


หนึ่งปีที่ผ่านไป จีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิง ผู้ซึ่งควบตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดี และประธานคณะกรรมาธิการกลางทหารแห่งรัฐจีน มีแนวนโยบายที่จะให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านภายในภูมิภาคเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างไรบ้าง หากจะตอบคำถามดังกล่าว คงต้องย้อนกลับไปดูเหตุการณ์การประชุมและการเดินทางพบปะหารือของผู้นำคน สำคัญของจีนในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2013 ที่ผ่านมา
สีจิ้นผิงและหลี่เค่อเฉียงได้เดินทางไป เยี่ยมเยือนพบปะกับผู้นำหลายประเทศของอาเซียน เพื่อกระชับและยกระดับความสัมพันธ์ แสดงจุดยืน เสนอความเห็น และลงนามข้อตกลงในการเยี่ยมเยือนแต่ละครั้ง แม้อาจไม่ได้เป็นผลผูกพันที่เป็นรูปธรรม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเยี่ยมเยือนแต่ละครั้งแสดงนัยยะและทัศนะที่มีความ หมายทั้งสิ้น เริ่มต้นจากการเดินทางเยือนอินโดนีเซียระหว่างวันที่ 2-3 ตุลาคม 2013 ของสีจิ้นผิงและภริยาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ ต่อจากนั้น จึงได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (หรือ APEC) ที่มาเลเซียในวันที่ 7 ตุลาคม ขณะที่หลี่เค่อเฉียงได้เดินทางไปยังบรูไนเพื่อเข้าร่วมประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 23 การประชุม ASEAN+3 ครั้งที่ 16 และการประชุม ASEAN+1 ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 9-12 ตุลาคม ต่อจากนั้นจึงเดินทางเยือนไทย และเวียดนาม ระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม ตามลำดับ
สีจิ้นผิงได้เน้นย้ำการให้ความสำคัญต่อสาย สัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการเรียกร้องให้มีการประชุมว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศ เพื่อนบ้านขึ้น เมื่อวันที่ 24-25 ตุลาคม 2013 ณ กรุงปักกิ่ง นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียงเป็นประธานการประชุม โดยมีบรรดาผู้นำและตัวแทนทุกระดับจากธนาคารกลาง สถาบันการเงิน และหน่วยงานวิสาหกิจของรัฐที่เข้ามาร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง การประชุมวงกว้างเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก และเป็นการส่งสัญญาณถึงความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของกลุ่มผู้นำสูงสุดของจีน ในการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านให้ดียิ่งขึ้น
ที่ผ่านมา ความหวั่นเกรง “ภัยจีน” ภายในกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากจะเป็นผลจากการสร้างวาทกรรมแล้ว ยังเกิดเนื่องจากอิทธิพลจีนที่มีเพิ่มขึ้นในประเทศรอบข้าง โดยเฉพาะในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นอกจากนี้ การพัฒนาด้านการทหาร รวมถึงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หรืออวกาศ ซึ่งไม่อาจเป็นไปได้เลยสำหรับจีนในสามทศวรรษก่อนหน้านี้ ก็เป็นปัจจัยที่สร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาพลักษณ์ของจีนขึ้นเป็นทวีคูณ
ความหวั่นเกรงดังกล่าวอาจกลายเป็นอุปสรรคใน การพัฒนาร่วมกันในทุกๆ ด้าน และจีนตระหนักในข้อนี้ เห็นได้จากนโยบายของผู้นำจีนตั้งแต่ยุคเติ้งเสี่ยวผิง ที่เน้นการร่วมมือและการพัฒนาร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านเรื่อยมา จนถึงยุคสีจิ้นผิงที่ต้องการทำให้การร่วมมือและการพัฒนาอยู่บนพื้นฐานความ เชื่อมโยงภายในภูมิภาคที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของจีนและอาเซียนเอง
