Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
Seminar, Conference, Training - Institute of Asian Studies Chulalongkorn University
สัมมนาวิชาการ เรื่อง “สปป.ลาว และเวียดนาม: ผู้นำใหม่ การเมือง และอาเซียน”​​
สัมมนาวิชาการ เรื่อง “สปป.ลาว และเวียดนาม: ผู้นำใหม่ การเมือง และอาเซียน”​​

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการ
เรื่อง “สปป.ลาว และเวียดนาม: ผู้นำใหม่ การเมือง และอาเซียน”​​

วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 8.30 - 12.00 น.
ณ ห้องประชุม 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าฟัง

กำหนดการ

08.30 – 09.00 น. ลงทะเบียน
09.00 – 09.10 น. กล่าวเปิด โดย คุณอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

                           รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
09.10 – 11.30 น. ร่วมเสวนา โดย
      - คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล
        รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
      - ผศ.ดร.ธีระ นุชเปี่ยม
        ผู้ทรงคุณวุฒิ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
      - คุณสุภลักษณ์  กาญจนขุนดี
        สำนักข่าวเดอะเนชั่น
      - คุณอดิศร เสมแย้ม  
        สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดำเนินรายการ โดยคุณอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

11.30 – 12.00 น. ถาม - ตอบ และแสดงความคิดเห็น

เรียน ผู้สนในที่จะลงทะเบียน

ขออภัยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากขณะนี้มีผู้สนใจและลงทะเบียนมาเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการรวบรวมรายชื่อท่านที่ลงทะเบียนล่วงหน้าทุกข่องทางก่อนวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 00.00 น. ให้เป็นที่เรียบร้อย

ดังนั้น ขอถือโอกาสปิดลงทะเบียนในเว็บไซต์แห่งนี้ ผู้ลงทะเบียนตั้งแต่หมายเลข 11 เป็นต้นไป ขอความกรุณาไปลงทะเบียนที่หน้างานในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559

สรุปงาน สปป.ลาว และเวียดนาม: ผู้นำใหม่ การเมือง และอาเซียน”​​

ผศ.ดร.ธีระ นุชเปี่ยม (ผู้ทรงคุณวุฒิ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา)

              กล่าวถึงประเด็นการเปลี่ยนผู้นำของประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นวาระการประชุมสมัชชาแห่งชาติที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศเวียดนามและลาวในช่วงเวลาเดียวกัน สมัชชาถือว่าเป็นองค์กรหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ ปกติเวียดนามมีวาระการประชุมซึ่งจะจัด 5 ปีต่อครั้ง ยกตัวอย่างเช่น ช่วงเวียดนามอยู่ในสภาวะที่บ้านเมืองเกิดความไม่สงบหรือหลังสงคราม หรือการจัดประชุมครั้งที่ 3 ในปี 1960 และครั้งที่ 4 ในปี 1976 ซึ่งห่างกันถึง 16 ปี  ความสำคัญของสมัชชาคือ การประชุมผู้แทนของพรรคคอมมิวนิสต์ ในปัจจุบันมีสมาชิกพรรคประมาณ 4.5 ล้านคน จากจำนวนประชากร 93 ล้านคน หากเทียบกับจำนวนประชากรก็ถือว่าน้อย หน้าที่สำคัญคือ เลือกผู้นำใหม่ ขั้นตอนการเลือกที่สำคัญคือ การเลือกคณะกรรมการกลางซึ่งถือว่าเป็นองค์กรหลัก

              คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ว่าจะเป็นในลาวหรือเวียดนามก็ตาม จะมีการเลือกผู้นำระดับสูง นอกจากคณะกรรมการกลางแล้วก็มีกรมการเมือง (Political Bureau) การเลือกผู้นำหลักๆ ในระบบคอมมิวนิสต์มีการแบ่งการทำงานในส่วนของพรรคกับรัฐ  โดยรัฐหรือฝ่ายบริหารจะมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี และประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วนตำแหน่งสำคัญในพรรคคือ เลขาธิการ แต่ในทางปฎิบัติแล้วไม่สามารถแยกออกจากกันได้ระหว่างพรรคกับรัฐ เพราะตัวบุคคลที่จะเป็นผู้นำระดับสูงจะต้องเป็นสมาชิกของกรมการเมืองแทบทั้งนั้น          ซึ่งเท่ากับว่ามีการกำหนดตัวไว้แล้วว่า นายกรัฐมนตรีจะเป็นใคร ประธานาธิบดีจะเป็นใคร ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นใคร แต่ว่าจะได้รับการเลือกอีกครั้งจากสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ โดยจะมีการเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรประมาณเดือนพฤษภาคม และประธานสภาผู้แทนราษฎรจะทำการเลือกผู้นำในส่วนของรัฐหรือฝ่ายบริหารอีกครั้ง แต่ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้วก็คือ เลขาธิการพรรคซึ่งเป็นคนเก่าและการดำเนินการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในครั้งนี้เหมือนกับทุกครั้งคือ จะเป็นการเลือกผู้นำตามแบบแผนของระบบผู้นำร่วมของเวียดนาม

              ดังนั้น ประเด็นหลักๆ ของการเมืองเวียดนามที่น่าสนใจก็คือ ทำอย่างไรจึงจะรักษาเสถียรภาพของระบบผู้นำร่วมเอาไว้ได้ จะมีแนวทางและวิธีการดำเนินงานอย่างไร กล่าวคือ ระบบผู้นำร่วมของเวียนดนามซึ่งเป็นระบบที่มีมาอย่างยาวนานและได้รับการรักษาไว้ตลอดมา นับเป็นมรดกมาตั้งแต่สมัยของโฮจิมินห์ช่วงทศวรรษ 1960 ด้วยปัญหาสุขภาพและบุคลิกของท่านที่ไม่ต้องการทำตัวโดดเด่นหรือชี้นำ และจะไม่เกี่ยวข้องในกิจกรรมและการดำเนินงานทางการเมืองต่างๆ  ยกตัวอย่าง ในช่วงหลังสมัชชาครั้งที่ 3 เมื่อ เล ซ่วนได้ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรค ซึ่ง เล ซ่วนได้เป็นเลขาธิการพรรคถึง 26 ปี      คือตั้งแต่ปี 1960 และได้ถึงแก่อสัญญกรรมในปี  1986

              ระบบผู้นำร่วมมีลักษณะสำคัญประการแรกคือ ไม่ต้องการให้ใครคนใดคนหนึ่งมีอำนาจโดดเด่นเหนือคนอื่น ฉะนั้น เล  ซ่วนเป็นเลขาธิการพรรคถือว่าเป็นลำดับที่หนึ่งในบรรดาคนที่เท่ากันไม่ได้เหนือกว่าคนอื่น แม้ เล ซ่วนจะอยู่มายาวนาน แต่ก็ไม่เคยที่จะต้องการครอบงำคนอื่น ในยุคนั้น มีผู้นำคนอื่นที่น่าจะเป็นที่รู้จัก ฝ่ายบู๊ อาทิ หวอ เงวียน ซ้าป ซึ่งเป็นวีรบุรุษสงครามเดียน เหวียน ฟู มีอำนาจควบคุมกองทัพ ผู้นำฝ่ายบริหารหรือฝ่ายบุ๋นที่สำคัญก็คือ ฝั่ม วัน ดงเป็นนายกรัฐมนตรี มีบทบาทสำคัญในเรื่องการทูต ซึ่งเปรียบได้กับเป็นโจว เอินไหลของจีน และอีกคนคือ เจื่อง จิญ ซึ่งอดีตเคยเป็นเลขาธิการพรรคก่อนเล ซ่วน แต่มีข้อผิดพลาดประเด็นเกี่ยวกับที่ดินจึงโดนปลดออก หากยังคงมีอำนาจหรือยังคงอยู่ในระบบ Political Bureau

              ลักษณะประการที่สองคือ ไม่มีการกำจัดกวาดล้างแบบรุนแรงแม้จะมีความผิด จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รักษาเสถียรภาพของสภาวะผู้นำร่วมตรงนี้ไว้ได้

              อีกลักษณะหนึ่งคือ ไม่มีการบูชาตัวบุคคล Account the Personality ได้มีนักหนังสือพิมพ์กล่าวไว้ว่าผู้นำเวียดนามต้อง Faceless เรียกว่า  คนไม่มีหน้าหรือไม่มีตัวตน ยกตัวอย่าง เหงียน เติ๊น สุง ค่อนข้างจะเป็นคนที่มีอิทธิพล เป็นที่รู้จัก ทำตัวโดดเด่นอยู่ในฝ่ายบริหารดูเรื่องเงิน ปัญหาปากท้องของประชาชนซึ่งได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าน่าจะได้ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรค แต่อาจไม่สามารถที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้เนื่องจากทำตัวโดดเด่นเกินไป แต่สื่อตะวันตกค่อนข้างให้ความชื่นชอบเพราะด้วยท่าทีที่สนับสนุนการปฏิรูปและเป็นคนที่แข็งกร้าวต่อจีน

              ลักษณะสำคัญอีกประการก็คือ การสร้างสมดุลทั้งในแง่ภูมิภาค เวียดนามมีอยู่ 3 ภูมิภาคคือ เวียดนามตอนเหนือ ตอนกลาง และตอนใต้ ดังนั้น ลักษณะคนแต่ละภูมิภาคจะโดดเด่นต่างกัน ซึ่งมีคนให้ข้อสังเกตไว้ว่า เลขาธิการพรรคมักเป็นคนมาจากเวียดนามตอนเหนือเพราะด้วยอุดมการณ์เข้มแข็ง นายกรัฐมนตรีมักจะเป็นคนมาจากเวียดนามตอนใต้ เพราะมีประสบการณ์เรื่องการดูแลธุรกิจ เศรษฐกิจ การค้าต่างๆ และประธานาธิบดีก็อาจมาจากภาคกลาง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นลักษณะแบบนี้ทุกครั้ง แต่ในสมัชชาครั้งที่ 6 ปี 1986 ได้มีกระแสการปฏิรูปแรงมาก เวียดนามจึงได้มีการประกาศใช้นโยบายโด๋ยเม้ย และคนที่ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคขณะนั้นคือ เหงียน วัน ลิงห์เป็นคนมากจากเวียดนามใต้ เรียกได้ว่าอยู่สายปฏิรูป ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์ไว้ว่านายกรัฐมนตรีที่จะมาต้องอยู่สายอนุรักษ์ก็คือ โด๋ เหมื่อยเพื่อมาถ่วงดุลกัน วาระต่อไป โด๋ เหมื่อยจึงขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรค ดังนั้น คนที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องเป็นคนเวียดนามใต้เหมือนกันและอยู่สายปฏิรูปก็คือ ฟาน วัน ข่ายคือลักษณะนี้เรียกว่าลักษณะการถ่วงดุล ฉะนั้น สภาวะผู้นำร่วมเวียดนามก็จะมีตำแหน่งที่ถ่วงดุลกันอยู่ประมาณ 3-4 ตำแหน่ง  ได้แก่ เลขาธิการพรรค นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี และประธานสภาผู้แทนราษฎร

              ลักษณะสำคัญอีกข้อก็คือ ค่อยเป็นค่อยไป การเมืองเวียดนามจึงเป็นไปแบบช้าๆเพราะมีหลายกลุ่มหลายฝ่าย ดังนั้น นโยบายที่ออกมาจึงมีลักษณะประนีประนอมทั้งความคิด ท่าทีของกลุ่มอะไรต่างๆ ดังนั้น การเลือกผู้นำในครั้งนี้ได้สะท้อนความต้องการที่ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ประนีประนอมมากกว่าแตกหัก อาจมีความต้องการที่จะปฏิรูปบ้างหรือมีการแข่งขันทางอำนาจบ้างแต่ไม่มีลักษณะรุนแรงจึงทำให้ระบบผู้นำร่วมรักษาเสถียรภาพไว้ได้  

 

คุณอดิศร เสมแย้ม (สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)    

            ประเด็นหลังการประชุมใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559 สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาข้อแรกคือ การสืบต่อทายาทของสหายอดีตผู้นำ (Nepotism) ข้อที่สอง อิทธิพลเวียดนามในพรรคทำให้ลดแรงต้านกระแสจีนของประชาชนที่แผ่ขยายเข้ามาในลาว เห็นได้จากมีการปลดผู้นำที่มาจากสายจีนเกือบทั้งแผง สุดท้ายคือ เกิดเสถียรภาพภายในกองทัพ มีการแต่งตั้งกันข้ามขั้ว สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างไรในลาว คาดการณ์ได้ว่า อนาคตผู้นำคนใหม่ของลาวซึ่งจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติในวันที่ 10 มีนาคมนี้ จะเป็นใคร แผนพัฒนาสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 และวิสัยทัศน์ 2030 ของลาวจะไปในทิศทางใด เรื่องการกระจายอำนาจซึ่งมีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2015 ที่ออกมาใหม่ซึ่งลาวจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นคือ การเลือกตั้งสภาประชาชนแขวงภายในปีนี้ ลาวจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมอาเซียน จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนที่พนมเปญหรือไม่ แล้วในการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐ ฯ สมัยพิเศษ (U.S.-ASEAN Leaders Summit) ที่กำหนดจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ นายทองสิง ทำมะวง รักษาการนายกรัฐมนตรี จะตอบคำถามเหล่านี้อย่างไร เช่น กรณีปัญหาทะเลจีนใต้และกรณีปัญหาสิทธิมนุษยชนในลาว หรือกรณีนายสมบัด สมพอน นักพัฒนาของลาว เจ้าของรางวัลแมกไซไซหายตัวไป กรณีความสัมพันธ์ระหว่างเวียงจันทน์กับวอชิงตันและปักกิ่งจะเป็นอย่างไร และการเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร

หลังลาวมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองปี 1975 มีผู้กุมอำนาจสูงสุดอยู่ 3 คนด้วยกัน คนแรกคือ ท่าน   ไกสอน พมวิหาน เห็นได้จากมีอนุสาวรีย์ท่านไกสอนอยู่ทั่วประเทศ ถือว่าเป็นวิศวกรทางการเมืองของลาว และท่านที่สองคือ ท่านหนูฮัก พูมสะหวัน ซึ่งเกิดที่มุกดาหารแต่ได้เข้าร่วมกับขบวนการปลดปล่อยในลาว ท่านสุดท้ายคือ ท่านคำไต สีทันดร ซึ่งเคยเป็นผู้นำประเทศและเป็นเลขาธิการพรรคแต่ลงจากตำแหน่งก่อนเพราะอายุ 90 ปี ทั้งสามท่านนี้ได้ฉายาว่า สามเหลี่ยมเหล็กของลาว คนที่ยังมีชีวิตอยู่ เหลือเพียงท่านเดียวคือ ท่านคำไต สีทันดร ซึ่งก็ยังมีอิทธิพลในลาวอยู่บ้างในปัจจบัน ในสมัยที่ท่านคำไต สีทันดรลงจากตำแหน่งก็มีการแลกเปลี่ยนทางผลประโยชน์เกิดขึ้น โดยให้ท่านจุมมาลีขึ้นมาเป็นประธานประเทศแทนซึ่งเป็นการขึ้นมาทางสายทหาร เห็นได้ว่า บทบาทผู้นำประเทศลาวต้องกุมอำนาจทางทหารด้วยเพราะมีเรื่องทางเสถียรภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ปรากฏว่าท่านคำไต สีทันดรส่งทายาททางการเมืองเข้ามาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือ นายบัวสอน บุบผาวัน แต่ผู้นำพรรครุ่นเก่าไม่พอใจ เนื่องจากเป็น Technocrat จึงต้องลาออกก่อนหมดสมัยของรัฐบาล อีกท่านก็เป็นทายาททางการเมืองคือ นายสอนไซ สีพันดอนที่ก้าวกระโดดเร็วมาก จากที่เคยเป็นลาวเจ้าแขวงแล้วเข้ามาเป็นศูนย์กลางพรรค เป็นรัฐมนตรีประจำการรัฐบาล และปัจจุบันได้เข้าสู่กรมการเมือง

