Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
การจัดการความรู้ด้านวิจัย
การบริหารจัดการความรู้  “อาเซียนกับงานวิจัยของเรา: ตระหนักหรือตระหนก?”
การบริหารจัดการความรู้ “อาเซียนกับงานวิจัยของเรา: ตระหนักหรือตระหนก?”

อาเซียนกับงานวิจัยของเรา: ตระหนักหรือตระหนก?

ขณะ นี้ สังคมไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการต่าง ๆ ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสัมมนาหรือการอบรม ถึงแม้ว่าบางหน่วยงานเป็นหน่วยงานที่ควรจะมีความรู้เรื่องอาเซียนเพราะเป็น หน่วยงานที่มีภารกิจเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เรื่องนี้โดยตรง แต่ผู้ที่เข้ารับการอบรม กลับมีความรู้เรื่องอาเซียนไม่เพียงพอ ในขณะที่ประเทศสมาชิกอีก 9 ชาติต่างมีการเตรียมตัวเข้าสู่อาเซียนก่อนหน้านี้มาประมาณ 4-5 ปีแล้ว แต่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มภายในปีสองปีนี้ โดยจะเห็นได้ว่ารัฐบาลให้งบประมาณเร่งด่วนแก่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวกับอาเซียน จนเกิดความตระหนกโดยไม่ได้ทำการศึกษาว่าโจทย์ของหน่วยงานของตนเองคืออะไร อบรมผิด ๆ ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์และขาดความตระหนักรู้ว่ามีอะไรบ้าง ดังนั้น ก่อนอื่นควรทำความรู้จักกับความเป็นมาของอาเซียนรวมถึงการเรียนรู้ อาเซียนในบริบทอื่นที่ไม่ใช่ในฐานะองค์กรเพียงด้านเดียว

สิ่งสำคัญคือไม่ควรมองอาเซียนในฐานะองค์กรระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ควรทำความรู้จักประเทศทั้งสิบที่เป็นสมาชิกอาเซียนด้วย เพราะการที่องค์กรจะขับเคลื่อนไปได้นั้นต้องมาจากนโยบายต่างประเทศของประเทศ สมาชิกซึ่งมีปัจจัยทางการเมืองภายในเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ ฉะนั้น จึงต้องรู้ความเป็นไปของประเทศสมาชิกซึ่งจะทำให้เห็นทิศทางของอาเซียนใน ภาพรวมได้

อาเซียนเกิดในปี ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) ที่ประเทศไทย แรกเริ่มไม่ได้เน้นเรื่องเศรษฐกิจ แต่เน้นเรื่องการเมืองเป็นสำคัญ เพราะในช่วงนั้นเป็นยุคสงครามเย็น (Cold War) คอมมิวนิสต์เริ่มขยายอิทธิพลเข้ามายังอินโดจีน โดยขณะนั้นรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย คือ ดร. ถนัด คอมันตร์ มองว่า ประเทศไทยอาจจะต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลดังกล่าวหากไม่รีบแสวงหาความร่วมมือจาก ประเทศพันธมิตร จึงแจ้งไปยังกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เพื่อพบปะและหารือกันแบบไม่เป็นทางการที่แหลมแท่น อำเภอบางแสน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นลักษณะเด่นในอาเซียนปัจจุบันคือเป็น informal meeting ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของ ASEAN Way เป็นกระบวนการอย่างหนึ่งที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็น formal ได้ จากการรวมตัว 5 ประเทศนี้ จึงก่อให้เกิดความร่วมมือและมีการลงนามในปฏิญญาอาเซียน (The ASEAN Declaration) ขึ้น โดยมีการเปิดทางให้เหล่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เข้ามาเป็นสมาชิก ในภายหลังด้วย จึงเป็นที่มาของหลายๆ ประเทศที่ตามมาอีก 5 ชาติ และในอนาคตอันใกล้อาจมีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งประเทศคือ ติมอร์ตะวันออก ซึ่งได้ยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกเมื่อปี 2011 ดังนั้น ในที่สุดแล้วอาเซียนอาจจะประกอบด้วยประเทศสมาชิก 11 ประเทศ

อนึ่ง นอกเหนือจากปฏิญญาอาเซียนซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ ส่งเสริม ธำรง เสริมสร้างสันติภาพและความสงบสุขในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว อาเซียนยังมีเอกสารสำคัญที่เรียกว่า สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation: TAC) ซึ่งมีหลักการสำคัญประการหนึ่งคือ การไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สนธิสัญญาฉบับนี้เกิดขึ้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่าง ประเทศอาเซียนด้วยกัน และระหว่างประเทศคู่เจรจากับอาเซียนด้วย

