Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
ผลงานเผยแพร่ บทความวิชาการ สถาบันเอเชียศึกษา
ความสัมพันธ์ซาอุดีอาระเบีย-อิหร่าน: จากอดีตถึงอาหรับสปริง
ความสัมพันธ์ซาอุดีอาระเบีย-อิหร่าน: จากอดีตถึงอาหรับสปริง
โดย ศราวุฒิ อารีย์

ความสัมพันธ์ซาอุดีอาระเบีย-อิหร่าน: จากอดีตถึงอาหรับสปริง


ศราวุฒิ อารีย์
- สำเร็จการศึกษาปริญญาโทและเอก สาขาเอเชียตะวันตกศึกษา (อินเดีย)
- นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


นับตั้งแต่อดีตจนถึง ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดี-อิหร่านมีความซับซ้อนและแปรเปลี่ยนไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในตะวันออกกลาง จากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในยุคการปกครองแบบราชาธิปไตยของทั้ง 2 ประเทศ จนถึงการตัดความสัมพันธ์ระหว่างกันหลังการปฏิวัติอิหร่าน ก่อนที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กันใหม่ในช่วงทศวรรษที่ 1990 และมีการขับเคี่ยวแข่งขันกันมากขึ้นหลังยุคประธานาธิบดีซัดดัมแห่งอิรัก และปรากฏการณ์การลุกฮือของประชาชนขับไล่เผด็จการในโลกอาหรับ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อาหรับสปริง” (Arab Spring)

หากย้อนกลับไปดูความสัมพันธ์ระหว่างซาอุ ดี-อิหร่านในยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ก็จะพบว่าทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 1928 หรือช่วงที่มีการสถาปนารัฐซาอุดีอาระเบียขึ้นมาใหม่ ภายใต้การนำของตระกูลสะอูด (Al-Saud Family) ความใกล้ชิดระหว่างระบอบราชาธิปไตยของทั้ง 2 ประเทศยังไม่ปรากฏเด่นชัดมากนักในช่วงแรก จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติโค่นล้มกษัตริย์แห่งอิรักในปี 1964 อันเป็นผลมาจากกระแสชาตินิยมอาหรับที่เติบโตอย่างรวดเร็วในยุคนั้น ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นทำให้ซาอุดี-อิหร่าน ต้องร่วมมือกันหยุดยั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในตะวันออกกลาง อีกทั้งซาอุดี-อิหร่านยังมีผลประโยชน์ร่วมกันในกิจการน้ำมัน ที่เป็นรายได้หลักสำคัญของประเทศ ดังที่ Henner Furtig ได้อธิบายเอาไว้ว่า “ความสนใจร่วมในการต่อสู้กับพวกสังคมนิยมและชาตินิยมสุดโต่ง ที่กำลังคืบคลานเข้ามาในอ่าวเปอร์เซีย การสร้างหลักประกันให้เกิดการไหลของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และการเพิ่มความมั่งคั่งร่ำรวยผ่านการส่งออกน้ำมัน ทำให้ซาอุดี-อิหร่านต้องผนึกกำลังร่วมกันจนกระทั่งถึงปลายทศวรรษที่ 1970” 

สัมพันธภาพที่ตั้งอยู่บนความเหมือนของระบอบ การปกครอง และผลประโยชน์ร่วมทางเศรษฐกิจดังกล่าว ถูกตั้งข้อสังเกตจาก David Long ว่า “ก่อนการปฏิวัติ (อิหร่าน) เหตุปัจจัยหลักอันทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางการเมืองในอ่าวเปอร์เซีย ไม่ได้มีต้นเหตุมาจากประเด็นความขัดแย้งซุนนีย์-ชีอะห์ หรือความแตกต่างทางชาติพันธุ์ระหว่างอาหรับกับเปอร์เซีย แต่เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายชาตินิยมอาหรับ”  ข้อสังเกตุดังกล่าวมีความน่าสนใจยิ่ง เพราะเป็นการชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งระหว่างซาอุดี-อิหร่านที่เกิดขึ้นปัจจุปัน ไม่ได้มีสาเหตุหลักจากพื้นฐานความแตกต่างทางนิกายศาสนาอย่างที่หลายคนอ้าง แม้แต่ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม ก็ถูกก้าวข้าม หากทั้ง 2 ประเทศต้องเผชิญปัญหาแรงกดดันร่วมกัน  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้ทั้ง 2 ประเทศหันมาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม นับจากการปฏิวัติอิหร่านปี 1979 ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดี-อิหร่านก็เปลี่ยนไปทันที  ซาอุดีอาระเบียมองการปฏิวัติอิหร่านว่าเป็นพลังที่จะสร้างความไร้เสถียรภาพ ขึ้นในภูมิภาค ส่วนหนึ่งเนื่องจากซาอุดีอาระเบียเห็นว่า อิหร่านพยายามตอกย้ำความพยายามที่จะส่งออกการปฏิวัติไปยังรัฐอื่น ๆ รอบอ่าวเปอร์เซีย  ในทางกลับกัน อิหร่านก็มองซาอุดีอาระเบียว่าไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นผู้พิทักษ์ศาสนสถาน สำคัญของโลกมุสลิมทั้ง 2 แห่ง (มัสยิดิลฮารอมในมักกะฮ์ และมัสยิดนะบะวีย์ในมะดีนะฮ์) ขณะเดียวกัน อุดมการณ์ของอยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ผู้นำการปฏิวัติอิหร่าน ยังต่อต้านระบอบราชาธิปไตยอย่างแข็งขัน พร้อมทั้งเสนอแนะให้อำนาจสูงสุดทางการเมืองอยู่ภายใต้ผู้นำศาสนา ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ล้วนตรงข้ามกับโครงสร้างทางการเมืองและนโยบายภายในของซา อุดีอาระเบีย

