Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
การจัดการความรู้ด้านวิจัย
การบรรยายการจัดการความรู้ ครั้งที่ 1/2556  การวิจัยในประเทศคอมมิวนิสต์
การบรรยายการจัดการความรู้ ครั้งที่ 1/2556 การวิจัยในประเทศคอมมิวนิสต์

การบรรยายการจัดการความรู้ ครั้งที่ 1/2556

การวิจัยในประเทศคอมมิวนิสต์

ผู้ บรรยายได้เล่าถึงประสบการณ์จากการทำวิจัยในประเทศลาวซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ โดยปัญหาที่พบจากการทำวิจัยในลาวก็คือ ประเทศลาวให้ความสำคัญกับความมั่นคงของภาครัฐมากกว่าเรื่องของเศรษฐกิจ การทำวิจัยในลาวได้รับการมองว่าเป็นการค้นคว้า ดังนั้นนักวิจัยจึงเป็นนักค้นคว้าซึ่งมีความเสี่ยงต่อการกระทำอันเป็นการจาร กรรม โดยเฉพาะนักวิจัยจากประเทศไทยเพราะมีชายแดนติดกัน ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นคือ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเมื่อสมัย 10 กว่าปีที่ทำวิจัยในลาว ซึ่งต้องประสานงานระหว่างหน่วยงานกับประเทศลาว ทางลาวก็ค่อนข้างระมัดระวังและหวาดระแวงไม่ไว้ใจประเทศไทย และที่ถูกกล่าวหามากที่สุดคือ มหาวิทยาลัยทางภาคตะวันออกเฉียง เหนือ เพราะมีลักษณะของการเก็บข้อมูลหรือการเก็บแบบสอบถาม แล้วมีการถูกจับกุมค่อนข้างมากเพราะส่วนใหญ่ไม่ได้ขออนุญาตในการเข้าพื้นที่


หัวข้อวิจัยที่ควรหลีกเลี่ยงหรือไม่ควรทำคือ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยเพราะเป็นประเด็นที่ค่อน ข้างละเอียดอ่อนต่อความมั่นคง และอีกเรื่องคือด้านประวัติศาสตร์ซึ่งมีปัญหาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยและลาวในอดีต อีกหัวข้อที่ลาวมักจะไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่ตอบเลยคือ เรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง เป็นเรื่องยากในการเก็บข้อมูลและผลกระทบอีกประการคือ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ เพราะต้องดูในทัศนคติทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งหัวข้อที่เหมาะกับการทำวิจัยมากที่สุดคือ ประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ตรงนี้จะได้รับความร่วมมือค่อนข้างดี ส่วนเรื่องการพัฒนาหากมีลักษณะเป็นเชิงลบ ยกตัวอย่าง เรื่องสัมปทานที่ดินของประชาชน ซึ่งมีปัญหาในเรื่องของสิ่งแวดล้อมร่วมด้วยก็จะเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ ต้องระวังเพราะส่งผลต่อความมั่นคง


ขั้นตอนการทำวิจัยในลาว โดยปกติต้องขออนุญาตอย่างเป็นทางการต้องผ่านสถานเอกอัครราชทูตลาว ซึ่งจะส่งไปที่สมาคมลาว – ไทย เพราะจะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการต่างประเทศ ประกอบด้วยสมาชิก เช่น กรมการปกครอง สภาหอการค้าจังหวัดที่อยู่ติดชายแดน และจากนั้นก็ส่งต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศลาว สิ่งที่พบและเจอก็คือ ในการส่งเรื่องไปมักจะไม่มีการตอบรับ หรือปฏิเสธ หรืออาจใช้เวลาการติดต่อค่อนข้างนาน