ก่อนที่ท่านนายทองสิง ทำมะวงจะสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งจะหมดอำนาจในเดือนมีนาคมนี้ ท่านทองลุน สีสุลิดกับท่าน สมสะหวาด เล่งสะหวัด คนหนึ่งดูทางด้านต่างประเทศ อีกคนดูทางด้านเศรษฐกิจ สองคนนี้แข่งกันเพื่อขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ตกลงไม่ได้ ท้ายสุดก็ต้องนำเอาท่านทองสิง ทำมะวงกลับขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี อีกท่านคือ นายดวงใจ พิจิด เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศหรือกลาโหม อดีตเคยเป็นแม่ทัพในสงครามหล่มเกล้า แล้วก็จะมี ท่านจูมมะลี ไซยะสอนกับท่านบุญจันทน์ บ่อจิดซึ่งได้รับการเลือกตั้งให้มาเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ซึ่งคาดว่าอาจจะควบตำแหน่งประธานของประเทศด้วย

ประวัติทางการเมืองของลาวที่ไม่เหมือนกับเวียดนามก็คือ ประธานของประเทศหรือประธานาธิบดีจะเป็นตำแหน่งที่ควบคู่กับตำแหน่งเลขาธิการพรรค ในขณะที่ประเทศเวียดนามจะแยกออกจากกัน และได้ตั้งข้อสังเกตการเมืองลาวไว้ดังนี้ คณะกรรมการบริหารศูนย์กลางพรรคทั้งหมด 69 คนนี้ ส่วนใหญ่ล้วนมาจากต้องมาจากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวพันหรือเกี่ยวดองกันไม่ว่าจะเป็นญาติ พี่น้อง ลูกเขยหรือแม้แต่ป็นทายาทของผู้นำรุ่นเก่าถึง 11 คน และก็พบว่ามี 32 คน หรือ 46 % เป็นพวกที่เข้าป่าในช่วงที่เกิดการปฏิวัติแต่ก็กลับมาเข้าร่วมกับพรรคหลังปี 1975 ลาวเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีถึง 37 คนและคนที่เข้าพรรคก่อนปี 1975 มี 7 คน ซึ่งตรงนี้บ่งบอกได้ว่าผู้นำรุ่นเก่าก็ไปตามสังขารและเมื่อมาดูอายุเฉลี่ย ประมาณ 49 ปี อายุต่ำสุด 46 ปี ที่อายุสูงสุดคือ พันเอก บุนยัง วอละจิด เกือบ 80 ปี ตำแหน่งเลขาธิการต่อมา ชุดที่เป็นกรมการเมืองชื่อ ทองลุม สีสะวิด เคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ คาดการณ์ว่าท่านอาจได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และท่านมีความสามารถทางด้านเศรษฐกิจ อีกท่านชื่อ นายไซสมพอน พมวิหาน เคยเป็นเจ้าแขวงสะหวันเขตซึ่งเป็นลูกชายของนายไกสอน พมวิหานปัจจุบันเป็นรองประธานสภาแห่งชาติซึ่งก็ได้มีการคาดการณ์ว่าจะได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน

ในความสัมพันธ์กับเวียดนาม สังเกตได้ว่า ส่วนใหญ่บุตรหลานของผู้นำรุ่นเก่าที่ถือว่าเป็นคู่มิตรเคยร่วมรบกับเวียดนามต้องไปเรียนทฤษฏีการเมืองที่เวียดนาม แล้วจากตรงนี้ หลังลาวมีการเปลี่ยนแปงทางการเมืองหรือหลังจากเลือกตั้งกองประชุมใหญ่ไปแล้ว ในบทบาทของเวียดนามกับจีน เพราะเวียดนามได้ส่งพล.อ.เล ห่ง แอง กรรมการประจำกรมการเมืองพรรคคอมมิวนสิต์เวียดนามในนามทูตพิเศษของนายเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามมาเยือนจีน ส่วนประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้ส่งทูตพิเศษนายซ่ง เถา มาเยือนลาว จีนเป็นประเทศแรกที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือรายใหญ่โดยได้เข้ามาให้เงินลงทุนในลาวค่อนข้างมาก เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงให้เงินลงทุนแก่ลาว 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และโครงการดาวเทียมลาวแซท (Laosat) โครงการบึงท่าหลวง รวมแล้ว 7,000 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น ซึ่งตรงนี้จีนจะมีลูกเล่นอะไรต่อหรือไม่ สุดท้ายอย่างไรแล้วลาวเองก็ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศอยู่ และอนาคตการเมืองลาวก็ต้องพัฒนาเป็นลักษณะคล้ายกับจีนคือ มีการแยกกันระหว่างเศรษฐกิจกับการเมือง ประชาชนส่วนใหญ่ก็มีความนิยมชื่นชอบในพรรคการเมืองเพราะมองเห็นภาพการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และลาวได้แก้กฎหมายการปกครองเพิ่ม ในนั้นได้มีการระบุถึงสิทธิมนุษยชนซึ่งอาจจะหมายถึงการกระจายอำนาจ สุดท้ายลาวก็จะสามารถที่จะพัฒนาต่อไปทางด้านเศรษฐกิจเพราะลาวมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่  8 (2016-2020) และมี Vision 2030  ซึ่งลาวได้มองถึงการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีรายได้ระดับปานกลางและต้องการที่จะมี GDP เติบโตขึ้น โดยในแผนปี 2016-2020 ลาวต้องการที่จะมี GDP เพิ่มขึ้น โดยประชากรต้องมีรายได้ 3,100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหัว ลาวได้ตั้งเป้าไว้ว่าอัตราเศรษฐกิจต้องโต 7.5% ซึ่งปัจจุบันคิดว่าน่าจะเป็นไปได้เพราะในปัจจุบัน ลาวมีอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 6.4% ด้วยการส่งออกสินค้า เช่น โภคภัณฑ์ แร่ เป็นต้นดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ลาวมีการวางแผนไว้ 2 ช่วงด้วยกันคือ ในปี 2016-2020 และ ปี 2030

 

คุณสุภลักษณ์  กาญจนขุนดี (สำนักข่าวเดอะเนชั่น) 

              ด้วยระบบการปกครองของสองประเทศนี้ที่พิเศษไม่เหมือนใคร ในมุมมองของนักหนังสือพิมพ์จะเป็นอีกแง่หนึ่ง ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ของทั้ง 2 ประเทศที่จัด 5 ปีต่อครั้ง ซึ่งในการประชุมทุกๆครั้งเรามีโอกาสรู้ยากมากโดยมากจะรู้กันภายใน แต่ในการประชุมครั้งนี้เป็นที่น่าเสียดายเพราะปิดกั้นสื่อมวลชนจากต่างประเทศ ยกเว้นแต่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปหรือที่อยู่ในกลุ่มเดียวก็คือ ประเทศเวียดนามและจีนเพราะมีสำนักงานอยู่ที่นั่น   โดยปกติเวียดนามจะจัดการประชุมสมัชชาก่อนลาวซึ่งจะจัดไล่เลี่ยกันอาจจะห่างกันเป็นเดือน แต่ในครั้งนี้ เวียดนามประกาศวันจัดประชุมก่อนลาว ในขณะที่ลาวไม่ประกาศวันจัดล่วงหน้า รอจนก่อนวันจัดประชุมหนึ่งวัน จึงมีประกาศเปิดประชุมจึงทำให้การประชุมครั้งนี้ตื่นเต้น น่าสนใจและเดาทางยากขึ้น ดังนั้น จึงต้องทำความเข้าใจใหม่ในการทำนายความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทางการเมืองของทั้งสองประเทศนี้ได้ เพราะด้วยบุคลิกลักษณะที่เหมือนกัน และตกอยู่ในสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมแบบเดียวกัน

เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประการ ประการแรกคือ การเปลี่ยนแปลงในผู้นำหรือตัวบุคคลในครั้งนี้บอกอะไรได้บ้าง ประการที่สองความท้าทายใหม่ๆ หลังจากที่เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำในชุดนี้แล้ว และในการเปลี่ยนแปลงผู้นำที่ผ่านมา วิเคราะห์ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงได้สะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองของทั้งสองประเทศนี้ ออกเป็นคู่ๆ ดังนี้ คู่แรก เกิดการแข่งขันกันระหว่าง Old Guard  กับ New Generation คู่สองเกิดการแข่งขันกันระหว่าง กลุ่ม Conservative กับ Liberal คู่ที่สามคือ การชมชอบขั้วต่างๆ ของผู้นำในกลุ่มต่างๆ เมื่อก่อนในเวียดนามก็จะพูดกันว่าชอบจีนและโซเวียตในยุคปี 80 ส่วนในลาวก็ชอบจีนกับโซเวียต แต่ด้วยสมการทางการเมืองของโลกมันเปลี่ยน ในศตวรรษที่ 21 เราไม่เหลือสหภาพโซเวียตให้ชอบอีกต่อไปแล้ว แต่การแข่งขันทางอำนาจระหว่างจีนกับเวียดนามยังมีอยู่ แต่มันเป็นการแข่งขันที่ไม่เท่ากันและอิทธิพลของทั้งสองประเทศก็แตกต่างกันค่อนข้างมาก ถ้าหากเราจะเข้าหาทางจีน แต่ก็ยังชอบเวียดนามอยู่ จะเกิดปัญหากรณีที่พูดว่ากลุ่มที่อาวุโสมากไปในกรณีที่ท่านจูมมาลี ท่านสมสะหวาด ท่านอาซาง นักการเมืองอาวุโสรุ่นเก่าซึ่งมีอายุมากหลายคนอายุเกิน 70-80 แล้วควรที่จะวางมือทางการเมืองหรือไม่ เพราะด้วยอย่างไรก็ไม่สามารถรั้งความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้

