Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
การจัดการความรู้ด้านวิจัย
“การจัดการความรู้กับการวิจัย”
“การจัดการความรู้กับการวิจัย”

การจัดการความรู้กับการวิจัย

การ จัดการความรู้ (Knowledge Management) หรือ ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “KM” หมายถึง การจัดเก็บ สร้าง หรือรวบรวมองค์ความรู้ขึ้นมา เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในองค์การ องค์ประกอบขององค์การมี 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ องค์การและบุคลากรที่ปฏิบัติงาน


การจัดการความรู้พัฒนาจากข้อมูลสู่สารสนเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้และ ภูมิปัญญา ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1) การบ่งชี้ความรู้ เป็นการค้นหาถึงความรู้ที่ต้องการหรือที่ยังขาดอยู่จากบุคคลหรือแหล่งต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย 2) การสร้างและแสวงหาความรู้ ด้วยการหาวิธีการที่จะนำเอาความรู้จากบุคคลหรือแหล่งต่าง ๆ 3) การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ โดยนำความรู้ดังกล่าวนั้นมาจัดแบ่งหมวดหมู่เพื่อสะดวกและง่ายต่อการค้นหา 4) การประมวลและกลั่นกรองความรู้ เป็นการนำความรู้ที่ได้มาตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำเข้าสู่ระบบ 5) การเข้าถึงความรู้ โดยการกำหนดวิธีกระจายความรู้แก่ผู้ใช้ ให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย 6) การแบ่งปันและการแลกเปลี่ยน เป็นการจัดช่องทางหรือเครื่องมือในการถ่ายเทความรู้ได้สะดวกและเหมาะสม 7) การเรียนรู้ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์นำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ กระบวนการ นวัตกรรมหรือผลผลิตต่อไป


ความรู้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ความรู้ชัดแจ้ง หรือ Explicit Knowledge เป็นความรู้ที่ได้จากเอกสาร หนังสือ ตลอดจนข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มีการศึกษาและจัดทำไว้แล้ว 2) ความรู้ที่อยู่ภายใน หรือ Tacit Knowledge เป็นความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคน ได้แก่ ประสบการณ์ หรือภูมิปัญญา ซึ่งเป็นส่วนที่นับว่ามีความสำคัญมาก ความรู้สองส่วนนี้เปรียบเสมือนกับภูเขาน้ำแข็ง คือ ส่วนบนที่โผล่พ้นน้ำเราสามารถเห็นรูปร่างลักษณะได้ชัดเจน แต่ส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำเราไม่สามารถมองเห็นได้ว่า เป็นอย่างไรหรือมีสิ่งใดซ่อนเร้นอยู่


ระดับความรู้ของบุคคลแบ่งออกได้ 4 ระดับ ดังนี้

 

ระดับที่ 1 เป็นความรู้ข้อเท็จจริงเชิงทฤษฎีจากการศึกษา (Know-What)

ระดับที่ 2 เป็นความรู้จากการทำงานไประยะหนึ่ง (Know–How)

ระดับที่ 3 เป็นความรู้เชิงเหตุและผล ผ่านการวิเคราะห์จากการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน (Know–Why)

ระดับสุดท้าย เป็นความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยน ขับเคลื่อนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือริเริ่มที่จะนำมาใช้ในการประกอบอาชีพหรือการทำงานต่อไป (Care–Why)


รูปแบบของการจัดการความรู้ที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ “รูปแบบปลาทู” ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนหัวปลา (Knowledge Vision: KV) เปรียบได้กับการกำหนดวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายหรือทิศทางขององค์การ ส่วนตัวปลา (Knowledge Sharing: KS) เปรียบได้กับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในองค์การ ส่วนหางปลา (Knowledge Assets: KA) เป็นส่วนที่จัดเก็บความรู้เป็นคลังความรู้หรือขุมกำลังขององค์การที่จะนำ องค์การไปสู่เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้


การวิจัยเป็นการศึกษาค้นคว้าหาข้อเท็จจริงในสิ่งใดสิ่งหนึ่งบนพื้นฐาน ของความรู้ ตั้งแต่ความเป็นมา และความสำคัญของปัญหา วรรณกรรมหรือเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ระเบียบวิธีวิจัย สรุปผลการวิจัยและการอภิปรายผล ขั้นตอนเหล่านี้สามารถนำการจัดการความรู้มาประยุกต์ใช้ได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อค้นพบหรือองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น


ดังนั้น การจัดการความรู้ จึงมีบทบาทและความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรและองค์การ ให้สามารถแข่งขันและเติบโตก้าวต่อไปข้างหน้าพร้อมทั้งนำมาประยุกต์ใช้ได้กับ การวิจัยอีกด้วย

 

ณัฐพจน์ ยืนยง

Preview
1
2
3