สาระสำคัญการประชุมว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเพื่อนบ้าน
การประชุมนี้จัดขึ้นภายหลังจากการเดินทาง เยือนประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศของผู้นำจีน โดยตั้งเป้าหมายทางการทูตที่จะสร้างและรักษาสภาพแวดล้อมที่มีเสถียรภาพใน ประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยความร่วมมือจากหลากหลายองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความเข้าใจ ในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันนี้ กิจการระหว่างประเทศมิได้หมายถึงกระทรวงต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกระทรวงพาณิชย์และธนาคารกลาง รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายหน่วยงาน
ทัศนะของสีจิ้นผิง เห็นว่า จีนควรเป็นฝ่ายรุกในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีความ สำคัญทางยุทธศาสตร์กับจีน เพราะความสัมพันธ์ดังกล่าวจะเป็นกุญแจที่จะนำจีนเข้าสู่ “ยุคแห่งการฟื้นคืนของประชาชาติจีน”
ยุคแห่งการฟื้นคืนของประชาชาติจีน เป็นเป้าหมายที่กำหนดไว้ในการประชุมสมัชชา 18 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2012 ซึ่งกำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมไว้ว่า สังคมจีนจะต้องมีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างดีภายในปี 2021 เป้าหมายต่อจากนั้นคือ ภายในปี 2049 จีนจะเป็นประเทศสังคมนิยมที่ร่ำรวย เข้มแข็ง เป็นประชาธิปไตยเสมอภาค มีอารยะ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและทันสมัย
ย้อนกลับไปในยุคผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ชุด ก่อนหน้านี้ เมื่อจีนเริ่มมีความมั่นคงในการพัฒนาประเทศ จีนก็ให้ความสำคัญต่อการต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านไปพร้อมกัน และด้วยความสัมพันธ์ฉันมิตรกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นนี้ จะนำมาสู่การเพิ่มพูนของผลประโยชน์และศักยภาพความสามารถ จนนำไปสู่เสถียรภาพโดยรวมของภูมิภาค
ท้ายที่สุดแล้ว เสถียรภาพของภูมิภาคก็จะย้อนกลับมาส่งผลดีต่อการพัฒนาภายในประเทศของจีนเอง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของการต่างประเทศของจีนต่อประเทศเพื่อนบ้าน จะสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาสังคมจีน ทำให้จีนกลับมาเป็นประเทศที่รุ่งโรจน์ได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งผูกพันประเทศเพื่อนบ้านไว้กับจีน ยังคงเป็นหลักการที่ผู้นำจีนให้ความสำคัญและแสดงบทบาทชัดเจน ในการเป็นฝ่ายเริ่มให้ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมมากกว่าด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน
เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ
ในเวทีการประชุมระหว่างประเทศและการเยี่ยม เยือนประเทศต่างๆ ในอาเซียน ผู้นำจีนไม่ว่าจะเป็นสีจิ้นผิง หรือหลี่เค่อเฉียง มักได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถา ซึ่งในแต่ละครั้งผู้นำจีนทั้งสองก็ได้นำเสนอข้อคิดเห็นในการพัฒนาและความ ร่วมมือภายในภูมิภาค โดยข้อเสนอสำคัญของผู้นำจีนในการประชุมและเยี่ยมเยือนช่วงเดือน กันยายน-ตุลาคม 2013 มีอย่างน้อยสามประการดังนี้
ข้อเสนอประการแรก คือ การพัฒนา “เส้นทางสายไหมทางทะเล” (maritime silk road) ซึ่งสีจิ้นผิงได้กล่าวถึงในระหว่างการเยือนอินโดนีเซียและมาเลเซีย ทั้งนี้ เส้นทางสายไหมทางทะเลเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม (Silk Road Strategy) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่จัดวางจีนเป็นจุดศูนย์กลาง โดยอีกส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือ “แนวเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” (Silk Road Economic Belt) ในเอเชียกลาง
ก่อนหน้านี้ ในการเยือนเอเชียกลางของผู้นำจีนช่วงเดือนกันยายน 2013 สีจิ้นผิงได้กล่าวถึงแนวคิด “แนวเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” 1 ซึ่งเป็นเหตุให้นักวิเคราะห์บางคนเข้าใจไปว่า จีนต้องการหันไปสานสัมพันธ์กับเอเชียกลาง ด้วยเหตุผลสองประการคือ ประการแรก ต้องการสร้างตลาดใหม่ให้แก่ภาคตะวันตกของประเทศ ซึ่งยังคงล้าหลังเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นโดยเฉพาะภาคตะวันออกของจีน พร้อมกับลดแรงกดดันจากปัญหาความขัดแย้งเรื้อรังจากชนกลุ่มน้อยซินเจียงอุยกู ร์ อีกประการคือ เพื่อต้องการลดการพึ่งพาของจีนต่อพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้และช่องแคบมะละกา ซึ่งจีนกำลังมีปัญหาในความสัมพันธ์กับเวียดนามและฟิลิปปินส์ สาเหตุประการแรกนั้นเพราะมีเหตุผลที่ยอมรับได้เพราะสอดคล้องกับนโยบายการ พัฒนาภายในของจีน แต่ในประการหลังนั้นผิดไปจากความเป็นจริงมาก เนื่องจากตั้งแต่ที่จีนสามารถสร้างความมั่นคงภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง จีนก็ได้ให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนตลอดมา ความจริงข้อนี้ได้รับการยืนยันเมื่อสีจิ้นผิงเดินทางเยือนสองประเทศอาเซียน ในเดือนตุลาคม 2013 โดยได้กล่าวถึงการสร้าง “เส้นทางสายไหมทางทะเล” ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์ที่จีนส่งเสริมและหาประโยชน์จากความร่วมมือทางทะเลกับ ประเทศในกลุ่มอาเซียน
ข้อเสนอประการต่อมา การสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยจีนมุ่งเน้นความสัมพันธ์และการพัฒนาเศรษฐกิจในเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ในกลุ่มประเทศอาเซียน นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงได้เคยกล่าวไว้ในการเยือนงานเอ็กซ์โประหว่าง จีน-อาเซียน ครั้งที่ 10 ณ นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซี เมื่อเดือนกันยายน 2013 ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียนเป็นดัง “หุ้นส่วนความร่วมมือโดยธรรมชาติ” ความร่วมมือสองฝ่ายที่ผ่านมาเป็นดัง “ยุคทศวรรษทอง” โดยในปี 2012 จีน-อาเซียนมีการค้าระหว่างกันเพิ่มสูงขึ้นจากสิบปีที่แล้วถึงห้าเท่า ขณะที่จีนเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของอาเซียน อาเซียนก็เป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับสามของจีน ความสัมพันธ์ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะกระชับแน่นขึ้นเรื่อยๆ โดยในพิธีเปิดงานครั้งนี้ จีน-อาเซียนได้ลงนามในข้อตกลงทางเศรษฐกิจซึ่งครอบคลุมเรื่องท่าเรือ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจ ความสัมพันธ์ที่จะกระชับแน่นขึ้นในทศวรรษต่อไปเช่นนี้เอง ที่หลี่เค่อเฉียงเห็นว่าจะพัฒนาเป็น “ยุคทศวรรษเพชร” โดยได้เรียกร้องให้มีการขยายขอบข่ายความตกลง ลดอัตราภาษีและการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี จัดการเจรจาและอำนวยความสะดวกให้แก่การค้าการลงทุนสองฝ่าย พร้อมทั้งส่งเสริมให้การเชื่อมโยงต่อกันโดยสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งฝ่ายจีนสามารถช่วยเหลือประเทศสมาชิกอาเซียนได้ ทั้งด้านการก่อสร้างและจัดหาเงินทุน
