


การเสวนาวิชาการ เรื่อง
“จักรวรรดินิยมกับการก่อการร้ายสากล:วิกฤตความมั่นคงโลกจากวินาศกรรม 9/11 ถึงโศกนาฏกรรมปารีส”
จัดโดย สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2558 เวลา 09.00 -12.15 น.
ณ ห้อง 210 ชั้น 2 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
************************************************************************************
โดย นาวาอากาศเอก ภูมิใจ เลขสุนทรากร
ผู้อำนวยการกองภูมิภาคศึกษา ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์มีการทำงานในเชิงวิชาการโดยเฉพาะเรื่องของอาเซียนและการก่อการร้าย ซึ่งทางศูนย์ฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ฉะนั้น เรื่องก่อการร้ายที่เกิดขึ้น บางท่านอาจจะโยงเข้ากับประเทศที่เป็นเมืองขึ้นซึ่งมองว่า กลุ่มคนบางกลุ่มที่ด้อยโอกาสไม่เคยมีสิทธิและไม่รู้กระทั่งคุณค่าของตัวเอง สามารถที่จะฆ่าตัวตาย บางครั้งก็มีการเชื่อมโยงในส่วนของเรื่องนี้เช่นกัน
เรื่องของความมั่นคง เราจะมองในแง่ของการปราบปรามในส่วนของเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว แต่ในส่วนของเหตุการณ์ที่ก่อนจะเกิดขึ้นยังไม่ค่อยมีคนคิด ดังนั้น จึงมีการคิดแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจรซึ่งสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ทั้งหมด สิ่งหนึ่งที่มีการพูดถึงคือ เรื่องศาสนาที่เป็นตัวหลักของเรื่องนี้ ถ้ามองย้อนกลับไปที่จักรวรรดิจะเป็นศตวรรษที่ 500 ตั้งแต่มีการสู้รบกันระหว่างสองศาสนานั้น ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ศาสนาอื่นๆ ทำไมจึงไม่ค่อยเกิดปัญหาในประเด็นเหล่านี้
ในส่วนของประเทศไทยนั้นจะได้รับผลกระทบหรือไม่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ที่ผ่านมา เราเผชิญกับปัญหาที่หน้าท้าวพระมหาพรหม แต่ก็มีเหตุจูงใจที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจจะไม่ได้เชื่อมโยงถึงตะวันออกกลาง แต่อาจจะเป็นอีกกรณีหนึ่ง ส่วนใหญ่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็มีเหตุจูงใจทั้งนั้นโดยมีการเมืองเป็นหลักซึ่งได้สร้างความไม่พึงพอใจให้เกิดขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ เราจะแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายได้อย่างไร จะเห็นได้ว่า เกิดผลกระทบในทุกมิติไม่ใช่เฉพาะในด้านของความมั่นคงเท่านั้น เช่น กระทบต่อประเทศชาติ การข้ามชาติ ระดับของสังคมในชีวิตในปัจจุบัน นอกจากนี้ การก่อการร้ายยังเชื่อมโยงไปถึงมิติอื่นๆ เช่น อากาศยาน การบริการ การท่องเที่ยว การเงิน การธนาคาร การขนส่ง และการสื่อสาร ซึ่งในส่วนนี้ลงไปถึงระดับของสังคมและบุคคล
ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะเป็นปฏิบัติการข้ามชาติแบบทางอ้อม หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้น ก็มีคำสั่งจากนายกฯ ให้ดูแลความปลอดภัยในด้านของการท่องเที่ยว โดยดูแลนักท่องเที่ยวเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังกระทบกับเศรษฐกิจ ประเทศในอาเซียนที่กระทบมากที่สุดก็คือ สิงคโปร์เพราะประเทศเป็นเกาะเล็กๆ ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็คงเปลี่ยนแปลงไปมาก นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้คนเกิดความวิตกกังวล และเกิดความไม่มั่นคงของสังคม ภาพการก่อการร้ายในพื้นที่ของภูมิภาคมีอยู่จำนวนมาก แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ คนที่ไปร่วมรบในเหตุการณ์ของสงครามที่อัฟกานิสถาน ในระยะเวลา 10 ปี มีคนไปร่วมรบประมาณ 10,000 คน ต่อมา ภายในเวลาไม่กี่เดือน ในตะวันออกกลาง กลุ่ม ISIS มีจำนวนกว่า 20,000 คนเข้าร่วมด้วย
