Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
ผลงานเผยแพร่ บทความวิชาการ สถาบันเอเชียศึกษา
เมืองโห่ยอานกับความสัมพันธ์เวียดนาม-ญี่ปุ่นในอดีต
เมืองโห่ยอานกับความสัมพันธ์เวียดนาม-ญี่ปุ่นในอดีต
โดย ธัญญาทิพย์ ศรีพนา

เมืองโห่ยอานกับความสัมพันธ์เวียดนาม-ญี่ปุ่นในอดีต


ธัญญาทิพย์ ศรีพนา
นักวิจัยด้านเวียดนามศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ จากคณะกฎหมายและรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัย Aix-Marseille III ประเทศฝรั่งเศส


ปี 2013 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ครบรอบ 40 ปีแห่งความสัมพันธ์เวียดนาม-ญี่ปุ่น และแม้ว่าการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเวียดนามและญี่ปุ่นจะมีขึ้น ในปี 1973 แต่ความสัมพันธ์ด้านการค้า และความ สัมพันธ์ระดับพ่อค้าและประชาชนระหว่างสองประเทศอาจสืบสานย้อนไปถึงศตวรรษที่ 16 และ 17 ที่พ่อค้าชาวญี่ปุ่นเดินทางไปค้าขายและตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองโห่ยอาน (Hội An) 1

เมืองโห่ยอานเป็นเมืองท่าการค้าสำคัญแห่ง หนึ่งในซีกโลกตะวันออกและของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึง 19 ตั้งอยู่ริมทะเลจีนใต้ในภาคกลางของเวียดนาม หรือที่เวียดนามเรียกว่า ทะเลตะวันออก ในปัจจุบัน โห่ยอานขึ้นอยู่กับจังหวัดกว๋างนาม (Quảng Nam)

ในอดีต ฝรั่งเศสเรียก ดานัง หรือ ด่าหนัง (Đà Nẵng)ว่า ตูราน (Tourane) ในศตวรรษที่ 15     โห่ยอานเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของอาณาจักรจัมปา นับจากศตวรรษที่ 16 เมืองท่าโห่ยอานได้เริ่มปรากฏเป็นที่รู้จัก ขณะที่ศตวรรษที่ 17 เป็นช่วงเวลาที่เมืองท่าโห่ยอานมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดและศาสนาคริสต์ได้ผ่านเข้ามา โห่ยอานเริ่มลดความสำคัญลงในศตวรรษ 18

โห่ยอานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำทูโบ่น (Thu Bồn) ใกล้ปากน้ำด่ายเจียม (Đại Chiêm) หรือ มหาจำปา โห่ยอานตั้งอยู่ใกล้เส้นทางเดินเรือ และยังเป็นเมืองท่าที่สามารถใช้เป็นที่หลบพายุให้กับเรือสำเภาได้ และจากการที่เป็นเมืองท่าสากล จึงทำให้โห่ยอานเป็นตลาดพักและขายสินค้าไม่เฉพาะสำหรับประเทศตะวันตก แต่เป็นตลาดพักและขายสินค้าที่ขนส่งระหว่างญี่ปุ่นและจีนด้วย นอกจากนี้ จากการที่พื้นที่แถบกว๋างนามนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โห่ยอานจึงเหมาะสมกับการส่งออกทรัพยากรหลายอย่าง ด้วยเหตุนี้ เมืองท่าการค้าโห่ยอานจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการค้าในเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้



ริมน้ำโห่ยอานในปัจจุบัน
https://www.google.co.th 
จากช่วงฤดูหนาวที่เปลี่ยนผ่านไปยังฤดูใบไม้ ผลิ ลมตะวันออกเฉียงเหนือได้นำเรือสำเภาสินค้าจากจีนและญี่ปุ่นมายังโห่ยอาน การค้าที่โห่ยอานจึงสะพัดในเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม ต่อมาเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมซึ่งเริ่มมีพายุ โหมกระหน่ำ เรือสำเภาต่างชาติทั้งหลายจะเดินทางออกจากโห่ยอานสู่บ้านเมืองของตน

ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 เรือสำเภาของประเทศมหาอำนาจตะวันตก ดังเช่น โปรตุเกส ฮอลแลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศสพากันเดินทางมายังเมืองท่าต่างๆ ในซีกโลกตะวันออก และในศตวรรษเดียวกันนี้ เหล่าพ่อค้าและหมอสอนศาสนาก็เริ่มเดินทางเข้ามาในเวียดนามด้วยเช่นกัน ในช่วงเดียวกันนี้ ตระกูลจิ่งห์ หรือ ตริ่นห์ (Trịnh) และตระกูลเหงวียน (Nguyễn) กำลังพัฒนาการเกษตร หัตถกรรม อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในดินแดนของตน ในขณะที่เจ้าตระกูลจิ่งห์ได้สร้างศูนย์กลางการค้าขึ้นที่โฝเหียน (Phố Hiến) ทำให้พ่อค้าชาวจีน ชาวโปรตุเกส ชาวฮอลแลนด์ ชาวอังกฤษ และชาวฝรั่งเศสเข้ามาตั้งสำนักงานการค้า เจ้าตระกูลเหงวียนก็ได้เลือกโห่ยอานเป็นเมืองท่าศูนย์กลางการค้ากับต่างชาติ ทำให้การค้าในประเทศและการค้ากับต่างประเทศเจริญขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะนั้นยังมีเมืองท่าอื่นๆ เช่น เมืองท่ามายสา (Mai Xá) เมืองท่าเกื๋อเหวียต (Cửa Việt) ในจังหวัดกว๋างจิ (Quảng Trị) เมืองท่าแท็งห่า (Thanh Hà) ในเว้ เมืองท่าทูส่า (Thu Xà) ในจังหวัดกว๋างหงาย (Quảng Ngãi) เป็นต้น

เวียดนามและญี่ปุ่นทำการค้ากันตั้งแต่ ศตวรรษที่ 16 เรือสำเภาญี่ปุ่นได้แล่นออกจากเมืองนางาซากิ (Nagasaki) ไปยังอานนาม (An Nam)  พ่อค้าเวียดนามซื้อเงิน ทองแดง ทองสัมฤทธิ์ เหรียญโลหะ เช่น เหรียญทองแดงจากญี่ปุ่น และญี่ปุ่นซื้อไหม น้ำตาล เครื่องเทศ ไม้แก่นจันทร์จากเวียดนาม โลหะมีความสำคัญยิ่งสำหรับเวียดนาม ทั้งนี้ เวียดนามนำไปผลิตเหรียญเพื่อใช้ในการค้าขายและเพื่อการผลิตปืน ในบางช่วงเวลาที่จีนไม่ค้าขายกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็จะมาซื้อสินค้าจีน เช่น ไหมจีน เซรามิคที่โห่ยอาน

ที่เมืองโห่ยอาน ชาวจีนและชาวญี่ปุ่นได้รับการจัดสรรที่ดินให้อยู่อาศัย และต่างตั้งชุมชนของตนเองที่นั่น เป็นชุมชนที่แยกจากกัน แม้ตัวเมืองส่วนใหญ่มีชาวจีนอาศัยอยู่ แต่คนทั้งสองชาติต่างมีกฎหมายที่ใช้ในการปกครองเป็นของตนเอง ชาวญี่ปุ่นได้ตั้งชุมชนของตนเองที่เมืองโห่ยอาน มีชื่อว่า นิฮงมาจิ (Nihon-machi) ชาวญี่ปุ่นบางส่วนตั้งรกรากอยู่ที่นั่น และเพื่อเป็นการตอบแทนชาวเวียดนาม ชุมชนญี่ปุ่นได้บริจาคเงินให้กับชุมชนเวียดนามอยู่เสมอ และอาจจะด้วยเหตุนี้ ชาวญี่ปุ่นจึงได้รับการปฏิบัติที่ดีจากชาวเวียดนาม

เวียดนามและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อ กัน เห็นได้จาก Shogun Tokugawa Iegasu เคยมีพระราชสาส์นและของขวัญมายังเจ้าผู้ครองนครราชวงศ์เหงวียน และความสัมพันธ์อันดียังเห็นได้จากการที่ เหงวียน ฟุค เงวียน (Nguyễn Phúc Nguyên) 2 เจ้าผู้ครองนครราชวงศ์เหงวียนได้จัดพิธีสมรสให้กับเจ้าหญิงองค์หนึ่งชื่อ หง็อกควา (Ngọc Khoa) กับพ่อค้าชาวญี่ปุ่นชื่อ อารากิ ชูทาโร (Araki Shutaro)

หลักฐานของการตั้งถิ่นฐานของชาวญี่ปุ่นอัน หนึ่ง เห็นได้จากสะพานศาลเจ้าญี่ปุ่นที่ชาวญี่ปุ่นได้สร้างขึ้นที่โห่ยอานในศตวรรษ ที่ 17 และในหลายศตวรรษที่ผ่านมาได้ปฏิสังขรณ์หลายครั้ง สะพานนี้ได้เชื่อมชุมชนญี่ปุ่นเข้ากับชุมชนจีน ในปัจจุบันสะพานแห่งนี้ได้เชื่อมถนนเจิ่นฝู (Trần Phú) กับถนนเหงวียนถิมิงห์คาย (Nguyễn Thị Minh Khai)

สะพานนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อว่า ลายเวี๋ยนเกี่ยว (Lai Viễn Kiều)ซึ่งแปลว่า สะพานของผู้มาจากทางไกล ซึ่งมีศาลเจ้าตั้งอยู่บนสะพาน หรือที่เรียกว่า จั่วเกิ่ว (Chùa Cầu) และสะพานนี้ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เกิ่วเญิ่ตบ๋าน (Cầu Nhật Bản) ซึ่งแปลว่าสะพานญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบชัดว่า ใครเป็นผู้สร้างสะพานแห่งนี้ ในปัจจุบัน สะพานนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและญี่ปุ่น


สะพานญี่ปุ่นที่โห่ยอานในปัจจุบัน
http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/4/48/Chua_Cau_Hoi_An.jpg 

สะพานญี่ปุ่นที่โห่ยอานในปัจจุบัน
https://www.google.co.th 
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ความตื้นเขินของแม่น้ำทูโบ่น เป็นอุปสรรคในการแล่นเรือเข้ามายังท่าเรือ ประกอบกับการเกิดขึ้นของท่าเรืออื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าเรือที่เมืองดานัง  ทำให้การค้าที่เมืองโห่ยอานลดน้อยลง ยิ่งกว่านั้น ญี่ปุ่นเริ่มตระหนักว่า ตนได้ขุดค้นและส่งออกแร่เงินและทองแดงมากเกินไป จึงมีความเข้มงวดในการส่งออกแร่ดังกล่าว เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การค้าที่โห่ยอานลดน้อยลง

นอกจากนี้ หลังจากที่เว้ได้กลายเป็นราชธานีในปี 1802 ดานังก็ยิ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เป็นทั้งเมืองท่าและเป็นทั้งฐานทัพเรือที่ปกป้องเมืองเว้ ในปี ค.ศ. 1835 พระเจ้ามิงหม่าง (Minh Mạng) ได้มีคำสั่งว่า เรือค้าขายของตะวันตกทุกลำที่เข้ามาในเวียดนามต้องเทียบท่าที่ท่าเรือดานัง ซึ่งอยู่ห่างจากโห่ยอาน 30 กิโลเมตร ทำให้ท่าเรือโห่ยอานหมดความสำคัญทางเศรษฐกิจไปโดยปริยายแม้จะมีการค้า ขายอยู่บ้าง

โห่ยอานได้รับการยอมรับเป็นมรดกโลกจาก UNESCO นับตั้งแต่ปี 1999 ปัจจุบันเป็นเมืองท่องเที่ยวเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โห่ยอานมีบ้านเรือนไม้โบราณที่มีค่ามากมายในเขตเมืองเก่า บ้านบางแห่งนำสถาปัตยกรรมและเทคนิคการก่อสร้างมาจากต่างประเทศ บ้านบางส่วนเคยเป็นบ้านเรือนของคนจีน คนญี่ปุ่น และคนเวียดนาม ซึ่งมีสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ ยังมีวัด ศาลเจ้าและยังมีสะพานศาลเจ้าญี่ปุ่นดังที่กล่าวมาข้างต้น รวมทั้งยังมีความหลากหลายในด้านอาหาร

หากจะเดินทางโดยรถไปเที่ยวโห่ยอาน เพื่อสัมผัสความหลากหลายและการผสมผสานทางวัฒนธรรม ไปดูสะพานญี่ปุ่น เราสามารถเดินทางจากมุกดาหาร ข้ามแม่น้ำโขงไปยังสะหวันนะเขต และเดินทางผ่านลาวข้ามไปยังเวียดนามด้วยเส้นทางหมายเลข 9 ก็จะเป็นการเดินทางที่มีประสบการณ์ในอีกรูปแบบหนึ่ง เมืองและสถานที่ที่น่าท่องเที่ยวและเรียงรายอยู่ตามทางที่เชื่อมต่อเมืองโห่ ยอาน ก็คือ กว๋างจิ เว้ ดานังและหมีเซินที่ไม่ควรมองข้าม

เรื่องราวเกี่ยวกับเมืองโห่ยอาน อีกทั้ง ประเด็นความสัมพันธ์เวียดนาม-ญี่ปุ่นที่เชื่อมโยงกับโห่ยอานและการตั้งถิ่น ฐานของชาวญี่ปุ่นที่โห่ยอานในอดีตจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจและน่าสืบค้นต่อ ไป

บรรณานุกรม

Nguyễn Khắc Viện. Viet Nam : a long history. Hanoi : Thế giới Publishers. 2009
Phan Huy Le. Ancient Hoi An. Hanoi : Thế giới Publisher. 1993.
Trịnh Cao Tường. Hoi An Ancient City. Hanoi : Thế giới Publisher. 1989.
“Hoi An Ancient Town”, http://whc.unesco.org/en/list/948.

ข้อมูลเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557