Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
ผลงานเผยแพร่ บทความวิชาการ สถาบันเอเชียศึกษา
โทรคมนาคมกับการปฏิรูปการเมืองในพม่า - ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย Thai World Affairs Center
โทรคมนาคมกับการปฏิรูปการเมืองในพม่า - ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย Thai World Affairs Center
โดย ณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์

โทรคมนาคมกับการปฏิรูปการเมืองในพม่า


ณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์
นักวิจัยผู้ช่วยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เมื่อไม่นานมานี้ (มิถุนายน 2013) รัฐบาลพม่าได้พิจารณาให้สัมปทานแก่บริษัทเทเลนอร์ สัญชาตินอร์เวย์ และบริษัทอูริดู สัญชาติกาตาร์ เพื่อเป็นผู้ลงทุนในโครงข่ายด้านการโทรคมนาคมในประเทศ โดยรัฐบาลได้วางเป้าหมายที่บริษัททั้งสองต้องบรรลุคือ ต้องเพิ่มจำนวนการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นร้อยละ 22.8 ในปีงบประมาณ 2013-2014 และขยายเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ในปีงบประมาณ 2014-2015 และเพิ่มเป็นร้อยละ 75-80 ในปี 2015-2016 ซึ่งได้กลายเป็นบริษัทต่างชาติ 2 รายแรกที่ได้รับมอบสัมปทานในการดำเนินงานให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อน ที่ในพม่า

เมื่อพิจารณาถึงเป้าหมายสำคัญในการพัฒนา เศรษฐกิจพม่า ซึ่งประธานาธิบดี Thein Sein ได้ประกาศแนวทางชัดเจนในการเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการขนส่ง ไฟฟ้า ประปา และยังรวมถึงเรื่องการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ โดยปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า พม่ายังขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้อยู่มาก โดยเฉพาะในเรื่องไฟฟ้าที่มีเฉพาะในเมืองใหญ่ และไม่สามารถจ่ายกระแสไฟได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงระบบถนนที่ยังไม่ครอบคลุมเมืองสำคัญทั่วประเทศ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจในพม่าสูงเกินไป และเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทจากต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องโทรคมนาคมที่ถือว่าด้อยพัฒนาอย่างมาก  เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วพม่าถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนผู้เข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ น้อยที่สุดในโลกคือ มีเพียงร้อยละ 7.08 ของประชากรกว่า 60 ล้านคนทั่วประเทศเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเบื้องต้นที่รัฐบาลต้องพัฒนาขึ้นให้ได้เพื่อดึง ดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ความด้อยพัฒนาของโทรคมนาคมในพม่าดังกล่าวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากแต่เป็นเพราะความจงใจของรัฐบาลในอดีตหรือก็คือกองทัพ เนื่องจากเรื่องโทรคมนาคมไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หากแต่ถูกมองว่าเป็นกิจการของความมั่นคงที่กองทัพต้องดูแลควบคุมอย่างเข้ม งวดทั้งในด้านเนื้อหาและขอบเขตการกระจายของข้อมูลข่าวสาร รวมถึงความพยายามในการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและการเลือกนำเสนอ มีการตั้งหน่วยสืบราชการลับ (Military intelligence: MI) คณะกรรมการควบคุมสื่อ (Press Scrutiny Board: PSB) ภายใต้กระทรวงข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการเข้ามาดูแลกำกับกิจการด้านโทรคมนาคมโดยตรง ซึ่งจะเห็นบทบาทของกองทัพอย่างชัดเจนในพัฒนาการโครงสร้างกิจการโทรคมนาคมของ พม่า

