Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
ผลงานเผยแพร่ บทความวิชาการ สถาบันเอเชียศึกษา
ทุกข์คนเมือง: เมื่อเวียดนามต้องรับมือกับฝุ่น PM2.5
ทุกข์คนเมือง: เมื่อเวียดนามต้องรับมือกับฝุ่น PM2.5
โดย ปภังกร เสลาคุณ ผู้ช่วยนักวิจัย ประจำศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทุกข์คนเมือง: เมื่อเวียดนามต้องรับมือกับฝุ่น PM2.5


ในช่วงเดือนที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวใดได้รับความสนใจจากคนกรุงเทพฯ ได้มากเท่ากับปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ จนทำให้ท้องฟ้าแทบทุกเขตในกรุงเทพฯ เปลี่ยนเป็นสีเทาและส่งผลให้ประชาชนต้องดำเนินชีวิตอย่างยากลำบาก อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นเมืองเพียงแห่งเดียวที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศ บรรดาเมืองใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนต่างก็ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกรณีของเมืองใหญ่ 2 อันดับแรกของเวียดนามอย่างโฮจิมินห์ซิตี้และฮานอย ที่มีสถานการณ์ไม่แตกต่างจากกรุงเทพฯ มากนัก

ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ: ความโชคร้ายของคนเมืองใหญ่

การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรที่สูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของเวียดนาม ทำให้ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศต่างหลั่งไหลเข้าไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในโฮจิมินห์ซิตี้และฮานอย โดยมีการประเมินว่า ในปี 2017 เมืองใหญ่ทั้งสองแห่งมีประชากรอาศัยอยู่รวมกันกว่า 15 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ชีวิตในเมืองศูนย์กลางความเจริญใช่ว่าจะมีแต่ความสวยงามเสมอไป ในทางกลับกัน ชาวเมืองใหญ่ต้องเผชิญกับความโหดร้ายจากค่าครองชีพสูง การอยู่ห่างไกลครอบครัว และความกดดันจากการทำงานและการใช้ชีวิต เพียงเพื่อแลกกับวิถีชีวิตที่ดูเหมือนว่าจะสะดวกสบายกว่า นอกจากนี้ พวกเขายังต้องเผชิญกับปัญหาที่ยากต่อการรับมืออย่างปัญหามลพิษจากแหล่งต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ตารางแสดงคุณภาพอากาศในโฮจิมินห์ซิตี้และฮานอย เมื่อปี 2017


ที่มา: http://en.greenidvietnam.org.vn/view-document/5af836ca5cd7e87c49ee7e52
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โฮจิมินห์ซิตี้และฮานอยต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศครั้งใหญ่ จากการที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ปกคลุมทั่วน่านฟ้าของเมือง ข้อมูลจาก Green Innovation and Development Centre (GreenID) ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงหากำไรในเวียดนามระบุว่า เวียดนามต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในปี 2017 เมื่อการวัดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index-AQI) ชี้ให้เห็นถึงค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศสูงสุดของทั้งสองเมืองคือ 108 และ 147 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่นเดียวกับค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงที่สุดที่วัดได้ในโฮจิมินห์ซิตี้อยู่ที่ 39.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและฮานอยอยู่ที่ 74.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินกว่าค่ามาตรฐานซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเป็นเท่าตัว[1]

สาเหตุของมลพิษทางอากาศในมุมมองของคนเวียดนาม

ทั้งนี้ GreenID ยังได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ที่อาศัยอยู่ในเวียดนามว่า ในมุมมองของพวกเขา สาเหตุหลักที่ทำให้มลพิษทางอากาศอยู่ในระดับสูงคืออะไร โดยผู้ตอบแบบสอบถามเกือบหนึ่งพันคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนามลงความเห็นว่า ยานพาหนะบนท้องถนนเป็นตัวการที่สำคัญที่สุด รองลงมาคือ โรงงานอุตสาหกรรม และโรงผลิตไฟฟ้า ตามลำดับ[2]

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ตอบว่า ยานพาหนะเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศอันดับหนึ่งนั้นเป็นผลมาจากการที่มีรถยนต์และและยานพาหนะยอดนิยมอย่างรถจักรยานยนต์สัญจรไปมาอยู่หลายล้านคันบนท้องถนนในโฮจิมินห์ซิตี้และฮานอย โดยยานพาหนะเหล่านี้ต่างก็มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ออกมาทางท่อไอเสียซึ่งคิดเป็นร้อยละ 85 ของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ทั้งหมดที่ออกสู่บรรยากาศ[3] ทั้งนี้ แม้ว่าประชาชนจะอยากหันไปพึ่งพาระบบขนส่งมวลชนช่องทางอื่น ๆ เช่น รถไฟฟ้าและรถโดยสารสาธารณะ แต่ระบบขนส่งมวลชนเหล่านี้ยังไม่สามารถเป็นตัวเลือกที่ดีเท่าไรนัก เนื่องจากรถไฟฟ้าในเมืองทั้งสองแห่งยังคงอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ส่วนรถโดยสารสาธารณะส่วนใหญ่นั้นก็มีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งยังเป็นรถรุ่นเก่าที่ปล่อยควันเสียออกสู่บรรยากาศไม่ต่างกับยานพาหนะประเภทอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ ชาวเมืองจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการซื้อรถส่วนตัวไว้ใช้งาน และเมื่อจำนวนยานพาหนะเริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหามลพิษทางอากาศจึงรุนแรงขึ้นตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ สาเหตุของมลพิษทางอากาศที่มีผู้เลือกตอบเป็นอันดับสองและสามอย่างโรงงานอุตสาหกรรม และโรงผลิตไฟฟ้าต่างก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน โดยการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรและการลงทุนจากต่างประเทศทำให้โรงงานอุตสาหกรรมและโรงผลิตไฟฟ้าจำนวนมากถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของเมืองที่มีมากขึ้น ในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมนั้น โฮจิมินห์ซิตี้ ฮานอย และจังหวัดใกล้เคียงต่างก็เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมทั้งเบาและหนักซึ่งปล่อยควันพิษออกสู่อากาศในปริมาณมาก

