Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
ผลงานเผยแพร่ บทความวิชาการ สถาบันเอเชียศึกษา
“มันฝรั่ง” ในความมั่นคงทางอาหารของจีน
“มันฝรั่ง” ในความมั่นคงทางอาหารของจีน
โดย ไสว วิศวานันท์ และ วรรณรัตน์ ท่าห้อง นักวิจัยอาวุโสและนักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“มันฝรั่ง” ในความมั่นคงทางอาหารของจีน

ไสว วิศวานันท์ และ วรรณรัตน์ ท่าห้อง
นักวิจัยอาวุโสและนักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์จีนศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1432


จีนเป็นประเทศใหญ่ที่มีประชากรมากที่สุดอันดับหนึ่งของโลก ปริมาณการบริโภคของชาวจีนจึงส่งผลกระทบต่อตลาดโลกถึงขั้นที่ส่งผลกระทบต่อราคาตลาดของสินค้าหลายชนิด แต่จำนวนประชากรที่มากมายมหาศาลนี้ก็ส่งผลให้ประเด็นความพอเพียงของอาหารกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลจีนต้องหันมาให้ความสำคัญเช่นกัน  โดยล่าสุดในเดือนมกราคม 2015 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของกระทรวงการเกษตรของจีนได้ประกาศว่าจะผลักดันให้มันฝรั่งเป็น “ธัญญาหารหลัก” อีกชนิดหนึ่ง นอกเหนือไปจากธัญญาหารหลักสามชนิดที่มีอยู่เดิม คือ ข้าวเจ้า ข้าวสาลี และข้าวโพด  พร้อมตั้งเป้าคาดการณ์ว่า การบริโภคมันฝรั่งจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 ในอีกห้าปีข้างหน้า หรือใน ค.ศ. 2020 ที่จะมาถึงนี้  อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กระทรวงเกษตรมีข้อเสนอดังกล่าวก็ทำให้เกิดคำถามและความสงสัยหลายประการ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า แท้จริงแล้วสถานะความมั่นคงทางอาหารของจีนเป็นอย่างไรกันแน่

“ธัญญาหาร” (cereals) เป็นสินค้าเกษตรภายใต้การกสิกรรม (farming) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งในแขนงทั้งสี่ของภาคเกษตร ตามการนิยามของทางการจีนในเอกสารสถิติแห่งชาติปี 2010  อีกสามแขนงที่เหลือได้แก่ การทำป่าไม้ (forestry) การปศุสัตว์ (animal husbandry) และการประมง (fisheries)

จีนเริ่มต้นใช้คำว่า “ธัญญาหาร” ในรายงานสถิติธัญพืชของทางการเป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 1991 พืชธัญญาหารหลักสามประเภทอันได้แก่ ข้าวเจ้า(稻米)ข้าวสาลี(小麦)และข้าวโพด(玉米)ตั้งแต่จีนประกาศนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศในปีค.ศ. 1978 นั้น รัฐบาลได้มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเร่งลดระดับความยากจนและภาวะทุพโภชนาการในสังคม ในเวลานั้น รัฐบาลมีความกังวลในการผลิตอาหารให้เพียงพอแก่ความต้องการภายในประเทศ และการเก็บสำรองไว้ในยามวิกฤติขาดแคลน โดยเฉพาะธัญญาหารหลัก แต่เนื่องจากจีนมีนโยบายหลักที่จะพึ่งพาตนเองในการจัดหาธัญญาหาร ประกอบกับการนำเข้าธัญญาหารจากตลาดโลกในราคาสูงเป็นอุปสรรคสำหรับจีนในเวลานั้น การสร้างความมั่นคงทางอาหารสำหรับจีนจึงเป็นเรื่องอ่อนไหวในการจัดการของรัฐบาล 1