ที่กล่าวมานั้น เป็นสิ่งที่น่าสนใจและไทยเราจะตั้งรับอย่างเดียวได้หรือไม่ ซึ่งประเทศไทยเราอ่อนแอมากในเรื่องความมั่นคงและการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ดังนั้น เราต้องสร้างความมั่นคงของประเทศให้ดี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ถึงโศกนาฏกรรมปารีส ความตระหนกของคนทั่วโลกซึ่งมีความกลัว คำว่ากลุ่มที่เป็น “หัวรุนแรงส่วนตัว” กับกลุ่มที่เป็น “อาสาสมัคร” นั้น มีผลกระทบอย่างแน่นอนทั้งในภาพของประเทศหรือภูมิภาค ประเทศไทยของเราไม่ได้เป็นประเทศเป้าหมาย แต่เป็นประเทศที่เขาจะเข้ามาทำลายผลประโยชน์ของอีกฝ่ายหนึ่ง
ในส่วนของวิชาการศูนย์ยุทธศาสตร์ เรามีศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายสากล การก่อการร้ายทางบกและทางอากาศ แต่นั่นเป็นมาตรการที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาและปราบปรามเมื่อเกิดเหตุการณ์ ในปัจจุบัน เรามีแต่การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การฝึกอบรมคน เหล่านี้เป็นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ และเพิ่มความร่วมมือในประเทศที่เป็นอาเซียน สหรัฐฯ ก็เข้ามาช่วยในปี 2011 - 2013 โดยเข้ามาดูในเรื่องของการก่อการร้ายโดยเฉพาะ
สิ่งที่ท้าทายด้านความมั่นคงในอนาคต ถ้ามองในเรื่องนี้จะเห็นว่า ISIS เป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นและท้าทายมาก จะเห็นได้จากทุกวันนี้ ทุกประเทศก็พยายามที่จะทำอยู่และมีบางพื้นที่ที่สามารถยึดคืนกลับมาได้ เมื่อมองย้อนกลับมาที่เอเชีย แนวโน้มภาพของการก่อการร้ายในอนาคตก็คือ การรวบรวมคนที่ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องกับแนวความคิดทางด้านความรุนแรงผ่านสื่อ มีเดียต่างๆ ที่เป็นดิจิตอลเราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ประกาศทำสงครามทางโลกโซเชียลกับกลุ่ม ISIS และสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบกับอาเซียนแน่นอนไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อย่างเห็นเด่นชัด แหล่งที่มีคนเดินทางไปตลอดทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และคนเหล่านี้ยังเป็นวัยรุ่นที่มีแนวความคิดที่หลากหลาย และสองคือ การสูญเสียเน็ตเวิร์ค ผลก็คือจะเพิ่มความยากในการที่เราจะไปกำหนดหรือเสาะหาระบบบ่งชี้ของบุคคลที่กระทำผิด และสามคือ การกลับมาของนักรบที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของการรบ หรือคนที่ถูกจับและได้รับการปล่อยตัวออกมา เขายังไม่ได้ปลดแนวความคิดความรุนแรงออกไป จึงนำสิ่งเหล่านี้ไปเผยแพร่ให้ผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราคิดที่จะจำกัด เราก็มีกองกำลังที่มีองค์กรหลายๆ องค์กรมาร่วมมือกันในการเข้าไปแก้ไขปัญหา เราอาจจะขอใช้ความร่วมมือระดับนานาชาติมาใช้ในการแก้ไขปัญหา ในปัจจุบัน เราก็ทำแบบนั้นอยู่ และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ถ้าเรามองจากจุดเริ่มต้นแล้วมองย้อนกลับมาเราควรจะทำอย่างไรกันต่อไป เราไม่ต้องการให้คนในประเทศไทยเข้าไปร่วมรบที่นั่น ไม่ต้องการให้คนที่กลับมาอยู่ที่ไทยแล้วมาเผยแพร่แนวความคิด และคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ทำตามแบบอย่าง ก็จะไม่มีจุดจบ
สิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์ในเรื่องของประวัติศาสตร์ค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องของการกดขี่ข่มเหง เราจะคิดอย่างไรให้ครบวงจร สำหรับคนที่กลับมาแล้วและถูกจับได้ก็จะมีโครงการฟื้นตัวเรียกว่า “โครงการฟื้นฟู” ซึ่งมีอยู่ในหลายๆ ประเทศ และไม่ต้องเอาคนเหล่านี้เข้าไปมีส่วนร่วมในความสัมพันธ์กับภาคของประชาสังคมด้วย ภาคประชาสังคมมีความสำคัญมากเพราะภาครัฐไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้เพียงอย่างเดียว เราได้ทำการศึกษามาแล้วว่า ถ้าหากให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายด้วยความรุนแรงจะไม่มีทางที่จะแก้ไขได้ ต้องให้ภาคประชาสังคม ประชาชน และครอบครัว เข้ามามีส่วนร่วมด้วย แต่ก็ต้องมาดูกันว่าเราจะมีความคืบหน้าอย่างไรต่อไป ขณะนี้ โครงการที่เป็นการฟื้นฟูแนวความคิดในเชิงรุนแรงและแนวความคิดเชิงการก่อการร้ายนั้น ประเทศอียิปต์ได้ดำเนินโครงการนี้มาแล้วตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 9/11 โดยได้ทำในเรื่องนี้กับกลุ่มหัวรุนแรงและกลุ่มก่อการร้ายในประเทศของเขาและทำมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้น ก็มีซาอุดิอาระเบีย เยเมน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อุซเบกีสถาน ศรีลังกา ปากีสถาน อิรัก โซมาเลีย และโอมาน ประเทศที่ทำแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็คือ อินโดนีเซีย
สหรัฐฯ ไม่ได้ศึกษาแนวความคิดที่จะเอาโครงการเหล่านี้มาฟื้นฟู อังกฤษ มัลดีฟส์ โมร็อกโค อินเดีย ทำโครงการนี้ แต่ว่าประสบความสำเร็จไม่เกิดผลกระทบใดๆ ส่วนไทยยังไม่ได้เริ่มต้นโครงการนี้ อาจจะเป็นเพราะว่ายังไม่ได้ให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ แต่ถ้ามันเกิดขึ้นก็จะมีผลกระทบแน่นอน ไม่ใช่แค่ประเทศ แต่ทุกพื้นที่ของประเทศจะโดนผลกระทบหมด ระบบการป้องกันของไทยยังอ่อนแออยู่ และเราจะทำอย่างไรในเรื่องนี้ ถ้าพื้นที่ในตะวันออกกลางโดนตีแตกจริงๆ รับรองว่าผลกระทบต้องย้อนกลับมาอย่างแน่นอน เพราะประเทศไทยคือทางผ่านและไทยก็เข้าออกง่าย การที่เรายังไม่เคยเป็นอาณานิคมของใครก็เลยไม่มีแนวความคิดทางสังคมมากเท่ากับประเทศอื่น แต่อนาคตอาจจะเป็นสิ่งที่ต้องตั้งเป้าหมายไว้
เพราะฉะนั้น การที่จะลดแนวความคิดในเชิงของการก่อการร้าย ในภาพรวมต้องเข้าไปสู่ระดับยุทธศาสตร์ การกำหนดยุทธศาสตร์ทางด้านความคิด สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องเข้าใจแนวคิดพื้นฐานของการก่อการร้ายนั้นๆ ว่าคืออะไร ซึ่งคิดว่าความคิดในบริบทของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างเช่น กลุ่มความคิดในตะวันออกกลางที่ไปทำในยุโรปอาจจะแตกต่างกันและอาจจะมีบางส่วนที่เหมือนกัน ที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ของศาสนาอิสลามกับศาสนาอื่นนั้นเป็นอย่างไร มีการเชื่อมโยงกันอย่างไร เพราะฉะนั้น ความท้าทายของเราก็คือ เราจะแก้ไขปัญหาโดยการใช้ความรุนแรงไม่ได้เลยและต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้จริงๆ เชี่ยวชาญในเรื่องศาสนาจริงๆ ในการเข้าไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ถ้าคนเหล่านี้เป็นคนไทย เราจะดึงให้เขากลับมาอยู่ในสังคมของเราได้อย่างไร ให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติแบบคนทั่วไปได้อย่างไร ให้เขารู้สึกว่าชีวิตเขามีคุณค่ามากกว่าการที่จะไปฆ่าผู้อื่นและโลกก็มีสิ่งที่สวยงามไม่ใช่มีแต่สิ่งที่มืดมิดอยู่ตลอด ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงในเชิงของความคิดนั้น ภาครัฐยังทำเองไม่ได้ภาคประชาสังคมยังต้องให้ความช่วยเหลืออีกแรง ตอนนี้ในศูนย์ยุทธศาสตร์มีการกำหนดโมเดลใช้ชื่อของ “สธ.โมเดล” ก็คือ ภาคของประชาสังคม ภาคธุรกิจ และภาครัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความมั่นคง
