Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
Seminar, Conference, Training - Institute of Asian Studies Chulalongkorn University
บรรยายพิเศษ International Workshop on “Rural Microfinance in Asia”
บรรยายพิเศษ International Workshop on “Rural Microfinance in Asia”

สถาบันเอเชียศึกษาจัดงานบรรยายพิเศษ

International Workshop on “Rural Microfinance in Asia”

จันทร์ที่ 7 มีนาคม 2559

เวลา 9.00 – 17.30 น. ที่ห้องประชุม 307

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณีฯ

 

สรุปการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ระบบการเงินฐานรากในเขตชนบทในภูมิภาคเอเชีย

โดย ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย 

            การประชุมทางวิชาการด้านการเงินระดับฐานรากในภูมิภาคเอเชียจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ณ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันเอเชียศึกษา และ โครงการ Grant-in-Aid (Kiban B) ศูนย์อุษาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต  ในการประชุมครั้งนี้ นักวิจัยของทั้งสองสถาบันได้ผลัดกันนำเสนองานวิจัยด้านการเงินฐานรากในภูมิภาคเอเชียและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การประชุมยังเปิดโอกาสให้นักวิจัยจากทั้งสองสถาบันได้แสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการในประเด็นด้านการเงินฐานรากและการพัฒนา  งานวิจัยที่นำเสนอเกี่ยวข้องกับการเงินฐานรากในหลายประเทศในภูมิภาค เช่น กัมพูชา พม่า ลาว ไทย และ ฟิลิปปินส์ มีการนำเสนอภาพรวมของการเงินฐานรากในภูมิภาคเอเชียที่โครงการ Grant-in-Aid (Kiban B) ได้ทำการศึกษา และมีการนำเสนองานด้านการนำข้อมูลของรัฐที่มีอยู่มาใช้ในการวิเคราะห์และปรับปรุงนโยบายสาธารณะ

             จากงานวิจัยที่ได้มีการนำเสนอ จะเห็นได้ว่าระบบการเงินฐานรากเป็นส่วนสำคัญของภาคการเงินในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย และเป็นภาคส่วนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดในภูมิภาค โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งยังคงมีความต้องการเงินกู้ที่มีวงเงินน้อยโดยผู้ขอกู้ซึ่งขาดแคลนหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่มาก นอกจากนี้ งานวิจัยที่ได้นำเสนอยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศในการให้ข้อมูลที่มีประโยชน์และการให้เครื่องมือที่จะใช้ในการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่น่าสนใจ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์นโยบายและสถานการณ์ และเพื่อให้การออกนโยบายของรัฐตรงต่อเป้าหมายมากยิ่งขึ้น 

             ทางด้านการให้บริการเครดิตยูเนี่ยนในชนบท มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบรูปแบบของเครคิดยูเนี่ยนในลาว ไทย และญี่ปุ่น จากการศึกษาพบว่า การให้บริการเงินกู้ในชนบทของญี่ปุ่นเกิดขึ้นในรูปแบบของสหกรณ์ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากประเทศเยอรมัน และได้แพร่หลายไปทั่วประเทศญี่ปุ่น  เครดิตยูเนี่ยนในชนบทที่เกิดขึ้นนั้น ทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินระหว่างครัวเรือนที่มีเงินเหลือและครัวเรือนที่ขาดแคลนเงินทุนในชนบท และเมื่อเครดิตยูเนี่ยนเหล่านี้ขยายใหญ่ขึ้น จึงเกิดการเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินในระดับสูงขึ้นไปผ่านการฝากเงิน ในส่วนของประเทศไทย การให้บริการการเงินฐานราก โดยเฉพาะด้านการปล่อยเงินกู้ในชนบทนั้น มีแรงผลักดันสำคัญจากนโยบายของรัฐผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และนโยบายอื่นๆ เช่น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง นอกจากนี้ ยังเกิดจากการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและทางการเงินขององค์กรให้ความช่วยเหลือ และผ่านการจัดตั้งเองโดยชาวบ้านในพื้นที่ 

              ในประเทศลาว การพัฒนาเครดิตยูเนียนในชนบทเริ่มจากโครงการเพื่อการพัฒนา โดยองค์กรให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ อาทิเช่น Foundation for Integrated Agriculture and Environmental Management (FIAM) ให้เงินตั้งต้นเพื่อจัดตั้งสถาบันการเงินระดับฐานรากที่ให้บริการด้านการกู้เงิน โดยองค์กรเหล่านี้ทำงานร่วมกันกับองค์กรท้องถิ่นในการปล่อยกู้ให้แก่คนในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีองค์กรการเงินระดับชุมชนซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยเงินจากภายในชุมชนเองอีกด้วย    จากการศึกษาองค์กรการเงินฐานรากที่ให้บริการด้านการออมและการปล่อยกู้ (Savings and Credit Unions - SCUs) ในพื้นที่รอบๆเมืองเวียงจันทน์ พบว่า เงินออมของ SCUs เพิ่มขึ้นเมื่อระยะเวลาผ่านไป แต่จำนวนสมาชิกนั้นแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่าสถานที่ตั้งและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของพื้นที่ส่งผลต่อกิจกรรมของ SCUs เช่น SCUs ในพื้นที่ที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน SCUs จะมีกิจกรรมมากกว่าที่อื่น และ SCUs ในพื้นที่ที่มีการทำหัตถกรรมจะมีความต้องการเงินกู้น้อยกว่าในพื้นที่อื่น เป็นต้น 