ผู้บรรยายแนะนำว่าควรติดต่อกับหัวหน้าระดับกรม หรืออธิบดี หรือผู้ที่มีตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปที่มีอำนาจในการสั่งการ หรืออนุมัติในการทำวิจัยได้ ซึ่งหน่วยงานนั้นก็ต้องสามารถมาเป็นเจ้าภาพหรือหน่วยงานที่ร่วมด้วย เช่น สถาบันวิจัยต่างๆ และมหาวิทยาลัย แต่มีข้อเสียคือไม่มีอำนาจสั่งการ เพราะมหาวิทยาลัยต้องอยู่ภายใต้ภาครัฐ หรืออยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษา อีกหน่วยงานคือองค์กรภาครัฐ หรือองค์กรที่ให้ทุนแก่ลาว เพราะเป็นผู้บริจาคเงินสนับสนุนงบประมาณให้แก่รัฐบาล อีกทั้งองค์กรระหว่างประเทศใหญ่ๆ ที่ลาวให้ความเกรงใจ เช่น JICA JBIC และอีกประการคือ ต้องอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือเครือข่ายกับผู้มีอำนาจทางการเมืองกับรัฐ หรือพรรคการเมืองที่มีอำนาจต่อรัฐซึ่งจะช่วยในการประสานงาน แต่จากประสบการณ์ในด้านการติดต่อโดยผ่านระบบซึ่งเป็นทางการจะใช้เวลานาน เพราะเป็นการติดต่อที่เป็นลำดับเป็นขั้นตอนตามอำนาจสั่งการ เช่น เรื่องผ่านจากส่วนกลางคือ มีหนังสือผ่านไปกระทรวง แล้วจากนั้นไปยังแขวง ไปจังหวัด ไปเมืองหรืออำเภอ แล้วจึงสั่งการต่อไปที่บ้าน แต่หนังสืออาจจะยังมาไม่ถึง ฉะนั้นบางครั้ง จึงใช้เวลานานกว่าความ สัมพันธ์ที่มีลักษณะไม่เป็นทางการ ซึ่งจะทำให้การติดต่อประสานงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ในบางครั้งอาจต้องหาคนที่ค่อยติดต่อประสานงานแล้วก็ต้องมีค่าใช้จ่ายตรงนี้ ด้วย แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ มารยาททางสังคมหรือธรรมเนียมของลาว


บทเรียนและประสบการณ์ที่ได้จากการทำวิจัยคือ บุคลากรทางฝ่ายลาวที่เราสามารถทำวิจัยร่วมด้วยมีน้อย บุคคลที่เราติดต่อหรือสัมพันธ์อาจจะถูกผลกระทบหรือถูกเพ่งเล็งได้ งบประมาณที่ใช้ในการวิจัยค่อนข้างสูงกว่าประเทศที่มีการเมืองเป็นเสรีนิยม เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคต้องนำเข้ามา ราคาจึงสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ค่าเช่ารถต่างๆ เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเดินทาง เพราะสภาพถนนหนทางที่ไม่สะดวก ทำให้การเดินทางนั้นยากลำบากยิ่งขึ้น จึงต้องมีการจัดการเรื่องเวลาไว้ให้ดี นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพจากการลงพื้นที่หรือการติดโรคติดต่อ เช่น มาเลเรีย ฉี่หนู สิ่งที่ควรคำนึงคือ การดื่ม กิน ต่างๆ ต้องระมัดระวัง เช่น ปลาน้ำจืดไม่ควรกิน การดื่มน้ำ และสิ่งที่ควรพึงพิจารณาคือ ระเบียบวิธีวิจัย และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล เพราะคนลาวจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการแสดงความคิดเห็น การสัมภาษณ์ และตัว Questionnaire ก็ทำให้เกิดปัญหาด้วย เพราะความกลัว ความหวาดระแวงที่จะได้รับผลกระทบต่างๆ จึงทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ นอกจากนี้ ความแตกต่างทางด้านภาษาและวัฒนธรรมอาจทำให้เกิดการสื่อสารที่ผิดความหมายได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยล่ามในการลงพื้นที่ด้วย


สิ่งที่สำคัญคือ เราควรจะต้องเตรียมรับอยู่เสมอกับสิ่งที่ไม่คาดคิดหรือว่าจะเกิดขึ้น หรือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องของการนัดหมาย หรือการจองที่พักต่างๆ เพราะอาจจะถูกยกเลิก หรือคลาดเคลื่อนได้โดยไม่มีเหตุผล อย่าคาดหมายว่าทุกสิ่งจะเหมือนกับไทย

อังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 12.00 – 13.00 น.
สถานที่: ณ ห้องประชุมสถาบันเอเชียศึกษา ชั้น 7 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่จัด: 26 กุมภาพันธ์ 2556
วันที่ลงเผยแพร่: 11 มิถุนายน 2013
ผู้บรรยาย: อดิศร เสมแย้ม

 

 

Preview
1