ความขัดแย้งระหว่างซาอุดี-อิหร่านทวีความ รุนแรงมากขึ้น อันเกิดจากสงครามอิรัก-อิหร่านที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1980 ทั้งนี้เนื่องจากซาอุดีอาระเบียให้การสนับสนุนอิรักในการทำสงครามดังกล่าว พร้อมทั้งให้อิรักกู้ยืมเงินกว่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กองทัพอิรัก Furtig  ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าเป็น “ระเบียบภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียที่เป็นสามเหลี่ยม” (Triangular regional order of the Gulf)  ซึ่งหมายถึงพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค ที่ปรับเปลี่ยนไปจากการที่อิหร่านและซาอุดีอาระเบียเคยร่วมกันสกัดกั้นการ เติบโตของอิรัก ก็เปลี่ยนเป็นการที่อิรักและซาอุดีอาระเบียร่วมกันสกัดกั้นการเติบโตของ อิหร่านในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ในปี 1987 เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดี-อิหร่านอีกครั้ง เป็นเหตุการณ์ที่เริ่มต้นจากการที่ผู้แสวงบุญชาวอิหร่านจัดขบวนชุมนุมทางการ เมืองต่อต้านสหรัฐฯ ระหว่างประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์ จนเกิดการปะทะอย่างรุนแรงกับกองกำลังรักษาความมั่นคงของซาอุดีอาระเบีย นำไปสู่การนองเลือดซึ่งทำให้ผู้แสวงบุญชาวอิหร่านเสียชีวิตทันที 275 คน บาดเจ็บอีก 303 คน  ขณะที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของซาอุดีอาระเบียก็เสียชีวิตและบาดเจ็บไปจำนวน ไม่น้อยเช่นกัน เหตุการณ์นี้สร้างความเกลียดชังและความหวาดระแวงซึ่งกันและกันเพิ่มมากขึ้น อันนำไปสู่การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในที่สุดเมื่อปี 1988 ขณะที่อิหร่านก็ประกาศคว่ำบาตรไม่ขอเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ในซาอุดีอาระเบียอีก ต่อไป 

แม้สัมพันธภาพระหว่างซาอุดี-อิหร่านจะไม่ ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาทันทีหลังสงคราม 8 ปี อิรัก-อิหร่าน (1980-1988) จบสิ้นลง แต่ในทศวรรษที่ 1990 ก็มีเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ ที่ทำให้มหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศต้องโน้มเอียงเข้าหากัน เริ่มจากการที่กองกำลังอิรักเคลื่อนทัพไปบุกยึดคูเวตในปี 1990 ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของมหาอำนาจในภูมิภาคที่เป็นแบบสาม เหลี่ยมอีกครั้ง เพราะสงครามอ่าวเปอร์เซียที่ตามมาหลังจากนั้น ได้ทำให้ความขัดแย้งระหว่างซาอุดี-อิหร่านคลายความตึงเครียดลง ต่างฝ่ายต่างต้องมาให้ความสนใจร่วมกันต่อปัญหาภัยคุกคามจากอิรักภายใต้ ประธานาธิบดีซัดดัม ความก้าวร้าวของซัดดัมได้นำทั้ง 2 ประเทศหันมาสู่เป้าหมายทางการเมืองร่วมกัน  เนื่องจากอิหร่านยังฝังใจเจ็บอิรักจากการทำสงคราม 8 ปี ขณะที่ซาอุดีอาระเบียเองก็มองอิรักและพฤติกรรมการยึดครองคูเวต ว่าเป็นภัยคุกคามต่อราชวงศ์สะอูดมากกว่าภัยคุกคามที่มาจากอิหร่าน สุดท้ายความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างซาอุดี-อิหร่านก็เปิดฉากขึ้นอีกครั้งใน วันที่ 19 มีนาคม 1991 

