


กำลังอาวุธในเอเชีย
อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
โลก กำลังอาวุธลดลง แต่ไม่ใช่เอเชีย
มีข้อน่าสังเกตว่า เป็นปีที่ 2 แล้วที่การใช้จ่ายทางทหาร (military expenditure) ของโลกลดลง แต่เอเชียกลับเพิ่มการใช้จ่ายทางทหาร ตามรายงานของ Stockholm International Peace Research Institute เล่มล่าสุด[1] ปีที่แล้ว เอเชียมีค่าใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้น 3.6 % ภูมิภาคเอเชียนี้หมายถึง เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียกลางและโอเชียเนีย มีการใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้น 62% นับจากเมื่อทศวรรษที่แล้ว
ในปี 2012 นับเป็นครั้งแรกที่ภูมิภาคเอเชีย มีการใช้จ่ายทางทหารเหนือกว่าทวีปยุโรป ในปีนั้น ประเทศที่นำเข้าอาวุธอันดับต้นๆ 5 ประเทศในโลกทั้งหมดมาจากเอเชีย คือ อินเดีย จีน ปากีสถาน เอกาหลีใต้ และอย่างเหลือเชื่อ สิงคโปร์
จีนถือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหารในเอเชียตะวันออกมาที่สุด จีนใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้น 170% เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว และจีนได้ประกาศว่า จะเพิ่มการใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้นอีก 12.2 % ในปี 2014 แต่ทว่า จีนไม่ใช่เป็นตัวผลักดันการใช้จ่ายทางทหารประเทศเดียว เอเชียใต้โดยเฉพาะ การเผชิญหน้าระหว่างอินเดียและปากีสถาน การแข่งขันในการอ้างอิงอธิปไตยเหมือนเกาะเล็กเกาะน้อย และการคาดการณ์ถึงทรัพยากรจำนวนมากบริเวณนั้นและบริเวณโดยรอบ ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่มีส่วนผลักดันให้มีการเพิ่มขีดความสามารถในทะเลของแต่ละประเทศทั้งสิ้น
แม้แต่ญี่ปุ่น ซึ่งโดยประเพณีปฏิบัติญี่ปุ่นรักษาระดับการใช้จ่ายทางทหารต่ำกว่า 1 % ของ GDP แต่ญี่ปุ่นได้ประกาศเป็นสัญญาแล้วว่า จะเพิ่มการใช้จ่ายทางทหารเป็น 2.8 % ในปี 2014-2015
การปรากฏตัวอีกครั้งของสหรัฐฯ
สหรัฐฯประเทศมหาอำนาจแปซิฟิกซึ่งการใช้จ่ายไม่ได้รวมอยู่ที่เอเชีย มีบทบาทอย่างสำคัญด้วยในการผลักดันการใช้จ่ายทางทหารให้เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคนี้ นโยบาย ศูนย์กลางแปซิฟิก (Pacific pivot) ของรัฐบาลบารัก โอบามาออกแบบมาเพื่อรื้อเร่งการปรากฏตัวด้านความมั่นคงสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของโลก
พันธมิตรสหรัฐฯ เกาหลีใต้และญี่ปุ่นคาดหวังว่าจะเป็นเกราะด้านความมั่นคงในภูมิภาคนี้ ในขณะที่สหรัฐฯ ผลักดันวัตถุประสงค์ผลประโยชน์ของสหรัฐฯในตะวันออกกลางและเอเชียกลาง ในขณะที่ จีนมี ทิศทางสันติภาพเพิ่มมากขึ้น ความพยายามทางสันติของจีนเกี่ยวข้องกับความพยายามสร้างความเข้มแข็งทางทหารเพื่อรักษาผลประโยชน์และความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของจีน ในเวลาเดียวกัน จีนเองเคลื่อนไหวตลอดเวลาในการอ้างสิทธิครอบครองทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเหตุทำให้เกิดข้อพิพาทกับประเทศต่างๆที่อ้างกรรมสิทธิ์เหมือนกัน
ในเวลาเดียวกัน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ การยกเลิกจุดเน้นศูนย์กลางอยู่ที่โอกินาวาของสหรัฐฯ ที่ซึ่งมีการเจรจากันมาเกือบ 2 ทศวรรษเพื่อปิดฐานทัพที่ล้าสมัยในโอกินาวาและย้ายนาวิกโยธินไปที่อื่น
พร้อมกันนั้น ปฏิบัติการของสิงคโปร์ดูสลับซับซ้อนทีเดียว มีเรือรบไม่มากไปอยู่ที่สิงคโปร์ แต่สหรัฐฯกลับมีข้อเสนอให้มีเรือประจำการในแปซิฟิกเพิ่มขึ้น และสหรัฐฯยินดีให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรเช่น ฟิลิปปินส์และเวียดนาม
เอเชีย ศูนย์กลางและอาวุธ
กล่าวโดยภาพรวม เอเชียเป็นตัวแทนของทั้งศูนย์กลางในทางภูมิรัฐศาสตร์และที่แสดงแสนยานุภาพทางอาวุธทั้งปริมาณและเทคโนโลยี ศูนย์กลางหมายถึง พันธมิตรของสหรัฐฯยังคงเข้มแข็ง และเพื่อเฝ้าเตือนศัตรูหรือภัยของสหรัฐฯ สหรัฐฯใช้จ่ายการทหารน้อยลง แต่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเป็นเจ้าของและซับพายเออร์อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆเหล่านี้เอง
เป็นที่น่าสังเกตว่า อัตราการเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคือ อัตราการเพิ่มขึ้นของการขายอาวุธของสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยระหว่างปี 2002-2012 เพิ่มขึ้นจาก $ 8.3 หมื่นล้าน เป็น $ 18.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