ต้นศตวรรษที่ 21 หรือปี ค.ศ. 2001 ที่จีนเข้าร่วมองค์กรการค้าโลก นโยบายของภาคเกษตรและการค้าของจีนได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การพึ่งพาตลาดและการให้เงินอุดหนุนทางการเกษตร ทางการจีนมุ่งมั่นเป็นอย่างมากที่จะใช้นโยบายเพื่อผลักดันการพัฒนาด้านต่างๆ ในการยกระดับรายได้ของชนบทที่ล้าหลัง ผลักดันการผลิตธัญพืช ปรับปรุงความปลอดภัยทางอาหารให้ดีขึ้น ฯลฯ  จนเมื่อจีนสามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรภายในประเทศได้ระดับหนึ่งก็ทำให้ความต้องการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นตามฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชากร ตั้งแต่ครึ่งหลังของปีค.ศ. 2006 ซึ่งเกิดวิกฤตราคาของสินค้าเกษตรทั้งในตลาดในประเทศและระหว่างประเทศ ทำให้จีนเพิ่มการลงทุนในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นใน ค.ศ. 2007 และ 2008 ที่ร้อยละ 27 และ 38 ตามลำดับ ต่อมาในปี 2008 รัฐบาลจีนได้ใช้มาตรการเพิ่มภาษีสินค้าขาออกในสินค้าธัญญาหารหลักเพื่อที่จะลดการส่งออก เพิ่มราคาขั้นต่ำให้แก่ข้าวหลายชนิด และยังดูแลปัจจัยการผลิตในภาคเกษตรเพื่อสนับสนุนการผลิตในประเทศ มาตรการดังกล่าวได้ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวเจ้า ข้าวสาลี และข้าวโพด ในค.ศ. 2008 ลดลงจากค.ศ. 2007 ถึงร้อยละ 26.7  94.59  และ 94.86 ตามลำดับ  ในขณะที่การนำเข้าธัญญาหารของจีนยังคงมีอยู่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งถูกนำเข้ามาเป็นอาหารสัตว์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศ

การผลักดันให้มันฝรั่งเป็นธัญญาหารหลักอีกชนิดหนึ่งได้ผ่านการกลั่นกรองจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในจีน อาจเรียกได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นบนฐานความคิดในการพึ่งพาตนเองโดยปรับรับกันกับสภาพการณ์จริง อันเป็นผลจากการประชุมของศูนย์กลางจีนในเรื่องการเกษตรเมื่อปลายปี 2014  ที่ได้พิจารณาการดำเนินงานที่ผ่านมาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเกษตรของจีนในอนาคต โดยเฉพาะในเรื่องความมั่นคงทางอาหารว่าด้วยผลผลิตธัญญาหาร ต่อมา จึงได้นำประเด็นดังกล่าวผ่านกระบวนการพิจารณาในเชิงวิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะกลั่นกรองและกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ดังกล่าวขึ้น

สาเหตุที่มีการผลักดันยุทธศาสตร์ดังกล่าวก็เนื่องมาจากการเพาะมันฝรั่งนั้นใช้น้ำน้อย ไม่เปลืองพื้นที่ ประหยัดปุ๋ยและสารเคมี ไม่แย่งพื้นที่ธัญญาหารหลักอื่นๆ ปลูกได้ตั้งแต่ภาคใต้จรดเหนือ เพาะปลูกได้กับดินทุกสภาพ ในทุกฤดูกาล ทนต่อความหนาวเย็นและแห้งแล้งได้ดี  การเพาะมันฝรั่งสามารถทำได้ในช่วงเวลาพักดินระหว่างฤดูหนาวของผืนดินในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแหล่งผลิตข้าวเจ้า มันฝรั่งยังมีคุณค่าทางโภชนาการหลากหลาย อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ  เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ทำให้การย่อยเป็นไปอย่างช้าๆ จึงสามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในภาวะเสถียร ทำให้รู้สึกอิ่มได้นาน นอกจากนี้ พบว่าในแป้งมันฝรั่งให้พลังงานต่ำกว่าคือ ให้พลังงานเพียงสามในสี่ของธัญญาหารหลักสามชนิดด้วย

