


การสัมมนาทางวิชาการ
เรื่อง สยาม-ปาตานี : มิติใหม่ ข้อมูลใหม่ และการจัดระบบความเข้าใจ
ภายใต้ชุดโครงการความรู้ เรื่อง การประกอบสร้างประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน (ปีที่ 3)
วันจันทร์ที่ 15 ถึงอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 09.00 – 16.00 น.
ณ ห้องแกรนด์ บอลล์รูม บี ชั้น 8 โรงแรมลีการ์เด้นท์ พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
“สยาม-ปาตานี :มิติใหม่ ข้อมูลใหม่ และการจัดระบบความเข้าใจใหม่” รู้และรื้อประวัติศาสตร์เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
ม.อ. จับมือจุฬาฯ และ มวล. จัดสัมมนาวิชาการ “สยาม-ปาตานี :มิติใหม่ ข้อมูลใหม่ และการจัดระบบความเข้าใจใหม่” เปิดวงร่วมถกประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้ต้องเปิดพื้นที่ให้พูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์อย่างเปิดเผยเพื่อเรียนรู้และหาคำตอบร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “สยาม-ปาตานี :มิติใหม่ ข้อมูลใหม่ และการจัดระบบความเข้าใจใหม่” ภายใต้ชุดโครงการความรู้เรื่องการประกอบสร้างประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน (ปีที่ 3) เพื่อนำเสนองานวิจัย ผลงานทางวิชาการ และเปิดเวทีเสวนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ระหว่างสยามและดินแดนปาตานีในอดีต รวมทั้งพลวัตรความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 กันยายน 2557 ที่โรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก ทั้งจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่อื่นๆ
พร้อมกันนี้ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ร่วมเป็นองค์ปาฐก กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สยาม-ปาตานี :มิติใหม่ ข้อมูลใหม่ และการจัดระบบความเข้าใจใหม่” ในวันที่ 15 ก.ย. 2557
สรุปสาระสำคัญความว่า “ถ้าเรายอมรับว่าประวัติศาสตร์มีความหลากหลายก็จะทำให้เจ้าของประวัติศาสตร์พร้อมที่จะรับฟังอีกฝ่าย พร้อมที่จะเข้าใจการตีความประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนของตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายต่างๆ ที่เข้ากับบริบทของพื้นที่
นอกจากนี้ การทำความเข้าใจปัญหาควรเริ่มจากการฟังทุกภาคส่วน และไม่ปล่อยให้ความคิดที่แตกต่างหลากหลายหลุดออกไปจากประเด็นที่กำลังพยายามทำความเข้าใจด้วย เช่นนี้จึงจะเกิดพื้นที่ใหม่ที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับว่าไม่มีใครรู้อะไร 100% เหมือนคำกล่าวที่ว่า ‘I know that I know nothing’
ต้องตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์เพื่อที่จะหาคำตอบให้ประวัติศาสตร์ และเปิดโอกาสให้คนในอนาคตตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์เพื่อให้เข้าใจประวัติศาสตร์มากขึ้น ถ่อมตนมากขึ้น เข้าใจพลวัตรความเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ร่วมกัน”
และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน มีประเด็นเสวนาเรื่อง “วิพากษ์เอกสาร เมื่อ ‘ประวัติศาสตร์’ เป็น ‘อันตราย’ : ปัญหาปาตานีกับรัฐไทยในยุคหลังสมัยใหม่” ของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ร่วมวิพากษ์โดย พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม นักประวัติศาสตร์ปาตานีอาวุโส และนายฮาซัน ยาดีมามุ นักประวัติศาสตร์ปาตานีรุ่นใหม่ ดำเนินรายการโดย อ.โชคชัย วงศ์ตานี
สรุปความได้ว่า “ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ ผู้เขียน ผู้บอกเล่า มีส่วนสำคัญในการสร้างความแตกแยกทางประวัติศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ชนะก็จะเขียนประวัติศาสตร์ด้วยความภาคภูมิใจ และกระตุ้นให้เกิดกระแสการสร้างชาตินิยม ในขณะเดียวกันผู้แพ้ก็จะบอกเล่าประวัติศาสตร์แห่งความขมขื่น เคียดแค้น ชิงชัง เพื่อให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมเช่นเดียวกัน การนำประวัติศาสตร์มาเล่าต่อจึงเป็นการผลิตซ้ำที่มีส่วนทำให้เกิดความเกลียดชัง และกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นอันตรายได้
การห้ามไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งพูดถึงประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ก็เป็นการจงใจกดทับและบ่มเพาะให้เกิดแรงต้านทางประวัติศาสตร์มากขึ้นอีก ซึ่งไม่ใช่แค่ในดินแดนปาตานี แต่หมายรวมถึงพื้นที่ในภาคอื่นๆ ด้วย วิธีการแก้ไขจึงควรเริ่มจากการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้สามารถพูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์ได้อย่างเปิดเผยเพื่อที่จะหาตำตอบและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ไมทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องต้องห้าม ควรเปิดใจรับฟัง และฟังอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อที่จะลบภาพอคติบางอย่างออกไป และทำความเข้าใจแต่ละท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น”
นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังมีการนำเสนองานวิจัย และผลงานวิชาการที่น่าสนใจอีกหลายหัวข้อ ทั้งจาก รศ.ดร.ชุลีพร วิรุณหะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, Prof. Dr.Sohaimmi Andul Aziz จาก School of Humanities, Universiti Sains Malaysia และอาจารย์จากสำนักศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รวมทั้งยังมีการลงนามความมือทางวิชาการระหว่างสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ด้วย
ก่อนปิดงาน รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้อำนวยการชุดโครงการความรู้เรื่องการประกอบสร้างประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน (ปีที่ 3) กล่าวสรุปงาน ซึ่งสรุปความตอนหนึ่งว่า “ประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายถูกและผิด ไม่มีประวัติศาสตร์ใดถูกต้องสมบูรณ์และแก้ไขไม่ได้ การเรียนประวัติศาสตร์จะต้องเปิดทางให้ผู้อ่าน หรือผู้เรียน มีทางเลือกที่จะเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเลือกจะไม่เชื่อก็ได้”