สถิติของคนไทยที่ไปร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายนั้นยังไม่มี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศไทย และเรามีการป้องกันไม่ให้เกิดแนวความคิดอย่างนี้คือ การชนะทั้งใจและความคิด แล้วเราต้องสร้างให้เขาเห็นถึงคุณค่าของชีวิต สิ่งหนึ่งที่จะยึดความคิดของเขาได้ก็คือ ความเชื่อ เราจะดึงเขากลับมาสู่สังคมและระบบเศรษฐกิจของเราได้อย่างไร ย้อนกลับไปมองที่อดีต ในพื้นที่ที่ตะวันออกกลาง คนที่เกิดมาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่แห้งแล้ง หลังจากนั้นได้กลายเป็นจักรวรรดิของอีกฝั่งหนึ่ง ถ้ามีใครที่เห็นคุณค่าในตัวเขา ให้เขาไปทำอะไรก็ได้เพื่อที่จะให้อยู่ได้ดีขึ้นถึงแม้ว่าจะต้องตายยังไงเขาก็ต้องทำ เราจะทำอย่างไรที่จะดึงเอาความเชื่อทางศาสนามาสู่ทางสายกลางให้ได้
ในบทสรุปนี้ เหตุการณ์ 9/11 และเหตุการณ์ในฝรั่งเศส หรือเหตุการณ์ก่อการร้ายในหลายๆ พื้นที่ คนส่วนใหญ่ในประเทศทางตะวันตกจะไม่ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาในเชิงรากเหง้าของปัญหา คือ จะใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา แต่ในแนวความคิดทางเอเชียนั้นจะกลับมาศึกษาปัญหาในส่วนของรากเหง้ากันมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา และประเทศไทยก็ถึงเวลาที่จะต้องทำแล้ว ในส่วนของหน่วยงาน ทางกองทัพได้ทำในเรื่องของการบูรณาการในบริบทความมั่นคงที่ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ แต่ในส่วนของการแก้ไขปัญหานั้น ไม่ใช่แค่ภาคความมั่นคงเป็นคนแก้ไขเท่านั้นแต่ต้องอยู่ที่ภาคประชาสังคมด้วย
โดย ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ มะลูลีม
หัวหน้าสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในแง่มุมของประเทศตะวันตกในตะวันออกกลาง เหตุการณ์หนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากก็คือ เหตุการณ์อาหรับสปริงซึ่งมีการโค่นล้มเปลี่ยนแปลงผู้นำ โดยครั้งแรกเกิดขึ้นที่อินโดนีเซีย มีการลุกฮือประท้วงผู้นำของตนเองและจบลงด้วยการที่ผู้นำต้องไปลี้ภัยที่ซาอุดิอาระเบีย หลังจากนั้น มีการเลือกตั้ง อินโดนีเซียหลังการเปลี่ยนแปลงเป็นประเทศเดียวที่เลือกตั้งโดยระบอบประชาธิปไตยซึ่งพรรคศาสนายังคงอยู่ ใช้ระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผู้นำใช้ระบบปกครอง แม้ว่าจะได้มาโดยวิธีการเลือกตั้ง แต่ก็เชื่อว่า ปัญหาทางสังคมของความไม่เท่าเทียมเป็นการจุดประกายที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในตอนนั้น สหรัฐฯ พยายามช่วยเหลือผู้นำอินโดนีเซียที่ได้รับการสนับสนุนมาจนเกือบวาระสุดท้ายแต่ก็ทำไม่สำเร็จ
เหตุการณ์ต่อมาที่เกิดจากการลุกฮือของประชาชนคือ ประเทศอียิปต์ที่ปกครองมา 30 ปี ฝ่ายผู้นำเป็นทหารสืบเนื่องกันมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ทหารก็เข้ามาแทรกแซงเหมือนกับหลายๆ ประเทศ สหรัฐฯ ก็พยายามช่วยเหลือผู้นำอียิปต์จนเห็นว่าช่วยไม่ได้ก็หันกลับไปช่วยประชาชนแทน หลังจากนั้น เหตุการณ์ก็จบลง ผู้นำอียิปต์ไม่ได้หนีไปลี้ภัยเหมือนกับอินโดนีเซีย แต่ไปอยู่ในทะเลแดงที่เป็นสถานที่แห่งสันติภาพ ผลปรากฏว่า รัฐบาลล้มและการเลือกตั้งมีขึ้นโดยระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นระบอบประชาธิปไตยที่สหรัฐฯ ไม่ชอบ เพราะว่าผู้นำคนใหม่เป็นผู้นำมุสลิมและมีแนวโน้มที่จะเอนเอียงไปทางอิหร่านและปล่อยให้อิหร่านเข้ามาในบริเวณของตัวเองได้ ในที่สุด ก็มีการสนับสนุนจากประชาชนส่วนหนึ่งและภายนอกอีก เรียกว่ารัฐประหาร ในอียิปต์นั้นถือว่าเป็นการรัฐประหารที่ดีหรือเป็นการโค่นผู้นำทหารระบอบประชาธิปไตย และทหารก็ได้ขึ้นมาปกครองและสั่งให้ลงโทษฝ่ายตรงข้ามด้วยการประหารชีวิต อันนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่
