


บทบาทนำของจีนในการประชุม BRICS และ SCO ปี 2015
วรรณรัตน์ ท่าห้อง
นักวิจัยผู้ช่วยศูนย์จีนศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1476
สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีและผู้นำสูงสุดของจีน ได้เดินทางเยือนประเทศรัสเซียระหว่างวันที่ 8-10 กรกฎาคม 2015 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมการประชุมในกลุ่มความร่วมมือพหุภาคีสองกลุ่ม ที่จีนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน โดยในระหว่างวันที่ 8-9 กรกฎาคม เป็นการประชุมสุดยอดครั้งที่ 7 ของกลุ่มบริคส์ (BRICS)1 ส่วนอีกการประชุมหนึ่งนั้นจัดขึ้นในวันที่ 9-10 กรกฎาคม เป็นการประชุมสุดยอดคณะมนตรีขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation, SCO) ครั้งที่ 15 โดยการประชุมทั้งสองกลุ่มจัดขึ้นที่เมืองอูฟ่า (Ufa) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย
จุดเริ่มต้นของความร่วมมือในกลุ่ม BRICS นั้น เกิดขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่มีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G20 เป็นครั้งแรก โดยในปีนั้นเองผู้นำรัสเซียและผู้นำบราซิล ได้ริเริ่มให้มีการประชุมสุดยอดผู้นำของกลุ่ม BRIC(S) และเป็นผลให้เกิดการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งที่ 1 ของกลุ่ม BRIC(S) ในปีถัดมา (ปี 2009) ที่รัสเซีย ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ2 ส่วนกลุ่ม SCO นั้นมีวัตถุประสงค์ดั้งเดิมในการรักษาเสถียรภาพ และความมั่นคงในบริเวณชายแดนระหว่างกัน ต่อมาจึงขยายความร่วมมือสู่ด้านอื่นๆ รวมทั้งเศรษฐกิจด้วย3
แม้จะแตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่เป้าหมายโดยทั่วไปของการรวมตัวในกลุ่มประเทศต่างๆ รวมถึง BRICS และ SCO ก็คือ การเพิ่มอำนาจของตนในโครงสร้างระบบระหว่างประเทศ อันเป็นอีกวิธีหนึ่งนอกเหนือไปจากการพัฒนาศักยภาพของประเทศตน ที่อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ในที่สุด หากแต่สำหรับกลุ่ม BRICS และ SCO ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้น ถูกตั้งข้อสังเกตในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่าไม่อาจนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ เนื่องจากในการรวมตัวของกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มในลักษณะความร่วมมือใต้-ใต้ (South-south Coalitions) โดยทั่วไปแล้วมีข้อจำกัดอยู่ที่การไม่ลงรอยกันของผลประโยชน์ ทำให้ขาดกำลังในการผลักดันประเด็นต่างๆ ในเวทีระหว่างประเทศ หรือมักเกิดการเปลี่ยนขั้วระหว่างการเจรจาได้เสมอ การรวมตัวของประเทศในลักษณะนี้จึงเน้นที่ผลประโยชน์ระยะสั้น ขณะที่การรวมตัวกันของกลุ่ม SCO ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มภายในภูมิภาค (Regional Coalitions) แม้จะมีลักษณะความร่วมมือที่ถาวรมากกว่า แต่ก็ยังมีข้อด้อยอยู่ที่สถานะความสัมพันธ์ของประเทศต่างๆ ที่มักจะอยู่ในลักษณะที่เป็นคู่แข่งกันมากกว่า ด้วยเหตุนี้ ยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มทั้งสองลักษณะ จึงมักจะไม่สามารถแสดงผลที่เป็นรูปธรรมใด นอกเหนือไปจากแถลงการณ์ร่วมและแนวนโยบายต่างๆ เท่านั้น4
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของกลุ่มความร่วมมือทั้งสองก็ได้ดำเนินมาถึงจุดที่น่าสนใจ เมื่อกลุ่มความร่วมมือทั้งสองได้มีข้อตกลงที่เป็นรูปธรรม และมีแนวโน้มว่าจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือในระยะยาวต่อไป โดยเฉพาะกลุ่ม BRICS ที่ได้ประกาศตั้งสำนักงานใหญ่ของธนาคารแห่งการพัฒนาใหม่ (New Development Bank, NDB) ที่มหานครเซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ขณะที่ภายในกลุ่ม SCO ก็มีความพยายามในการผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงต่อกันโดยจีน
ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม BRICS ครั้งนี้ นอกจากการประกาศตั้ง NDB ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2013 แล้ว ยังมีแผนที่จะจัดตั้งเงินทุนสำรอง (Contingent Reserve Arrangement, CRA) ขึ้นด้วย ขณะที่ NDB นั้น ก่อตั้งด้วยเงินทุนเบื้องต้น 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งประเทศสมาชิกแต่ละประเทศได้ “ลงขัน” ในสัดส่วนที่เท่ากัน5 ส่วนแผนการจัดเงินทุนสำรอง CRA นั้น คาดว่าจะมีมูลค่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการระดมทุนจากประเทศสมาชิก 5 ประเทศ เพื่อเป็นแหล่งทุนฉุกเฉินในยามวิกฤตให้แก่ประเทศสมาชิก ด้วยการ “ลงขัน” ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน จีนลงขันมากที่สุดคือ 41,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ บราซิล อินเดีย และรัสเซีย ประเทศละ 18,0000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และแอฟริกาใต้ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 6 การก่อตั้งสำนักงานใหญ่ NDB ในจีน และการลงขันในสัดส่วนที่สูงที่สุดในกลุ่ม จึงสะท้อนความเป็นผู้นำของจีนภายในกลุ่มความร่วมมือพหุภาคีดังกล่าว ไม่เพียงเท่านั้น ผู้นำประเทศที่เหลือยังได้แสดงการสนับสนุนจีนให้เป็นประธานของกลุ่ม G20 ในวาระการประชุมผู้นำสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2015 การสนับสนุนดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับความกังวลอย่างยิ่งในท่าทีของสหรัฐฯ ซึ่งประวิงเวลาในการให้สัตยาบันต่อข้อเสนอปฏิรูป 2010 ของ IMF ที่ต้องการให้กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging market countries) มีบทบาทมากขึ้นใน IMF7
