Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
ผลงานเผยแพร่ บทความวิชาการ สถาบันเอเชียศึกษา
ชาตินิยมกับปัญหาพรมแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
ชาตินิยมกับปัญหาพรมแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
โดย ดร. ทรายแก้ว ทิพากร

ชาตินิยมกับปัญหาพรมแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
ดร. ทรายแก้ว ทิพากร
- กรรมการบริหารศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย
- นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ความขัดแย้งเรื่องดิน แดนอธิปไตยเหนือหมู่เกาะต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นปัญหาที่ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ส่อแววว่าจะเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา  มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี แต่ดูจะยังไม่คืบหน้ามากนัก ทำได้เพียงการชะลอเวลาออกไป ทำให้ใจชื้นว่าอย่างน้อยก็ยังมีเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายสามารถเจรจากัน ได้อยู่  ส่วนสำคัญที่ไม่ได้นำมาวางบนโต๊ะเจรจาเป็นปัจจัยภายในซึ่งเป็นกระแสที่กำลัง เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีมานี้เช่นกัน 

พื้นฐานของชาตินิยมในภูมิภาคนี้มีประวัติ ศาสตร์ของความขัดแย้งตั้งแต่ศตวรรษที่ 19-ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นเครื่องรองรับ ผลของความขัดแย้งที่เราเห็นได้ในปัจจุบันคือ ปัญหาพรมแดนระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น หมู่เกาะเตียวหยู (หรือ เซนกากุ ในภาษาญี่ปุ่น) เป็นหมู่เกาะขนาดเล็กอยู่ทางตอนใต้ของหมู่เกาะริวกิว เป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของญี่ปุ่น  เรื่องเกาะด้อกโด (หรือทาเคชิมา ในภาษาญี่ปุ่น) เป็นกรณีพิพาทระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น เกาะด้อกโดเป็นโขดหินที่ไม่สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ ขนาดเล็กกว่าเตียวหยูมาก อยู่ในทะเลระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลี อยู่ในความดูแลของญี่ปุ่น แต่เกาหลียังส่งคนของตนขึ้นไปประจำอยู่  ส่วนกรณีพิพาทระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่นเป็นเรื่องหมู่เกาะตอนเหนือเกาะ ฮอกไกโดของญี่ปุ่น มีเกาะใหญ่เป็นหลักๆ อยู่ 4 เกาะได้แก่ คุนาชิริ เอโตโรฟุ ฮาโบมาอิ และชิโกตัน หรือหมู่เกาะคูริล ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ๆที่มีประชากรอาศัยอยู่ ดั้งเดิมเป็นชาวไอนุ ญี่ปุ่นและรัสเซียต่างผลัดกันเข้ายึดครองหมู่เกาะเหล่านี้จนกระทั่งก่อนสิ้น สุดสงครามโลกครั้งที่สอง รัสเซียเข้ายึดหมู่เกาะนี้เป็นของรัสเซีย

ในอดีต ดินแดนที่เป็นกรณีพิพาทเหล่านี้อยู่ไกลจากศูนย์กลางการปกครองของแต่ละประเทศ การควบคุมดูแลทำได้ยาก จึงมักจะต้องปล่อยให้ประชาชาชนในพื้นที่ปกครองกันเอง ตราบใดที่ยังมีการแสดงตนว่าสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์ผู้ปกครองรัฐใหญ่กว่าที่ อยู่ข้างๆ ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และรัสเซียจึงเข้าใจว่าตนต่างก็มีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่อ้างถึง ในระหว่างช่วงปลายศตวรรษที่ 19-20 การสงครามระหว่างประเทศในภูมิภาคทำให้ดินแดนเหล่านี้ถูกสลับเปลี่ยนมือกัน จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองจึงได้มีการทำสนธิสัญญาสันติภาพและทำ ข้อตกลงเรื่องดินแดนระหว่างกัน การมีกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนจึงมีความหมายเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะหรือ ความพ่ายแพ้ในสงครามด้วย และไม่น่าแปลกใจที่เมื่อพูดถึงปัญหาพรมแดนก็จะมีประเด็นชาตินิยมเข้ามา เกี่ยวข้องทุกครั้ง

อย่างไรก็ตามกระแสชาตินิยมที่เกิดขึ้นใน ประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากปัญหาพรมแดน แต่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมในแต่ละประเทศที่เป็นผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ เมื่อเกิดขึ้นแล้วแต่ละรัฐบาลก็เห็นประโยชน์จากกระแสชาตินิยม ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ดีในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ ชาตินิยมของแต่ละประเทศก็มีจุดเน้นที่แตกต่างกัน ชาวจีนไม่ไว้ใจญี่ปุ่นเลย แม้ในยุคหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลงแล้ว การที่ญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนทิศทางของการป้องกันประเทศตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมาด้วยคำประกาศร่วมระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น จีนตีความว่าญี่ปุ่นจะไม่จำกัดการป้องกันตนเองอยู่แค่ภายในญี่ปุ่นอีกต่อไป ประเด็นสำคัญในความเป็นชาตินิยมของจีนโดยเฉพาะในกรณีความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น คือ ประวัติศาสตร์ จีนถือเป็นความอับอายที่อาณาจักรยิ่งใหญ่พ่ายแพ้ในสงครามกับประเทศเอเชีย ด้วยกันเองคือญี่ปุ่น

ส่วนญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นมักจะมองว่าตนเป็นเหยื่อของสงคราม สังคมญี่ปุ่นปัจจุบันต่างไปจากสังคมสมัยก่อนสงคราม ประชากรกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามเหลือน้อยลงๆ ทุกที  การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นก็ไม่ได้พูดในรายละเอียดของสงคราม ชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไม่เข้าใจว่าทำไมจีนและเกาหลีจึงโกรธและคอยประท้วงในทุก กรณีที่ญี่ปุ่นไปแตะต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ชาวญี่ปุ่นรุ่นหลังนี้เกิดมาพร้อมกับภาพความสำเร็จทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น มีความภาคภูมิใจในชาติรักสันติภาพ ซึ่งแสดงออกในรูปของการมีรัฐธรรมนูญใฝ่สันติภาพ  ในปัจจุบัน เมื่ออิทธิพลของฝ่ายซ้ายอ่อนกำลังลงไป แต่ฝ่ายขวากลับมีพลังมากขึ้น ความต้องการของฝ่ายขวาคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่นสามารถมีกองทหารได้ดังเช่น “ประเทศปกติ” ในสภาวะที่จีนกำลังขยับขยายอิทธิพลออกนอกประเทศมากขึ้น และภัยจากเกาหลีเหนือชัดเจนขี้น บางครั้งนักการเมืองบางกลุ่มอาจยอมให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านสะดุดลงไป บ้าง เพื่อเปิดโอกาสไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ชาวเกาหลีมีความภาคภูมิใจในเชื้อชาติเกาหลี เกาหลีต้องต่อสู้ป้องกันตนเองจากการรุกรานของต่างชาติมาตั้งแต่ในอดีต ความเข้มข้นในความเป็นเกาหลีเพิ่มขึ้นในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ซึ่งพยายามกลืนกลายวัฒนธรรมของเกาหลีด้วยวิธีการต่างๆ แต่ยิ่งกลับทำให้ชาวเกาหลีธำรงรักษาวัฒนธรรมของตนอย่างเหนียวแน่น ชาตินิยมนี้เป็นหลักชัยให้แก่สังคมเมื่อเกาหลีต้องถูกแบ่งเป็นสองประเทศจาก การตกลงกันของต่างชาติ ชาตินิยมยังเป็นหลักให้แก่สังคมเกาหลีในช่วงของการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ชาตินิยมของเกาหลีไม่มีการแบ่งแยกเกาหลีเหนือหรือใต้ ชาวเกาหลีรุ่นใหม่ไม่ได้มีประสบการณ์ตรงจากสงคราม ความหวาดกลัวภัยจากเกาหลีเหนือลดน้อยลง แต่ความไม่พอใจสหรัฐฯ ที่เข้ามาแทรกแซงกิจการของภูมิภาคกลับสูงขึ้น  ในกรณีเกาะด้อคโดจึงไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของดินแดน แต่เป็นสัญลักษณ์ของความไม่เป็นธรรมที่เกาหลีถูกกระทำโดยชาวต่างชาติ

รัสเซียเป็นกรณีที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รัสเซียมองว่าตนเองเป็นยุโรปมากกว่าเอเชีย เป็นประเทศกว้างใหญ่ที่ประกอบด้วยประชากรหลากหลายเผ่าพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกสลาฟ ผู้ปกครองของรัสเซียตั้งแต่ในอดีตส่งเสริมให้ชนกลุ่มต่างๆ รักษาอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตนเอง แต่อยู่ภายใต้อาณาจักรรัสเซีย จึงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับชาวรัสเซียที่จะรู้สึกว่าประเทศของตนประกอบด้วย ดินแดนที่มีประชากรหลากหลายต่างๆ กัน ชาตินิยมของรัสเซียมีรูปธรรมในลักษณะของบูรณภาพแห่งดินแดน สำหรับชาวรัสเซียหมู่เกาะตอนใต้ของคูริลที่ญี่ปุ่นเรียกว่าดินแดนตอนเหนือ นั้น เป็นของรัสเซียโดยไม่มีข้อสงสัย และไม่แปลกที่ประชากรในพื้นที่นั้นจะเป็นชนเผ่าที่ต่างจากในแผ่นดินใหญ่

ชาตินิยมเป็นพลังที่ดีที่เหมาะสำหรับใช้ เป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาประเทศ ถ้าพลังของชาตินิยมนั้นเกิดจากความภาคภูมิใจในความเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมดี งามมายาวนาน แต่สำหรับในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ พลังของชาตินิยมถูกปลุกเร้าด้วยความขมขื่น โกรธแค้นระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นพลังในด้านลบที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างยอมกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะพยายามแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีเพียงใด ถ้าแต่ละประเทศไม่พยายามลดการปลุกระดมชาตินิยมในทางลบ ความรุนแรงก็ดูจะอยู่ไม่ห่างไกลนัก

อ้างอิง

1. Jian Yang. “Of Interest and Distrust: Understanding China’s Policy Towards Japan” in China: An International Journal. 5.2 (2007) pp.250-275.

2. Sook-Jong Lee. “The assertive Nationalism of South Korean Youth: Cultural Dynamism and Political Activism” in SAIA Review. 26.2 (2006) pp.123-132.

ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557