อย่างไรก็ดี ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นยังไม่เข้าสู่ลักษณะที่เรียกว่าประชาคม (Community) เป็นเพียงแค่องค์กรระหว่างประเทศที่ไม่มีการบังคับให้ประเทศสมาชิกทำตามข้อ ตกลงได้ กำเนิดประชาคมอาจต้องอธิบายย้อนไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 1997 ประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ลามไปในประเทศอินโดนีเซียและเกาหลีใต้ ในเดือนธันวาคมปีเดียวกันจึงเกิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) อย่างไม่เป็นทางการ และเป็นครั้งแรกที่เชิญจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เข้าประชุมเพื่อขอความช่วยเหลือและสร้างความร่วมมือด้านการเงินจากผลกระทบ ของวิกฤติต้มยำกุ้ง ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการรับรองวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 (ASEAN Vision 2020) และ ตั้งแต่นั้นมาทั้ง 3 ประเทศได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนทุกครั้ง กลายเป็น ASEAN+3 หลังจากนั้นผ่านไป 5 ปี การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่บาหลี อินโดนีเซีย ผู้นำอาเซียนได้เสนอ ว่าเพื่อให้เกิด Vision 2020 (หรือปี 2563) ได้ ต้องทำอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีสถานะทางกฎหมายคือ ต้องทำให้อาเซียนเป็นนิติบุคคล ฉะนั้นต้องมีโครงสร้างกลไกภายในและมีกฎกติกาบังคับใช้กับประเทศสมาชิก จึงเห็นพ้องให้ตรากฎบัตรอาเซียน หรือ ASEAN Charter ขึ้น และรับรองแนวคิดที่จะรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน

หลังจากนั้น การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ตกลงให้มีการร่นเวลาเข้าสู่ ประชาคมเร็วขึ้น 5 ปีคือจากปี 2020 เป็น 2015 ขณะเดียวกันอาเซียนพยายามเร่งรัดให้ประเทศสมาชิกให้สัตยาบันในกฎบัตรอาเซียน ประเทศสุดท้ายที่ให้สัตยาบันคือ ประเทศไทย มีผลให้ประเทศไทยมีโอกาสเป็นประธานอาเซียนนาน 1 ปี 6 เดือน ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของไทย แต่ด้วยความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นทำให้ไทย เสียโอกาสสำคัญไป

ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่

เสาแรกคือ ประชาคมการเมืองความมั่นคง เป็นเสาที่มีความละเอียดอ่อนมากที่สุด (sensitive) แต่ก็ยังมีเจ้าภาพที่ชัดเจนคือ กระทรวงกลาโหมและมีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม แม้จะเป็นความร่วมมือเกี่ยวกับความมั่นคงรูปแบบใหม่เป็นส่วนใหญ่

เสาที่สองคือ ประชาคมเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะไม่เป็นประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียนก็มีการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจมานานแล้ว ดังนั้น เสานี้จึงเป็นเสาที่มักจะเห็นการดำเนินงานและความก้าวหน้าได้ชัดเจนที่สุด เจ้าภาพหลัก ๆ คือกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง

เสาที่สามคือ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม เป็นเสาที่เกิดจากผลกระทบของเสาแรกกับเสาที่สอง อาจมีลักษณะเป็นนามธรรมอยู่บ้าง องค์ประกอบสำคัญ อาทิ การพัฒนาศึกษา สวัสดิการสังคม การจ้างงาน การพัฒนามนุษย์ การคุ้มครองมนุษย์ สาธารณสุข ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ เสานี้จะเน้นการหาอัตลักษณ์อาเซียน ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

ส่วนเรื่องภาษา ในกฎบัตรอาเซียนระบุให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน หมายถึงใช้ในการประชุมอาเซียนทุกระดับและในเอกสารต่างๆ ของอาเซียน นั่นแปลว่า ประชาชนทั้ง 10 ชาติซึ่งต้องเรียนภาษาอังกฤษอยู่แล้วเพราะเป็นภาษาสากล ก็ยังคงใช้ภาษาของตนในการสื่อสารภายในประเทศเช่นเดิม ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเรื่องภาษาคงไม่ใช่การเตรียมเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่จำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้านไว้ด้วย เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารกับผู้คนที่จะหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็เพื่อประโยชน์สำหรับคนไทยที่จะเดินทางไปศึกษาต่อและทำงานใน ประเทศอาเซียนอื่น ๆ ด้วย

ข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนที่ควรทราบนั้น อาจจะขึ้นอยู่ความสนใจและความเกี่ยวข้องกับงานที่ทำ ประเด็นสำคัญก็คือ นักวิจัยพยายามที่จะดึงงานให้มาเกี่ยวโยงกับอาเซียนทั้งที่ประเด็นอยู่นอก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอาจเป็นเพราะข้อจำกัดหรือเงื่อนไขในการขอทุนวิจัย หรืออาจทำเพราะต้องการตามกระแส ถ้าเป็นประการหลังและมีในปริมาณมากอาจเกิดสภาพที่เรียกว่า ตระหนกหรือไม่

 

สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์

Preview
1
2