สำหรับความคืบหน้าจากที่ประชุม SCO นั้น ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษก็คือ การรับอินเดียและปากีสถานเข้ามาเป็นสมาชิกถาวร และการผลักดันบูรณาการภายในภูมิภาคผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกันของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งได้ระบุว่า การผลักดันบูรณาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นด้วยการสนับสนุนของกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund)8 และได้ตั้งเป้าว่าจะผลักดันให้ภูมิภาคเอเชียกลางมีทางรถไฟ 4,000 กิโลเมตร และทางหลวง 10,000 กิโลเมตรภายใน 2-3 ปีนี้ 9 ทั้งนี้ บริษัท กองทุนเส้นทางสายไหม จำกัด (Silk Road Fund Co.,Ltd.) ซึ่งเป็นสถาบันทางการเงินที่ตั้งขึ้นโดยจีนเมื่อปี 2014 ด้วยมูลค่าทุนเริ่มต้น 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่บริษัทกองทุนนี้ได้ให้การสนับสนุนคือ โครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าคาร็อต (Karot) มูลค่า 1,650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปากีสถาน10
จีนในยุคประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้ขยายความร่วมมือและบทบาทกับต่างประเทศเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการประกาศนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (อี๋ไต้อี๋ลู่ หรือ One Belt, One Road) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่านโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน ที่ครอบคลุมพื้นที่เอเชียถึงยุโรป ซึ่งสีจิ้นผิงเสนอเป็นแนวคิดเมื่อปลายปี 2013 หรือ การก่อตั้งธนาคารการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Development Bank, AIIB) ที่ประเทศสมาชิก 57 ประเทศเพิ่งลงนามร่วมกันไปเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2015 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งจะดำเนินการสอดรับกับยุทธศาสตร์หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางด้วย
การประชุมทั้งสองที่เมืองอูฟ่าจึงเป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งถึงบทบาทนำและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ที่ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้นำจีนใช้ในการดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศ รวมถึงได้สะท้อนให้เห็นประเด็นนโยบายด้านการต่างประเทศของจีน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดความเชื่อมโยงถึงกัน เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของจีนในยุคปัจจุบัน ซึ่งสอดรับกับความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตน เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดภายนอกที่ใหญ่กว่าอย่างมีประสิทธิภาพ
การพัฒนาตามแนวทางดังกล่าวนี้ แม้จะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาสามารถเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าของจีน ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่จะรองรับการขยายตัวของการผลิตของประเทศพัฒนาได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศขนาดเล็กหรือประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจด้อยกว่า จะอยู่ในสถานะที่ต้องพึ่งพาจีนมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจเปลี่ยนภูมิทัศน์ของโครงสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้จีนกลายเป็นขั้วอำนาจที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นบนเวทีการเมืองโลกในอนาคต
รายการอ้างอิง
AIIB. 57 Representatives Attend Special Ministerial Meeting on AIIB ' s Establishment. [Online]. 2015. Available from: http://www.aiibank.org/html/2015/NEWS_0629/10.html
China Daily. Backgrounder: A brief history of SCO summits. [Online]. 2014. Available from: http://www.chinadaily.com.cn/world/2014xisco/2014-09/12/content_18591526.htm
China Daily. Silk Road Fund makes initial $1.65b investment. [Online]. 2015. Available from: http://www.chinadaily.com.cn/world/2015xivisitpse/2015-04/20/content_20486850.htm
Miles Kahler. Rising Powers and Global Governance: Negotiating Change in a Resilient Status Quo. International Affairs 89 (2013): 711-729.
