


กัมพูชากับมหาอำนาจจีน : ยุค สี จิ้นผิง (ตอนที่ 2)
วัชรินทร์ ยงศิริ
สถาบันเอเชียศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความสัมพันธ์ระหว่าง กัมพูชากับผู้นำจีนรุ่นที่ 5 คงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่พบปะเจรจากับนางกู้ ซิ่วเหลียน ประธานสมาคมมิตรภาพจีน-กัมพูชา ที่มาเยือนกัมพูชาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2012 ว่า “การพัฒนาในทุกภาคส่วนของกัมพูชาไม่สามารถแยกออกจากความช่วยเหลือของจีนได้ ไม่เพียงแต่ความช่วยเหลือพัฒนาเศรษฐกิจกัมพูชาเท่านั้น แต่จีนยังช่วยส่งเสริมเอกราชและอธิปไตยของกัมพูชาในเวทีโลกอีกด้วย ดังนั้น กัมพูชาเฝ้ารอที่จะสานสัมพันธ์มิตรภาพและความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้ แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป” (Manager Online, http://www.manager.co.th) ต่อมานายกฯ ฮุน เซน ได้เร่งรุดเดินทางไปเยือนจีนเพื่อเข้าพบผู้นำคนใหม่ ภายหลังจากที่นายสี จิ้นผิง เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีไม่นาน
ฝ่ายจีนนั้นการดำเนินนโยบายต่างประเทศของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีลักษณะเป็นนโยบายเชิงรับ (reactive) มากกว่าเชิงรุก (proactive) โดยมีเสาหลักสำคัญของนโยบายต่างประเทศ คือ (1) การพัฒนาอย่างสันติ (peaceful development) หมายถึงการพัฒนาแบบเปิดกว้าง เน้นการลงทุนในต่างประเทศ และเน้นความร่วมมือที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย (win-win cooperation) และ (2) การรักษาอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน (national sovereignty and territorial integrity) (D.S. Rajan, http://strategicstudyindia.blogspot.com/2013/08/chinaxi-jinpings-foreign-policy-expect.html)
ในวันที่ 7 เมษายน 2013 นายกฯ ฮุน เซน ได้เข้าพบประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่เมืองป๋ออ๋าว (Boao) มณฑลไห่หนาน ในโอกาสนี้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวกับผู้นำกัมพูชาว่า “ที่ผ่านมาทั้งจีนและกัมพูชาได้ปฏิบัติต่อกันด้วยความจริงใจเสมอมา ต่างแบ่งปันความสุขและความทุกข์ร่วมกัน ดังนั้น ต่อจากนี้ไปขอให้ทั้งสองประเทศไว้วางใจซึ่งกันและกันและคอยสนับสนุนซึ่งกัน และกันด้วยพลังชีวิตและความร่วมมืออย่างล้ำลึกในทุก ๆ ด้านเพื่อให้บรรลุถึงระดับสูงที่ไม่เคยมีมาก่อน มิตรภาพระหว่างจีนกับกัมพูชาตลอดเวลาที่ผ่านมาได้อดทนต่อการทดสอบของสภาพแวด ล้อมการเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจีนและกัมพูชายังคงเป็นทั้งเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน เป็นมิตร เป็นหุ้นส่วน และเป็นพี่เป็นน้อง ดังคำพังเพยที่ว่าระยะทางพิสูจน์ม้าว่ามีความทรหด กาลเวลาพิสูจน์คนว่ามีความจริงใจต่อกัน ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับกัมพูชาได้กลายเป็นแบบอย่างของมิตรภาพที่อยู่ร่วม กันอย่างสันติ และยังคงมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดท่ามกลางประชาคมนานาชาติ” (http://www.fmprc.gov.cn/eng/zxxx/t1029402.shtml) และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังให้พันธสัญญากับนายกฯ ฮุน เซน ว่าจีนยังให้การสนับสนุนความพยายามของกัมพูชาในการดำรงความมั่นคงของประเทศ การช่วยเหลือตัวเองในการพัฒนา และการปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวกัมพูชาให้ดีขึ้น จีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับกัมพูชาเพื่อดำรงความสัมพันธ์ที่ดีนี้ไว้
