Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
Seminar, Conference, Training - Institute of Asian Studies Chulalongkorn University
การเสวนาวิชาการเรื่อง “ร่วมหาทางออกกรณีค่าโง่คลองด่าน หยุดความเสียหายของชาติ”
การเสวนาวิชาการเรื่อง “ร่วมหาทางออกกรณีค่าโง่คลองด่าน หยุดความเสียหายของชาติ”

การเสวนาวิชาการเรื่อง “ร่วมหาทางออกกรณีค่าโง่คลองด่าน หยุดความเสียหายของชาติ”

ร่วมจ้ดโดย

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศูนย์ศึกษาและจัดการความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มูลนิธิบูรณะนิเวศ

วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙ เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๒.๐๐ น.

ณ ห้องประชุมสารนิเทศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท กรุงเทพฯ

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า โครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ในพื้นที่ตำบลคลองด่าน เกิดขึ้นมาได้จากการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก นับตั้งแต่นักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง บริษัทเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้าง บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงข้าราชการระดับล่างจำนวนมาก ทำให้มูลค่าโครงการเพิ่มสูงขึ้นจากโครงการที่แท้จริงเป็นหมื่นล้านบาท การต่อสู้และร่วมกันขุดคุ้ยของการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาวบ้านและอีกหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จนมีผลทำให้โครงการนี้ต้องยุติลงเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖  และรัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุดสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต และมีการฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำนับหลายคดีด้วยกัน อาทิเช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช) ได้มีการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมือง และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกนายวัฒนา อัศวเหม เป็นเวลา ๑๐ ปี นอกจากนี้ หลังยุติโครงการ ๑ ปี กรมควบคุมมลพิษยังได้ว่าจ้างทนายความเอกชนเป็นผู้ฟ้องกิจการร่วมค้า NVPSKG บรรดาบริษัทและกรรมการของบริษัทซึ่งเป็นสมาชิกกิจการร่วมค้า NVPSKG ตลอดจนนายวัฒนา อัศวเหม และบริษัทของนายวัฒนารวม ๑๙ รายต่อศาลแขวงดุสิต เพื่อเรียกค่าเสียหายคืนจากกิจการร่วมค้า NVPSKG หรือกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งเบื้องหลังมีนักการเมืองและเครือญาติเป็นผู้ถือหุ้น การต่อสู้คดีนี้ได้ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบันและกำลังอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกา

            ขณะเดียวกัน กิจการร่วมค้า NVPSKG  ได้พึ่งกลไกของสำนักงานอนุญาโตตุลาการเพื่อปกป้องตนเอง ด้วยการฟ้องคดีอนุญาโตตุลาการและเรียกค่าเสียหายจากกรมควบคุมมลพิษที่บอกเลิกสัญญาโครงการ จำนวน ๒๑ รายการ คิดเป็นเงิน ๔,๙๘๓,๓๔๒,๓๘๓ บาท และเงินสกุลสหรัฐฯ อีก ๓๑,๐๓๕,๗๘๐ เหรียญสหรัฐฯ รวมเป็นเงินทั้งหมดประมาณ ๖,๒๐๐ ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยด้วย ต่อมาวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๔ คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้องของกลุ่มกิจการร่วมค้า พร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ ๗.๕  ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ จนกว่าจะชำระเสร็จและคืนหนังสือค้ำประกันพร้อมค่าธรรมเนียมอื่นๆ แม้ว่ากรมควบคุมมลพิษได้ยื่นคัดร้องเพื่อให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดตามลำดับ แต่ในที่สุดทั้งศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดได้คำพิพากษาเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการที่สั่งให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินตามสัญญาจ้างพร้อมค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาให้แก่กิจการร่วมค้า NVPSKG

            ต่อมารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เห็นชอบให้สำนักงบประมาณเบิกจ่ายงบรวมเป็นเงิน ๙,๘๙๑,๐๖๐,๙๐๑.๑๐ บาท เพื่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำไปชำระแก่กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG โดยจะแบ่งการชำระเงินออกเป็น ๓ งวด คือ งวดแรก- ภายในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ชำระ ๔๐% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงินกว่า ๓,๑๗๔ ล้านบาท และอีกกว่า ๒๑.๗๑ ล้านเหรียญสหรัฐ,  งวดที่ ๒-ภายในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ชำระ ๓๐% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงิน ๒,๓๘๐ ล้านบาท และอีกกว่า ๑๖.๘๘ ล้านเหรียญ, และงวดที่ ๓- ภายในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ชำระ ๓๐% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงิน ๒,๓๘๐ ล้านบาท และอีกกว่า ๑๖.๘๘ ล้านเหรียญ

            การตัดสินใจดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสการวิพากวิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งจากผู้เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนที่ติดตามกรณีการทุจริตคลองด่าน ซึ่งดำเนินมายาวนานถึง ๑๙ ปี นับตั้งแต่เริ่มต้นมีการทุจริตในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ตั้งโครงการอันเนื่องจากผลประโยชน์ของการขายที่ดินของนายวัฒนา อัศวเหม มูลนิธิบูรณะนิเวศและดาวัลย์ จันทรหัสดี ตัวแทนชาวบ้านจากตำบลคลองด่านได้ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านการชำระค่าเสียหายแก่บริษัทเอกชนที่มีส่วนสำคัญของการ่วมกระทำการทุจริตเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ด้วยการเสนอให้รัฐบาลระงับการตัดสินใจเรื่องนี้เพื่อรอผลการพิจารณาของคดีอาญาที่กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากภาคเอกชน ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ชนะคดีและมีคำสั่งให้จำคุกจำเลยรายละ ๓ ปี และขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา นอกจากนี้ตัวแทนมูลนิธิบูรณะนิเวศและชาวบ้านตำบลคลองด่านยังได้ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อเร่งจัดทำข้อเสนอแก่รัฐบาลให้หยุดการชำระค่าเสียหายแก่บริษัทเอกชนตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘

            การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนดังกล่าวได้รับความเห็นเชิงสนับสนุนจากนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และเสอนว่า รัฐบาลน่าจะชะลอการจ่ายเงินค่าโง่ให้กับกิจการร่วมค้า NVPSKG ไว้ก่อน เพื่อรอความชัดเจนใน ๓ ประเด็นคือ ๑) รอคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าวกระทำผิดหรือไม่, ๒) การพิจารณาความรับผิดทางละเมิดต่อเจ้าหน้าที่ที่ยังไม่มีความชัดเจน เรื่องยังอยู่ที่ศาลปกครอง, ๓) กรณีที่กรมควบคุมมลพิษฟ้องบริษัทเอกชนผู้ขายที่ดินหลอกนำที่ดินสาธารณะมาขายแก่กรมฯ เพื่อนำมาใช้ในโครงการนี้ และกล่าวย้ำว่า กระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการพิจารณาคดีทุจริตโครงการนี้ยังไม่จบสิ้น การให้จ่ายเงินให้บริษัทเอกชนเป็นเพียงมติ ค.ร.ม. ซึ่งไม่ถือเป็นกฎหมาย และสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ขณะที่ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้กล่าวแก่ตัวแทนภาคประชาชนที่เข้ายื่นหนังสือเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ที่ผ่านมาว่า กรณีนี้ยังมีทางออกอื่นที่ดีกว่า การเร่งชำระค่าเสียหายแก่บริษัทเอกชนตามมติ ค.ร.ม.  และทาง คตง. ได้จัดทำข้อเสนอและความเห็นถึงรัฐบาลเช่นกัน

            งานเสวนาวิชาการที่จะมีขึ้นในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม นี้เป็นอีกความพยายามของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ นักวิชาการ องค์กรภาคประชาชนและตัวแทนชาวบ้านคลองด่าน สื่อมวลชน และประชาชนผู้มีความห่วงใยต่อประเทศชาติ จะได้มาแลกเปลี่ยนความเห็นและร่วมกันเสนอทางออกแก่รัฐบาลและประเทศชาติโดยส่วนรวมเพื่อยุติความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นการเสียค่าโง่จำนวนมหาศาลอันเกิดจากการกระทำทุจริตหลายครั้งหลายหน รวมถึงการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และการเยียวยาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ถูกทอดทิ้งมานานเพราะผลพวงของการทุจริต

วัตถุประสงค์

            เพื่อเป็นเวทีสาธารณะสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอต่างๆ สำหรับผู้ห่วงใยในประโยชน์ระยะยาวของประเทศและผู้ที่ได้เฝ้าติดตามการทุจริตเกี่ยวกับกรณีนี้มาอย่างต่อเนื่องว่า

๑. ทางออกหรือแนวทางที่เหมาะสมสำหรับรัฐบาลในการระงับการจ่ายค่าเสียหายหรือ "ค่าโง่"  กรณีคลองด่านครั้งต่อไปตามมติ ค.ร.ม.

๒. รัฐบาลและสังคมจะมีทางออกอย่างไรได้บ้างในการสะสางการทุจริต ยุติความเสียหายและจะแก้ไขสิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง

 

องค์กรร่วมจัดการเสวนา

๑.สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๒.ศูนย์ศึกษาและจัดการความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๓.  มูลนิธิบูรณะนิเวศ 

 

วิทยากรร่วมเสวนา

 คุณรสนา  โตสิตระกูล  อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพ

 คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์  ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา

 คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 คุณณกฤช เศวตนันธน์ อดีตที่ปรึกษากฎหมายและทนายความในคดีอาญาของกรมควบคุมมลพิษ

 คุณมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)

 ศาสตราจารย์ สุริชัย หวั่นแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและจัดการความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

 ดาวัลย์ จันทรหัสดี ผู้แทนกลุ่มเรารักคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ

 

ดำเนินรายการเสวนา

            คุณสถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา  สื่อมวลชนที่ติดตามกรณีคลองด่าน 

จำนวนผู้ร่วมงาน

            ประมาณ  ๕๐ คน จาก หน่วยงานราชการ สถาบัน/หน่วยงานวิชาการ สำนักงานกฎหมาย เครือข่ายภาคประชาชน ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชน

เสวนา คลองด่าน   Download