Reuters. Post-Soviet world: what you need to know about the 15 states. [Online]. 2014. Available from: http://in.reuters.com/article/2015/07/21/emerging-brics-bank-idINKCN0PV07Z20150721
Xinhuanet. BRICS New Development Bank launches in Shanghai. [Online]. 2015. Available from: http://news.xinhuanet.com/english/2015-07/21/c_134431389.htm
Xinhuanet. China welcomes SCO expansion, calls for upholding "Shanghai Spirit". [Online]. 2015. Available from: http://news.xinhuanet.com/english/2015-07/11/c_134402081.htm
Xinhuanet. China's Silk Road Fund makes first investment in Pakistan's hydropower project. [Online]. 2015. Available from: http://news.xinhuanet.com/english/2015-04/21/c_134167533.htm
Xinhuanet. Shanghai Cooperation Organization. [Online]. 2004. Available from: http://news.xinhuanet.com/english/2004-06/07/content_1512104.htm
Xinhuanet. Ufa summit marks entry into forces of NDB, CRA. [Online]. 2015. Available from: http://news.xinhuanet.com/english/2015-07/10/c_134398970.htm
---------------------------------------
เชิงอรรถ
1 BRICS เป็นชื่อย่อของประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ 5 ประเทศ ซึ่งได้รวมตัวกัน ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้
2 BRIC เปลี่ยนเป็นชื่อ BRICS ในปี 2010 เนื่องจากประเทศแอฟริกาใต้ได้เข้าร่วมในปีนั้น
3 ชื่อเดิมของ SCO คือกลุ่ม Shanghai Five ตั้งขึ้นภายหลังสงครามเย็นหรือช่วงกลางทศวรรษ 1990 ประกอบด้วยจีน รัสเซีย คาซัคสถาน คีกีร์ซสถาน และทาจิกิสถาน ต่อมาในปี 2001 จึงได้รับอุซเบกิสถานเข้าเป็นประเทศสมาชิกอย่างเป็นทางการและเปลี่ยนเป็นกลุ่ม SCO โดยมุ่งให้เป็นองค์การความร่วมมือทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารในภาคพื้นยูเรเชีย ดู China Daily, Backgrounder: A brief history of SCO summits [Online], 12 September 2014. Available from: http://www.chinadaily.com.cn/world/2014xisco/2014-09/12/content_18591526.htm และ Xinhuanet, Shanghai Cooperation Organization [Online], 7 June 2004. Available from: http://news.xinhuanet.com/english/2004-06/07/content_1512104.htm
4 Miles Kahler, “Rising Powers and Global Governance: Negotiating Change in a Resilient Status Quo,” International Affairs 89, 3 (2013): 711-729.
5 Xinhuanet, BRICS New Development Bank launches in Shanghai [Online], 21 July 2015. Available from: http://news.xinhuanet.com/english/2015-07/21/c_134431389.htm
6 Reuters, Post-Soviet world: what you need to know about the 15 states [Online], 9 June 2014. Available from: http://in.reuters.com/article/2015/07/21/emerging-brics-bank-idINKCN0PV07Z20150721
7 Xinhuanet, Ufa summit marks entry into forces of NDB, CRA [Online], 10 July 2015. Available from: http://news.xinhuanet.com/english/2015-07/10/c_134398970.htm and SCO BRICS Office Group,
SCO and BRICS Financial Forum in UFA [Online], 9 July 2015. Available from: http://ufa2015.com/media/news/2284/
8 Xinhuanet, China's Silk Road Fund makes first investment in Pakistan's hydropower project [Online], 21 April 2015. Available from: http://news.xinhuanet.com/english/2015-04/21/c_134167533.htm
9 Xinhuanet, China welcomes SCO expansion, calls for upholding "Shanghai Spirit" [Online], 11 July 2015. Available from: http://news.xinhuanet.com/english/2015-07/11/c_134402081.htm
10 China Daily, Silk Road Fund makes initial $1.65b investment [Online], 20 April 2015. Available from: http://www.chinadaily.com.cn/world/2015xivisitpse/2015-04/20/content_20486850.htm
Keywords : ความร่วมมือ พหุภาคี จีน การร่วมพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน วรรณรัตน์ ท่าห้อง