ฝ่ายนายกฯ ฮุน เซน แสดงความขอบคุณสำหรับการสนับสนุนที่จีนมีต่อกัมพูชามาอย่างยาวนาน รัฐบาลจีนได้ให้ความช่วยเหลืออย่างมากมาย จนทำให้กัมพูชาได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มั่นคงและมีการพัฒนา และหวังจะเพิ่มพูนหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ความร่วมมืออย่างรอบด้านกับจีน นี่จึงเป็นทางเลือกด้านการเมืองของกัมพูชา และกัมพูชาจะให้การสนับสนุนจีนต่อไปในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผลประโยชน์หลักและข้อเกี่ยวข้องระหว่างกันที่สำคัญ (http://www.fmprc.gov.cn/eng/zxxx/t1029402.shtml)
จากถ้อยคำที่ผู้นำจีนและผู้นำกัมพูชาให้สัญญาต่อกันนี้ได้นำไปสู่การปฏิบัติด้านต่าง ๆ ซึ่งจะได้นำมาศึกษาเป็นประเด็นไป ดังนี้
จีนให้การสนับสนุนทางการเมืองต่อกัมพูชา
นายหวาง อี้ (Wang Yi) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีน เดินทางมาเยือนกัมพูชาเมื่อระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม 2013 ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชาไม่นาน นักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศต่างให้ความคิดเห็นว่า เป็นส่วนหนึ่งที่จีนต้องการแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนกัมพูชา (http://www.isc-gspa.org/News/View_print.asp?subjectid=12970) ซึ่งก่อนหน้านี้ นายหลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) นายกรัฐมนตรีเพิ่งจะส่งสาส์นแสดงความยินดีให้กับนายกฯ ฮุน เซน และพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ที่เพิ่งจะชนะการเลือกตั้งทั่วไปในสมัยที่ 5 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2013 นี่จึงนับเป็นคณะผู้แทนจีนระดับสูงที่เดินทางมาเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ หลังการเลือกตั้ง แม้จีนจะแจ้งวัตถุประสงค์การมาเยือนว่าเพื่อร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 55 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-กัมพูชา และเป็นปีมิตรภาพจีน-กัมพูชา 2013 ก็ตาม
ในสายตาของคนภายนอกที่มองดูจีนอยู่ต่าง วิพากษ์วิจารณ์การมาเยือนของนายหวาง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของมหาอำนาจลำดับที่ 2 ของโลกทางด้านเศรษฐกิจ กองทัพ และการเมือง ว่าเท่ากับให้การรับรองทางพฤตินัยต่อชัยชนะทางการเมืองของนายกฯ ฮุน เซน ทั้ง ๆ ที่มีเสียงคัดค้านจาก นายสม รังสี (Sam Rainsy) หัวหน้าพรรคสงเคราะห์ชาติ (The Cambodia National Rescue Party – CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านและพ่ายแพ้การเลือกตั้ง และไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งจากการประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (National Election Commission – NEC) เขายังกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้ง จึงนำประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้มีคณะกรรมการตรวจสอบอิสระเข้ามา ตรวจสอบคำร้องเรียนว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้งปี 2013 เรียกร้องให้ NEC ทั้ง 9 คนที่อยู่ใต้อำนาจของพรรค CPP ลาออกจากตำแหน่ง และเรียกร้องให้ทำการปฏิรูปการเลือกตั้งตามข้อเสนอแนะของสหประชาชาติและ องค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง แต่ข้อเรียกร้องทั้งหมดก็ไม่เป็นผล การชุมนุมประท้วงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกัมพูชารุ่นใหม่และชนชั้นกลาง จนกระทั่งสิ้นปี 2013 พรรค CNRP และประชาชนชาวกัมพูชาได้ยกระดับการชุมนุมประท้วงโดยมีจุดมุ่งหมายขับไล่ รัฐบาลภายใต้การบริหารของพรรค CPP ให้พ้นจากอำนาจและเสนอให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่