กล่าวได้ว่า ก่อนที่จะมีการเปิดประเทศนั้นผู้ให้บริการด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพม่า รวมถึงหน่วยงานที่ดูแลการให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตล้วนอยู่ภายใต้การ ควบคุมของกองทัพหรือมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่แนบแน่น อาทิ การให้บริการภายใต้การควบคุมของรัฐโดยกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม (Myanmar Post and Telecommunications: MPT) ที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายแรกในพม่า หรือบริษัทเอกชนที่เปิดให้บริการในปี 2002 ซึ่งถือเป็นรายแรกในพม่า ภายใต้ชื่อ Bagan Cyber Tech ที่ก่อตั้งโดยนายพล Khin Nyunt นายกรัฐมนตรีของพม่าในขณะนั้น และให้ลูกชายของตน Ye Naing Win ขึ้นเป็นผู้อำนวยการ และต่อมาภายหลังถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Myanmar Teleport ในปี 2004 ภายหลังจากนายพล Khin Nyunt ถูกปลด ทั้งนี้ Myanmar Teleport จะทำหน้าที่สำคัญในการสอดส่องความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และยังมีบทบาทสำคัญในการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการปราบปรามการประท้วงของพระ สงฆ์ในปี 2007 และเอกชนรายใหญ่ที่ให้บริการอีกแห่งหนึ่งได้แก่ Redlink Communications ก่อตั้งในปี 2008 ภายใต้การดำเนินงานของ Aung Thet Mann บุตรชายของ Shwe Mann นายพลคนสำคัญของกองทัพในขณะนั้น และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภาของพม่า

นอกจากนี้ พม่ายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพด้าน IT ของกองทัพ โดยได้สร้างเมืองศูนย์กลางโครงข่ายภายใต้ชื่อ Yadanabon Cyber City เพื่อที่จะเป็นกลไกสำคัญในการจัดการและควบคุมระบบอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศ โดยให้ Nay Shwe Thway Aung หลานชายคนโตของพลเอกอาวุโส Than Shwe ดำรงตำแหน่งประธานแม้จะยังด้อยอาวุโสอยู่ก็ตาม นอกจากนี้ ยังเห็นบทบาทของนักธุรกิจที่ใกล้ชิดเครือข่ายอำนาจในกองทัพที่เข้ามาดำเนิน กิจการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การจัดทำเว็บไซด์ให้กับหน่วยงานราชการของบริษัท IGE ซึ่งเป็นของ Ne Aung และ Pyi Aung สองพี่น้องลูกชายของ Aung Thaung รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม โดย Pyi Aung ยังเป็นลูกเขยของนายพล Maung Aye นายพลคนสำคัญของกองทัพพม่าอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าธุรกิจโทรคมนาคมในพม่านั้น แทบจะเรียกได้ว่าถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดจากกองทัพ และในบางโอกาสก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ทั้งการคอยติดตามความเคลื่อนไหว หรือควบคุมการแพร่กระจายของข่าวสาร เช่น ในกรณีเหตุการณ์ประท้วงของพระสงฆ์ในปี 2007 จึงไม่แปลกที่กองทัพจะมองกิจการด้านโทรคมนาคมเป็นเรื่องกิจการความมั่นคงและ ควบคุมอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด

อย่างไรก็ดี การปฏิรูปทางการเมืองที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใน ปี 2010 ที่ได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการปฏิรูปทางเศรษฐกิจควบคู่กันไปนั้น อาจมองได้ว่า เป็นผลมาจากความต้องการของกองทัพเองที่ต้องการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของ ประชาชนหลังจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วประเทศมาเป็นเวลานานกว่า 50 ปี เนื่องจากความความตกต่ำของเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ได้สร้างแรงกดดันอย่างสูงใน ภาคประชาชนและกลายเป็นพลังที่อาจนำไปสู่การโค่นล้มอำนาจรัฐบาลลงได้ ดังที่เคยแสดงให้เห็นในเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ในปี 1988 และการประท้วงนำโดยพระสงฆ์ในปี 2007 ที่แม้กองทัพจะสามารถปราบปรามและคงอยู่ในอำนาจได้ หากแต่ก็ได้สร้างความตระหนักให้กับเหล่าผู้กุมอำนาจว่า ภัยคุกคามหลักต่อเสถียรภาพของรัฐบาลแท้จริงแล้วก็คือ ประชาชนของตนที่ต้องทนอยู่กับความยากจนและด้อยพัฒนานั่นเอง