เราจะเห็นได้ว่า มีการลดค่าใช้จ่ายทางทหารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯจริง แต่การลดค่าใช้จ่ายทางทหารไม่จำเป็นต้องสอดคล้องและนำไปสู่การลดการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นความจริง การลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯลดจริงๆในทศวรรษ 1980 แต่รัฐบาลบารัก โอบามา ผลักดันกระบวนการให้ใบอนุญาตเพื่อสนับสนุนและเพิ่มการส่งออกยุทโธปกรณ์ทางทหาร
เอเชียและโอชีเนียนับเป็นตัวแทนเป้าหมายอันดับต้นๆของการส่งออกยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ กล่าวได้ว่า เอเชียและโอชีเนียเป็นแหล่งรับซื้อยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด
อาวุธที่มีจำนวนใหญ่ที่สุดคือ เครื่องบินขับไล่ F-35 ซึ่งสหรัฐฯขายให้ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และออสเตรเลียแล้ว ระบบขีปนาวุธพิสัยปานกลางของสหรัฐฯขายให้แล้วกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ในภาพรวม ระหว่างปี 2009 และ 2013 ออสเตรเลียและเกาหลีใต้เป็นลูกค้าอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ และที่น่าสนใจ ด้วยโครงการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายทางทหารของตัวเอง ญี่ปุ่นกำลังจะเป็นลูกค้าอันดับต้นของสหรัฐด้วย
การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของพันธมิตรสหรัฐฯ มีความก้าวหน้ามากขึ้น คือต้องมีระบบที่เรียกว่า interoperability ระบบดังกล่าวนี้ ไม่ใช่พันธมิตรของสหรัฐฯต้องพึ่งพาแต่เฉพาะอะไหล่และปรับคุณภาพยุทโธปกรณ์เท่านั้น หากแต่ต้องใช้ระบบสมัยใหม่ที่เรียกว่า overall system of command and control อันประประกอบด้วย C5I คือ Command, Control, Communication, Computer, Combat system and Intelligence
แม้ว่า เครื่องบินขับไล่ของฝรั่งเศสหรือเรือรบของรัสเซีย มีราคาถูกกว่าอันเป็นเหตุผลให้เกิดทางเลือกในการเข้าประมูลขายอาวุธ แต่ประเทศผู้ซื้ออาวุธจำต้องพิจารณาระบบต่างๆว่าจะบูรณาการเข้าด้วยกันอย่างไรทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์
สหรัฐฯโต้แย้งว่า การคงกองกำลังทหารและอาวุธต่างๆของสหรัฐฯมีมากเกินไป อีกทั้งยังขาดความสนใจในผลประโยชน์ทางดินแดนที่ได้รับ แต่ทว่า สภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงได้เปลี่ยนไปอย่างมาก นับตั้งแต่ สหรัฐฯแสดงตนเป็นครั้งแรกในฐานะ ‘ผู้ปกป้อง’ เสถียรภาพในภูมิภาค
ญี่ปุ่นมิได้จำกัดการตีความตัวเองอยู่ที่ รัฐธรรมนูญเชิงสันติ อีกต่อไปแล้ว เกาหลีเหนือได้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จีนเพิ่มศักยภาพทางทหารอย่างโดดเด่น เกาหลีใต้สร้างภาคการผลิตอาวุธของตัวเอง และขยายการผลิตโดยมีเป้าหมายส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ ข้อพิพาททางดินแดนในทะเลจีนใต้ ทะเลเหลืองและทะเลจีนตะวันออกแหลมคมและเด่นชัดขึ้น จุดที่ยังพอมีสันติภาพมากกว่าที่อื่นๆในเมื่อไม่กี่ปีมานี้คือ ช่องแคบไต้หวัน
อาจจะกล่าวได้ว่า การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายทางทหารในแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออก และการนำเข้าอย่างมากของอาวุธ เป็นทั้งสัญลักษณ์และตัวขับดันของความขัดแย้งทางทหาร ยุทธศาสตร์และการเมืองของภูมิภาค จนกระทั่งและถ้าไม่จำกัดการเพิ่มระดับคุณภาพของอาวุธในภูมิภาค ความเสี่ยงในการเผชิญหน้า และแม้แต่การทำสงครามก็มีโอกาสสูง
ดังเช่น เมื่อสภาวะแวดล้อมความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความตกลงทางยุทธศาสตร์ต่างๆในระดับภูมิภาค โครงการอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ ความขัดแย้งในดินแดนเล็กๆต่างๆ หรือแม้แต่ภัยทางเทคโนโลยีใหม่ เช่น Cyber warfare จะเกิดขึ้นได้ยากก็ตาม ภูมิภาคเอเชียก็มีความเสี่ยงและไร้เสถียรภาพอย่างยิ่ง
ค่าใช้จ่ายทางทหารและการนำเข้าอาวุธเพิ่มขึ้น บอกแก่เราอย่างนั้น
[1] Sam Perlo-Freeman and Carina Solmirano, “ Trends in World Military Expenditure, 2013” SIPRI Fact Sheet (April 2014)
ปีที่ 34 ฉบับที่ 1761 [16-22 พ.ค. 2557]