การเลือกตั้งที่ผ่านมาแต่ละครั้ง นายกฯ ฮุน เซน และพรรค CPP สามารถปรับขบวนการการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้สูญเสียอำนาจ เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่านายกฯ ฮุน เซน ปกครองประเทศด้วยการใช้ระบบอุปถัมภ์ (Patronage politics) หมายถึง การเกื้อกูลผลประโยชน์ให้ญาติพี่น้องและพรรคพวก จึงสามารถสร้างเครือข่ายอำนาจควบคุมสถาบันการปกครองของรัฐได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ กองกำลังตำรวจ ระบบศาล กระทรวงต่าง ๆ ตลอดจนควบคุมสื่อมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาล ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ การที่นายกฯ ฮุน เซน คุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเช่นนี้จึงกล้ากระทำการโดยไม่เกรงคำครหาว่าเป็น ประชาธิปไตยที่หลอกลวง เพื่อรักษาอำนาจของตนเอาไว้
การที่จีนให้ความช่วยเหลือกัมพูชาโดยไม่มี ข้อผูกมัดให้ทำการปฏิรูปการเมือง จึงกลับกลายมาเป็นสาเหตุให้ถูกกล่าวหาว่าส่งเสริมการคอร์รัปชั่นและระบบ เครือญาตินิยมในกัมพูชา เพื่อให้นายกฯ ฮุน เซน มีอำนาจอย่างมั่นคงและยาวนาน ตราบเท่าที่เขาเต็มใจที่จะขายความจงรักภักดีให้กับจีนเพื่อแลกกับเงินหลาย พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในรูปเงินกู้และการลงทุนของจีน (http://www.diplomaticourier.com/news/regions/ asia/1871-china-and-the-post-election-impasse-in-cambodia?tmpl=component&print=1)
จีนดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยหวังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับอาเซียน แต่ถ้าหากจีนใช้กัมพูชาให้เป็น de facto proxy within ASEAN (John D. Ciorciari, http://ipc.umich.edu/working-papers/ pdfs/ipc-121-ciorciari-china-cambodia-patron-client.pdf) ก็จะสร้างปัญหาให้จีนไม่ได้รับความไว้วางใจจากอาเซียน ดังนั้น จีนควรหันมาทบทวนนโยบายของตนต่อกัมพูชา
จีนให้ความร่วมมือกัมพูชาในการพัฒนาเศรษฐกิจ
ตั้งแต่ปลายปี 2012 บริษัทจีน 2 บริษัทได้ประกาศลงนามในสัญญาลงทุนเหมืองเหล็ก และโครงการสร้างทางรถไฟสายเหนือของกัมพูชา ทั้งหมดมีมูลค่า 11.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี 2013 จีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจที่จะสร้างโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งกัมพูชารอคอยมานาน (Al Jazeera, 26 July 2013: 2) องค์กรการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา (The Cambodian National Petroleum Authority – CNPA) ได้อนุมัติการลงทุนร่วมมูลค่า 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (The Economist Intelligence Unit, February 2013: 22) ระหว่างบรรษัท Sinomach China Perfect Machinery Industry Corporation กับบริษัทปิโตรเคมีคอลกัมพูชา (The Cambodian Petrochemical Company) นายสก อาน (Sok An) รองนายกรัฐมนตรีและดำรงตำแหน่งประธานของ CNPA ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ได้แถลงข่าวหลังพิธีลงนามว่า โรงกลั่นน้ำมันนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งจะมีกำลังการผลิตได้ถึง 100,000 บาร์เรล/วัน และคาดว่าจะเปิดดำเนินการกลั่นได้ในปลายปี 2015 โครงการโรงกลั่นน้ำมันเป็นการพัฒนาล่าสุดในความพยายามของกัมพูชาที่จะเป็น ผู้ส่งออกน้ำมัน คาดการณ์ว่าในระยะ 2 ปีแรกของโครงการน้ำมันที่กลั่นได้ประมาณร้อยละ 85 จะจำหน่ายภายในประเทศ