ต่อมา เป็นเหตุการณ์ในเยเมนซึ่งจบลงด้วยการพูดคุยกันระหว่างอดีตประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดี ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ตามหลังมาอีกครั้ง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ใหญ่ที่สุดก็คือ ลิเบีย ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นก็คือ หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ในลิเบีย กัดดาฟี่ได้บอกว่า ไม่ควรนำเอากองทัพหรือทหารอื่นๆ เข้ามา เพราะว่าประชาชนยังให้ความนิยมอยู่แม้ว่าจะปกครองมา 40 กว่าปีแล้ว แต่ก็เป็นระบบเผ่า ขณะนั้น นานาชาติไปขอให้ UN เข้าไป โดยกล่าวหาว่ากัดดาฟี่กำลังคิดที่จะทำร้ายประชาชนของตัวเอง อันนี้ถือว่าเป็นการเข้ามาของต่างชาติ และในที่สุดก็ขอเข้ามาดูแลน่านฟ้าที่จัดการถล่มกัดดาฟี่โดยตรง และกัดดาฟี่แทนที่จะถูกสังหารโดยคนในประเทศตัวเองแต่กลับถูกฝรั่งฆ่าตาย ตอนนั้น ฝรั่งเศสเป็นหัวหอก ขณะที่ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกา เป็นแกนหลักของนาโต้ ในระยะนั้น ลิเบียเป็นประเทศที่รู้กันว่าผู้นำมีอารมณ์ที่ไม่ค่อยมั่นคง บางครั้งก็อยู่กับตะวันตก บางครั้งก็ต่อต้าน บางครั้งก็ปฏิเสธ หลายๆ ฝ่ายก็เลยจะเปลี่ยนกัดดาฟี่ โดยเฉพาะที่กัดดาฟี่ให้สัมปทานน้ำมันแก่ จีน รัสเซีย และบราซิล เป็นหลัก จึงมีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงโดยการยิงถล่มอยู่ 7 เดือน เหตุการณ์ก็จบลง
เหตุการณ์ที่ซีเรีย ประชาชนลุกฮือ แต่ว่าทันทีที่มีการลุกฮือ ก็มีอาวุธหลั่งไหลมาเพื่อการต่อต้านซีเรียทั้งจากสหรัฐฯ พันธมิตรอาหรับได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ โอมาน เพียงแต่ว่าครั้งนี้ได้ไปขอจากสหประชาชาติเนื่องจากคิดว่าจะได้อย่างเก่า ก็มีความย่ามใจที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศอื่นๆ ปรากฏว่าครั้งแรกรัสเซียไม่ได้ออกเสียงปฏิเสธ แต่จีนปฏิเสธ และอีกหลายๆ ประเทศก็ปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงซีเรียก็ยังรวมตัวกันเหนียวแน่น ในตอนนั้น การที่จะโค่นรัฐบาลต้องอาศัยกองกำลังฝ่ายต่อต้านจำนวนมาก จึงมีการสนับสนุนกลุ่มต่างๆ แต่ที่น่าเสียใจก็คือ แม้แต่กลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มก่อการร้าย ถ้ามาต่อต้านซีเรียก็ได้รับการสนับสนุนด้วย ซึ่งอิสราเอลก็เข้ามาแบบอ้อมๆ และไม่ได้สนับสนุนใดๆ โดยอยู่ฝ่ายเดียวกับสหรัฐฯ และพันธมิตรอาหรับ ไม่เคยเห็นเหตุการณ์แบบนี้ที่มีอิสราเอลเข้ามาร่วมทีมด้วย สิ่งที่เราได้เห็นก็คือ ซีเรียแตกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียมีความมุ่งหวังหลายด้านคือ โค่นล้มรัฐบาลซีเรียและสถาปนาการปกครองใหม่ และในขณะเดียวกันก็มีการปลุกเร้าว่าคนซีเรียส่วนใหญ่เป็นคนที่นับถือศาสนาคริสต์ซึ่งมีอยู่หยิบมือเดียวและปกครองมายาวนาน ในที่สุด เงินทองทุกอย่างถูกนำไปให้กลุ่มที่ต่อต้านซึ่งมีมากกว่า 20 กลุ่ม แต่เอาเข้าจริงแล้ว ไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลซีเรียได้ ในที่สุด ฝ่ายที่ต่อต้านก็กลายเป็นผู้ลี้ภัย ฉะนั้น จะไม่รับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่ได้เพราะส่วนใหญ่นั้นมาจากซีเรีย สาเหตุที่ไม่สามารถล้มรัฐบาลซีเรียได้ก็คือ ในซีเรียมีกองทัพของรัสเซียอยู่ด้วย อิหร่านมีทหารอยู่ 500 คนเข้าไปช่วย จากนั้นก็มีประเทศอื่นๆ ที่สนับสนุนเช่น ซูดาน เวเนซุเอลา แอลจีเรีย นี่คือเหตุการณ์สำคัญ และกลุ่มที่ต่อต้านนั้นก็มีอัลกออิดะห์กับ ISIS อยู่ด้วยที่ต้องการโค่นรัฐบาล เมื่อเอาชนะไม่ได้ ความคิดเห็นในกลุ่มที่สหรัฐฯ สร้างขึ้น โดยหนึ่งในนั้นก็กลายเป็นกลุ่มของ ISIS นั่นเอง ปรากฏว่ากลุ่มทั้งหลายที่ต่อต้านก็เลยวางอาวุธให้กับกองกำลังที่เข้มแข็งกว่า ISIS กับอัลกออิดะห์ก็แตกกัน อัลกออิดะห์คิดว่าการต่อสู้แม้จะตั้งรัฐอิสลามขึ้นมาก็ควรจำกัดเขตอยู่ในซีเรียและอิรัก แต่ว่า ISIS เองเมื่อสามารถขยายตัวของตัวเองได้โดยประกาศตัวเป็นรัฐก็ต้องการขยายออกไปให้กว้างไกล จึงใช้ชื่อใหม่ว่ากองกำลังรัฐอิสลาม