นอกจากนั้น เหตุผลด้านเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยดึง 2 ฝ่ายให้ต้องหันหน้าเข้าหากัน อิหร่านเริ่มเห็นความสำคัญของซาอุดีอาระเบียในฐานะ “พี่ใหญ่” ของ OPEC เพราะเป็นหนทางในการร่วมมือเพิ่มการค้าและรายได้อันเกิดจากการขายน้ำมันใน ตลาดโลก เพื่อที่จะเอาเงินมาบูรณะฟื้นฟูประเทศอิหร่านหลังตกอยู่ในภาวะสงครามมานาน หลายปีติดต่อกัน ขณะที่ซาอุดีอาระเบียเองก็ต้องการรักษาภาพลักษณ์ในฐานะผู้พิทักษ์ศาสนสถาน สำคัญทั้งสองของโลกมุสลิม โดยไม่ต้องการให้ชาติใดคว่ำบาตรพิธีฮัจญ์ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของซาอุดีอาระเบียรองจากน้ำมัน    ทั้งนี้ อิหร่านในยุคนั้นถือเป็นประเทศที่ประชาชนมาประกอบพิธีฮัจญ์มากที่สุด ขณะที่ความรู้สึกว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามต่อกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียก็ลด น้อยลงตามลำดับ  โดยเฉพาะหลังจากที่อิหร่านมีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้ผู้นำและนักการศาสนาสาย ปฏิรูป

ตะวันออกกลางหลังยุคซัดดัม

การก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดขึ้นมาทันที ภายใต้ข้ออ้างเรื่องสงครามต่อต้านการก่อการร้าย สหรัฐฯได้ใช้กำลังบุกโจมตีอัฟกานิสถาน (2001) และอิรัก (2003) เป็นผลให้อำนาจของระบอบตอลีบันและซัดดัมถูกโค่นล้ม ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดี-อิหร่าน ที่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีความขัดแย้งกันมากนัก นอกจากนั้น ตะวันออกกลางยุคหลังซัดดัมยังเป็นการเปิดศักราชใหม่ในความขัดแย้ง ไม่เฉพาะระหว่างพวกสุดโต่งของตะวันตกและตะวันออกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความขัดแย้งระหว่างนิกายศาสนาซุนนีย์-ชีอะฮ์อีกด้วย

ผลจากการที่สหรัฐฯ ใช้กำลังโค่นอำนาจซัดดัมแห่งอิรัก ทำให้ดุลอำนาจในอ่าวเปอร์เซียที่เป็นแบบสามเหลี่ยมหมดไป เพราะอำนาจที่เคยคานกันระหว่างซาอุดีอาระเบีย อิรัก และอิหร่าน มาบัดนี้ถูกแทนที่ด้วยโครงสร้างที่เป็นการแข่งขันกันแบบสองขั้ว (bipolar) คือ อิหร่านกับซาอุดีอาระเบียโดยตรง  ขณะเดียวกัน การโค่นล้มซัดดัม ซึ่งเป็นศัตรูของอิหร่าน ทำให้อำนาจการปกครองอิรักจากที่เคยอยู่ในมือของนักชาตินิยมอาหรับ ก็เปลี่ยนเป็นอำนาจฝ่ายชีอะฮ์ ซึ่งได้รับเลือกตั้งให้เป็นรัฐบาลใหม่ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในอิรักกว่าร้อยละ 60 เป็นมุสลิมสายชีอะฮ์ ส่งผลให้อิหร่านมีเครื่องมือเชื่อมต่อความสัมพันธ์ และเข้าไปมีอิทธิพลบทบาทในอิรักได้ง่าย 

นอกจากอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของมุสลิมชีอะฮ์ ในอิรักแล้ว บทบาทของกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ยังปรากฏเด่นชัดขึ้นในการเมืองเลบานอนจากการช่วย เหลือของซีเรีย (ซึ่งทั้งฮิซบุลลอฮ์และซีเรียต่างเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับอิหร่าน) ทำให้อิทธิพลของอิหร่านขยายตัวให้เห็นเด่นชัดในระยะหลัง ในทางตรงข้าม บทบาทของซาอุดีอาระเบียในการเมืองภูมิภาคกลับลดน้อยถอยลง ด้วยเหตุนี้ สภาวะแห่งการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจทั้งสองจึงเริ่มเปิดฉากขึ้นอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกันในสมรภูมิอิรักหลังยุคซัดดัม ไม่ว่าจะเป็นสงคราม 33 วันในเลบานอนระหว่างฮิซบุลลอฮ์กับอิสราเอล  ตลอดจนการบุกโจมตีกาซ่าถล่มกลุ่มฮามาสโดยกองกำลังอิสราเอลเป็นเวลา 22 วัน