ข้อเสนอประการที่สาม ถูกกล่าวถึงระหว่างการปราศรัยในรัฐสภาของอินโดนีเซีย โดยสีจิ้นผิงเสนอให้มี การก่อตั้งธนาคารเพื่อโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Bank) ขึ้น ซึ่งมีแนวความคิดพื้นฐานในการใช้ประโยชน์จากแหล่งการเงินและความเชี่ยวชาญ ของจีน เพื่อที่จะช่วยพัฒนาให้เกิดความเจริญ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อื่นๆ ภายในภูมิภาค ทั้งนี้ The Economist คาดว่า ธนาคารแห่งนี้น่าจะเป็นความร่วมมือของรัฐบาลของประเทศในเอเชีย ขณะที่ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องบ่งชี้ว่า สำนักงานใหญ่ของธนาคารนี้จะมิได้ตั้งอยู่ในประเทศจีน การตั้งธนาคารแห่งนี้ก็มุ่งหมายที่จะแสวงหาความร่วมมือกับแหล่งทุนอื่นๆ (อาทิ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB) มากกว่าที่จะแข่งขันกัน
เห็นได้ว่า ข้อเสนอสำคัญสามประการในต่างวาระต่างโอกาสข้างต้น มีจุดร่วมอยู่ที่ “ความเชื่อมโยง” ภายในภูมิภาค ตลอดจนภายนอกภูมิภาค โดยมีจีนเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนความสัมพันธ์หลัก ซึ่งจะทำให้การไหลเวียนทางการค้าการลงทุน ตลอดจนเทคโนโลยีเป็นไปได้สะดวกและคล่องตัวขึ้น เมื่อภาวะเช่นนี้ดำเนินไประยะหนึ่ง ก็เชื่อได้ว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้จะพึ่งพากันและกันหลากหลายด้าน ในระดับที่ลึกขึ้นเรื่อยๆ จนมากเพียงพอที่จะขจัดความขัดแย้งที่มีอยู่ภายในภูมิภาคได้ แม้ความเป็นจริงในปัจจุบันยังไม่เป็นเช่นนั้น ข้อเสนอด้านเศรษฐกิจของจีนยังคงก่อเกิดความแคลงใจอยู่ไม่น้อยว่าจีนมีวาระ ซ่อนเร้นประการใดหรือไม่ ขณะที่ปัญหาข้อพิพาทเรื่องเกาะแก่งในทะเลจีนใต้ก็ยังเป็นประเด็นที่ยังหาข้อ ยุติไม่ได้ในความสัมพันธ์จีน-อาเซียน
กระนั้นก็ตาม ข้อเสนอเรื่องความเชื่อมโยงภายในภูมิภาคโดยมีจีนเป็นจุดศูนย์กลางนี้ ย่อมตอบสนองต่อเสถียรภาพและความต้องการในการพัฒนาภายในประเทศกลุ่มอาเซียน ซึ่งอาจกลายเป็นกุญแจสำคัญที่คลี่คลายปมความขัดแย้งภายในภูมิภาคนี้ได้ใน อนาคต
รายการอ้างอิง
ไสว วิศวานันท์ และ วรรณรัตน์ ท่าห้อง. ความฝันของประเทศจีนกับการฟื้นฟูคุณธรรมต้านคอร์รัปชัน. ข่าวจีนศึกษา ป.14, ล.4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2556): 23-26.
China Daily USA. Xi in call for building of new 'maritime silk road'. [Online]. 4 October 2013. Available from: http://usa.chinadaily.com.cn/china/2013-10/04/content_17008940.htm
Ding Qingfen and He Wei. 'Diamond decade' ahead for China, ASEAN. [Online]. 4 September 2013. Available from: http://usa.chinadaily.com.cn/world/2013-09/04/content_16941764.htm
Reuters. China 2013 foreign investment inflows hit record high. [Online]. 16 January 2014. Available from: http://www.reuters.com/article/2014/01/16/us-china-economy-fdi-idUSBREA0F0EI20140116
The Economist. An Asian infrastructure bank: Only connect. [Online]. 4 October 2013. Available from: http://www.economist.com/blogs/analects/2013/10/asian-infrastructure-bank-1
The Straits Times. China President Xi’s ambitious new Silk Road. [Online]. 16 September 2013. Available from: http://www.straitstimes.com/the-big-story/asia-report/china/story/china-president-xis-ambitious-new-silk-road-20130916
Xinhua. Xi Jinping: China to further friendly relations with neighboring countries. [Online]. 25 October 2013, Available from: http://english.peopledaily.com.cn/90883/8437410.html
Zhai Kun. China and its Neighbors in 2013: A Two-Wheel Approach. [Online]. 21 January 2014. Available from: http://www.chinausfocus.com/foreign-policy/china-and-its-neighbors-in-2013-a-two-wheel-approach/
วรรณรัตน์ ท่าห้อง
นักวิจัยผู้ช่วยศูนย์จีนศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1320