


เวียดนาม-ญี่ปุ่น : ความสำคัญที่มีต่อกัน
ธัญญาทิพย์ ศรีพนา
นักวิจัยด้านเวียดนามศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ จากคณะกฎหมายและรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัย Aix-Marseille III ประเทศฝรั่งเศส
ความสัมพันธ์ระหว่าง เวียดนามและญี่ปุ่นในปัจจุบันได้พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี ในระดับพหุภาคี ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์กันทั้งในเวทีของสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) การประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting หรือ ASEM) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit หรือ EAS) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเซีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC) อาเซียน (Asean) ASEAN-Japan dialogue และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบของความร่วมมือแม่โขง-ญี่ปุ่น (Mekong-Japan Cooperation) เป็นต้น ส่วนความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีนั้น มีทั้งในด้านการเมือง การทูต เศรษฐกิจ อันครอบคลุมถึงการค้า การลงทุน ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา อันรวมถึง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคียังรวมถึงความร่วมมือทางวัฒนธรรมด้วย
ทั้งสองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในวันที่ 21 กันยายน 1973 โดย เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศฝรั่งเศส นายโยชิฮิโร นากายามา (Yoshihiro Nakayama) และเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศฝรั่งเศส นายหวอ วัน สุง (Vo Van Sung) ได้ลงนามในเอกสารเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันที่กรุงปารีส
หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้สถาปนาความ สัมพันธ์ทางการทูตกันแล้ว ในปี 1975 ญี่ปุ่นก็ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตขึ้นที่กรุงฮานอย และในปี 1976 เวียดนามก็ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามขึ้นที่ โตเกียว จากนั้น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ความ สัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็สะดุดลงในปลายทศวรรษที่ 1970 เมื่อเวียดนามได้ส่งกองกำลังทางทหารเข้าขับไล่รัฐบาลเขมรแดงและคงกองกำลัง ของตนในกัมพูชานานถึง 10 ปี ตราบจนปัญหากัมพูชาได้รับการแก้ไขในต้นทศวรรษที่ 1990 ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายจึงได้พัฒนาไปอีกครั้ง
แม้ว่าทั้งสองประเทศมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง แต่ทั้งสองประเทศมีความ สำคัญต่อกันอย่างไร
ความสำคัญของญี่ปุ่นต่อเวียดนาม
เมื่อเวียดนามได้ประกาศนโยบายการปฏิรูป เศรษฐกิจในที่ประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 6 ในเดือนธันวาคม 1986 ซึ่งนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจนี้ได้นำไปสู่การเปิดประเทศและการปรับเปลี่ยน นโยบายต่างประเทศที่เน้นการขยายและปรับความสัมพันธ์กับทุกประเทศโดยไม่คำนึง ถึงความแตกต่างของระบอบการเมือง ในกระบวนการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศนี้ นอกจากเวียดนามจะให้ความสำคัญกับการปรับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านใน อันดับแรกแล้ว เวียดนามยังให้ความสำคัญยิ่งกับญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
ในขณะที่เวียดนามปรับสัมพันธ์กับหลายๆ ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้สำเร็จ ในปี 1992 ในปีเดียวกันนี้ ญี่ปุ่นก็ฟื้นการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistance) แก่เวียดนามอีกครั้ง ทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเวียดนาม-ญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เริ่มพยายามที่จะเข้ามาลงทุนในเวียดนามด้วย
สำหรับเวียดนาม ญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง เป็นแหล่งเงินทุน เป็นคู่ค้า เป็นแหล่งที่มาของความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาที่สำคัญ อีกทั้ง ยังเป็นผู้ลงทุนที่มีศักยภาพสูงยิ่ง พร้อมกับมีเทคนิควิทยาการ เทคโนโลยีที่เป็นที่ต้องการของเวียดนาม นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังให้ความ สำคัญอันดับแรกกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเวียดนาม การลดช่องว่างในการพัฒนา การส่งเสริมการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเวียดนาม และยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งทั้งหมดนี้ จะยังประโยชน์ยิ่งต่อเวียดนาม ในปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับสามของเวียดนาม ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม อีกทั้ง เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนารายใหญ่ที่สุดของเวียดนามด้วยเช่นกัน
นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น มิติด้านความมั่นคงอันสัมพันธ์กับการรับรู้ถึงภัยคุกคามจากจีนทำให้เวียดนาม หันมาให้ความสำคัญกับญี่ปุ่นในฐานะปัจจัย หรือมิตรที่เผชิญภัยคุกคามร่วมจากจีนด้วย ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เวียดนามกำลังพยายามหามิตรร่วมที่ต้องการยับยั้งอิทธิพลและภัยคุกคามจากจีน
ความสำคัญของเวียดนามต่อญี่ปุ่น
สำหรับญี่ปุ่น เวียดนามเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรถึง 90 ล้านคน เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีแรงงานจำนวนมากที่มีความขยันขันแข็งอดทน ค่าจ้างแรงงานไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานในประเทศอื่นๆที่ญี่ปุ่นเข้า ไปลงทุน เวียดนามมีความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีนโยบายและทิศทางที่แน่ชัด และที่สำคัญ เวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเปรียบเทียบกับไทย เวียดนามจึงเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจในปัจจุบัน และเป็นฐานการลงทุนและฐานการผลิตที่มีศักยภาพ อีกทั้ง เป็นทางเลือกใหม่ที่สำคัญสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่น ในขณะที่ไทยมีความเสี่ยงที่เกิดจากสถานการณ์ทางการเมืองภายใน ความเสี่ยงจากน้ำท่วมในระยะกลางและระยะยาวที่มิได้รับการใส่ใจแก้ปัญหาอย่าง จริงจังจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรปัจจุบัน อันจะนำไปสู่ความเสียหายอันใหญ่หลวงได้อีกในอนาคต
ตามการสำรวจของ Japan Bank for International Cooperation ในปี 2008 เวียดนามถูกจัดว่าเป็นประเทศที่สดใส รองจากจีนและอินเดีย
เวียดนามมีความสำคัญในแง่ภูมิยุทธศาสตร์และ ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจสำหรับญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวียดนามเป็นส่วนหนึ่งของ connectivity ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและในอาเซียน เวียดนามเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) เป็นจุดเชื่อมจุดหนึ่งจากทะเลจีนใต้ไปสู่พม่าโดยผ่านลาวและไทย และเวียดนามยังเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ (Southern Economic Corridor) และเวียดนามยังมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นที่ของทั้งสองระเบียงนี้
ในด้านความมั่นคง อิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิคทำให้ทั้งสองประเทศมีความ กังวล รู้สึกถึงภัยคุกคามร่วมกัน สำหรับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นหวังให้เวียดนามเป็นแรงร่วมต้านอิทธิพลทางทะเลของจีนที่กำลังขยาย ทั้งในทะเลจีนใต้ (เวียดนามเรียกว่า ทะเลตะวันออก) และในทะเลจีนตะวันออกด้วยเช่นกัน
การเยือนเวียดนามเป็นประเทศแรกของนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ (Shinzo Abe)
สิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความสำคัญที่เวียดนามมี ต่อญี่ปุ่นและต่อการพัฒนาของความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายในปัจจุบันนี้ ก็คือ การเยือนเวียดนามเป็นประเทศแรกของนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ในเดือนมกราคม 2013 หลังจากที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม 2012 การเยือนครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเวียดนามที่มีต่อญี่ปุ่นใน ความสัมพันธ์สองฝ่าย และในฐานะของการเป็นสมาชิกของอาเซียน
การเยือนเวียดนามของนายชินโซะ อาเบะ และเนื้อหาการเจรจาระหว่างนายกรัฐมนตรีเวียดนาม เหงวียน เติ๋น สุง (Nguyen Tan Dung) และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเวียดนามที่มีต่อ ญี่ปุ่นทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคง
ในเนื้อหานั้น รัฐบาลของนายชินโซะ อาเบะชี้ให้เห็นว่า ญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อสันติภาพ ความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในกลุ่มอาเซียน ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเวียดนาม
ในระหว่างการพบปะกันระหว่างผู้นำของทั้งสอง ฝ่าย ในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นชี้ให้เห็นว่า เวียดนามเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของญี่ปุ่น และญี่ปุ่นยังเห็นพ้องกับเวียดนามในการที่จะช่วยกันพัฒนาความเป็นหุ้นส่วน ยุทธศาสตร์ ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์นี้เป็นสัญลักษณ์ของการยกระดับความสัมพันธ์ ระหว่างสองประเทศขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ เพื่อให้เกิดความมั่งคั่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ทั้งสองฝ่ายยังต่างเห็นพ้องกันที่จะร่วมมือ กันมากขึ้นในด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและด้านอื่นๆ และนายกรัฐมนตรีอาเบะยังได้แสดงพันธะสัญญาว่า ญี่ปุ่นจะยังคงสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนามและยินดีที่จะ ให้เงินกู้จำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 46.6 พันล้านเยนแก่เวียดนามเพื่อนำไปใช้ใน 3 โครงการอันได้แก่ โครงการการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ การปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค รวมถึงเครือข่ายทางด่วน และการพัฒนาธาตุโลหะที่หายาก (rare earths)
เหตุผลประการหนึ่งที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ก็คือ
การมีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ จะทำให้เวียดนามเป็นฐานการผลิตที่จะไม่ถูกจำกัดด้วยการขาดแคลนกระแสไฟฟ้าดัง เช่นที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่สมบูรณ์จะอำนวยความสะดวกให้กับการค้ากับเวียดนาม กับประเทศในอนุภูมิภาคและจะอำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนของญี่ปุ่นใน เวียดนามและในประเทศในอนุภูมิภาค เป็นต้น สำหรับธาตุโลหะที่หายากนั้น เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งเวียดนามเป็นประเทศหนึ่งที่มีธาตุโลหะที่หายาก ในขณะที่จีนมีแหล่งสำรองจำนวนลดลงและขณะนี้ได้จำกัดการส่งออก
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังได้แสดงเจตนารมณ์ที่ จะมีบทบาทในการรักษาสันติภาพและความมั่งคั่งของภูมิภาค ผู้นำของทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องกันที่จะส่งเสริมการเจรจาและความร่วมมือ ด้านการเมืองและความมั่นคง และในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ญี่ปุ่นยังชี้ให้เห็นว่า ญี่ปุ่นจะยังคงยึดแนวทางสันติภาพร่วมกับอาเซียนและจะมีบทบาทในการลดความตึง เครียดและคงไว้ซึ่งความมั่งคั่งในเอเซีย-แปซิฟิค อีกทั้ง ทั้งสองฝ่ายจะคัดค้านการเปลี่ยนแปลง “status quo” ในทะเลจีนใต้ด้วยกำลัง และยังคงยึดมั่นในหลักนิติธรรมและ กฎหมายระหว่างประเทศ
ประเด็นสุดท้ายนี้สะท้อนให้เห็นถึงความ กังวลร่วมกันของสองประเทศในเรื่องความมั่นคงและอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ และแม้ว่าจะไม่มีการกล่าวถึงกรณีหมู่เกาะเซนกากุ (Senkaku) แต่ก็มีนัยยะครอบคลุมถึงการคัดค้านการเปลี่ยนแปลง “status quo” ในทะเลจีนตะวันออกด้วย จะเห็นว่า ทั้งเวียดนามและญี่ปุ่นจะเน้นความสำคัญของความมั่นคงในภูมิภาคมากกว่าในอดีต
การเยือนเวียดนามของนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะจึงสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจของเวียดนามต่อญี่ปุ่น อีกทั้ง ความสำคัญด้านความมั่นคงของเวียดนามทั้งต่อญี่ปุ่นและต่อภูมิภาคในสายตาของ ญี่ปุ่นได้
ในภาพรวม ความสำคัญที่ทั้งสองประเทศมีต่อกันน่าจะเพิ่มขึ้นจากนี้ไป และความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ก็น่าจะพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทั้งนี้ เวียดนามเองก็เห็นถึงความสำคัญของญี่ปุ่นอย่างยิ่งในการผลักดันการพัฒนาทาง เศรษฐกิจของเวียดนามและของอนุภูมิภาค อีกทั้ง ความสำคัญของญี่ปุ่นในมิติความมั่นคงด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม :
Shiraishi Takashi, “Abe’s visit to Southeast Asia and Japan’s five new diplomatic Principles”, 30 January 2013, http://www.nippon.com/en/editor/f00016/.
“Japan's Abe turns to South East Asia to counter China”, 16 January 2013, http://www.reuters.com/article/2013/01/16/us-japan-abe-asean-idUSBRE90F0LW20130116.
“Japan PM on why he chose Vietnam for 1st visit”, Tuoi Tre, 16 January 2013, http://tuoitrenews.vn/politics/6406/japan-pm-on-why-he-chose-vietnam-for-1st-visit.
“Vietnam, Japan celebrate 40 years of diplomatic ties”, 20 September 2013, http://vovworld.vn/en-us/News/Vietnam-Japan-celebrate-40-years-of-diplomatic-ties/182057.vov.
“Vietnam-Japan relations will continue to grow steadily”, 21 Sept 2013, http://english.vov.vn/Politics/VietnamJapan-relations-will-continue-to-grow-steadily/265153.vov.
http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1322