ในขณะเดียวกัน โรงผลิตไฟฟ้าหลายแห่งของเวียดนามได้มีการใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า แม้ว่าโฮจิมินห์ซิตี้และฮานอยจะไม่ได้เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่พื้นที่โดยรอบของทั้งสองเมืองกลับเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่ง โดยเฉพาะฮานอยที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่โดยรอบกว่า 20 แห่ง

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ฝุ่นละอองและควันพิษจากทั้งโรงงานอุตสาหกรรมและโรงผลิตไฟฟ้าเหล่านี้จะฟุ้งกระจายในอากาศและถูกลมพัดพามายังโฮจิมินห์ซิตี้และฮานอยจนก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศในที่สุด

เมื่อเมืองใหญ่ทำให้เราสูญเสียสุขภาพที่ดี

แม้สภาพท้องฟ้าเหนือโฮจิมินห์ซิตี้และฮานอยจะถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นละอองที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ชาวเมืองส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตประจำวันของตนอย่างปกติ ชาวเมืองบางคนกล่าวว่า เขาไม่รู้ว่าหมอกที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเกิดจากอากาศเป็นพิษ[4] ในขณะที่ชาวเมืองอีกคนหนึ่งกล่าวว่า เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าค่าดัชนีคุณภาพอากาศคืออะไร แต่เขาก็เลือกที่จะป้องกันสุขภาพของตนเองเอาไว้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย[5] เช่นเดียวกับชาวเมืองอีกหลายคนที่ใช้หน้ากากอนามัยเป็นเครื่องมือในการป้องกันอันตรายจากฝุ่นละอองที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ เมื่อต้องขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าวิธีการดังกล่าวจะไม่ได้ผลเท่าไรนัก เนื่องจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า มลพิษทางอากาศมีส่วนทำให้ชาวเวียดนามกว่า 11,000 คนเสียชีวิตในทุก ๆ ปี นอกจากนี้ ประชาชนชาวเวียดนามอีกราว 3.76 ล้านคนยังคงต้องเผชิญกับโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืดและไซนัสอักเสบ โดยเฉพาะในโฮจิมินห์ซิตี้และฮานอยที่ถูกรายงานว่า มีประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคเหล่านี้มากกว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ[6]

การจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศของเวียดนาม

ผลกระทบที่เกิดจากมลพิษทางอากาศทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของเวียดนามจำเป็นต้องหันมาให้ความสนใจ และแสวงหามาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ในปี 2016 รัฐบาลเวียดนามได้ออกแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการจัดการคุณภาพอากาศ (the National Action Plan on Air Quality Management) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษและปรับปรุงคุณภาพอากาศ ทั้งนี้ แผนดังกล่าวระบุวิธีการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ อาทิ การติดตั้งสถานีตรวจสอบอากาศ การจำกัดการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ล้าสมัย และการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น[7]

ต่อมาในปี 2017 สมาชิกสภากรุงฮานอยได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกเลิกการใช้รถจักรยานยนต์ในย่านใจกลางเมืองภายในปี 2030 เนื่องจากรถจักรยานยนต์ถูกมองว่าเป็นต้นตอของมลพิษทางอากาศจากการปล่อยควันพิษทางท่อไอเสีย พร้อมกันนั้น สมาชิกสภายังให้คำมั่นว่าจะเพิ่มจำนวนรถโดยสารสาธารณะ เพื่อให้ชาวเมืองลดการใช้รถส่วนตัวและหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น[8]

ในส่วนของภาคประชาสังคมเองก็ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและออกมารณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น เช่น กรณีของกลุ่มวัยรุ่นในกรุงฮานอยที่ได้ออกมาถือป้ายรณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ดับเครื่องยนต์ หากจอดรถนานเกิน 30 วินาที[9] หรือในกรณีของ GreenID และ the Live & Learn Environment Education Centre ที่ได้ร่วมกันจัดงาน “the Vietnam Clean Air Day 2018” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศและชี้ให้ประชาชนเห็นถึงสภาพปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น รวมไปถึงการหาทางออกของปัญหาร่วมกัน เป็นต้น[10]

สรุป

ปัญหามลพิษทางอากาศกลายเป็นเรื่องน่ากังวลใจของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ทั่วโลกจากการที่ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้นตามการขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งของเมือง นอกจากนี้ ยังดูเหมือนว่าหลายประเทศที่ประสบปัญหา เช่น เวียดนามและไทย จะยังไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอที่จะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะยาว ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่เราต้องจับตามองกันต่อไปว่า ปัญหามลพิษทางอากาศที่กำลังทำลายสุขภาพของเราจะบรรเทาเบาบางหรือยุติไปได้อย่างไร หรือในบางทีเราอาจจะต้องยอมรับชะตากรรมที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของเราในอนาคต หากไม่มีใครสามารถหาทางออกสำหรับปัญหานี้ได้

----------------------------------------

ปภังกร เสลาคุณ ผู้ช่วยนักวิจัย ประจำศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1624

ข้อมูลเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562