


สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จัดสัมมนาวิชาการ
เรื่อง ‘ตุรกี-อุยกูร์-จีน’ กับปัญหาผู้อพยพข้ามชาติและทางออกของไทย
ในวันอังคารที่ 25 สิงหาคม 2558 เวลา 8.30 - 16.30 น.
ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดปัญหาการอพยพย้ายถิ่น
ข้ามชาติของ กลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ พร้อมทั้งร่วมกันวิเคราะห์ และเสนอแนะทางออกที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา
1. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ปัญหาผู้อพยพข้ามชาติในศตวรรษที่ 21” โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. สุภางค์ จันทวานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ
การแก้ปัญหาผู้อพยพข้ามชาติไม่สามารถที่จะทำได้ตามลำพัง เพราะต้องเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ ทั้งประเทศต้นทาง ประเทศกลางทาง และประเทศปลายทาง ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงประชาคมโลกที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยของการเคลื่อนย้าย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) ได้ทำการสำรวจและพบว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมา โลกเรามีการเคลื่อนย้ายหลายล้านคน ลักษณะการเคลื่อนย้าย คือ ย้ายจากโลกซีกใต้ (South Country) ไปยังโลกซีกเหนือ (North Country) หรือประเทศโลกที่ 3 ไปยังประเทศโลกที่ 1 ซึ่งได้แก่ อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย ยุโรป และพื้นที่ส่วนหนึ่งบริเวณคาบสมุทรอาหรับ จากประเทศที่ระดับการพัฒนาน้อยกว่าไปสู่ประเทศที่มีการพัฒนาสูงกว่า ขณะเดียวกัน ก็จะมีการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในโลกซีกใต้ โดย IOM ได้ให้ข้อมูลว่า มีจำนวนถึง 74 – 86 ล้านคนที่มีการเคลื่อนย้ายหรืออพยพ และมีจำนวนประชากรที่เคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยกัน เช่น ลาว มาเลเซีย ไทย ถึง 73 – 87 ล้านคน จึงมีการแบ่งกลุ่มการเคลื่อนย้ายออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 คือ ผู้ลี้ภัย (Refugee) มีการเรียกคนกลุ่มนี้อยู่สองอย่างคือ ผู้ลี้ภัย (Refugee) และผู้แสวงหาแหล่งพักพิง (Asylum seeker) สาเหตุของการลี้ภัยในกลุ่มแรกคือ ปัญหาความรุนแรงภายในประเทศ มีการสู้รบภายในประเทศ หรือระหว่างประเทศใกล้เคียง และปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ จึงทำให้มีคลื่นของคนเคลื่อนย้ายออกมาก ประเทศที่มีลักษณะการอพยพมาก เช่น พม่า
กลุ่มที่ 2 คือ แรงงานข้ามชาติ (Migrant worker) มีจำนวนมากกว่ากลุ่มแรก เพราะต้องการไปอยู่ในประเทศที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจดีกว่า มีงานที่ดีกว่า มีค่าแรงที่สูงกว่า โดยทั้งสองกลุ่มนี้ ไทยได้เจอแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 – 21 เป็นต้นมา เริ่มตั้งแต่ ปี 1980 กลุ่มผู้อพยพจากอินโดจีน จากนั้น มีการเจรจากันในปี 1990 มีการรับคนจำนวนหนึ่งไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ 3 ออสเตรเลีย อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และอีกส่วนหนึ่งได้ตกลงกันมีสหประชาชาติเป็นคนกลาง ขอให้เดินทางกลับถิ่นฐานโดยสมัครใจ ต่อมาในปี 1988 พม่าซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์จนเกิดการลุกฮือของกลุ่มนักศึกษา พระ เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร มีการปราบปรามที่รุนแรง กลุ่มคนจำนวนหนึ่งซึ่งมีทั้งทหาร และชนกลุ่มน้อยได้เคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนเข้ามาในไทยทางบริเวณชายแดนซึ่งไทยตั้งศูนย์ต่างๆ ช่วยเหลือคนที่ข้ามมายังฝั่งไทยโดยได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ ไทยเรียกคนเหล่านี้ว่า “ผู้แสวงหาแหล่งพักพิง” เนื่องจากมีภาวะการลี้ภัยอย่างยืดเยื้อ
