Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
ผลงานเผยแพร่ บทความวิชาการ สถาบันเอเชียศึกษา
ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู: ครูของลูก บรมครูของโลก
ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู: ครูของลูก บรมครูของโลก
โดย ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู: ครูของลูก บรมครูของโลก

“To read history is good, but even more interesting and fascinating is to help in making history.”

ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู ใน “Glimpses of World History”

 

บทนำ

ปัญญาชนสาธารณะแห่งอนุทวีปอินเดีย (Indian Sub-Continent) นั้นมีอิทธิพลทางด้านความคิดอ่านของคนหนุ่มสาวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการขับเคลื่อนระบบการเมืองการปกครอง พวกเขาได้รับการยกย่องให้เป็น “ปูชนียบุคคล” ผ่านข้อเขียนและการต่อสู้เพื่อเอกราชจากอาณานิคมอังกฤษ จึงไม่แปลกที่ชิ้นงานของพวกเขาทรงพลังต่อสังคมอินเดียและสังคมโลก

ประเทศอินเดียก็ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญของอนุทวีป และเป็นแหล่งที่มาของปัญญาชนสาธารณะ ผู้มีบทบาทค่อนข้างมากในการต่อสู้กับอาณานิคมอังกฤษ หนึ่งในนั้นคือ ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู ผู้สามารถกล่อมเกลาคนหนุ่มสาวของประเทศแถบนี้ได้อย่างทรงพลัง อย่างน้อยก็“อิทธิรา เนห์รู คานธี” (Indira Nehru Gandhi) ลูกสาวของตนเอง

ชะตากรรมใต้เงาอาณานิคม

เยาวชนรุ่นหลังเข้าใจประวัติศาสตร์อินเดียผ่านงานเขียน ในสถานะที่บรรพบุรุษของพวกเขาเคยถูกปกครองโดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ข้อเขียนส่วนใหญ่ในประเทศจึงเชื่อมร้อยกับประวัติศาสตร์เหล่านี้ จึงกลายเป็นเครื่องเตือนใจ โดยเฉพาะการปฏิวัติของประชาชนชาวอินเดียในปี 1857 และการได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 สิ่งนี้จึงมีพลังในการตอกย้ำ “ความเป็นชาตินิยม” (Nationalism) ให้กับพลเมืองอินเดีย ปัญญาชนสาธารณะผู้นี้จึงเป็น “วีรบุรุษและผู้นำทางจิตวิญญาณของพวกเขาโดยแท้จริง”

ปัญญาชนสาธารณะของอินเดีย: ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู

ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู หรือ “นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย” ทายาททางการเมืองและผู้สานต่ออุดมการณ์ต่อสู้เพื่อเอกราชอินเดียจากผู้เป็นพ่อ "โมติลาล เนห์รู" (Motilal Nehru) ในปี 1912 เนห์รูจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) และแต่งงานกับกมลา เนห์รู (Kamala Nehru) ในปี 1916 ซึ่งทั้งสองมีผู้สืบสกุลร่วมกันคือ อินทิรา ปริยาดาร์ชินี (Indira Priyadarshini)

เนห์รูได้ทิ้งงานเขียนสำคัญไว้เพียง 3 เล่มหลัก ๆ อย่างเช่น An Autobiography, Glimpses of World History และ The Discovery of India และชิ้นงานเหล่านี้ได้กลายเป็น “คู่มือทางการเมือง” ที่ทรงอิทธิพลทางด้านความคิดในการสร้างชาติให้กับคนรุ่นใหม่

ยาวาฮาร์ลาล เนห์รูกับของขวัญวันคล้ายวันเกิด

ตั้งแต่ปี 1930 เนห์รูถูกกักขังในฐานะ “นักโทษทางการเมือง” ณ เรือนจำกลางไนย์นี (Central Prison, Naini) ณ สถานที่แห่งนี้ ท่านได้ถอดบทเรียนการต่อสู้ เขียนจดหมายและบันทึกข้อคิดต่าง ๆ ท่านได้เขียน “Glimpses of World History” (ชำเลืองประวัติศาสตร์โลก) เพื่อเป็นจดหมายปลุกสำนึกอินทิรา คานธี เด็กน้อยวัย 13 ให้ระถึงภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการเรียกร้องเอกราชอินเดีย


ภาพที่ 1: หนังสือของ ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู “Glimpses of World History” (ชำเลืองประวัติศาสตร์โลก)
ที่มา: httpswww.alamy.comstock-photo-glimpses-of-world-history-by-jawarhalal-nehru-48199767.html (Accessed 8 March 2019)
เนห์รู อวยพรวันเกิดของลูกสาวผ่านจดหมาย ลงวันที่ 26 ตุลาคม 1930 (ตามปฏิทิน Gregorian ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน) ระบุว่า

"แด่...อินทิรา ปริยาดาร์ชินี (Indira Priyadarshini) เนื่องในวันคล้ายวันเกิดอายุ 13 ปีของเธอ”

“ในวันเกิดของเธอ พ่อไม่สามารถส่งอะไรให้กับเธอได้เลย เพราะในเรือนจำกลางเมืองไนย์นีนั้น ไม่มีวัตถุชนิดใดที่สามารถเล็ดลอดออกไปได้ ทว่าสิ่งหนึ่งที่กำแพงหนาของเรือนจำไม่สามารถกักขังได้นั่นก็คือ “วิถีคิดและจิตวิญญาณในการต่อสู้ที่พ่อมี”

““รู้ไหมคนหนุ่มสาวในประวัติศาสตร์ชาติเราต่างอุทิศตนให้กับการต่อสู้เพื่อเอกราช พวกเขามีอิทธิพลต่อเราในฐานะวีรบุรุษ พวกเขาคือ ผู้นำคนสำคัญของโลกที่คอยสร้างแรงบันดาลใจเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับสังคม

““โอ้สาวน้อย จำได้ไหมในปี 1917 ขณะเธอลืมตาดูโลก ช่วงนั้นเป็นปีที่ผู้นำคนสำคัญของโลกได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงความห่วงใยบ้านเมือง ผู้นำเหล่านั้นได้ปลุกผู้คนให้ลุกขึ้นมาเขียนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของตนเอง ความรู้สึกเหล่านั้นไม่เคยหายไปจากหัวใจของเรา

“ในช่วงนั้น ผู้นำคนสำคัญอย่างเลนิน (Lenin) ได้เริ่มออกมาเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของรัสเซีย สำหรับประเทศอินเดียของเรา บาบูจิ (มหาตามะ คานธี) ได้ถูกคุมขังในเรือนจำ ทว่าคำสอนของท่านมีพลังในการสะกดจิตและควบคุมหัวใจของผู้คนนับล้าน วีรบุรุษ สตรีและเด็ก ๆ ต่างก้าวออกมาสานต่อภารกิจในฐานะ “นายทหารปฏิวัติเพื่อเอกราชอินเดีย” จนวันนี้ เขาทั้งสองได้กลายเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของประวัติศาสตร์ฉบับดังกล่าว

“พ่อจะบอกเธออย่างหนึ่งว่า “หากเธอเป็นทหารปฏิวัติของกองทัพอินเดีย” เธอก็จะเป็นผู้รักษาเกียรติยศของประเทศเรา เธอจงหาญกล้าที่จะออกมาต่อสู้พร้อมพี่น้องในชาติของเธอ แล้วเธอกลายเป็นเด็กน้อยที่โชคดี เพราะเธอคือส่วนหนึ่งของเรา เธอคือพยานคนสำคัญที่เติบโตมาท่ามกลางการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชให้กับชาติของเรา เธอจะเป็นเด็กหญิงที่ทำให้แม่ของเธอมีความสุขมากที่สุด พ่อหวังว่าลูกสาวของพ่อจะโตขึ้นท่ามกลางกองกำลังทหารปลดแอกแห่งชาติของเรา” (Jawaharlal Nehru, 2004)