มันฝรั่งมีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ แต่การเพาะปลูกในจีนนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 400 ปีมาแล้ว ภาษาจีนเรียกมันฝรั่งว่า ถู่โต้ว (土豆) หรือภาษาทางการเรียกว่า หม่าหลิงสู่ (马铃薯)  หากแต่ความคุ้นเคยในการรับประทานแตกต่างไปจากชาวตะวันตก เพราะโดยส่วนใหญ่ชาวจีนนิยมนำมันฝรั่งมาประกอบอาหารทำกับข้าว ไม่นิยมรับประทานเป็นอาหารหลักเช่นชาวตะวันตก ชาวจีนรับประทานอาหารหลักอยู่สองประเภทคือ ข้าวและอาหารที่ทำจากแป้งเช่น หมั่นโถว (馒头) เส้นหมี่ (面条) ซึ่งต้องใช้ข้าวสาลีที่มีส่วนประกอบของกลูเต็นโปรตีน (Gluten Protein) เพื่อทำให้ตัวแป้งสามารถรักษารูปทรง จับตัว พองตัว และไม่ขาดง่ายได้
เพื่อที่จะผลักดันให้มันฝรั่งกลายเป็นธัญญาหารหลักอีกประเภทหนึ่งโดยไม่ขัดต่อความรู้สึกคุ้นเคยในการบริโภคอาหารของประชาชนจีนที่มีมานานนับพันปี โดยเฉพาะชาวจีนซึ่งเป็นชนชาติที่ให้ความสำคัญกับการกินอย่างยิ่งจนมีคำกล่าวไว้ว่า หมินอี่สือเหวยเทียน (民以食为天)2  ปัจจุบันสภาวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งชาติจีนได้ค้นคว้าทดลองการทำหมั่นโถวที่ใช้ส่วนผสมจากแป้งมันฝรั่งสำเร็จรูป 40%  และการทำเส้นหมี่จากแป้งมันฝรั่ง 35% ได้สำเร็จ โดยยังสามารถดำเนินการผลิตตามแบบกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม การค้นคว้าทดลองผลิตแป้งมันฝรั่ง และการแปรรูปมันฝรั่งเป็นแป้งสำเร็จรูปเพื่อนำไปผลิตเป็นเส้นหมี่โดยเฉพาะ ซึ่งคนทั่วไปสามารถนำไปผลิตอาหารหลักในครัวเรือนทั่วไปได้เองด้วย หากเป็นจีนในอดีตที่เคยอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร ไม่มีทางเลือกมากนัก การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็ว แต่ในเวลานี้ จีนอยู่ในช่วงข้ามผ่านจากช่วงเวลากินอิ่มนอนอุ่นพอมีพอกิน(温饱)สู่ช่วงเวลาของความเป็นอยู่ค่อนข้างดี(小康)การส่งเสริมและผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป

หลังจากที่ประชุมอภิปราย ยุทธศาสตร์การทำมันฝรั่งให้เป็นธัญญาหารหลัก เมื่อเดือนมกราคม 2015 ได้ข้อสรุปแล้วว่า มันฝรั่งเป็นทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้ อีกทั้ง ได้มีการประมวลคุณค่าของมันฝรั่งในมิติต่างๆ ข้างต้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์เปลี่ยนมันฝรั่งเป็นธัญญาหารหลักชนิดที่สี่ โดยตั้งเป้าหมายสำคัญไว้สองประการนั่นคือ การขยายพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งหนึ่งเท่าตัว จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 80 ล้านกว่าหมู่ 3 เป็น 150 ล้านหมู่ และการเพิ่มความถี่ในการบริโภคมันฝรั่งโดยตั้งเป้าว่า มันฝรั่งจะต้องถูกนับเป็นอาหารหลักในมื้ออาหารประจำวันของชาวจีน

