Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
Seminar, Conference, Training - Institute of Asian Studies Chulalongkorn University
เสวนาและแถลงการณ์ การช่วยเหลือลูกเรือไทยและข้ามชาติ “ตกเรือ”  ณ  เกาะอัมบน  ประเทศอินโดนีเซีย: คนตกเรือ ค้าแรงงาน ค้ามนุษย์ลูกเรือประมงหรือไม่
เสวนาและแถลงการณ์ การช่วยเหลือลูกเรือไทยและข้ามชาติ “ตกเรือ” ณ เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย: คนตกเรือ ค้าแรงงาน ค้ามนุษย์ลูกเรือประมงหรือไม่

เสวนาและแถลงการณ์

การช่วยเหลือลูกเรือไทยและข้ามชาติ “ตกเรือ”  ณ  เกาะอัมบน  ประเทศอินโดนีเซีย:คนตกเรือ ค้าแรงงาน ค้ามนุษย์ลูกเรือประมงหรือไม่

วันอังคารที่ 30  กันยายน  2557    เวลา 08.30-13.00 น.

ณ ห้อง601 อาคารมหิตลาธิเบศร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง (The Rotary Peace Center)

ศูนย์ให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมง  หรือ Seafarers Action Center (SAC) 

 มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN), เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านค้ามนุษย์ (ATN)

ร่วมกับ ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา

 ชมรมนักข่าวอาเซียน และ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

แถลงการณ์

สภาวะการค้าแรงงานในอุตสาหกรรมประมงทะเลในภูมิภาคอาเซียนได้ปรากฏชัดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา  ในเดือนกันยายน 2557 นี้มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)  ได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากลูกเรือประมงชาวไทยที่ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือบนเกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซียทีมงานของมูลนิธิฯได้ออกเดินทางไปอัมบนเพื่อหาข้อเท็จจริง ได้พบลูกเรือชาวไทย 6 คนซึ่งตกค้างอยู่บนเกาะเพราะตัดสินใจทิ้งเรือที่นำลูกเรือมาจับปลาในน่านน้ำอินโดนีเซียเนื่องจากบางคนถูกนายหน้าขายลงเรือประมง นายหน้ารับค่าหัวรายละ 25,000 บาท ลูกเรือบางคนถูกบังคับให้เซ็นสัญญากู้เงินจากนายจ้าง  และบางส่วนทนสภาพการทำงานในเรือไม่ไหวและไม่ได้รับค่าจ้าง  ถูกบังคับให้ทำงานนานกว่าที่กำหนด 2-3 ปี ไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ เอกสารสำคัญประจำตัวต่างๆถูกยึดและถูกปลอมแปลง (หนังสือประจำคนเรือ Seaman Book) ทำให้ไม่สามารถแสดงตัวเพื่อความช่วยเหลือได้ หลังจากการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเบื้องต้นแก่ลูกเรือแล้ว ทางมูลนิธิฯได้กลับมาประเทศไทยแล้วดำเนินการแจ้งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและติดต่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กรมการกงสุล กรมสืบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง (The Rotary Peace Center), องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ILO UN-ACT (United Nations Action for Cooperation against Trafficking in Persons), International Organization for Migration (IOM) และผู้แทนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือร่วมกัน

                หลังจากนั้นมีการประสานงานกับสถานทูตไทยที่กรุงจาการ์ต้าและหน่วยงานพัฒนาในอัมบนเพื่อการช่วยเหลืออย่างเป็นทางการต่อไป ทางมูลนิธิฯได้พบว่ามีลูกเรือประมงชาวพม่าและกัมพูชาที่ต้องการความช่วยเหลือตกค้างอยู่ที่เกาะอัมบนและเกาะอื่นๆ ด้วยจำนวนหนึ่งและยังไม่สามารถเข้าถึงได้

ข้อมูลนี้ถูกยืนยันด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกันยายนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการใช้แรงงานบังคับและเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวไทย กัมพูชาและพม่าในเรือประมงทะเลไทยบางลำ ข่าวเกี่ยวกับแรงงานไทย/พม่า โดดหนีจากเรือประมงและได้รับความช่วยเหลือจากเรือลำอื่นพามาขึ้นฝั่งที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ข่าวเรื่องผู้ต้องสงสัยว่าค้ามนุษย์ซึ่งเป็นนายหน้าชาวพม่า3คนถูกตำรวจจับกุมที่สมุทรสาคร เพราะได้ลักลอบกักขังแรงงานพม่า5คนไว้เพื่อนำไปขายให้เรือประมงไทยที่จะไปจับปลาที่อินโดนีเซีย ตลอดจนข่าวเกี่ยวกับการเดินทางกลับมาของลูกเรือไทย 6 คนที่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพัฒนามนุษย์และสังคม และตัวแทนนายจ้างร่วมกันเดินทางไปรับจากอัมบนที่จะถึงประเทศไทยในวันที่1ตุลาคมนี้ ล้วนยืนยันว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีกรณีการค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเล

                ในปี 2556  องค์กรแรงงานระหว่างประเทศได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชียจุฬาฯ ทำวิจัยเรื่องสภาพการจ้างงานและสภาพการทำงานในกิจการประมงทะเล ได้พบว่ามีแรงงานประมงร้อยละ 17 ของกลุ่มตัวอย่างแรงงาน 596 คนที่อยู่ในสภาพเป็น"แรงงานบังคับ"ทั้งในประมงชายฝั่งและประมงนอกน่านน้ำ แรงงานเหล่านี้อยู่ในสภาพถูกหลอกและถูกบังคับให้ทำงานบนเรือ การถูกบังคับเกิดจากการถูกลงโทษทางการเงินได้แก่การบังคับหักเงินค่าจ้างและการไม่จ่ายค่าจ้างขณะทำงานบนเรือ ทำให้ลูกเรือต้องจำใจทำงานเพื่อรอให้ได้รับค่าจ้าง ไม่สามารถเลือกไปทำงานอื่นได้ การถูกข่มขู่ด้วยการใช้ความรุนแรงทางร่างกายหรือการทำร้ายร่างกาย การขู่ว่าจะนำตัวแรงงานผิดกฎหมายส่งให้ตำรวจจับ ตลอดจนการยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานไว้ ลูกเรือประมงน้ำลึกส่วนหนึ่งถูกหลอกมาลงเรือเพราะปกติแรงงานไม่อยากลงเรือไปนานหลายเดือนหรือนานเป็นปี. แรงงานที่ถูกบังคับนี้มีทั้งคนไทยและต่างชาติ

                อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยยังพบว่ามีแรงงานประมงอีกถึงร้อยละ83 ที่ไม่ใช่แรงงานบังคับ ฉะนั้นเราจึงต้องไม่สรุปว่าแรงงานในกิจการประมงทะเลของไทยโดยรวมเป็นแรงงานบังคับหรือเหยื่อค้ามนุษย์ มีเพียงไม่เกินร้อยละ 17 ที่เข้าข่าย

                ข้อมูลเชิงประจักษ์และหลักฐานที่ปรากฏทำให้เรายอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเลบางส่วน  เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อปัญหานี้ การนำเสนอข้อมูลของมูลนิธิฯในวันนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการช่วยเหลือและการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากลูกเรือที่เกาะอัมบน ตลอดจนการประสานงานกับฝ่ายต่างๆ  หลังจากการนำเสนอ จะเป็นการอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นจากฝ่ายต่างๆได้แก่ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ  องค์กรด้านสิทธิ สื่อ และตัวแทนนายจ้าง เพื่อให้เห็นแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ประเด็นสำคัญสองประการที่จะต้องอภิปรายได้แก่บทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายต่างๆในการเข้าแทรกแซงเพื่อลดการเกิดแรงงานบังคับและเหยื่อค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเล ทั้งที่เป็นแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ  การหารือถึงความเป็นไปได้ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงาน มาตรการที่นายจ้างจะทำได้เพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างงานและการทำงานให้แรงงานสนใจทำงานประมงมากขึ้น การคุ้มครองแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์โดยเฉพาะการสอบสวนและการดำเนินคดีเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย  ประเด็นที่สองคือการยกระดับให้ทุกฝ่ายเห็นความเชื่อมโยงของการจับปลาโดยผิดกฎหมาย,ละเมิดการควบคุมและไม่รายงาน( IUU fishing)ที่มีอยู่ในน่านน้ำในภูมิภาคอาเซียนกับการใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเล เพื่อให้การแก้ปัญหาเรื่องIUU fishing ผนวกเรื่องความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการค้ามนุษย์ในเรือประมงเข้าไว้ด้วย การแก้ปัญหาทั้งสองเรื่องจึงต้องกระทำพร้อมๆกันและกระทำทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคอาเซียน ความร่วมมืออย่างเข้มข้นในภูมิภาคผ่านนโยบายที่มีอยู่เช่น นโยบายการรักษาความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคอาเซียน อนุสัญญาว่าด้วยการปราบปรามการค้ามนุษย์ของอาเซียนที่อยู่ระหว่างการยกร่าง และนโยบายขจัดการค้ามนุษย์โดยเฉพาะในกิจการประมงทะเลของรัฐบาลไทย นโยบายเหล่านี้ควรนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ

 

 

ข่าวประชาสัมพันธ์  Download

กำหนดการ  Download