมง เช่นเสื้อชูชีพ อาหาร นำ้ดื่ม ยารักษาโรคเบื้องต้นและการปลอดยาเสพติดบนเรือประมง และเป็นการรับฟังเสียงของลูกเรือประมงโดยตรง เพื่อช่วยกันพิจารณาปัญหาต่างๆ ต่อไป โดยนายจ้างได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในเรื่องการทำประกันเงินกองทุนทดแทนหากเวลามีปัญหาลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าวจะได้ใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆจากเงินกองทุนทดแทน ในการชดเชย ร่วมทั้งในอนาคตตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ.2562 ที่ออกมาบังคับใช้ตามหลัก อนุสัญญาC188 ที่กำหนดไว้ในมาตรา 12 ที่มีการกำหนด ให้เจ้าของเรือต้องจัดให้แรงงานประมงได้รับสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการในด้านต่างๆตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานประกาศกำหนด โดยจะจัดให้มีประกันที่คุ้มครองด้านสุขภาพและสวัสดิการต่างๆ ซึ่งจะมีการกำหนดให้มีการทำประกันอุบัติเหตุไม่เนื่องจากการทำงานอีกด้วย
นายมงคล กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้ประชุมชี้แจงกับนายจ้างและลูกเรือประมงต่างด้าว กรณีจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการแรงานประมงทะเล โดยได้พูดคุยทั้งไต๋เรือและลูกเรือประมงแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้พี่น้องแรงงานได้รับสิทธิมากขึ้น เช่น การประกันอุบัติเหตุนอกการทำงานและประกันสุขภาพให้แก่แรงงานประมงทะเลเป็นต้น
ส่วนในประเด็นที่ประเทศสหรัฐฯได้ตัดสิทธิGSP ประเทศไทย
โดยได้มีการอ้างเหตุผลในเรื่องที่ประเทศไทยไม่ดำเนินการในเรื่องมาตราฐานด้านแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลนั้น โดยเฉพาะประเด็นอนุสัญญาC.87ว่าด้วยการรวมตัวและC.98ว่าด้วยการเจรจาต่อรอง นาย มงคล กล่าวว่าจากข้อมูลที่ทางสหรัฐได้รับอาจจะยังไม่ครบถ้วนเพียงพอ ถ้าพูดถึงประเด็นดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจากการที่สมาคมประมงได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการประมง ลูกจ้างแรงงานไทย แรงงานต่างด้าวและศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นฐานแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดตั้ง”คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานประมงทะเล “ขึ้นที่จังหวัดสมุทรสงครามอย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่4มิ.ย.2562 ที่ผ่านมา เป็นจังหวัดนำร่อง เพื่อที่จะมีการขับเคลื่อนใน 22จังหวัดชายทะเลในอนาคต จึงเป็นข้อมูลที่สามารถชี้แจงให้กับทางสหรัฐ ได้รับทราบถึงความคืบหน้าถึงการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาC87 และC.98 ตามที่สหรัฐต้องการอยู่แล้วครับ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุภางค์ จันทวานิช ที่ปรึกษาศูนย์ย้ายถิ่นแห่งเอเซีย สถาบันเอเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า การจัดให้มี”คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานประมงทะเล” และรับฟังข้อเรียกร้องและความต้องการของแรงงานถือเป็นก้าวสำคัญของการดำเนินการตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์และการคุ้มครองแรงงานประมงทะเลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ.2562 ซึ่งจะทำให้การคุ้มครองแรงงานประมงทะเลของประเทศไทยอยู่ในมาตราฐานทั้งระดับประเทศและระดับมาตรฐานสากลได้ ส่วนกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศตัดสิทธิ์ GSP ประเทศไทยซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด ตนมองว่าหากเป็นเรื่องแรงงาน ชาวประมงไทยก็จะตกเป็นเป้าหมาย อยู่แล้ว ที่จะถูกใช้เป็นเหตุผลในการ กล่าวหาซึ่งเราก็สามารถชี้แจง ได้อยู่แล้วถึงความก้าวหน้า ในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานประมงรวมทั้ง อียูประกาศยกเลิกใบเหลืองประเทศไทย ได้ผ่านไปแล้ว ทำให้เรา สามารถที่จะชี้แจงกับทางสหรัฐฯ ได้ โดยที่ผ่านมาในอดีตประเทศไทยถูกมองว่าไม่เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าว ได้แสดงความคิดเห็น แต่ปัจจุบัน ตนมองว่าประเทศไทยได้ทำอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลอะไร เราชี้แจงได้อยู่แล้ว
29 ต.ค.2562