แม้ทางการจีนอธิบายว่า ยุทธศาสตร์การผลักดันให้มันฝรั่งกลายเป็นธัญญาหารหลักชนิดที่สี่เป็นยุทธศาสตร์เพื่อปรับตัวให้เข้าสภาวการณ์ และเป็นการเสริมเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้แก่ผลิตภัณฑ์เกษตรจำพวกธัญญาหารให้มีเพียงพอต่อความต้องการในอนาคต มิได้เป็นเพราะสถานการณ์ธัญญาหารของจีนกำลังตกอยู่ในภาวะขาดแคลนดังที่ผู้สังเกตการณ์บางส่วนสงสัยและวิเคราะห์ ทั้งนี้ นักวิชาการจีนบางส่วนได้ตั้งข้อสงสัยว่า จีนน่าจะกำลังประสบปัญหาในการจัดการด้านอาหารอันเนื่องจากความจำกัดทางทรัพยากรน้ำและที่ดินซึ่งถูกบ่อนทำลายจากการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา  เช่นเดียวกับข้อมูลความพอเพียงของอาหารของทางการจีนที่ถูกตั้งข้อสงสัยถึงความโปร่งใสและถูกต้องของข้อมูลเช่นกัน

จีนเป็นประเทศที่มีสัดส่วนจำนวนประชากรในโลกสูงถึงร้อยละ 22 และแม้จะเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่ผืนดินที่สามารถทำการเพาะปลูกมีอยู่เพียงร้อยละ 7 ของทั้งหมดเท่านั้น นั่นคือจำนวนประชากรมากแต่ผืนดินทำกินน้อย  ความมั่นคงทางอาหารของจีนจึงเกี่ยวข้องกับภาคเกษตรและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งในที่ประชุมคณะทำงานภาคเกษตรของศูนย์กลางพรรคฯ ที่สิ้นสุดไปเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2015 ได้ตระหนักถึงปัญหาสำคัญทั้งสองประการ โดยได้เน้นย้ำให้มีการปฏิรูปและสร้างนวัตกรรม(改革创新)พร้อมผลักดันการเกิดเกษตรทันสมัย(农业现代化)อันสอดรับกับหลักการ “มาตรฐานใหม่” หรือ New Normal ที่สีจิ้นผิงกล่าวถึงไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2014 ซึ่งมีใจความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจของจีนว่า เศรษฐกิจจีนนับแต่นี้ไปไม่จำเป็นต้องมีอัตราการเติบโตก้าวกระโดดดังในอดีตอีกแล้ว แต่จีนจะพัฒนาเศรษฐกิจบนโครงสร้างใหม่ที่อยู่ฐานอุตสาหกรรมประเภทที่สามหรือภาคบริการ (tertiary industry) ความต้องการบริโภค และนวัตกรรม  ที่ผ่านมา ทุกเฮกตาร์ของผืนดินในจีนมีการใช้ปุ๋ยเคมีสูงมากกว่า 4 เท่าของอัตราเฉลี่ยโลก ทำให้เกิดมลภาวะทางดินและน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ทุกปี ปริมาณการใช้ยาปราบศัตรูพืชอยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านตัน แต่สัดส่วนผลตอบแทนในการใช้ประโยชน์(利用率)กลับอยู่ที่อัตราร้อยละ 30 เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ การผลักดันให้มันฝรั่งเป็นอาหารหลักอีกประเภทหนึ่งอาจสามารถสร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้นได้ว่าชาวจีนจะมีอาหารมากเพียงพอต่อความต้องการบริโภค แต่หากจีนสามารถปรับปรุงผืนดินในประเทศให้กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในระยะยาวควบคู่กันไปได้แล้ว ก็น่าจะเป็นมาตรฐานใหม่ของความมั่นคงทางอาหารที่ดีเพียงพอต่อการใช้ชีวิตของชาวจีนในการก้าวเข้าสู่ยุค “เสี่ยวคัง” นี้ และนั่นย่อมมีความหมายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก 