นี่ก็คือปฐมบทและที่เกี่ยวข้องกับฝรั่งเศสก็คือ ในตอนที่ฝรั่งเศสถล่มกัดดาฟี่โดยเป็นหัวหอกที่สำคัญในนามของนาโต้ในการถล่ม และในทำนองเดียวกัน ในการถล่มซีเรียนั้น ฝรั่งเศสก็เป็นหัวหอกที่สำคัญเช่นกัน เวลา 3 ปีผ่านไปนับตั้งแต่มีการก่อสงครามขึ้น สำหรับสหรัฐฯ การก่อสงครามในครั้งนี้มีความสำคัญและมีผลกำไรมากกว่าการชนะสงครามเสียอีก เพราะหลังจากสร้างกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลไม่สำเร็จ กลุ่มที่อยู่ในนั้นก็ลุกขึ้นมาแข็งข้อกับตัวเองนั่นก็คือกลุ่ม ISIS หลังจากนั้น ก็ต้องมาปราบปราม ISIS แต่การปราบ ISIS มีนัยแฝงอยู่ก็คือว่า สงครามในอัฟกานิสถานขาดทุน ประชาชนต้องแบกรับภาษี แต่การก่อสงครามครั้งนี้มีผลกำไรมากกว่าการที่จะชนะสงคราม หมายความว่า สหรัฐฯ อยากอยู่ในสงครามมากกว่าการชนะสงคราม ด้วยเหตุนี้เอง สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดมา 13 เดือนแล้วก็ไม่สามารถโค่น ISIS ได้ มีรายงานจากสื่อสหรัฐฯ ได้สำรวจทรัพยากรของพวกเขาและพบว่า อุตสาหกรรมอาวุธสามารถทำกำไรได้เป็นพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการก่อสงครามขึ้นที่ซีเรีย ในขณะที่พลเมืองต้องจ่ายภาษีและแบกรับค่าใช้จ่ายก็คือ อัฟกานิสถาน อิรัก และปากีสถาน ประเทศที่ซื้ออาวุธมากที่สุดก็คือประเทศอาหรับนั่นเอง จึงเป็นที่ปรากฏอย่างชัดเจนว่า ความมั่นคงในสหรัฐฯ ต่างหากที่ชี้นำการต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยเฉพาะนโยบายที่ทำให้สหรัฐฯ อยู่ในสงคราม
การสร้างนโยบายการใช้กำลังขึ้นมาในฐานะที่เป็นนโยบายต่างประเทศโดยรวมเข้ากับการปลุกเร้าในเรื่องของศาสนา สหรัฐฯ ก็เคยรบร่วมกับบินลาเดนเพื่อต่อสู้ไม่ให้คอมมิวนิสต์เข้ามาในแถบเอเชียใต้ และบินลาเดนเองก็ชอบเพราะว่าไม่ต้องการให้คอมมิวนิสต์เข้ามาในประเทศมุสลิม และเมื่อคิดเห็นต่างกัน บินลาเดนก็ถูกสังหาร ซัดดัม ฮุสเซนก็เคยร่วมกับสหรัฐฯ และเมื่อคิดเห็นต่างออกไปก็ถูกสังหารเช่นเดียวกัน แต่ ISIS เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาและทำให้กองกำลังเหล่านี้เข้มแข็งขึ้น อย่างไรก็ตาม การโค่นรัฐบาลซีเรียไม่สำเร็จเพราะแอลจีเรีย ซูดาน แอฟริกาใต้ บราซิล เวเนซุเอลา ยืนหยัดอยู่กับซีเรีย รัสเซีย อิหร่าน มีคนวิจารณ์ว่า โอบามาจะแตกต่างจากปูตินก็คือว่า ไม่ได้ตั้งใจจริงๆ ที่จะฟื้นฟูระเบียบในภูมิภาคเช่นนี้ นอกจากนั้น ยังสร้างนโยบายปั่นป่วนขึ้นมาอีกด้วย สิ่งที่โอบามาย้ำก็คือว่า “ต้องออกจากอำนาจ” แต่ในขณะเดียวกัน การทิ้งระเบิดที่เยเมนก็ไม่ได้รับการวิพากษ์แต่อย่างไร
ในรอบปี มีนักต่อสู้ชาวต่างชาติมาร่วมกับ ISIS มากกว่า 30,000 คน เด็กและคนมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลามได้เข้าร่วมกับซีเรียอย่างเป็นกลุ่มก้อน บางคนก็มาจากอนุทวีปของอินเดีย สาเหตุที่รัสเซียมาอยู่กับรัฐบาลของซีเรียเพราะถ้าไม่สามารถปราบ ISIS ได้ ปัญหาในบ้านของตัวเองคือ กลุ่มเชเชนจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน นี่ก็คือเหตุผลที่เราเห็นสงคราม ซีเรียมองเห็นได้ชัดเจนว่า ตะวันตกใช้แม้กระทั่งกองกำลังที่เป็นอัลกออิดะห์ที่อยู่ที่นั้น เพื่อทำลายผลประโยชน์ของรัสเซียและซีเรียในภูมิภาค ในปี 2015 โอบามาประสบความล้มเหลวในการฝึกกองกำลังต่างๆ ในซีเรียที่เรียกว่ากองกำลังสายกลางให้ไปสู้กับรัฐบาล และอดีตทูตของสหรัฐฯ ในซีเรียยอมรับว่าสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนฝ่ายต่อต้านซึ่งในนั้นรวมถึง ISIS ด้วย และเมื่อ ISIS ได้ตั้งรัฐอิสลามขึ้นมาก็วางกองกำลังให้และมีกลุ่มประชาชนจาก 20 กว่าประเทศ หากเป็นคนร่ำรวยก็สนับสนุนทางการเงิน แต่ที่น่าเสียดายก็คือว่า เมื่อตั้งเป็นกองกำลัง ISIS แล้วกลับใช้ความรุนแรงที่ค้านกับความคิดของศาสนาอิสลามที่เกิดขึ้น ในภายหลัง จึงไม่ได้รับการยอมรับจากโลกมุสลิม เพราะการสร้างความรุนแรงเป็นผลที่ไม่มีใครให้การยอมรับ