ได้มีการเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นต่างๆ กับเวียดนามเหวียน ฝู จ่องเป็นคน Conservative และออกจะเป็นพวกชอบจีนด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับอิทธิพลทางสหรัฐฯ ที่เข้ามาใหม่ ถ้าหากจีนประสบความล้มเหลวในการที่จะ Lobby ให้ผู้นำในสายของตัวเองอยู่ในอำนาจในพรรคได้ แต่ทำไมจึงประสบความสำเร็จในการ Lobby ให้ผู้นำอยู่เวียดนามซึ่งอิทธิพลจีนในเวียดนามไม่น่าจะมีมากเพราะเป็นศัตรูกัน จึงกลายเป็นว่าจีนมีอิทธิพลเหนือเวียดนามในสมัย เหวียน ฝู จ่อง ในสมัยถัดไปคือ สมัยของเหวียน ฝู จ่องในสมัยที่สองและเวียดนามก็สามารถคงอำนาจของตัวเองในลาวได้ซึ่งก็อาจจะดูสมดุลดี เพราะคิดว่าจีนเองสูญเสียอำนาจตัวเองในพรรคลาว และคิดว่าการจะมองอันใหม่ที่พอจะมองได้และอาจจะดูเป็นจริงได้มากกว่าคือ การพูดถึง Old Generation กับ New Generation ซึ่งอาจจะให้อะไรได้มากกว่า

การประชุมสมัชชาในเวียดนามและในลาว ของลาวเป็นการประชุมสมัชชาครั้งที่ 10 ของเวียดนามเป็นการประชุมสมัชชาครั้งที่ 12 ซึ่งเข้าใจว่าทางอาจารย์อดิศรได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลาวได้อย่างละเอียดและลึกซึ้งแล้ว ฉะนั้น ขอนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับเวียดนาม เป้าหมายของเวียดนามหลังประชุมสมัชชาครั้ง 12 คือ ความต้องการให้อีก 5 ปีข้างหน้า มีอัตราการเติบโตของ GDP เป็น 6.7 % แล้วมีรายได้ต่อหัวประชากร 3,750 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อปี แต่ปัจจุบันพียงแค่ 2,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อปี และต้องการที่จะพัฒนาประเทศตนเองไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมและเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง สุดท้ายคือต้องการไปสู่ประเทศที่เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย ส่วนลาวก็คล้ายๆ กัน แต่จะต่างกันเพราะที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตสูงกว่าเวียดนามเพราะทำได้ 7.9 % และในอีก 5 ปีข้างหน้าจะพยายามไม่ให้ต่ำกว่า 7.5 % เฉลี่ยอัตรา GDP ต่อหัว 1,970 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ดังนั้น ลาวจึงมีความพยายามมากกว่าเวียดนาม โดยทั้งสองประเทศนี้จะเหมือนกันเวลาออกชุดของแผน จะมี 3 ตัวคือ อันแรกจะเป็น Long term vision คือแผนระยะยาว 15 ปี และแผนระดับกลางคือ Mid term ก็คือถึง 2025 และแผนระยะสั้นคือ Action Plan แผน 5 ปีก็คือในแผนว่าต้องทำให้ได้

สถานการณ์ที่ทั้งสองประเทศนี้ต้องเจอ ข้อแรกคือ เศรษฐกิจของโลกเกิดการชะลอตัว ฉะนั้นไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทั้งสองประเทศต้องการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นจะสำเร็จหรือไม่ ข้อที่สองต้องเผชิญกับการแข่งขัน อำนาจ ความขัดแย้งกับมหาอำนาจใหญ่ที่เป็นเพื่อนบ้านของตัวเองคือ ประเทศจีน โดยเฉพาะเวียดนามนั้น การขัดแย้งกับจีนมีความรุนแรงแต่มันหมายถึงการแย่งชิงพื้นที่ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้นั้นที่เป็นปัญหาและการแข่งขันกันเองก็อาจจะเกิดขึ้นและไม่อาจจะหยุดลงได้ง่าย กล่าวคือเวียดนามอาจเผชิญอยู่แค่ตนเองอาจขัดแย้งกับจีนในขณะที่ต้องเจอกับการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ต้องทำก็คือ จะรักษาความสมดุลไว้ได้อย่างไรเพราะต้อง Balance ทั้งจีนและสหรัฐฯ ผู้นำลาวนั้นมีความกระตือรืนร้นพอสมควรเพราะมีความมั่นใจที่จัดงานใหญ่ 3 งานในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาใหญ่ เดือนมีนาคมก็จะมีการเลือกตั้งและลาวเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ แล้วทางเลือกที่ผู้นำต่างๆ จะเลือกใช้เพื่อสร้างดุลยภาพนั้นจะต้องทำอย่างไร การเปลี่ยนแปลงในเวียดนามนั้น ได้เหวียน ฝู จ่องมาเป็นเลขาธิการเป็นสมัยที่สอง ก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตหรือการวิเคราะห์ไว้ว่าเวียดนามจะมีปัญหากับสหรัฐฯ หรือไม่ เพราะเวียดนามมีการอ่อนข้อหรือเปิดรับจีนมากขึ้น