กลุ่มที่ 3 คือ Mobile People มีหลายลักษณะเช่น นักท่องเที่ยว นักศึกษาที่ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ โดยในปัจจุบันทำได้ง่ายมากขึ้น มีการลดภาษีการทำวีซ่าหรือมีทุนการศึกษา กลุ่มที่มีความต้องการการบริการทางการแพทย์ที่ดีกว่า เช่น ในประเทศกลุ่มอาหรับ และกลุ่มสุดท้ายคือ เหยื่อการค้ามนุษย์ (Human Trafficking) เป็นกลุ่มที่มีการเคลื่อนย้ายไปยังประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ หรือถูกบังคับให้ทำงานที่ไม่ชอบ เช่น ค้าบริการทางเพศ ขอทาน ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พื้นที่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ออสเตรเลีย เพราะใกล้ที่สุดโดยเคลื่อนย้ายจากคนในโลกซีกใต้ (South Country) ไม่ว่าจะเป็นไทย เอเชียใต้ กลุ่มประเทศอาหรับ โดยเคลื่อนย้ายจากโซมาเลียไปเยเมน จากนั้น ไปมาเลเซีย หรือออสเตรเลีย ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายในกลุ่มโลกมุสลิม หรือแม้แต่ประเทศในอ่าว เช่น อัฟกานิสถาน อิหร่าน อิรัก จอร์แดน เคลื่อนย้ายไปมาเลเซียก่อนแล้วไปสู่ออสเตรเลีย
อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจมากเรียกว่า ผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เช่น เหตุการณ์ในเกาหลีเหนือ ปี 2010 เราเรียกว่าผู้ลี้ภัยซึ่งดิ้นรนจากเกาหลีเหนือไปสู่เกาหลีใต้ แต่ไม่สามารถออกได้โดยตรงเพราะถูกคุมเข้มทางชายแดน จึงต้องอ้อมไปทางประเทศจีนลงไปยูนนาน เรียกขบวนการนี้ว่า ขบวนการลักลอบขนคนเข้าเมือง (Human smuggling) โดยผ่านจุดชายแดนไทยตรงเชียงแสน เชียงของ มาทางเรือผ่านการตรวจคนเข้าเมืองซึ่งก็จะถูกจับข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทางประเทศเกาหลีใต้จะประสานรับคนจากตรงนี้ส่งต่อไป
อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ม้งลาว ตั้งแต่สมัยอพยพอินโดจีนมีบางกลุ่มถูกส่งกลับไป แต่จะมีกลุ่มม้งที่ไม่อยากกลับ ส่วนใหญ่ คือ ม้งกลุ่มต่อต้านรัฐบาลลาว กับม้งอีกกลุ่มที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา
กลุ่มต่อไป ในช่วงปี 2010 - 2015 คือ กลุ่มโรฮิงญา เป็นกลุ่มคนเชื้อชาติมุสลิมที่เคลื่อนย้ายเข้ามาโดยผ่านทางไทยและยังคงเหลือค้างอยู่ในไทย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ส่วนน้อยคือ ผู้หนีภัยประหัตประหารทางสงครามจากพม่าและจากบังคลาเทศ และอีกส่วนหนึ่งเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพราะมีขบวนการนำพากลุ่มเหล่านี้เข้ามา และ
กลุ่มล่าสุด ในช่วง ปี 2014 - 2015 คือ กลุ่มอุยกูร์ แต่ความจริงอาจจะมีการเข้ามาก่อนหน้านั้น โดยลักษณะการเข้ามาจะคล้ายกับเกาหลีเหนือ เห็นได้ว่ากลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในไทยมีหลายสาเหตุ
สาเหตุในมิติทางด้านกฎหมาย เพื่อให้การเข้ามาอย่างถูกต้องเหมาะสม ต้องดูทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ
กฎหมายไทยอันแรก คือ กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองซึ่งระบุว่า ใครก็ตามที่ได้ข้ามผ่านพรมแดนไทยเข้ามาโดยไม่มีเอกสารที่ถูกต้องถือว่าเป็นการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย คนเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย (illegal immigrants) องค์กรระหว่างประเทศกล่าวว่า ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นอาชญากรซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 มาตรา คือ มาตรา 13 กับ มาตรา 17 ที่ต้องขออนุญาต โดยจะผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวซึ่งต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรีเพื่อทำให้ผู้เข้าเมืองเหล่านี้ถูกกฏหมาย แต่กฏหมายค่อนข้างจะล้าหลังด้วยลักษณะคนที่เข้ามามีจำนวนมากขึ้น แต่ข้อกฎหมายไม่สอดรับกับคนที่เข้ามา
