


ใน ปี 2558 ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะก้าวเข้าสู่การเป็น “ประชาคมอาเซียน” อันประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ 1) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน 2) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 3) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยมีจุดมุ่งหมายของการเป็นประชาคมเดียวกัน ฐานการผลิตเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะนำมาซึ่งการหลั่งไหลของเงินทุน บริการ รวมทั้ง “ผู้คน” ที่จะหลั่งไหลเข้ามาทำงาน มาท่องเที่ยว หรือเพื่อมาศึกษาดูงาน สภาพการณ์เช่นนี้จำเป็นที่หน่วยงานต่างๆของไทยต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะบุคคลากรของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องเกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยของประชากร เพราะผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาบางคนนั้นอาจมีสภาวะทางจิตใจหรือสุขภาพกายไม่สมบูรณ์ และอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนไทย จึงถือได้ว่าประเด็นด้านสาธารณสุขนั้นถือเป็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ (non tradition security issue) ที่ควรให้ความสำคัญ โดยที่บุคคลากรกระทรวงสาธารณสุขต้องมีการเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อการจัดการกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอันเป็นผลจากสภาพการข้ามพรมแดนนี้ ซึ่งช่องทางหนึ่งในการเตรียมความพร้อมคือ “การเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน” อันอาจส่งผลให้บุคคลากรของกรมสุขภาพจิตมีความสามารถปฏิบัติการเชิงรุกได้ เช่น การเข้าไปทำกิจกรรมในชุมชนของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานหรือศึกษาต่อในไทย หรือการสื่อสารกับชาวต่างชาติที่มาเข้ารับบริการได้ เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นการสร้างความตะหนักรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอีกด้วย
ในการนี้ กรมส่งเสริมสุขภาพจิตจึงเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมบุคคลากรให้มีความรู้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอันยากจะคาดเดาเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงได้ร่วมมือกับสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการอบรมภาษาและวัฒนธรรมเวียดนามขึ้น เพื่อให้บุคคลากรของกรมสุขภาพจิตมีทักษะเบื้องต้นในการสื่อสารภาษาเวียดนาม ซึ่งเป็นภาษาเพื่อนบ้านในอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเวียดนามทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยในปีนี้จัดอบรมติดต่อกันเป็นปีที่ 2 เพื่อให้บุคลากรของกรมสุขภาพจิตสามารถเรียนรู้ภาษาเวียดนามให้สู่ระดับใช้งานได้มากยิ่งขึ้น