ประเด็นที่จะขอเสริมคือ หลังจากการออกไปของเหงียน เติ๊น สุงจาก Political Bureau ทำให้ดุลยภาพการวิเคราะห์แบบเดิมคือ คนที่โน้มเอียงไปทางสหรัฐอเมริกาเป็นคนที่ Liberal Progressive แต่ถ้ามาดูจริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะเราพบว่า ฟาม มินห์ จิ๋น อยู่ใน Political Bureau และเป็นรองนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นคนที่จบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาและก็ติดต่อประสานงานกับสหรัฐอเมริกามาโดยตลอดแปลว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้เสียอะไรไปจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในครั้งนี้ อีกคนหนึ่งเพิ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการใหญ่ที่โฮจิมินท์ซิตี้แสดงว่า เวียดนามนั้นไม่ได้มีความอึดอัดหรือลำบากใจในการที่จะเปลี่ยนแปลง เริ่มมีการเปิดกว้างมากขึ้นคือเริ่มมี Capitalism อย่างไม่ลังเล สุดท้ายกรณีคล้ายๆกับลาวแต่เวียดนามอาจจะดีกว่าตรงที่ผู้นำไม่ทิ้งลูกหลานของตนเองให้อยู่ในพรรคมากจนเกินไป แต่ขณะที่ลาวปล่อยให้ลูกหรือหลานของผู้นำรุ่นเก่าอยู่ในพรรคมากเกินไปจนกังวลไปว่า ประเทศนี้จะมีการพัฒนาประเทศต่อไปอย่างไร ยกตัวอย่าง คนในสกุลดังของลาวในวงการเมือง เช่น นายไชสมพอน พมวิหาน และสันติพาบ พมวิหานบุตรชายของอดีตประธาน ไกรสอน พมวิหาน นางเวียงทอง สีพันทอน บุตรสาวอดีตประธานประเทศ คำได สีพันดอน นายสอนทะนู ทำมะวง บุตรชายทองสิง ทำมะวง นายเอกสะหว่าง วงวิจิด หลานของนายพูมี วงวิจิด อดีตผู้นำรุ่นเก่า เป็นต้น เพราะฉะนั้น คนเหล่านี้จะผลักดันหรือนำพาประเทศลาวให้คืบหน้าต่อไป สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญในระยะสั้นนี้ก็คือ สถานการณ์การแข่งขันอย่างสูงมากในโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวและแรงกดดันที่ตนเองได้ตั้งเป้าหมายไว้ แต่ในกรณีของลาวนั้นอาจจะเป็นห่วงอยู่บ้างกับท่านพันเอก บุนยัง วอละจิดที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วง 1991 - 1998 เป็นช่วงที่ลาวต้องเผชิญกับความยากลำบากหลังประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ท่านว่านอกจากจะ inactive และไม่มีวิสัยทัศน์ในแง่การบริหารการพัฒนาประเทศ ดังนั้น สิ่งที่รู้สึกได้ในตอนนี้คือ แปลกใจและประหลาดใจว่า เลือกให้ท่านอยู่ในตำแหน่งสำคัญในสถานการณ์ที่โลกกำลังต้องการความคิดสร้างสรรค์มากมายได้อย่างไร

คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล (ที่ปรึกษาคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย)