กฎหมายที่สอง คือ อนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยอนุสัญญากำหนดสถานภาพของผู้ลี้ภัย ตั้งแต่ปี 1951 กำหนดไว้ว่า คนลี้ภัยมาที่ถูกประหัตประหารด้วยเหตุผล เช่น มีความแตกต่างทางศาสนา ชาติพันธุ์ ความเชื่อทางการเมือง มีสมาชิกทางสังคมต่างกัน แล้วมีการหลบหนีออกมาต่างๆ เหล่านี้สหประชาชาติถือว่า เป็นผู้ลี้ภัยเและจะต้องช่วยเหลือ เช่น ให้ที่พักพิงและความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้ แต่ก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยเมื่อหลบหนีเข้ามา
กฎหมายที่สาม อนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมข้ามชาติ (Transnational Organize Crime: TOC) ก่อตั้งขึ้นมาเพราะการที่มีคนอพยพเข้ามาด้วยลักษณะแตกต่างกัน เช่น ก่อการร้าย ผลิตอาวุธเถื่อน ผลิตธนบัตรปลอม เข้ามาก่ออาชญากรรมซึ่งกฎหมายฉบับนี้เราเป็นภาคีสัญญา มีพิธีสารหรือ Protocol อยู่ 2 ฉบับ คือ ว่าด้วยเรื่องต่อต้านการค้ามนุษย์ การลักลอบขนคนเข้าเมือง (Human Smuggling) ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแล คือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และจัดตั้งให้มีตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์ (ตำรวจ ปคม.) และตำรวจ DSI ซึ่งจะดูแลการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ รวมทั้งมีกระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่ในการรายงานต่ออเมริกาหรือ TIP Report
กฎหมายอันที่สี่ Extradition Treaty สนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นสนธิสัญญาที่ตกลงทำระหว่างสองประเทศ โดยทั้งหมดนี้จะเป็นกรอบว่าด้วยเรื่องกฎหมายที่ต้องมีการคำนึงถึงในเรื่องการตัดสินใจในเกี่ยวกับเรื่องอุยกูร์ ในเรื่องนโยบายการแก้ไขปัญหา ประเทศไทยได้กระทำอย่างระมัดระวังด้วยหลักที่หนึ่งคือ วิธีการทางการทูตและความมั่นคง โดยกระทรวงการต่างประเทศต้องประสานกองทัพ กระทรวงมหาดไทย หลักที่สองคือ คำนึงถึงเสียงของประชาคมโลกโดยเฉพาะ UN และประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ซึ่งนอกจากจะให้ความเห็นแล้วยังเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ เช่น ที่ศูนย์อพยพชายแดนไทย-พม่า จะเป็นประเทศในยุโรป สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา โดยบริจาคเงินให้กับ NGO ซึ่งจะซื้อสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ แล้วนำมาให้ศูนย์อพยพ หลักที่สามคือ คำนึงถึงมนุษยธรรม ไทยใช้ทั้งสามหลักนี้มาโดยตลอด
ชาวอุยกูร์เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่ใช้ภาษาเดียวกัน คือ ภาษาเตอร์กิช อุยกูร์เป็นชาติที่มีอาณาจักรหรือประเทศของตนเอง ย้อนไปเมื่อศตวรรษที่ 7 - 8 มีถิ่นฐานอยู่แถวทะเลสาบไบคานซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของรัสเซียเรียกว่ากลุ่ม Turkish Confederations เมืองหลวงชื่อว่า ทิว สมัยนั้น มีรัฐหลายรัฐภายใต้ Turkish Confederations กษัตริย์ของอุยกูร์ปกครองมายาวนานตั้งแต่ ค.ศ. 600 – 800 มีการขยายอาณาจักรลงมาถึงทะเลสาบแคสเปี้ยนและไนจีเรีย ในปี ประมาณ ค.ศ.1000 ได้มาตั้งอยู่บริเวณประเทศจีนแถบมณฑลกานซู ปัจจุบัน คือ มณฑลซินเจียง และเมื่อเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของจีนในราชวงศ์ชิง ทศวรรษที่ 7 มีการกลืนชาวอุยกูร์บางส่วนให้เป็นพลเมืองจีน และอพยพชาวอุยกูร์ส่วนหนึ่งไปที่ปักกิ่ง เห็นได้จากการมีมัสยิดอยู่ข้างๆ กับพระราชวังต้องห้าม พอถึงศตวรรษที่ 20 เกิดการรวมตัวของชาวอิสลามเพื่อต่อต้านจีน ช่วงสงครามโลกครั้ง 2 เป็นที่ช่วงที่จีนทำสงครามระหว่างญี่ปุ่น จึงทำให้ชาวอุยกูร์ได้รับเอกราชช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในปี 1944 ผู้ที่ให้การสนับสนุนชาวอุยกูร์ให้ได้รับเอกราช คือ โซเวียตล่าสุดได้มีกลุ่ม East Turkestan terrorist ซึ่งเป็นชาวอุยกูร์ที่ต่อต้านอยู่ในมณฑลซินเจียง ถือว่าเป็นพวกก่อการร้าย และการที่ชาวอุยกูร์หลบหนีออกจากมณฑลซินเจียงได้แสดงถึงนัยยะทางด้านความมั่นคงตรงที่คนหนีภัยการประหัตประหารหรือภัยความรุนแรง Escape from Violence มีสถานะว่า ชาวอุยกูร์นั้นถูกรังแกทั้งโดยทางภูมิศาสตร์และทางการเมือง รวมทั้งเรื่องของศาสนาด้วย เช่น การบังคับผู้ที่เป็นนักศึกษาและทำงานเป็นข้าราชการห้ามถือศีลอดในเดือนรอมดอน ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องรุนแรงเนื่องจากสูญเสียเสรีภาพทางศาสนา
ในปี 2015 เกิดการหลั่งไหลของชาวอุยกูร์ที่ตัดสินใจอพยพมาทางตะวันออก คือ มาทางยูนนานเพื่อจะเดินทางไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วต่อไปที่ซีเรียและอิรัก แต่ด้วยระยะทางที่ไกลมาก เนื่องจาก ซินเจียงอยู่ทางตะวันตกและยูนนานมีชาวจีนมุสลิมที่เรียกว่า ฮ้อ เป็นกลุ่มเชื่อมโยงที่เรียกว่ากลุ่ม MIT มูจาฮีดีนอินโดนีเซียทีมู และมีการเชื่อมโยงกับกลุ่ม ISIS แต่พอมาถึงยูนนานก็เกิดความรุนแรงขึ้นมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมายโดยผู้ก่อเหตุคือ ชาวอุยกูร์ที่มาจากซินเจียง พอชาวอุยกูร์ผ่านยูนนานมาถึงประเทศไทยเข้ามาทางกัมพูชาและลาวในลักษณะการเข้าจะเหมือนเกาหลีเหนือ กลุ่มอพยพเหล่านี้บอกชัดเจนว่า ต้องการไปยังประเทศตุรกี คาดว่าชาวอุยกูร์รุ่นแรกที่ข้ามไปตุรกีได้แล้วไปในวิธีการเดียวกันเรียกว่าวิธี decriminalize คือทำให้ถูกกฎหมาย แต่ที่เป็นประเด็นก็คือ มันมีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม MIT และ กลุ่ม ISIS ซึ่งทางการจีนได้แจ้งมาว่า กลุ่มอุยกูร์ที่หลบหนีเข้ามาไทยมีส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่จีนต้องการตัวกลับไปโดยขอตามสนธิสัญญาผู้ร้ายข้ามแดน ไทยจึงได้ส่งชาวอุยกูร์กลับไป 109 คน แต่ทางการจีนไม่มีการส่งหลักฐานให้กับทางการไทยจนเกิดเป็นเหตุทำให้เกิดการทำลายสถานกงสุลที่ตุรกี ซึ่งต่อมาได้มีการหารือในหน่วยราชการ และหน่วยงานด้านความมั่นคงคือ กองทัพ กระทรวงการต่างประเทศ
สิ่งสำคัญ คือ ทางการไทยพลาดตรงที่ไม่ได้ขอหลักฐานจากจีนว่ากลุ่มอุยกูร์เป็นผู้ก่อการร้ายจริงหรือไม่ ตามหลักว่าด้วยสนธิสัญญาผู้ร้ายข้ามแดน และไทยปล่อยให้ทางการจีนส่งเครื่องบินมารับกลับในทางปฏิบัติถือว่าเป็นการไม่เคารพการเป็นมนุษย์ ทำให้ไทยถูกประณามจากนานาประเทศ ซึ่งความจริงไทยควรมีการตรวจให้ชัดเจน หรือควรมีการสัมภาษณ์ พูดคุยกับกลุ่มอุยกูร์ด้วย ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของรัฐบาลไทยที่ทำงานขาดประสิทธิภาพ สาเหตุเพราะขาดล่ามที่พูดภาษาอุยกูร์ได้ ดังนั้น สิ่งจำเป็นประการแรกคือ ต้องมีความร่วมมือในภูมิภาคมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องการก่อการร้าย ตำรวจสากลและความร่วมมือตรงส่วนนี้รัฐบาลใช้ประโยชน์น้อยเกินไป ประการที่สอง เราต้องใช้กรอบกฎหมายกติกาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกติกาที่ได้มีการทำสนธิสัญญาร่วมกันไว้ และมีการแบ่งประเภทผู้ลี้ภัยให้ชัดเจน ที่สำคัญต้องมีการสื่อสารทางภาษา หากไม่ได้ทำตามกฎกติกาที่ทำไว้ก็จะถูกประณาม ประการสุดท้าย ไม่ว่าผู้ลี้ภัยจะอยู่ในประเภทใด เราควรต้องคำนึงถึงชีวิตและวิธีการปฏิบัติที่ดี
2. เสวนาในประเด็น “ประวัติศาสตร์บาดแผล อุยกูร์-จีน” โดย ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ดร.กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ และดร.ศราวุฒิ อารีย์
ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี
เคยเขียนบทความเกี่ยวกับปริศนาอุยกูร์เมื่อประมาณปีกว่าที่ผ่านมา ในวันนี้ จะกล่าวในประเด็นพื้นฐานประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่มุสลิมเข้ามาในไทย จีนมีการติดต่อกับโลกอาหรับมายาวนาน โดยได้เสนอในมุมมองว่า จีนมีความยิ่งใหญ่และมีความสลับซับซ้อนในจุดที่เชื่อมโยงให้เห็นถึงข้อขัดแย้งต่างๆ ซึ่งอิสลามได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับประเทศจีนเมื่อ ปี ค.ศ. 651 ตรงกับสมัยราชวงศ์ถัง คือ หลังจากที่ศาสดาของศาสนาอิสลาม ท่านนะบี มูฮำหมัดเสียชีวิตมาแล้ว 19 ปี โดยเข้ามาทางอ่าวเปอร์เซียทางมหาสมุทรอินเดีย และเข้ามาทางตะวันออกเฉียงใต้ และเข้ามาทางประเทศจีน ได้ยกตัวอย่าง ดินแดนซินเจียงซึ่งมีประวัติศาสตร์มายาวนานหลายพันปี ในอดีตก็ไม่ได้เป็นมุสลิม นับถือศาสนาอิสลามโดยย้อนกลับไปศตวรรษที่ 8 มีการนับถือพ่อมด หมอผี ศาสนาพุทธ จนมาถึงศตวรรรษที่ 10 - 15 ศาสนาอิสลามเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในเอเชียกลาง โดยอีกยุคที่สำคัญ คือ ยุคราชวงศ์มองโกล เจงกีสข่าน ในศตวรรรษที่ 12 – 19 เข้าไปตีในเอเชียกลาง เมืองหนึ่งที่ไป คือ เมืองบุคอรอ ปกครองโดยไซยิด อาจัลล์ได้กวาดต้อนพลเมืองซึ่งเป็นมุสลิมไปยังประเทศจีนเพื่อเข้ามาเป็นเชลยรับใช้งานในราชวงศ์มองโกล ชาวมุสลิมก็ได้นำวิทยปัญญา ความรู้ต่างๆ จากโลกอาหรับเข้ามา เช่น การเกษตร การบริหารจัดการ การภาษี การชลประทาน รวมทั้งดาราศาสตร์ จนกระทั่งปี 1254 กุบไลข่านได้ส่งไซยิด อาจัลล์ เข้าไปในยูนนานเพื่อผนวกและเป็นผู้ว่าการมณฑลยูนนานคนแรกของประเทศจีน ซึ่งก็จะเป็นช่วงของยุคราชวงศ์หมิงที่มุสลิมเริ่มเข้ามามีบทบาทและแผ่ขยายมากขึ้น จนในปี 1856 -1873 เกิดเหตุการณ์เพนเตขึ้นในราชวงศ์ชิง เกิดปัญหาระหว่างคนมุสลิมกับคนในราชวงศ์ชิง คนฮั่น คนแมนจูเริ่มมีปัญหา นักวิชาการบางท่านได้อธิบายว่า เหตุการณ์เพนเตเกิดจากความเกลียดชังระหว่างพวกฮั่นกับฮุย มีประเด็นจากการแย่งชิง การถูกกดขี่ การแบ่งปันทรัพยากร และความเป็นอัตลักษณ์ของอิสลามที่มีความเป็นพี่น้อง นักวิชาการอีกท่านก็ได้ให้เหตุผลว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากปัจจัยที่มีความซับซ้อนเรื่องความสมดุลในการแบ่งอำนาจในเรื่องของทรัพยากรต่างๆ ระหว่างพวกฮั่นและฮุยให้ลงตัว แต่ราชวงศ์ชิงไม่ต้องการ เพราะต้องการรวบอำนาจ จึงได้ส่งคนเข้าไปในยูนนานมากขึ้น ซึ่งที่จริงในยูนนานก่อนเกิดเหตุการณ์เพนเต ก็เริ่มมีการลุกฮือของคนในท้องถิ่นของชนเผ่าต่างๆ ในปี 1817 และเป็นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนในปี 1845 มีชาวมุสลิมถูกสังหารมาก 8,000 คน จนในที่สุด เกิดอาณาจักรต้าลี่ขึ้น เป็นศูนย์กลางของชาวมุสลิม โดยเรียกว่า ต้าลี่ดารุสาลาม สถาปนาโดยสุลต่านสุไลมานตู้เหวินซิ่วเป็นผู้นำ ในที่สุด ปี 1856 ราชวงศ์ชิงส่งทหารเข้าไปกวาดล้างชาวมุสลิมให้หมดจนกระทั่ง ชาวมุสลิมต้องหนีตายกระจัดกระจายอพยพเข้าไปในประเทศพม่าส่วนใหญ่อยู่ในปางหลง จนปี 1949 เกิดการปฏิวัติโดย เหมา เจ๋อ ตุง ด้วยมีความคิดเรื่องการรวบชนชาติเพราะในจีนมีถึง 56 ชนชาติซึ่งมีชนชาติที่เป็นมุสลิมถึง 10 ชนชาติ เหมา เจ๋อ ตุงได้รวบรวมคนที่ชาติเดียวกัน โดยมีการยอมรับในความเป็นชนชาติเอาไว้แต่ไม่ได้ให้เอกราช ซึ่งเห็นได้จากบัตรประชาชนจะระบุไว้ว่าเป็นชนชาติไหนเช่นเป็นฮุย เป็นฮั่น และอีกช่วงหนึ่งที่ถือว่าสำคัญ คือ ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ศาสนา ในซาเตี๊ยะถือเป็นอาณานิคมมุสลิมที่ใหญ่ที่สุด เกิดในปี 1975 โดยทำลาย 4 เก่า คือแนวคิดเก่า นิสัยเก่า วัฒนธรรมเก่า ประเพณีเก่า เป็นอีกยุคหนึ่งที่ชาวมุสลิมได้รับความเจ็บปวดซึ่งปรากฏหลักฐานในเอกสาร เช่น การให้อิหม่ามเดินคลานเหมือนหมู เอาหมูไปวิ่งที่มัสยิด เอากระดูกหมูหย่อนลงไปในน้ำที่มุสลิมใช้ดื่ม ใช้อาบ ใช้ทำละหมาด ในเหตุการณ์นั้นสังหารคนไปถึง 1,600 คน เมื่อถึงยุคที่เติ้ง เสี่ยว ผิงขึ้นเป็นผู้นำก็ได้กล่าวขออภัยต่อชาวมุสลิมในเหตุการณ์นั้นตรงบริเวณอนุสาวรีย์คนที่เสียชีวิตและจะขอไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีก และมีการเปรียบเทียบเหตุการณ์ลักษณะนี้กับภาคใต้ ตากใบ กรือเซะ ซึ่งมันกระทบกับความรู้สึกต่อคนในชุมชน หากมีการให้อภัยในระดับชุมชนได้ แต่มันยังไม่เกิด แล้วมันควรจะเป็นอย่างไรถ้าคนทั้งชุมชนยอมให้อภัยคือ คนในชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกัน ก็ขอฝากไว้ เพราะในจีนถือว่าสิ้นสุดและเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว ขณะที่ไทยเหตุการณ์ภาคใต้นี้ก็ยังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งมุสลิมในจีนจะมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นการผสมผสานตามศิลปะ สถาปัตยกรรม สร้างโบสถ์มัสยิดต่างๆ เพื่อไม่ให้ขัดกับหลักเอกภาพของอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า