นี่คือ ของขวัญทางความคิดชิ้นสำคัญที่เนห์รูให้กับลูกสาวของตนในวันคล้ายวันเกิดเพื่อปลุกให้เธอตระหนักถึงภารกิจที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศอินเดียในช่วงเวลานั้น การส่งต่อทางความคิดในลักษณะดังกล่าวถือเป็นฐานคิดที่สำคัญสำหรับอิทธิรา คานธีในการทำงานเพื่อสังคม และเป็นเบ้าหลอมชิ้นสำคัญให้เธอก้าวไปสู่ “นายกรัฐมนตรี” ของอินเดียในเวลาต่อมา


รูปที่ 2: ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู (ซ้าย)และอินทิรา คานธี (ขวา)
ที่มา: httpspostcard.newswp-contentuploads201710jawharlal-nehru-indira-gandhi.png (Accessed 8 March 2019)
ยาวาฮาร์ลาล เนห์รูกับของขวัญปีใหม่

เนห์รูได้ปลุกสำนึกทหารตัวน้อยของตนด้วยจดหมาย “ของขวัญวันปีใหม่ (A New Year’s Gift) 1931”

“การอ่านประวัติศาสตร์นั้นถือเป็นสิ่งที่ดี แต่สำคัญกว่านั้นก็คือ เธอได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่น่ายกย่องที่สุดคือ ประวัติศาสตร์ในการสร้างชาติของเรา ฉันไม่ชอบที่จะให้คนหนุ่มสาวศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ เพราะเธอจะไม่มีวันเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างถ่องแท้ หากเธอไม่เข้าใจประวัติศาสตร์โลก

เธอจงจำไว้ว่า ผู้คนบนโลกนี้แตกต่างกันแค่เพียงนิดเดียว ซึ่งไม่ยากที่เธอจะจินตนาการ แผนที่และภูมิศาสตร์ได้ฉายให้เราเห็นว่าแต่ละประเทศนั้นต่างกันก็แค่เพียงสีผิว หน้าตา ทว่า เลือดเนื้อและจิตวิญญาณของพวกเขานั้น ช่างเหมือนกัน เพราะสิ่งเหล่านี้มักอยู่เหนือเส้นกั้นพรมแดน

"วันนี้เป็นวันปีใหม่ พ่อได้แต่นึกถึงเวลาสำคัญที่ผ่านพ้นไป พ่อนึกถึงดาดา (โมติลาล เนห์รู) และบาบูจี (มหาตมะ คานธี) พวกเขาได้ปลุกให้ “ประเทศแก่ ๆ อย่างอินเดีย” กลายเป็น “หนุ่ม” อีกครั้งหนึ่ง ปีใหม่คืบคลานเข้ามา แน่นอน ปีเก่าก็ได้หมดอายุขัยและตายจากเราไป อีกไม่นาน ฝันของเราก็จะเป็นจริง” (Jawaharlal Nehru, 2004)

จะเห็นได้ว่า ของขวัญวันปีใหม่ ไม่ใช่สิ่งของหรือวัตถุ แต่สิ่งที่เนห์รูแสดงออกถือเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยการปรับวิถีคิดในการทำงานเพื่อสังคม หลาย ๆ บทเรียนจากเรือนจำที่ถูกนำเสนอผ่านจดหมายได้กลายเป็นข้อคิดทางการเมืองและทรงอิทธิพลต่อจิตวิญญาณของอินธิรา คานธีเป็นอย่างมาก

การปฏิวัติจงเจริญ (Inqilab Zindabad)

นี่เป็นจดหมายอีกฉบับที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความสำนัญในการปลุกจิตสำนึกนั่นก็คือ “อินกีลาบ ซินดาบาด” (Inqilab Zindabad) หรือ “การปฏิวัติจงเจริญ” เป็นถ้อยคำที่เนห์รูเขียนถึงลูกสาวในวันที่ 7 มกราคม 1931 ซึ่งถือเป็นถ้อยคำที่ชาวเรือนจำทั้งหมดอยากจะได้ยิน คำพูดนี้เป็นเสมือนท่อน้ำเลี้ยงจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้