              ในประเด็นทางเศรษฐกิจให้แบ่งมุมมองของระบบทุนนิยมออกเป็น 3 ระดับคือ โลก ภูมิภาค และประเทศไทย เพราะเรามองแต่ตัวเองมาตลอด ฉะนั้น เราจึงมีปัญหา และหากเป็นลักษณะนี้จะแก้ไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนความคิด อันดับแรก หากเรามองไปที่โลกจะมองเห็นข้อตกลงในระดับโลก มีความเชื่อมโยงกับเราโดยมีองค์กรและข้อตกลงหรือกฎระเบียบร่วมกัน เช่น ข้อตกลงใน EU (The European Union); WTO (The World Trade Organization), UNFCC (United Nations Framework Convention on Climate Change); ILO (International Labour Organization); TPP (The Trans-Pacific Partnership) เป็นต้น ปัญหาตอนนี้คือ เรารู้หรือไม่ว่ามันคืออะไร หรือเรามีข้อตกลง และเตรียมตัวไปเจรจา และเมื่อเราเจรจาแล้วเรามีการนำมาใช้หรือไม่ คือเราต้องรู้ กฎระเบียบ แล้วเป็นเรื่องของใคร คำถามคือ ประเทศไทยจะยอมให้คนเหล่านั้นเป็นผู้กำหนด เท่ากับว่าข้อตกลงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม และได้ยกอย่างให้เห็นภาพ ในการประชุม UNFCC ก็จะมีแต่ผู้นำประเทศเข้าร่วมประชุมกัน แต่ในขณะที่ WTO จะส่งแต่ผู้ช่วยรัฐมนตรีไป ฉะนั้น ควรตามดูและทำความเข้าใจ เราถึงจะจัดวิธีการเดินทางเศรษฐกิจได้ อันที่สอง มองไปที่ภูมิภาคซึ่งจะเริ่มใกล้ตัว อย่างเช่น AEC ซึ่งเรารู้จักและเข้าใจ แต่เราลืมว่ามีอยู่อีก 2 เสาที่เราไม่ได้มองคือ เสาสังคมวัฒนธรรม การเมืองและความมั่นคง เราไม่พูดถึงเลยแม้กระทั่งองค์กรระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศไม่มีการพูดถึงเลยทั้งๆที่มีความเชื่อมโยงต่อกัน เพราะทุกวันนี้เรามองแต่ AEC แต่แยกออกไป 2 เสาเราก็คงต้องแยกประเทศไทยออกไป  3 ส่วนคือ เท่ากับต่างคนต่างเดิน แต่ไม่แน่ใจว่าลาวกับเวียดนามมีมุมมองเหมือนกับไทยหรือไม่ เพราะถ้าไม่ก็อันตรายมากสำหรับไทย ดังนั้น อะไรจะเกิดขึ้นในภาคการผลิต ธุรกิจ บริการหรือระบบเศรษฐกิจทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผู้นำประเทศหรือนักธุรกิจหรือเราต้องคบคิดหรือหาวิธีกันต่อ การที่จะพัฒนาประเทศประเทศไปได้สิ่งที่สำคัญคือ ต้องรู้และเข้าใจ ไม่ใช่เพียงแค่ได้ยิน หากเราไม่มีรู้วิธีว่าจะดำเนินการอย่างไรให้ได้เสนอ Keys 4 ตัวด้วยกัน คือ เริ่มจากทำใจยอมรับสภาพและทำความเข้าใจและพร้อมที่จะนำไปพัฒนาและทำอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นเราต้องพร้อมที่จะปรับตัว

              ยกตัวอย่างกรณีที่เวียดนามได้ลงข้อตกลง TPP สิ่งสำคัญก็คือ มาตรการการลดภาษี และกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ตัวนี้จะเป็นตัวกำหนดภาษีว่าได้หรือไม่จากผลการศึกษาของ TDRI การค้าบริการ มาตรการเยียวยาทางการค้า การลงทุน เป็นต้น ส่วนไทยเองก็มีข้อกำหนดข้อบังคับเช่นเดียวกันแต่ติดตรงที่ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ และใช้ไม่เป็นเพราะเรารู้น้อยมาก  เรื่องที่น่าเป็นห่วงของไทยคือ เรื่อง TPP ว่าเราจะคิดช้าเกินไปหรือไม่ ในวันนี้หากไม่เราคิดไม่เข้า TPP ต้องรู้ว่าเราต้องทำอะไรและเรื่อง IP หรือเรื่องทรัพย์สินทางปัญหา โดยเฉพาะเรื่องยารักษาโรค หากสหรัฐฯ จะช่วยในการเจรจาให้แก่ไทยในการยืดสิทธิบัตรออกไป สหรัฐฯ ต้องการที่จะเรียกร้องในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ FTA คือ ต้องการผูกขาดนานขึ้น สิ่งซึ่งประเทศไทยกลัวก็คือ ยารักษาโรคมีราคาแพง ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาก็คือการเจรจาแต่มันก็ไม่เคยเกิดขึ้น และก็อยากรู้ว่าหากเป็นประเทศเวียดนามจะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร

              ขอฝากเพิ่มเติมกรณี ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ ISDS (Investor-State Dispute Settlement) ซึ่งน่าเป็นห่วงมากเพราะนักลงทุนสามารถฟ้องรัฐได้ ห่วงเพราะกลัว เนื่องจากมีเงื่อนไขใหม่สำหรับนักลงทุน แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องไปดูรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร เพราะเมื่อเราไปลงทุนประเทศไหนเกิดรัฐบาลได้ออกกฎระเบียบอะไรแล้วไม่ได้แล้วยึดทรัพย์หรือมีข้อกำหนดมาว่า ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังนั้นเราควรต้องหาวิธีการป้องกันตนเองโดยการศึกษ

กำหนดการงานสัมมนา  Download

ใบตอบรับ+แผนที่   Download

สรุปงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง “สปป.ลาว และเวียดนาม: ผู้นำใหม่ การเมือง และอาเซียน”​​  Download