


ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาฯ เพื่อประโยชน์ด้านการสร้างทัศนคติเชิงบวก ความตระหนักรู้ต่อการใช้พลังงานสะอาด และสนับสนุนการเข้าถึงพลังงานสะอาดในฐานะแหล่งพลังงานทดแทนต่อกลุ่มเป้าหมายผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาฯ และคุณสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้
พีอีเอ –จุฬาฯ ร่วมส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์
นายสมพงษ์ ปรีเปรมผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) และ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ เพื่อความร่วมมือกันในการสร้างทัศนคติเชิงบวก ความตระหนักรู้ต่อการใช้งานพลังงานสะอาด และสนับสนุนการเข้าถึงพลังงานสะอาดในฐานะแหล่งพลังงานทดแทนของประชาชน ผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) เปิดเผยว่า พีอีเอ เล็งเห็นถึงแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้เพิ่มขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพ และประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานทดแทน โดยร่วมมือกับ จุฬาฯ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ร่วมมือกันรณรงค์และส่งเสริมการสื่อสารนำเสนอองค์ความรู้แก่เยาวชน และช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการใช้ Digital Platform ผ่านโครงการ พีอีเอ โซลาร์ ฮีโร่ แอปพลิเคชั่น (PEA Solar Hero Application) ภายในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มคุณภาพการใช้พลังงานของพนักงานและนักศึกษาภายใน จุฬาฯ โดย พีอีเอ หวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยระบบ Digital Platform ที่มีคุณภาพและสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่ประชาชน และประเทศชาติ อย่างยั่งยืน
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้พลังงานสะอาด และได้ริเริ่มสร้างความร่วมมือในการสร้างความตระหนักรู้ และทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้งานพลังงานสะอาด ตลอดจนสนับสนุนการเข้าถึงพลังงานสะอาดในฐานะพลังงานทดแทน จึงเกิดโครงการ “การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมในเรื่องการกำกับกิจการพลังงาน” ดำเนินการโดยสถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงาน สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ปี พ.ศ.2562 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นความสนใจและความตระหนักรู้ ถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนส่งเสริมให้มีการเข้าถึงพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ในฐานะพลังงานทางเลือก โดย กระผมรู้สึกยินดีที่ได้ทราบว่า โครงการดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นอย่างดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือระหว่างทั้งสองหน่วยงานจะเป็นจุดเริ่มต้น เป็นหมุดหมายสำคัญ ที่ช่วยสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคมของเรา ให้เป็นสังคมที่มีความเจริญอย่างยั่งยืน สืบไป
ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้พลังงานสะอาดอย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ รวมถึงร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อบริหารจัดการองค์ความรู้และมุ่งเน้นการสื่อสารสู่ภาคประชาสังคม ผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งถือเป็นโครงการที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป