


กล่าวได้ว่า “อินเดีย” เป็นต้นสายธารทางวัฒนธรรมของชาติตะวันออกหลายชาติ และเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญอันเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก วัฒนธรรมอินเดียจากภูมิภาคต่าง ๆ ได้แพร่กระจายไปตามเส้นทางการค้าตั้งแต่ยุคโบราณและผสมผสานเข้ากับสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตของผู้คนในภูมิภาคต่างๆ ที่วัฒนธรรมอินเดียเดินทางไปถึง
ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย-อินเดีย เริ่มปรากฏหลักฐานในช่วงต้นสมัยประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันในนามสมัยทวารวดีและศรีวิชัย และสืบเนื่องมายังสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งในแต่ละยุคสมัยศาสนาและวัฒนธรรมทั้งฮินดู-พุทธ และอิสลามได้แพร่ขยายเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยด้วย โดยผ่านกลุ่มพ่อค้าและนักเดินทางชาวอินเดีย มุสลิมอินเดีย และอินโด-เปอร์เซีย ที่เข้ามาค้าขายและเผยแผ่ศาสนาและวัฒนธรรม ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินชีวิตตามแบบราชสำนักอิสลามส่งผ่านมายังราชสำนักสยามโดยการค้าและการทูต ดังจะเห็นได้จากงานผ้าและงานหัตถศิลป์อันประณีตที่ใช้กันในราชสำนักเปอร์เซียและอินเดียที่เป็นเครื่องบรรณาการได้กลายเป็นสินค้านำเข้าสำคัญ อาจกล่าวโดยรวมได้ว่า สายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างไทย-อินเดีย ได้ส่งอิทธิพลต่อภาษา วรรณคดี กฎหมาย ประเพณีและพิธีกรรม ให้แก่คนในดินแดนสยามประเทศในอดีต โดยผสมผสานเข้ากับวิถีของท้องถิ่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัฒนธรรมไทยในปัจจุบันที่ยังมีต้นเค้าจากวัฒนธรรมอินเดียปรากฏอยู่มาก
ปัจจุบัน นอกจากความร่วมมือทางการค้าและวัฒนธรรมระหว่างไทยกับอินเดียจะดำเนินไปในลักษณะรัฐต่อรัฐในโลกร่วมสมัยแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในระดับภูมิภาคก็กำลังทวีความสำคัญและมีหลากหลายมิติมากขึ้น เช่น การร่วมมือทางการค้า ทางวิชาการ การท่องเที่ยวระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น การเยือนในระดับราชวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐอินเดียหลายครั้งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แสดงพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพด้านภาษาบาลี-สันสกฤตและภารตศึกษาอย่างลึกซึ้ง ในฐานะที่พระองค์ได้รับการยกย่องเป็น “ทูตสันถวไมตรีทางวัฒนธรรม” จึงส่งผลให้สายสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐอินเดียแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ฉะนั้น ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมทุกด้านบนฐานของการแลกเปลี่ยนทางอารยธรรมและการปะทะสังสรรค์ทางสังคมและวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงมิได้ เพื่อก้าวทันกระแสธารแห่งปฏิสัมพันธ์ในยุคโลกาภิวัตน์ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะสร้างพื้นที่เรียนรู้ทำความเข้าใจสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมไทย-อินเดียทั้งในอดีตและปัจจุบัน
เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ และในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปี แห่งการจัดตั้งสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ สถาบันเอเชียศึกษา ศูนย์อินเดียศึกษา และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาวิชาการนี้ขึ้น
ขอปิดการลงทะเบียนทางเว็บไซต์ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป เนื่องจากฝ่ายลงทะเบียนต้องรวบรวมและจัดทำรายชื่อ แต่ยังสามารถลงทะเบียนทางหน้างานได้ จึงขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
กำหนดการสัมมนา Download
ใบตอบรับ Download