ปัจจัยอีกประการที่นำไปสู่ภาวะการแข่งขัน ระหว่างซาอุดี-อิหร่านคือ ความก้าวหน้าของอิหร่านในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ ซาอุดีอาระเบียเชื่อว่า ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ทำให้อิหร่านมีสถานะที่เหนือกว่าใน ภูมิภาค ซึ่งในทางกลับกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความล้าหลังไร้ศักยภาพของซาอุดีอาระเบีย ที่ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ความไม่พอใจของซาอุดีอาระเบียในเรื่องนี้อาจดูได้จากความร่วมมือระหว่างซาอุ ดีอาระเบียกับสหรัฐฯ ในการที่จะหยุดยั้งทุกกิจกรรมของอิหร่านไม่ให้มีการพัฒนาเทคโนโลยี นิวเคลียร์ได้สำเร็จอย่างเด็ดขาด

ปรากฏการณ์ Arab Spring

การขับเคี่ยวแข่งขันระหว่างซาอุดี-อิหร่าน เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้ง หลังผู้นำเผด็จการในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นตูนีเซีย อียิปต์ ลิเบีย และเยเมน ถูกโค่นอำนาจโดยกองทัพประชาชนที่ลุกฮือขึ้นต่อต้าน   หรือที่รู้จักกันในชื่อ Arab Spring อีกทั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ยังได้ลุกลามไปประเทศอื่น ๆ ทั่วภูมิภาค รวมถึงในซาอุดีอาระเบียเอง การล้มลงของเผด็จการในหลายประเทศในเวลาที่รวดเร็ว เป็นปรากฏการณ์ที่คล้ายกับตอนที่สหรัฐฯบุกโค่นล้มระบอบซัดดัมในอิรักในแง่ ที่ว่า เกิดการปรับดุลอำนาจครั้งใหม่ในตะวันออกกลาง และเกิดสูญญากาศทางการเมืองขึ้นในหลายประเทศ

สำหรับซาอุดีอาระเบีย กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่นี้ถือเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อราชวงศ์ สะอูด เพราะเป็นกระแสที่กำลังคืบคลานเข้ามา และบ่อนเซาะการปกครองในระบอบอำนาจนิยมของซาอุดีอาระเบีย ฉะนั้น การรับมือกับกระแสที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการหาวิธีหยุดยั้งกระแสอาหรับสปริง จึงเป็นเป้าหมายหลักที่ซาอุดีอาระเบียต้องรีบดำเนินการ  แต่สำหรับอิหร่านแล้ว ถือเป็นโอกาสที่จะสร้างพันธมิตรใหม่ในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกับตัวแสดงใหม่ที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่เป็นฝ่ายนิยม แนวทางอิสลาม ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาอำนาจของพันธมิตรอย่างซีเรียเอาไว้ ลักษณะเช่นนี้จึงเท่ากับเป็นการสร้างสมรภูมิแข่งขันระหว่างซาอุดี-อิหร่าน อีกครั้ง  ซึ่งทำให้อุณหภูมิการเมืองในตะวันออกกลางร้อนแรงยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1. Malcolm Kerr, The Arab Cold War, 1958-1964: A Study of Ideology in Politics. London: Chattam House Series, Oxford University Press, 1965.

2. Henner Furtig, “Conflict and Cooperation in the Persian Gulf: The Interregional Order and US Policy,” Middle East Journal 61, no. 4 (Fall 2007).

3. Reza Amiri, Ku Samsu, and Hassan Fereidouni, “The Hajj and Iran’s Foreign Policy towards Saudi Arabia,” Journal of Asian and African Studies 46, no. 6 (2011).

4. Gwenn Okruhlik, “Saudi Arabian-Iranian Relations: External Rapprochement and Internal Consolidation,” Middle East Policy 10, no. 2 (Summer 2003).

5. Frederic Wehrey, et al, Saudi-Iranian Relations Since the Fall of Saddam: Rivalry, Cooperation, and Implications for U.S. Policy, Santa Monica, CA: RAND Corporation –National Security Research Division, 2009.

 

http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1304

 

ข้อมูลเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2556