“ทำไมเราต้องตะโกนว่า “อินกีลาบ ซินดาบาด” และ “ทำไมเราถึงต้องการปฏิวัติและเปลี่ยนแปลง?” ในวันนี้ประเทศของเราก็ต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือ การได้รับเอกราชจากนักล่าอาณานิคม”

ไม่มีสิ่งใดในโลกที่จะไม่เปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งบนโลกใบนี้เปลี่ยนแปลงทุกวัน บ้างก็เปลี่ยนแปลงทุกนาที นอกจากความตายเท่านั้นที่ทำให้สิ่งดังกล่าวหยุดการเจริญเติบโต น้ำใสไม่เคยหยุดนิ่ง แต่เมื่อน้ำหยุดเคลื่อนไหว น้ำก็จะเน่า ชีวิตของเราและลมหายใจของชาติก็ไม่ต่างกัน เราต้องการอะไรละ เมื่อสักวันหนึ่งเราแก่ตัวลง ทารกได้กลายเป็นเด็กน้อย เด็กน้อยได้เปลี่ยนเป็นหญิงสาว หญิงสาวได้กลายเป็นสตรี และแน่นอน สตรีก็ได้กลายเป็นหญิงชรา เราจะทำอะไรได้บ้างในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

สัจธรรมข้อหนึ่งได้บอกเราว่า “เราไม่สามารถหยุดการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ได้เลย”

เธอจงเรียนรู้จากหญิงสาวชาวอินเดียของเรา ว่าพวกเขานั้นได้กลายเป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศของเราอย่างไร บุรุษและเยาวชนของเราได้กลายเป็นกองกำลังแนวหน้า กงล้อของประวัติศาสตร์ได้ขับเคลื่อน ผู้ที่อยู่ส่วนบนของกงล้อได้พลัดหล่นสู่ข้างล่างและผู้อยู่ส่วนล่างได้ก้าวขึ้นมาข้างบน ห้วงยามเหล่านั้นได้กลายเป็นจังหวะก้าวสำคัญของประเทศเรา และมันกำลังก้าวเข้ามาหาเรานั้น ไม่มีใครสามารถควบคุมมันได้อย่างแน่นอน” (Jawaharlal Nehru, 2004)

“อินกีลาบ ซินดาบาด” (Inqilab Zindabad) หรือ “การปฏิวัติจงเจริญ” จึงเป็นคำพูดที่มีพลังมากที่สุดบนผืนดินอนุทวีปในช่วงเวลาดังกล่าว

บทสรุป

เราจะเห็นได้ว่า ทุกโอกาส เนห์รูพยายามปลุกสำนึกของลูกสาวเพื่อให้ออกมาเป็นแนวหน้าในการขับเคลื่อนประเทศอินเดีย นี่คือ บทเรียนจากเรือนจำที่ครูคนสำคัญทางด้านการเมืองของอินเดียได้สอนลูกสาวและปลุกจิตสำนึกพลเมืองของพวกเรา แม้เนห์รูจะปลุกจิตสำนึกของลูกสาวตนเองผ่านจดหมาย แต่การปลุกดังกล่าวทรงอิทธิพลต่อคนเรือนล้านในประเทศแห่งนี้

ในวันคล้ายวันเกิด เนห์รูไม่ได้ให้วัตถุของขวัญ แต่ท่านกลับเน้นย้ำว่า "เธอจงเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นทหารของเราในการปฏิวัติที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ ถึงวันนั้นเธอจะเป็นแนวหน้าในการรับใช้ประเทศชาติของเรา"

ไม่ว่าจดหมายของเนห์รูจะมีสถานะแบบใดในสังคมของอนุทวีป แต่ คำพูดเหล่านี้ได้กลายเป็นหลักคำสอนจากเรือนจำที่ทรงอิทธิพลต่อคนหนุ่มสาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จดหมายเหล่านี้จึงไม่ได้เป็นแค่เพียงข้อเขียนหรือตัวอักษรทางประวัติศาสตร์ ทว่า มันคือ “โรงเพาะชำจิตวิญญาณของนักสู้อย่างแท้จริง”

----------------------------------------

ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1628

ข้อมูลเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562