จากงานที่ศึกษามุสลิมในจีนมีความเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นจะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ เชื่อในเรื่องที่จะอยู่กับใครไม่ได้และไม่สามารถรวมกับจีนได้ แต่กับอีกกลุ่มคือ หลอมรวมกับจีนแต่อาจแตกต่างกันตรงที่ศาสนาเท่านั้น และในปี 1884 ได้มีการตั้งมณฑลใหม่ชื่อซินเจียง และปี 1949 ซินเจียงมีอุยกูร์ 95 เปอร์เซ็นต์ มีฮั่น 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ต่อมาใน ปี 2000 มีอุยกูร์ 45.2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2010 เหลืออุยกูร์ 44 เปอร์เซ็นต์ ฮั่น 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ เพราะนโยบายจีนพยายามให้ชาวฮั่นลงไป สิ่งที่จีนพยายามทำมาตลอดคือ การ assimilated ในทุกๆ ชาติ ได้แก่ต้องเรียนภาษาจีนกลาง ลดอิทธิพลอุยกูร์ เพิ่มประชากร กดเรื่องศาสนา ไม่ให้ถือศีลอด ปิดมัสยิด จึงเป็นสาเหตุทำให้ชาวอุยกูร์เอาศาสนาขึ้นมาในการที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องให้เอเชียกลางให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกอุยกูร์ โดยเห็นว่าซินเจียงนับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์อย่างดีของจีนรวมทั้งเป็นแหล่งทรัพยากรต่างๆ ที่จีนไม่สามารถปล่อยได้ โดยจีนได้ประกาศไว้ว่า อุยกูร์เป็นองค์กรก่อการร้าย แต่เครือข่ายองค์กรของอุยกูร์ส่วนใหญ่มีที่ตั้งแถบยุโรป ดังนั้น จึงเห็นด้วยกับอาจารย์สุภางค์ว่าไทยไม่ควรทำนโยบายส่งกลับชาวอุยกูร์ 109 คน แต่มีความคิดว่า แหล่งข่าวข้อมูลที่นำมาจากกลุ่มนักวิชาการความมั่นคง ประเทศสิงคโปร์ หรือทฤษฏีก่อการร้ายต่างๆ โดยส่วนตัวไม่เชื่อในทฤษฎีนั้น และคิดว่าประเทศไทยหรือดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้เป็นจุดเชื่อมโยงของขบวนการอุยกูร์ที่ทำให้เข้ามาในประเทศได้กดดันประเทศต่างๆที่ไม่ให้การสนับสนุน บล๊อคสถานีวิทยุกระจายเสียง จับนักเคลื่อนไหวเกิดขึ้น ทำลายเมืองเก่าเมืองกัสก้า เผาหนังสือ เกิดความเหลื่อมล้ำเรื่องค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม แล้วในความรู้สึกของชาวอุยกูร์มีความสำนึกต่อถิ่นที่อยู่ของชาวอุยกูร์เพราะคิดว่าตรงนี้คือดินแดนบ้านเกิดของตนเอง ผิดกับพวกฮุยซึ่งจะกระจายไปทั่วจีนมีภาษาไปทางแมนดารินไม่มีภาษาของตัวเอง ฉะนั้น ความรู้สึกจะไม่เหมือนอุยกูร์ จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนต้องตระหนักถึง ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่จะดูต่อไป ความต้องการแบ่งแยกดินแดนเพื่อที่จะปกครองตนเอง (Xinjiang Uyghur Autonomous Region) ซึ่งจีนมีเขตปกครองตนเองอยู่ 5 รัฐ ดูเหมือนจีนจะให้อิสระในการปกครองแต่ต้องถูกคุมด้วยผู้นำจีนโดยพรรคคอมมิวนิสต์หรือคนที่มีอำนาจในการบริหารท้องถิ่นต้องเป็นสมาชิกกรรมการพรรคการเมืองคอมมิวนิสต์เท่านั้น
ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล
โดยประวัติศาสตร์บาดแผลชาวอุยกูร์ แบ่งได้ 3 ช่วง บาดแผลแรก เรียกว่า “บาดแผลทางประวัติศาสตร์” เกิดมายาวนานมากราวๆ ปี 1888 ซึ่งอาจารย์สุชาติได้พูดไปแล้ว จะขอกล่าวเพิ่มเล็กน้อยว่าดินแดนซินเจียงก่อนที่ราชวงศ์ชิงไปยึดครอง เดิมทีชื่อ อีหลี ราชวงศ์ชิงไม่ใช่ตระกูลฮั่นแต่เป็นแมนจู ดังนั้นจึงมีความคิด ความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับทัศนคติตามแต่ชนชั้น ในประเทศจีน การปกครองแต่ละราชวงศ์ในแต่ละยุค แต่ละสมัย ซึ่งมีการถูกกดขี่ได้สร้างปมทางความคิดมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน กระแสตกค้างทางด้านความรู้สึกนึกคิดของชาวอุยกูร์ในยุคที่ตนเองถูกกดขี่ทำให้มีชาวอุยกูร์จำนวนหนึ่งไม่ยอมรับการปกครองของชาวจีนฮั่น พอสังคมโลกเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่มีแนวคิดเรื่องรักชาติเริ่มชัดเจนขึ้นจนรวมตัวขึ้นเพื่อที่จะแบ่งแยกดินแดนแต่ไม่สำเร็จ และเกิดอีกครั้งและสำเร็จในปี 1990 บาดแผลที่สองเรียกว่า “บาดแผลร่วมสมัย” เป็นช่วงที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม ช่วงที่เกิดการดูหมิ่นศาสนากินเวลายาวนาน 10 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1966 – 1976 การที่รัฐบาลจีนปฏิเสธหรือดูหมิ่นศาสนาไม่ใช่เฉพาะศาสนาอิสลามเท่านั้น แม้กระทั่งลัทธิขงจื้อเองก็ด้วย ไม่ว่าใครก็ตามที่มีความคิดชื่นชมในลัทธิขงจื้อ คนนั้นชีวิตก็จะวิบัติหรือชาวมุสลิมในยูนนานก็จะถือว่าเป็นมาร์กซิสต์ อาจารย์สุชาติได้กล่าวเรื่องการให้อภัยโดยโยงเปรียบเทียบกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันมีความต่างกัน ในกรณีของจีนจัดให้มีการอภัยขึ้นมาหลังจากที่ได้มีการลงโทษผู้ที่กระทำความคิด แต่กรณีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีตากใบหรือกรือเซะ คนที่มีความรับผิดชอบในส่วนนั้นยังไม่ได้ถูกลงโทษ หลังจากที่เกิดปฏิวัติวัฒนธรรมผ่านไป 10 ปี ความเจ็บปวดฝังรากลึกในสิ่งที่รัฐบาลจีนได้ทำไว้ แต่การปฏิรูปพรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มให้เสรีมากขึ้น แต่มีแนวทางปฏิรูปทางเศรษฐกิจ คือ แนวทางเสรีนิยมมันเป็นผลให้เกิดช่วงที่สาม ซึ่งเรียกว่า “บาดแผลในปัจจุบัน” เกี่ยวกับโจทย์หรือแนวทางการพัฒนาเริ่มเกิดขึ้นในปี 1990 เกิดหลังจากเกิดเหตุการณ์เทียนอันเหมินผ่านไป 2 ปี เนื่องจากจีนมีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจใหม่ คือแนวความคิดทางเสรีนิยมใหม่ จนเกิดปัญหาว่า กลุ่มชนชาติพันธุ์จะอยู่และพัฒนาอย่างไร เพราะมีวัฒนธรรม ประเพณี มีความเชื่อทางศาสนาของตัวเอง การที่จะนำแนวคิดเสรีนิยมไปพัฒนาในพื้นที่นั้นๆจะยากและมีอุปสรรคเพราะขัดกับความรู้สึกของคนในพื้นที่ จึงส่งคนจีนเชื้อสายฮั่นเข้าไปในพื้นที่ซินเจียงรวมทั้งทิเบต ภายใต้แนวความคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมจึงย่อมกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของเจ้าของพื้นที่อยู่เดิมตรงนี้จนเกิดการขัดแย้งสะสมเป็นเวลานับ 10 ปี สิ่งหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดแรงปะทุ คือ เหตุการณ์ประท้วงชาวทิเบตในปี 2008 การแข่งขันโอลิมปิก หลังจากนั้น ในปี 2009 เกิดเหตุจลาจลที่ ซินเจียงขึ้น เป็นผลเกิดมาจากความเกลียดชังที่ถูกสะสมมาตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปัจจุบัน ผ่านมา 20 ปี คือ ความขัดแย้งระหว่างชาวอุยกูร์และชาวจีนฮั่น พอหลังปี 2009 เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ตามที่เป็นข่าว เช่น ระเบิดพลีชีพ บุกเผาโรงพักชาวจีนฮั่น ไล่ฟันชาวจีนฮั่น ในภาคการปกครอง จีนยืนยันไม่ทบทวนนโยบายการพัฒนาในดินแดนของชนชาติพันธุ์ ท่านดาไลลามะได้ออกมาให้ข้อคิดเห็นหลังจากมีเหตุการณ์นองเลือดในปี 2008 โดยเสนอว่า แบ่งพื้นที่ระหว่างชาวทิเบตและชาวจีนเป็นคนละส่วนให้มีการติดต่อที่น้อยที่สุด แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากรัฐบาลจีนถือสิทธิว่าตนมีอำนาจเต็ม ดังนั้น ปัญหานี้จึงยากแก่การแก้ไข หลังจากนั้น จนถึงปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่เป็นผลจากนโยบายนี้คือ การอพยพชาวอุยกูร์ซึ่งแตกต่างจากชนชาติพันธุ์อื่น เพราะว่ารัฐบาลจีนสรุปว่าชาวอุยกูร์เป็นผู้ก่อการร้าย มีคดีติดตัวไม่ว่าจะไปประเทศไหนก็ตาม และด้วยเพราะจีนเป็นประเทศมหาอำนาจ ประเทศใดที่รับไปก็ต้องเผชิญกับความขัดแย้งหรือเผชิญหน้าในการเจรจากับจีนในเรื่องนี้ ประเด็นที่อุยกูร์เข้ามาในประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่าเรื่องบางเรื่องเราพูดไม่ได้เพราะเราไม่รู้ แต่เรื่องบางเรื่องเรารู้แต่พูดไม่ได้