การเปิดประเทศและการปฏิรูปเศรษฐกิจของพม่านี้ ในแง่หนึ่งจึงสามารถมองว่า เป็นไปเพื่อลดแรงกดดันในภาคประชาชน เพื่อที่จะสร้างเสถียรภาพในทางการเมืองให้กองทัพสามารถมีบทบาทนำในการเมือง พม่าได้ต่อไป โดยจำเป็นต้องใช้แนวทางการเปิดประเทศเพื่อให้ทุนต่างชาติเข้ามามีบทบาทในการ พัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน อย่างไรก็ดี การเปิดประเทศในทางเศรษฐกิจนี้ย่อมจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของสังคมภายใน ประเทศอย่างรวดเร็ว และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างถาวร โดยที่กองทัพหรือกลุ่มอำนาจเดิมไม่สามารถเข้ามากำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลง ได้อีก หากแต่ต้องสูญเสียอำนาจการควบคุมให้กับตลาดภายใต้ระบอบทุนนิยมโลก

นอกจากนี้ การแผ่อิทธิพลของทุนนิยมโลกและการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่ายังส่งผลต่ออำนาจใน การผูกขาดการจัดการทรัพยากรภายในประเทศของกองทัพ โดยกลุ่มอำนาจอื่นๆ สามารถเข้ามาต่อรองในระบบใหม่ ผ่านระบบสภาและการเลือกตั้ง หรือในทางเศรษฐกิจ ที่กลุ่มอำนาจเดิมต้องเผชิญกับการแข่งขันจากต่างชาติภายใต้กติกาสากลมากขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงกลายเป็นคำถามที่สำคัญว่า กองทัพจะยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพม่าได้มากแค่ไหน หรือประชาธิปไตยในพม่าจะย้อนกลับสู่เผด็จการทหารหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามที่แพร่หลายอยู่ในวงการพม่าศึกษาโดยทั่วไป

ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ จึงกลายเป็นความย้อนแย้งของการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า ที่เกิดอยู่เสมอในทุกขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงซึ่งมีให้เห็นในหลายกรณี  อาทิ การที่รัฐบาลมุ่งเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในขณะที่รัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะของกองทัพ ยังคงมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป การที่ทหารหรือกองทัพยังคุ้นเคยกับการยึดที่ดินของประชาชนไปใช้ประโยชน์ตาม อำเภอใจซึ่งกลายเป็นประเด็นขัดแย้งที่สำคัญในปัจจุบัน การที่รัฐบาลประกาศหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยเพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุน หากแต่ทหารที่ปฏิบัติการในพื้นที่ยังคงดำเนินการสู้รบอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ซึ่งความขัดแย้งในมิติของการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจกับความมั่นคงของประเทศนี้ จะเป็นเงื่อนปมสำคัญที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการอย่างสมดุลตลอดกระบวนการ ปฏิรูปประเทศที่กำลังเกิดขึ้นนี้

รายการอ้างอิง

International Business Times. Myanmar Telecom War: Huawei Main Supplier For Telenor And Other Myanmar Telecom Operator. [online]. 2013. Available from: http://www.ibtimes.com/myanmar-telecom-war-huawei-main-supplier-telenor-other-myanmar-telecom-operators-1383503

International Business Times. Myanmar's Telecom Landscape Gets Complicated With A Military-Backed Joint Venture Set To Compete With Telenor And Ooredo. [online]. 2013. Available from: http://www.ibtimes.com/myanmars-telecom-landscape-gets-complicated-military-backed-joint-venture-set-compete-telenor

Irrawaddy. President announces seven-step development road-map. [online]. 2013. Available from:http://www.mizzima.com/news-91481/prisoner-watch/9848-president-announces-seven-step-development-road-map

Irrawaddy. The Coming Cyber War. [online]. 2010. Available from: http://www2.irrawaddy.org/article.php?art_id=17923 

Manager. พม่าตั้งเป้าคนใช้มือถือ 80% จากประชากรทั้งหมดทั่วประเทศในปี 2558. [ออนไลน์]. 2013. สืบค้นจาก: http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9560000085760

Keywords : พม่า การเปิดประเทศ โทรคมนาคม การพัฒนาเศรษฐกิจ การปฏิรูปการเมือง ณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์

ข้อมูลเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2556