จีนให้ความร่วมมือกัมพูชาพัฒนาเส้นทางรถไฟ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2012 รถไฟบรรทุกสินค้าขบวนแรกเริ่มเดินรถบนเส้นทางสายใต้ที่ซ่อมแซมใหม่ของทาง รถไฟที่เชื่อมระหว่างกรุงพนมเปญ
เมืองหลวงกับท่าเรือสีหนุวิลล์ในจังหวัดพระ สีหนุที่อยู่ทางใต้ งานที่เสร็จสมบูรณ์ในเส้นทางรถไฟช่วงตอนใต้เชื่อมระหว่างท่าเรือสีหนุวิลล์ กับอำเภอสำโรง เมื่อปลายปี 2012 ทำให้เกิดเส้นทางรถไฟระยะทาง 256 กิโลเมตรเชื่อมระหว่างเมืองหลวงกับท่าเรือ ส่วนทางรถไฟช่วงตอนเหนือจากอำเภอสำโรงถึงกรุงพนมเปญสร้างเสร็จมาตั้งแต่ปี 2010 (The Economist Intelligence Unit, February 2013: 20) เส้นทางรถไฟนี้จะช่วยบริการด้านการขนส่งสินค้าเพื่อบรรเทาการจราจรที่คับ คั่งบนถนนหมายเลข 4 ที่เชื่อมระหว่างจังหวัด
พระสีหนุกับกรุงพนมเปญ นอกจากนี้ในเดือนมกราคม 2013 บริษัทรัฐวิสาหกิจของจีนชื่อกลุ่มการรถไฟจีน (The China Railway Group) ทำสัญญาร่วมทุนกับบริษัทกลุ่มเหล็กกล้าและอุตสาหกรรมเหมืองแร่เหล็กกัมพูชา (The Cambodia Iron and Steel Mining Industry Group) เพื่อก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างท่าเรือบนเกาะทางตอนใต้ของจังหวัดเกาะกง กับเหมืองแร่เหล็กในจังหวัดพระวิหารทางตอนเหนือ โครงการนี้ประกอบด้วยทางรถไฟ ท่าเรือ และโรงถลุงเหล็ก ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งหมด 11.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (The Economist Intelligence Unit, February 2013: 20)
จีนสร้างท่าเรือแห่งใหม่ของการท่าเรือ พนมเปญ (The Phnom Penh Autonomous Port – PPAP) ที่สร้างขยายตั้งอยู่บนพื้นที่ 10 เฮกตาร์ ทางตอนใต้ของจังหวัดกันดาล (Kandal) ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางตะวันออก 30 กิโลเมตร ท่าเรือแห่งใหม่ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2013 จุดประสงค์ในการสร้างท่าเรือแห่งใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าทั้ง ขาเข้าและขาออกไปยังจังหวัดใกล้เคียงกรุงพนมเปญ เนื่องจากที่ตั้งของการท่าเรือเก่าในกรุงพนมเปญอยู่บนฝั่งแม่น้ำ 3 สายที่ไหลมาบรรจบกัน จึงช่วยให้ง่ายต่อการขนส่งสินค้าไปยังเวียดนามตอนใต้และออกสู่ทะเลโดยมีระยะ ทางไหลของแม่น้ำโขง 330 กิโลเมตร ท่าเรือแห่งใหม่ก่อสร้างโดยบริษัทกลุ่มก่อสร้างเซี่ยงไฮ้ (The Shanghai Construction Group) ด้วยมูลค่า 28.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากจีน เหตุผลที่เลือกสร้างท่าเรือบริเวณนี้เพราะใกล้ที่ตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า จำนวนมาก ส่วนสินค้าอื่นๆ เช่น ข้าว ท่าเรือแห่งนี้สามารถรองรับการขนส่งได้เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและเวลาขนส่ง ทางถนน ดังนั้นการท่าเรือพนมเปญจึงมีแผนก่อสร้างโกดังเก็บข้าวเปลือกและข้าวสาร เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออก
ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ทั้งจีนและกัมพูชาตัดสินใจจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานระหว่างรัฐบาลของ สองประเทศ (an inter-governmental coordination committee) เมื่อเดือนเมษายน 2013 เพื่อดำเนินมาตรการในการส่งเสริมความร่วมมือตามแผนหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่าง ครอบคลุมทุกด้านระหว่างจีน-กัมพูชา ตามขั้นส่งเสริมการประสานงานและความร่วมมือทั้งในระดับระหว่างประเทศและ ระดับภูมิภาค (Jonh D. Ciorciari, 2013: 34)
จีนให้ความช่วยเหลือกัมพูชาด้านความมั่นคง
รัฐบาลกัมพูชากำลังมุ่งพัฒนาด้านความมั่นคง ของประเทศได้มีการลงนามในข้อตกลงกับจีนเรื่องการฝึกทางทหาร แม้จะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่าลงนามกันเมื่อใด แต่ภายใต้ข้อตกลงการฝึกทางทหารทั้งสองฝ่ายมีข้อสรุปออกมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2013 ว่าจีนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและความเชี่ยวชาญให้กับกองทัพกัมพูชา ด้วยการยื่นข้อเสนอหลักสูตรฝึกอบรมและจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ (The Economist Intelligence Unit, February 2013: 19) นั่นย่อมหมายถึงว่าจีนขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กัมพูชา ดังเช่น จีนกับกัมพูชามีข้อตกลงซื้อขายเฮลิคอปเตอร์สร้างในจีนรุ่น Zhi-9 เพื่อใช้ประโยชน์ทางทหาร แต่กลับมีรายงานว่าส่วนใหญ่จะใช้เพื่อบรรเทาสาธารณภัยฉุกเฉิน ต่อมารัฐบาลจีนได้จัดพิธีส่งมอบเฮลิคอปเตอร์จำนวน 12 ลำ แก่กองทัพอากาศ กองบัญชาการทหารสูงสุดกัมพูชาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2013 โดยมีพลเอกเตีย บัญ (Tea Banh) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ร่วมกับนางโบ เจียงกั๋ว เอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา ณ กองบัญชาการกองทัพอากาศโปเชนตง (http://www.isc-gspa.org/News/View_print.asp?subjectid=13452)
ในพิธีรับมอบนี้พลเอกเตีย บัญ ได้กล่าวถึงผลสำเร็จอันเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกหน้าหนึ่งในบรรดาความ สำเร็จต่าง ๆ ที่รัฐบาลจีนได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือรัฐบาลกัมพูชา ภายใต้วัตถุประสงค์ให้การฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพ เพื่อรองรับภารกิจป้องกันบูรณภาพแห่งดินแดน ช่วยเหลือด้านภัยพิบัติ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจชาติทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ความลงท้าย
เพื่อความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและมั่นคง ระหว่างกัมพูชากับจีน ในยุคผู้นำรุ่นใหม่รุ่นที่ 5 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทั้งสองฝ่ายควรจะหันมาทบทวนนโยบายต่างประเทศที่มีต่อกัน โดยฝ่ายกัมพูชาควรพิจารณาเสียใหม่ว่าการยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว จะมีผลกระทบต่ออาเซียนที่กำลังจะรวมตัวเป็นประชาคมในเร็ว ๆ นี้หรือไม่ กัมพูชาควรพิจารณาการดำเนินนโยบายของประเทศเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของอาเซียน มากกว่าประโยชน์ของกัมพูชาโดยลำพัง ส่วนจีนควรจะใช้นโยบายการพัฒนาสันติภาพอย่างแท้จริง นำเอาความเจริญก้าวหน้าและความรู้ทางเทคโนโลยีมาช่วยเหลือพัฒนากัมพูชา เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย จะเป็นการดีกว่าการให้ความช่วยเหลือเพื่อหวังใช้กัมพูชาให้เป็นเบี้ยใน กระดานเกมแข่งขันด้วยหวังแทรกแซงในอาเซียนและถ่วงดุลอำนาจกับสหรัฐฯ
เอกสารอ้างอิง
Burgos, Sigfrido and Ear, Sophal. 2010. “China’s Strategic Interests in Cambodia: Influence and Resources.” In Asian Survey 50 (May/June 2010).