ดร.กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์
ได้มีการนำเสนอข้อมูลในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ 3 ประเด็นด้วยกัน คือ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนฮั่นกับคนที่ไม่ใช่ฮั่น (Non-Hun) ซึ่งเรียกกันว่า ชนต่างเผ่า ประเด็นที่สอง การขยายอาณาเขตไปยังดินแดนตะวันตก ประเด็นที่สาม การปฏิวัติ 3 เขตในซินเจียงกับการสถาปนาเตอรกีสถานตะวันออก
มีการให้ความหมายของคำ “จงกั๋ว” ว่าหมายถึงจีน คำว่า “จง” ในภาษาจีนแปลว่าตรงกลาง คำว่า“กั๋ว” แปลว่า รัฐ ชาติ ประเทศ คำว่า “จงกั๋ว” พอแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วจะหมายถึง Middle Kingdom คือ ดินแดนที่อยู่ตรงกลาง แนวคิดเรื่องจงกั๋วนี้จะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนฮั่นกับคนที่ไม่ใช่ฮั่นอย่างไร ในเชิงภูมิศาสตร์ประเทศจีนในปัจจุบันอยู่ทางฝั่งตะวันออกของทวีปเอเชียจึงมองว่าตนเองอยู่ศูนย์กลางโดยคำว่า“จงกั๋ว” จะมีความหมายแตกต่างกันในแต่ละยุคแต่ละสมัย อย่างในอดีตคำว่า“จงกั๋ว” หมายถึงแว่นแคว้น ที่อยู่อาศัยของโอรสแห่งสวรรค์ แต่เมื่อสร้างจักรวรรดิจีนขึ้นมา พื้นที่จะกว้างขึ้นหมายถึงดินแดนที่จักรพรรดิมีอำนาจในการปกครองอย่างแท้จริง คำว่า“จงกั๋ว” นอกจากหมายถึงโลกทัศน์เชิงภูมิศาสตร์แล้ว ยังหมายถึงโลกทัศน์ทางวัฒนธรรมด้วยเพราะการที่มองตัวเองอยู่ตรงกลางจึงมองว่าตัวเองสูงกว่าคนอื่น ฉะนั้น ใครก็ตามที่มีวัฒนธรรมไม่เหมือนกับคนอื่นก็จะถูกมองว่าเป็นอนารยชนหรือคนต่างเผ่า เห็นได้จากอดีตสิ่งที่ชนชั้นนำของจีนต้องเผชิญตลอดเวลาในการรักษาเสถียรภาพการปกครองนอกจากจะเป็นกิจการภายในแล้วคือ ต้องรักษาความสัมพันธ์กับชนต่างเผ่าที่อยู่ดินแดนรอบนอกหรือชายขอบของ “จงกั๋ว” จากแผนที่จะเห็นได้ว่ากำแพงเมืองจีนซึ่งจีนมีความคิดที่ขยายดินแดนไปยังส่วนอื่น แต่ต้องการที่จะป้องกันชนต่างเผ่าที่จะเข้ามารุกรานเข้ามา จึงมีการสร้างกำแพงเมืองจีนขึ้นมา ก็มีการตีความทางวัฒนธรรมคือ การกั้นระหว่างความเป็นจีนฮั่นกับความเป็นอื่น มีการแยกเขากับเรา ประเด็นแรกความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนฮั่นกับชนต่างเผ่า ในอดีต ชนชั้นปกครองจีนต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์กับชนต่างเผ่าหรือที่ไม่ใช่จีนเพราะคนเหล่านี้จะสามารถเป็นภัยคุกคามจีนได้ตลอดเวลา ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การป้องกันได้ดีที่สุดไม่ใช่การตั้งรับแต่เป็นการรุกออกไป เมื่อมีการสร้างจักรวรรดิที่ใหญ่และต้องการให้เข้มแข็งอย่างในราชวงศ์ฮั่น
ประเด็นที่สอง การขยายอาณาเขตไปยังดินแดนตะวันตกซึ่งเป็นชมพูทวีปหรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน ไม่ว่าจะทางการทูตและการรุก เพราะเชื่อว่าการขยายอาณาเขตไปยังดินแดนใหม่ทำให้จักรวรรดิตัวเองยิ่งใหญ่และมั่งคั่งมากขึ้น เพราะดินแดนทางฝั่งตะวันตกจะเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังเอเชียกลางและออกไปยังยุโรปได้ช่วงที่จีนเริ่มเข้ามามีความสัมพันธ์ทางตะวันตก เห็นได้ชัดในสมัยราชวงศ์ถัง เรียกว่าเป็นยุคที่ถือว่าเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ มีอาณาจักรที่มีความเป็นสากลมาก เพราะผู้ปกครอง ชนชั้นปกครองได้อาศัยความร่วมมือหรือการยอมรับของชนต่างเผ่าหรือชนเผ่าอื่นๆ ผลของการชนเผ่าในดินแดนตะวันตกทำให้สร้างเส้นทางการค้าที่ปลอดภัยออกไปยังยุโรปภายใต้เส้นทางการค้าหรือเรียกว่าเส้นทางสายไหมออกไปทางตะวันตกทางนครฉางอัน ปัจจุบันเรียกว่า ซีอาน และยุคหรือช่วงที่
ใบตอบรับเข้าร่วมสัมมนา Download
กำหนดการ Download
สรุปสัมมนาวิชาการ เรื่อง ‘ตุรกี-อุยกูร์-จีน’ กับปัญหาผู้อพยพข้ามชาติและทางออกของไทย Download