สหรัฐฯ สามารถสนับสนุนกองกำลังใดๆ ก็ได้ที่อยู่กับตัวเอง เช่น ที่ติดอาวุธให้กับกลุ่มนิยมแนวทางอิสลามต่อสู้กับรัฐบาลในเอเชียใต้ อีกทัศนะหนึ่งก็บอกว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ตั้งใจเอาชนะ ISIS อย่างจริงจัง ข้อแรกที่สหรัฐฯ ต้องการคือ ต้องมั่นใจว่าซีเรียไม่ได้เหนือกว่าทางทหารกับกลุ่มอื่นๆ เท่านั้นเอง ฉะนั้น ในทัศนะของซีเรียในการแก้ไขปัญหาของ ISIS ก็คือ การตั้งกองกำลังผสมขึ้นในภูมิภาค ซึ่งต้องรวมเอาซีเรียไว้ด้วย แน่นอนว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นไปได้ยาก และล่าสุดทางรัฐบาลปูตินบอกว่า ต้องร่วมกันทั้งฝรั่งเศสและสหรัฐฯ มารวมตัวกันแต่ต้องยอมรับรัฐบาลด้วย และอีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าถ้าจะทำอย่างนั้นก็ได้ แต่จะต้องโค่นรัฐบาลซีเรีย ซึ่งอาจจะเป็นภาพที่ไม่สามารถมาบรรจบกันได้
ทำไมต้องเป็นฝรั่งเศส ประการแรกก็คือ สมัยกัดดาฟี่ในลิเบียนั้น ฝรั่งเศสเป็นหัวหอกสำคัญของนาโต้ทิ้งระเบิดนับ 7 เดือน จึงมีคนที่นิยมกัดดาฟี่จำนวนหนึ่งไม่พอใจอย่างมากและไม่ได้ทำให้ลิเบียดีขึ้น ลิเบียกลายเป็นรัฐที่เรียกได้ว่า “รัฐไร้ขื่อแป” ตอนนี้ไม่มีใครที่จะบริหารได้ ปัญหาสำคัญก็คือ ก่อนที่ ISIS จะเข้าโจมตีฝรั่งเศสประมาณ 2 สัปดาห์ กลุ่ม ISIS รายงานว่า ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่โจมตี ISIS มากที่สุด รวมทั้งศูนย์บัญชาการที่จะนำคนเข้ามาทำงานด้วย อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ISIS มองว่า ฝรั่งเศสนั้นใช้นโยบายกับชาวมุสลิมที่มองดูแล้วใจไม่กว้างพอสำหรับการแต่งกาย และสุดท้ายก็คือ ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่สนับสนุนซีเรียเพื่อต่อต้านรัฐบาลซีเรีย เป็นหัวหอกในการถล่ม ISIS ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่มีการตีความว่า มีการจำกัดสิทธิด้านศาสนาอันนี้จะทำให้เกิดความสุดโต่งของคนหนุ่มสาวในประเทศมีมากขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เป็นการกล่าวแบบรวมๆ โดยปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นมาจากสถานการณ์ที่มีความต่อเนื่องและการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในตะวันออกกลางยังไม่เคยจบสิ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นต้นมา
โดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์
รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่ม ISIS เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมาในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา และสร้างความฮือฮาให้กับโลกมากเพราะแตกต่างกับกลุ่มอัลกอดิดะห์ที่ฝ่ายความมั่นคงรู้จักกันดี อย่างไรก็ตาม มิติด้านความมั่นคงที่ผมกำลังมองในอีกแง่มุมหนึ่งอาจจะแตกต่างจากฝ่ายความมั่นคงทั่วไป และวิธีการในการก่อเหตุที่ปารีสก็มีหลากหลายวิธี เช่น กราดยิง ระเบิดพลีชีพ ฯลฯ แรงจูงใจอะไรที่ทำให้คนคนหนึ่งเอาชีวิตของตัวเองไปแลก มีเป้าหมายอย่างไร