Ciorciari, D. Jonh. “China and Cambodia: Patron and Client?” In International Policy Center 121 (14 June 2013).
Goh, Evelyn and Simon, Sheldon W. (eds). 2008. China, the United States, and Southeast Asia: Contending perspectives on politics, security, and economics. New York: Routledge.
Heng, Pheakdey. “Cambodia-China Relations: A Positive-Sum Game?” In Journal of Current Southeast Asian Affairs 2 (2012) Available from http://www.CurrentSoutheastAsianAffairs.org.
Kurlantzick, Joshua. 2006. “China’s Charm: Implications of Chinese Soft Power.” In Policy Brief 47 (June 2006).
The Economist Intelligence Unit. 2010. “Cambodia,” In Country Report (January 2010).
The Economist Intelligence Unit. 2012. “Cambodia,” In Country Report (August 2012).
The Economist Intelligence Unit. 2013. “Cambodia,” In Country Report (February 2013).
The Economist Intelligence Unit. 2013. “Cambodia,” In Country Report (March 2013).
วัชรินทร์ ยงศิริ. 2548. กัมพูชาวันวารที่ผันเปลี่ยน. กรุงเทพฯ: ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์การพิมพ์.
หนังสือพิมพ์
Akshan de Alwis. “China and the Post-Election Impasse in Cambodia.” Available from http://www.diplomaticourier.com/news/regions/asia/1871-china-and-the-post-election-impasse-in -cambodia?tmpl=component& print=1.
Al Jazeera. “China’s economic footprint grows in Cambodia.” (26 July 2013).
Bangkk Post (Business) (6 October 1998).
D.S. Rajan. “China: Xi Jinping’s Foreign Policy-Expect No End to Assertiveness.” Available from http://www.strategicstudyindia.blogspot.com/2013/08/chinaxi-jinpings-foreign-policy-expect.html.
Liao, Ruo. “A shadow over Boeung Kak lake (1).” Available from http://www.chinadialogue.net/ article/show/single/en/4629-A-shadow-over-Boeung-Kak-lake-1-.
Manager Online, แหล่งที่มา: http://www.manager.co.th.
Ponniah, Kevin. “China-Cambodia affection on display.” Available from http://www.phnompenhpost.com/ national/china-cambodia-affection-display.
“Xi Jinping Meets with Cambodian Prime Minister Hun Sen, Stressing China and Cambodia Are Good Neighbors, Friends, Partners and Brothers.” Available from http://www.fmprc.gov.cn/eng/zxxx/ t1029402.shtml.
“การเยือนกัมพูชาของรัฐมนตรีการต่างประเทศ จีน อาจช่วยยุติปัญหาระหว่างสองพรรคการเมืองลงได้.” (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.isc-gspa.org/News/View_print.asp?subjectid=12970.
“จีนมอบเฮลิคอปเตอร์ 12 ลำ แก่ทัพฟ้ากัมพูชา.” (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.isc-gspa.org/News/ View_print.asp?subjectid=13452.
http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1345