Search
Call Center : 0-2251-5199 E-Mail Facebook Page
Language
Thai Language English Language
โครงการสื่อสิ่งพิมพ์
การเมืองและความมั่นคงใหม่ในเอเชีย
ชื่อหนังสือ
การเมืองและความมั่นคงใหม่ในเอเชีย
ผู้แต่ง
รองศาสตราจารย์ ดร. วิทยา สุจริตธนารักษ์ (บรรณาธิการ)
ปีที่พิมพ์
2557
ราคา
250 บาท

บทบรรณาธิการ

ข้อเขียนที่ตีพิมพ์รวมเล่มในครั้งนี้เป็นผลงานที่นำเสนอในการสัมมนาวิชาการของสถาบันเอเชียศึกษา ประจำปี 2556 เมื่อวันอังคาร 17 ธันวาคม 2556 โดยมีประเด็นว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงใหม่ในเอเชีย ซึ่งเป็นประเด็นที่กว้างและครอบคลุมเนื้อหาที่ หลากหลายและล้วนเป็นผลงานของนักวิชาการของสถาบันฯ เอง

บทความทั้ง 7 เรื่องที่นำมาตีพิมพ์นี้มี 2 เรื่องที่ว่าด้วยทุนนิยมกับการพัฒนาประชาธิปไตย อันได้แก่ ทุนนิยมกับการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งผู้เขียนพยายาม นำเสนอการเปลี่ยนแปลงในพม่าโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจกับการเมือง โดยชี้ให้เห็นว่าพม่าเปิดรับการพัฒนาเศรษฐกิจ ตามแนวทางทุนนิยม ละทิ้งระบบสังคมนิยมพร้อม ๆ กับการวางมือจากระบบอำนาจนิยมทหารหันมาสู่แนวทางของประชาธิปไตยทีละเล็กทีละน้อย ทุนต่างชาติ ทั้งจากตะวันตกและเอเชียให้ความสนใจพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติของพม่า อันเป็นการตักตวงผลประโยชน์จากพม่าจนนำไปสู่การต่อต้านและการระงับโครงการบางโครงการ จึงเห็นความโยงใยระหว่างเศรษฐกิจกับการเมืองชัดเจน แต่ประเด็นของประชาธิปไตยนั้นยังไม่สามารถเห็นรูปธรรมที่ชัดเจน ในกรณีของหลัง 14 ตุลาคม: นายทุนไทย ผู้เขียนแสดงให้เห็นพลวัตรของทุนนิยมไทยว่า ปรับตัวจากโครงการข่ายของความสัมพันธ์ทางตระกูลมาเป็นความสัมพันธ์ส่วนบุคคลของนายทุนรุ่นใหม่ โดยอาศัยภูมิหลังที่ร่วมกัน เช่น การศึกษา และวิถีชีวิตแบบใหม่ นายทุนรุ่นใหม่ เหล่านี้ดำเนินบทบาทของตนภายในบริบทของการเมืองที่อิงกับประชาธิปไตยที่พยายามสร้างกันขึ้นมา

ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและความมั่นคงปรากฏชัดเจนในบทความซาอุดิอาระเบีย-อิหร่านในการเมืองอียิปต์หลังรัฐประหารที่แสดงให้เห็นความสลับซับซ้อนของสถานการณ์ที่ถูกกำหนดโดยวิถีทางศาสนา ชาติพันธุ์ และการดำเนินการทางการเมืองที่ต้องเปลี่ยนฝ่ายอยู่เสมอ นำไปสู่ความไม่มั่นคงอยู่ตลอดเวลา

ส่วนบทความการเลือกตั้งปี 2013: ผลกระทบทางการเมืองต่อพรรคประชาชนกัมพูชา เป็นการวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาเรื่องวิถีการเมือง และผลที่เกิดขึ้นกับพรรครัฐบาลกัมพูชาและการสูญเสียความน่าเชื่อถือของผู้นำกัมพูชา ตลอดจนโอกาสที่จะครองอำนาจทางการเมืองไว้ การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้น่าจะได้มีการวิเคราะห์ในเชิงลึกต่อไป

ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงใหม่ ปรากฏอยู่ในบทความ ความร่วมมือด้านความมั่นคงอาเซียน: พัฒนาการและความท้าทายที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงในวงกว้างที่อาเซียนให้ความสนใจรับเข้ามาเป็นบทบาทที่จะต้องดำเนินการ ความท้าทายอยู่ที่แง่ มุมที่กว้างขวางที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการพิจารณากำหนดแผนการและการดำเนินการแก้ไข

บทความแนวทางการส่งกลับผู้ลี้ภัย: กรณีผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าในประเทศไทย มีทั้งประเด็นความคิดคงตามแบบเดิมและความมั่นคงใหม่ปนกันอยู่ ปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะเพียงไม่กี่ทศวรรษที่เกิดแง่มุมทับทวีขึ้นมา และความต้องการที่จะแก้ปัญหาให้ครอบคลุมแง่มุมเหล่านี้ให้เบ็ดเสร็จ ทำให้ไม่สามารถหาข้อตกลงใด ๆ อันเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย

บทความมองภาพความสัมพันธ์เวียดนาม-ญี่ปุ่นในต้นทศวรรษที่ 2010 ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองที่มีมายาวนานและเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นทุกที แสดงให้เห็นความจำเป็นที่ทั้งสองฝ่ายต่างต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกันและกัน ไม่ว่าสถานการณ์จะผันแปรไปอย่างไร

วิทยา สุจริตธนารักษ์
บรรณาธิการ

ตัวอย่างหนังสือ
ช่องทางการจัดจำหน่าย

ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดต่อ : 0-2218-7000, 0-2255-4433 และ http://www.chulabook.com