มีการศึกษาวิจัยของอาจารย์มิชิคาโกะ ซึ่งได้มีโอกาสไปพูดคุยกับนักระเบิดพลีชีพประมาณ 462 คน ข้อสมมุติฐานแรกก็คือ แรงจูงใจเกี่ยวกับความศรัทธาและศาสนา แต่หลังจากที่อาจารย์ได้สัมภาษณ์นักระเบิดพลีชีพทั้งหลายแล้วก็ทำให้ต้องเปลี่ยนความคิด เพราะว่าแรงจูงใจที่นำไปสู่ความรุนแรงก็คือ การแทรกแซงจากมหาอำนาจ การเข้าไปยึดครอง การเข้าไปตั้งกองทัพของสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง คือ ไม่ใช่ประเด็นเรื่องศาสนา ในขณะเดียวกัน ทางแก้ที่จะไม่ให้มีระเบิดพลีชีพก็คือ ประเทศที่เป็นมหาอำนาจไม่เข้ามาแทรกแซงและให้ถอนกำลังออกไป กรณีตัวอย่างที่บอกว่าวิธีนี้สามารถแก้ไขปัญหาได้ก็คือ ประเทศเลบานอนซึ่งมีระเบิดพลีชีพมาประมาณ 40 กว่าครั้ง บางครั้งก็พุ่งเป้าไปที่มหาอำนาจที่เข้ามา เช่น สหรัฐฯ และฝรั่งเศส โดยปรากฏว่า เมื่อประเทศเหล่านี้ถอนตัวออกไป สงครามกลางเมืองในเลบานอนก็ค่อยๆ ผ่อนคลายลงไปโดยการแก้ปัญหาของคนในอาหรับเอง สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการก่อการร้ายสากลนั้น วิธีการของมหาอำนาจเห็นได้จากการที่ฝรั่งเศสเริ่มไปตอบโต้ซีเรีย ซึ่งก่อนหน้านั้น จะเห็นได้จากสหรัฐฯ และล่าสุดก็คือรัสเซีย ผมคิดว่าการที่เข้าไปตอบโต้ด้วยความรุนแรงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในตะวันออกกลางหรือการก่อการร้าย แต่จะทำให้การก่อการร้ายมีความสลับซับซ้อนและขยายกระจายตัวเพิ่มมากขึ้น จากสถิติของการก่อการร้ายทั่วโลกจะเห็นได้ว่า 6 ประเทศก่อนปี 2001 ไม่ว่าจะเป็น อิรัก อัฟกานิสถาน ปากีสถาน เยเมน ซีเรีย และไนจีเรีย เป็นประเทศในกลุ่มอาหรับที่มีการก่อการร้ายอยู่น้อยมาก แต่พอหลังจากเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐฯ ใช้วิธีการปราบปรามโดยการทำสงครามกับอัฟกานิสถานและอิรัก ผมคิดว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ขยายตัวของการก่อการร้ายมาสู่ 6 ประเทศนี้ และผลจากการที่สหรัฐฯ เข้าไปถล่มประเทศเหล่านี้ตั้งแต่ปี 2001 – 2015 คนปากีสถานตายไป 80,000 คน อัฟกานิสถาน 220,000 คน และอิรัก 1,000,000 คน และมีสถิติตั้งแต่ปี 1990 – ปัจจุบัน ในตะวันออกกลางและโลกมุสลิม มีจำนวนคนตายอันเนื่องมาจากความขัดแย้งจากการแทรกแซงของมหาอำนาจเกือบ 4,000,000 คน
จากกรณีเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในปารีสล่าสุด ขอสรุปแรงจูงใจที่เกิดขึ้น 2 มิติคือ 1.มิตินโยบายต่างประเทศของฝรั่งเศส เช่น ฝรั่งเศสเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับลิเบียและซีเรีย อันเนื่องมาจากพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่อิทธิพลดั้งเดิมของฝรั่งเศสที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมอยู่ และลักษณะนโยบายของฝรั่งเศสก็คือ การแยกชุมชน มีงานวิจัยที่บอกว่า คนยุโรปที่ไปร่วมกับ ISIS ส่วนใหญ่จะสรุปออกเหมือนๆ กันก็คือว่า พวกนี้มีแนวคิดที่เป็นอิสลามนิยมความรุนแรงและมีวิธีคิดทางศาสนาที่ไม่เหมือนใคร แต่จริงๆ แล้วที่เกิดลักษณะของเยาวชนคนรุ่นใหม่ของฝรั่งเศสหรือยุโรปไปร่วมกับ ISIS ก็คือ การเกิดปัญหาการบูรณาการในสังคมยุโรปหมายความว่า สังคมมุสลิมในยุโรปไม่ถูกบูรณาการเข้ากับสังคมใหญ่ในฝรั่งเศส ในขณะที่คนเหล่านี้เป็นคนที่เติบโตในยุโรป พูดภาษายุโรป อัตลักษณ์ของตัวเองที่มาจากตะวันออกกลางกำลังสูญหายไปแล้ว แต่ว่าคนเหล่านี้กลับไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ในขณะ เดียวกัน นักการศาสนาที่ยุโรปก็เป็นคนที่มาจากตะวันออกกลางซึ่งไม่สามารถที่จะอธิบายบริบทสังคมของยุโรปเหล่านี้ให้เข้าใจได้ ยุโรปในขณะนี้เกิดกระแส “Islamophobia” แพร่กระจายไปมาก ฉะนั้น เยาวชนเหล่านี้จึงอยู่ในสภาพที่ศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อของตัวเองถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม และเมื่อสูญเสียความศรัทธาทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นคนสัญชาติฝรั่งเศสหรือยุโรป
สรุปงานการเสวนาวิชาการ เรื่อง“จักรวรรดินิยมกับการก่อการร้ายสากล:วิกฤตความมั่นคงโลกจากวินาศกรรม 9/11 ถึงโศกนาฏกรรมปารีส” Download