              ในประเทศไทย จากการวิเคราะห์ข้อมูลด้านเงินกู้จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนซึ่งจัดเก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในเวลาหลายปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีสถาบันการเงินที่ให้บริการด้านเงินกู้ที่มีความหลากหลาย และอยู่ในหลายระดับ ตั้งแต่สถาบันการเงินในระบบ เช่น ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ไปจนถึงสถาบันการเงินแบบกึ่งในระบบ เช่น สหกรณ์ต่างๆ และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ไปจนถึงการให้บริการเงินกู้นออกระบบ  โดยอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินประเภทต่างๆคิดนั้นแตกต่างกันไป ตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ร้อยละ 6 ต่อปี ในจนถึง ร้อยละ 5 ต่อเดือน ในกรณีของการปล่อยกู้นอกระบบ    ด้านภาวะหนี้สินของครัวเรือน พบว่า สัดส่วนครัวเรือนที่เป็นหนี้และผู้เป็นหนี้นอกระบบมีน้อยลง โดยผู้เป็นหนี้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคอีสานและภาคเหนือของประเทศ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่มีปัญหาการเข้าไม่ถึงเงินกู้มักเป็นแรงงานด้อยฝีมือ และผู้อาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยคนในกรุงเทพและภาคใต้มีปัญหาการไม่ถึงแหล่งเงินกู้มากที่สุด  จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังขาดการพัฒนาตลาดเงินกู้ที่เน้นลูกค้าที่เป็นแรงงานด้อยฝีมือในเขตเมือง แต่สำหรับผู้ที่ทำงานในภาคการเกษตรที่อาศัยอยู่ในชนบทนั้น ไม่พบปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินด้านเงินกู้ 

            ในประเทศพม่า มีการศึกษาการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบประเภทเงินออมและเงินกู้ โดยเน้นศึกษาผู้ที่ทำงานนอกระบบที่ทำงานนอกภาคการเกษตรเป็นหลัก  การศึกษาพบว่าพม่ามีการเข้าถึงบริการทางการเงินน้อย โดยร้อยละ 30 ของประชากรเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ ร้อยละ 31 พึ่งพาสถาบันการเงินนอกระบบเท่านั้น และร้อยละ 39 เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินใดๆ  ต่อประเด็นด้านปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าถึงบริการทางการเงิน ผลเบื้องต้นจากงานวิจัยพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ทำงานนอกภาคการเกษตรเข้าถึงบริการทางการเงิน ได้แก่ การมีสมาชิกในครัวเรือนย้ายถิ่นฐานไปทำงานนอกพิ้นที่และส่งเงินกลับมาให้ นอกจากนี้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคมก็มีส่วนให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยในแง่ของบริการเงินออม ผู้ที่เป็นผู้หญิง อายุมาก มีรายได้เป็นของตัวเอง มีการศึกษาดี และอาศัยอยู่ในเขตเมือง มีแนวโน้มที่จะใช้บริการเงินฝากผ่านสถาบันการเงินในระบบมากกว่า และในแง่ของเงินกู้ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว และอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เดินทางได้สะดวกโดยระบบขนส่งสาธารณะมีโอกาสที่จะใช้บริการเงินกู้ในระบบมากกว่า อย่างไรก็ดี การศึกษาพบว่าผู้ที่มีรายได้ประจำ และผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีแนวโน้มที่จะใช้บริการเงินกู้ในระบบน้อยกว่า 

             ในประเทศกัมพูชา มีการศึกษาระบบการเงินฐานรากและการปล่อยเงินกู้ในเขตชนบท โดยการศึกษาพบว่าการเงินฐานรากในประเทศกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และตามความสนใจเข้ามาให้บริการการเงินฐานรากจากกลุ่มทุนในต่างประเทศ  ซึ่งในกัมพูชานั้น ได้มีสถาบันการเงินจากต่างประเทศซึ่งได้รับใบอนุญาติประกอบกิจการสถาบันการเงินในประเทศกัมพูชา เข้าไปให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าในกลุ่มฐานรากเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ให้บริการการเงินฐานรากในกัมพูชาส่วนมากเป็นภาคเอกชน มิใช่ภาครัฐบาลหรือจากองค์กรเพื่อการพัฒนาเช่นประเทศอื่นๆในภูมิภาค 