------------------------------------

เชิงอรรถ

1 ยกเว้นถั่วเหลืองเพียงอย่างเดียวที่จีนนำเข้าในปริมาณมากมานานแล้วและเป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกเพราะความจำกัดทางทรัพยากรที่ดิน สำหรับจีน แล้วการนำเข้าถั่วเหลืองมีประสิทธิภาพทางต้นทุนมากกว่าและมีความอ่อนไหวน้อยกว่าการนำเข้าธัญญาหารเพื่อบริโภค
2 แปลความหมายตามตัวแปลว่า คนถืออาหารว่า (สำคัญ) เทียมฟ้า
3 คือ ไร่ ของจีน, 1 หมู่มีขนาดเท่ากับ 0.0667 เฮกตาร์

------------------------------------

รายการอ้างอิง

จิงหัวสือเป้า 京华时报. มันฝรั่งจะเป็นธัญญาหารหลักชนิดที่สี่ของจีนได้อย่างไร马铃薯将成我国第四大主粮 马铃薯如何主粮化. [ออนไลน์]. 2015. แหล่งที่มา:http://www.moa.gov.cn/zwllm/zwdt/201501/t20150107_4324333.htm

ไฉซินหว่าง 财新网. การใช้มันฝรั่งทำหมั่นโถวยังไม่อาจเปลี่ยนแปลงคำนิยามธัญญาหารหลักได้ 土豆蒸馒头改写主粮定义 暂无新补贴. [ออนไลน์]. 2015. แหล่งที่มา: http://china.caixin.com/2015-01-19/100776080.html

เฝิงหัว 冯华. ผู้เชื่ยวชาญไขกระจ่างใจความสำคัญจากการประชุมคณะทำงานชนบทของศูนย์กลางพรรคฯ :สอดรับมาตรฐานใหม่  เร่งฝีก้าวเกษตรทันสมัย专家解读中央农村工作会议精神:适应新常态 加快农业现代化. [Online]. 2014. Available from: http://theory.people.com.cn/n/2014/1224/c40531-26265104.html

ฟู่เฉิงคุน 付承堃 . จีนจะเริ่มใช้ยุทธศาสตร์ผลักดันมันฝรั่งเป็นธัญญาหารหลัก มันฝรั่งจะกลายเป็นธัญญาหารหลักชนิดที่สี่中国将启动土豆主粮化战略 土豆或成第四主粮. [ออนไลน์]. 2015. แหล่งที่มา: http://gb.cri.cn/42071/2015/01/06/6351s4831384.htm

China Daily. More assistance for grain-producing regions. [Online]. 2015. Available from: http://english.agri.gov.cn/news/dqnf/201503/t20150309_25141.htm

Colin A. Carter, Funing Zhong, and Jing Zhu. Advances in Chinese Agriculture and its Global Implications. [Online]. 2011. Available from: http://aepp.oxfordjournals.org/content/34/1/1.full.pdf

Huang McBeath. Environmental Change and Food Security in China. [Online]. 2011. Available from: http://www.springer.com/gp/book/9781402091797#

IFPRI. Food Security Portal. [Online]. 2012. Available from: http://www.foodsecurityportal.org/china

USDA Economic Research Service. China Policy. [Online]. 2012. Available from: http://www.ers.usda.gov/topics/international-markets-trade/countries-regions/china/policy.aspx

World Policy. China's Food Security Dilemma. [Online]. 2014. Available from: http://www.worldpolicy.org/blog/2014/06/04/chinas-food-security-dilemma

Xinhuanet. Xi's "new normal" theory. [Online]. 2014. Available from: http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-11/09/c_133776839.htm

Keywords : มันผรั่ง ธัญญาหารหลัก ความมั่นคงทางอาหารของจีน การปฏิรูปและสร้างนวัตกรรม มาตรฐานใหม่ ไสว วิศวานันท์ วรรณรัตน์ ท่าห้อง

ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558