            ในประเทศฟิลิปปินส์ ได้มีการศึกษาการให้กู้ยืมเงินในรูปแบบสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในเขต Bohol โดยการศึกษาอาศัยสถาบันที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำเป็นเครื่องมือในการวัดโครงสร้างของชุมชนท้องถิ่นผ่านการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาสร้างแรงจูงใจให้เกิดการบริหารจัดการน้ำ  โดยแนวสมมติฐาน คือ การให้แรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ในการบริหารจัดการน้ำจะก่อให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อประโยชน์ของหมู่คณะ (collective action) และสร้างมาตรฐานทางสังคมในลักษณะที่ช่วยให้กิจกรรมที่ต้องอาศัยการรวมกลุ่มกัน เช่น การให้บริการเงินกู้ ประสบความสำเร็จ  อย่างไรก็ดี จากงานวิจัยในพื้นที่ Bohol พบว่า การดำเนินงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนไม่ประสบผลสำเร็จแม้ในพื้นที่ที่มีการชลประทาน ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะสหกรณ์มีขนาดใหญ่กว่าเขตพื้นที่บริหารจัดการน้ำ และเมื่อหน่วยมีขนาดใหญ่ ความเข้มแข็งของสถาบันก็มักจะอ่อนด้อยตามมา ส่งผลให้สหกรณ์ไม่ประสบผลสำเร็จ 

            ในการสรุปโครงการ Grant-in-Aid (Kiban B) ได้มีการกล่าวถึงประวัติของการให้บริการทางการเงินในเขตพื้นที่ชนบทในภูมิภาคเอเชียว่าได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดด้านการจัดตั้งสหกรณ์ของเยอรมันในปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งได้มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในประเทศญี่ปุ่น และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในประเทศเกาหลี อย่างไรก็ดี รูปแบบของสหกรณ์ไม่เหมาะกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้นัก  ในช่วงทศวรรษที่ 1980 การให้บริการทางการเงินแบบฐานรากได้ถือกำเนิดขึ้นโดยอาศัยระบบการให้กู้เงินและสถาบันแบบใหม่ ซึ่งสามารถช่วยผู้มีความยากจนได้จริง อย่างไรก็ดี ระบบนี้มีต้นทุนการทำธุรกรรมสูง ซึ่งในตอนแรกองค์กรด้านการพัฒนาผู้ให้ทุนได้แบกรับต้นทุนนี้เอง เมื่อเวลาผ่านไป มีแนวโน้มว่าสถาบันการเงินที่ให้บริการการเงินฐานรากจะต้องอยู่ได้ด้วยตัวเองมากขึ้น จึงทำให้เกิดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและมีการเรียกเก็บเงินกู้ในลักษณะที่สร้างแรงกดดันให้แก่ลูกค้ามากขึ้น นอกจากนี้ เริ่มมีการเน้นการเก็บออมมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้รูปแบบการให้บริการทางการเงินแบบฐานรากหันกลับไปหารูปแบบของสหกรณ์มากขึ้น ในไทย ลาว และเวียดนาม องค์กรในรูปแบบใหม่นี้อาศัยองค์กรระดับหมู่บ้านในการดำเนินงาน ส่วนในประเทศอินเดียนั้นจะอาศัยการรวมกลุ่มของผู้หญิง นอกจากนี้ ในลาว และกัมพูชา ยังพบการให้บริการการเงินแบบฐานรากโดยเอกชนอีกด้วย  

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของสถาบันการเงินแบบฐานรากที่รับเงินฝากและให้บริการปล่อยกู้ คือ กลไกในการนำเงินส่วนเกินขององค์กรหนึ่งให้แก่อีกองค์กรหนึ่งซึ่งขาดแคลนเงินทุน หากกลไกดำเนินการได้ดีแล้ว จะช่วยให้เกิดการโอนเงินฝากจากชนบทไปยังเขตเมือง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและเป็นประโยชน์ต่อผู้ออมในชนบทซึ่งจะได้รับดอกเบี้ย โดยประเทศที่มีกลไกที่ดี ได้แก่ ญี่ปุ่น และเวียดนาม กล่าวโดยสรุป สถาบันการเงินที่ให้บริการการเงินระดับฐานรากในภูมิภาคเอเชียมีรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งรูปแบบการจัดตั้งต่างๆกันนั้นมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป การเข้าใจถึงข้อได้เปรียบและข้อจำกัดของรูปแบบการจัดตั้งสถาบันการเงินรูปแบบต่างๆจะช่วยให้ผู้ออกนโยบายสามารถออกนโยบายที่มีประโยชน์อย่างแท้จริง นอกจากนี้ การมีกลไกรองรับที่ดีจะเอื้ออำนวยให้สถาบันต่างๆที่ให้บริการทางการเงินในระดับฐานรากสามารถทำงานได้ดีขึ้น

 

บทสรุป การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ระบบการเงินฐานรากในเขตชนบทในภูมิภาคเอเชีย  Download